"IQ, EQ, AQ, และ MQ" ...สี่วิชาพึงเรียนรู้ เมื่อเตรียมสู่ "วัยผู้ใหญ่"


บันทึกนี้ เป็นอีกหนึ่งบันทึกในชุด “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” และ เป็นบันทึกที่ขอมอบเป็น “ของขวัญวันเด็ก 11 มกราคม และวันครู 16 มกราคม 2557” ขอเชิญชวนคุณครูและผู้ปกครองได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อร่วมกันทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitators) และผู้ให้คำปรึกษา (Counselors) ในระหว่างก้าวเดินสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ของอนุชนของพวกเรา

บันทึกนี้ เขียนตามโจทย์ที่ได้รับการเชิญชวนให้เขียนเกี่ยวกั “วิชาที่ควรเรียนรู้ เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่”…ในเรื่องของ “วัย” ขออ้างถึงความรู้จาก “จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology)” ที่ศึกษาเกี่ยวกับ การเจริญงอกงาม (Growth) พัฒนาการ (Development) และการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิตของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ ชีวิตในครรภ์ วัยทารก วัยเด็กตอนต้น วัยเด็กตอนกลาง วัยเด็กตอนปลาย วัยรุ่นตอนต้น วัยรุ่นตอนปลาย วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (ซึ่งแต่ละวัยมีช่วงอายุดังภาพล่าง) วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง (อายุ 45-65 ปี) และวัยผู้ใหญ่ตอนปลายหรือวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุของแต่ละวัย ที่กำหนดโดยนักจิตวิทยาพัฒนาการ (Deveopmental Psychologist) แต่ละคนจะแตกต่างกันไปบ้าง อนึ่งในการนับช่วงอายุของแต่ละวัยนั้น จะนับคาบเกี่ยวกัน เช่น วัยเด็กตอนต้น 2-6 ปี วัยเด็กตอนกลาง 6-9 ปี เด็กที่อายุหลัง 2 ปีเต็มไปจนถึง 6 ปีเต็มจะอยู่ในช่วงวัยเด็กตอนต้น พออายุ 6 ปี 1 วันขึ้นไปจนถึง 9 ปีเต็มจะอยู่ในช่วงวัยเด็กตอนกลาง เป็นต้น

ในสถานศึกษา จะกล่าวถึงผู้เรียนตาม "ระดับการศึกษา" มากกว่าที่จะกล่าวถึงตามวัย เช่น “เด็กอนุบาลหรือเด็กปฐมวัย” (อยู่ในช่วงวัยเด็กตอนต้น) “เด็ก ป.ต้น” (วัยเด็กตอนกลาง) “เด็ก ป.ปลาย” (วัยเด็กตอนปลาย) “นักเรียน ม.ต้น” (วัยรุ่นตอนต้น) “นักเรียน ม.ปลาย” (วัยรุ่นตอนปลาย) “นักศึกษาอุดมศึกษา” (ผู้ใหญ่ตอนต้น)...บางภาพได้ใช้ภาพลูกของผู้เขียนเอง เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัย... นอกจากคำที่ใช้ในทางจิตวิทยาพัฒนาการแล้ว ยังมีคำตามที่ใช้ใน "พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.๒๕๕๓" ซึ่ง "เด็ก” จะหมายถึง บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์ (คือตั้งแต่เเรกเกิดถึงประมาณ ม.ต้น นั่นเอง) และ “เยาวชน” คือ บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ (คือ ประมาณ ม.ปลาย นั่นเอง) 

วิชาที่ผู้เขียนลงความเห็นว่า อนุชน (ขอใช้ในความหมายรวมเด็กและเยาวชน) ควรจะได้เรียนรู้เพื่อให้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพและมีความสุข มี 4 วิชาเป็นอย่างน้อย คือ 1) วิชาความฉลาดทางสติปัญญา (IQ : Intelligence Quotient) 2) วิชาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ : Emotional Quotient) 3) วิชาความฉลาดในการเผชิญ/ฟันฝ่าอุปสรรค (AQ : Adversity Quotient) และ 4) วิชาความฉลาดทางจริยธรรม (MQ : Moral Quotient) การใช้คำว่า "วิชา" เป็นการใช้คำตามที่โจทย์กำหนด จริงๆ แล้วไม่ใช่วิชา แต่เป็น "ทักษะและคุณลักษณะของผู้เรียน" ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั่นเอง (จะกล่าวถึงรายละเอียดในภายหลัง) 

                       (ขอบคุณภาพจาก http://www.singhato.com/2008/faqs.php?id=3)

การอธิบายถึงวิชาทั้ง 4 ดังกล่าว นอกจากจะใช้ความรู้จากสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ แล้ว จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้จากจิตวิทยาอีก 3 สาขาเข้ามาช่วยอธิบาย ได้แก่ “จิตวิทยาการศึกษา (Educational  Psychology)” ซึ่งกล่าวถึง การเรียนรู้ของมนุษย์ “จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) ซึ่งกล่าวถึง พฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ แล “จิตวิทยาการแนะแนวและการให้คำปรึกษา (Guidance and Counseling  Psychology)” ซึ่งกล่าวถึง การช่วยให้บุคคลเข้าใจตนเอง สามารถวางแผนด้านการศึกษา อาชีพ และด้านส่วนตัว/สังคม ได้อย่างเหมาะสม และสามารถเตรียมตนเองไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สำหรับวิชา “IQ : ความฉลาดทางสติปัญญา” นั้น แม้ผู้เขียนจะเคยเขียนตำราและสอนเกี่ยวกับการทดสอบสติปัญญาของนักเรียน แต่ค่อนข้างเป็นวิชาการ จึงขอสรุปสาระสำคัญของ IQ จากเอกสารของ “กรมสุขภาพจิต” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการสำรวจสติปัญญาของเด็กไทย (ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้โดยคลิก : Click ที่แหล่งอ้างอิงที่วงเล็บไว้ในแต่ละตอน) จากเอกสารดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 

IQ (Intelligence Quotient) หรือระดับสติปัญญา คือ คะแนนที่ได้จากแบบทดสอบที่มีมาตรฐานในการวัดความสามารถทางสติปัญญา คะแนน IQ จึงแสดงถึงความสามารถและศักยภาพของบุคคลนั้นๆ ในด้านต่างๆ เช่น การเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา เป็นต้น  IQ ของประชากรในประเทศสามารถใช้ทำนายความสำเร็จในการศึกษา ความสำเร็จในการทำงาน รายได้ของบุคคลและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็กและเยาวชนในประเทศ ให้พัฒนาได้อย่างเหมาะสม จึงถือเป็นเป้าหมายพื้นฐานที่จะพัฒนาคุณภาพของประชากร ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต และส่งผลต่อความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป (http://www.smartteen.net/iqeq/why.html) 

ผู้เขียนได้สืบค้นและพบข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของ IQ และรายได้ จากบทความเรื่อง “Religion and IQ: country comparisons” ซึ่ง Posted เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 (http://philebersole.wordpress.com/2013/08/13/religion-and-iq-country-comparisons/) บทความดังกล่าวได้แสดงค่าเฉลี่ย IQ ของประชากรในชาติและค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวต่อปีของประชากร (GDP per head) ในแต่ละประเทศทั่วโลก ดังที่แสดงในภาพบนขวา ซึ่งจะเห็นว่า ภูมิภาคที่ประชากรมี IQ เฉลี่ยสูงสุด คือ แถบแปซิฟิก (พื้นที่สีแดงเข้ม) IQ เฉลี่ย 105 รายได้ต่อหัวประชาชาติแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ 18,000 ปอนด์ ฮ่องกง 14,000 ปอนด์ ไต้หวัน 7,800 ปอนด์ เกาหลีใต้ 4,800 ปอนด์ และ จีน 2,400 ปอนด์ สำหรับประเทศในแถบเอเชียใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยอยู่ด้วย (พื้นที่สีส้ม) มี IQ เฉลี่ย 85 และมีรายได้ต่อหัว 1,200 ปอนด์

"กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข" ได้ดำเนินการสำรวจระดับสติปัญญานักเรียนไทยในปีงบประมาณ 2554 เป็นการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดที่ทำมา โดยสำรวจจากนักเรียนอายุ 6-15 ปี  ที่เรียนในระดับชั้น ป.1- ม.3 จากทุกจังหวัด รวม 72,780 คน จาก 787 โรงเรียน โดยจำแนกเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 612 โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 153  โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยรวมม.ราชภัฏ) 16 โรงเรียน และสังกัดกรุงเทพมหานคร  6 โรงเรียน ผลการสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทยในระดับประเทศ เท่ากับ 98.59  (ค่าเฉลี่ย IQ ในเกณฑ์ปกติอยู่ในช่วง 90 – 109) ซึ่งถือเป็นค่าระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า เด็กในกรุงเทพมหานครมี IQ เฉลี่ยสูงสุด 104.5 เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี IQ เฉลี่ยต่ำสุด 95.99 และพบเด็กกลุ่มที่มีปัญหาระดับสติปัญญาบกพร่อง (IQ < 70) อยู่ถึง 6.5 % (มาตรฐานสากลคือไม่ควรเกิน 2%) เมื่อพิจารณารายจังหวัด  พบว่า จังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (IQ > 100)   มี 18 จังหวัด (24%) เท่ากับค่าเฉลี่ย (IQ = 100) มี 20 จังหวัด (27 %) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (IQ< 100) มี 36 จังหวัด (49%) ดังภาพบนขวา เมื่อเปรียบเทียบตามสังกัดของโรงเรียน พบว่า เด็กที่ศึกษาในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยรวมม.ราชภัฎ) มีคะแนนระดับสติปัญญาเฉลี่ยสูงที่สุด 113.7 และเด็กในโรงเรียนสังกัด สพฐ. มีค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาต่ำสุด 97.59 (http://www.smartteen.net/iqeq/project.html) สำหรับภาพบนซ้าย ผู้เขียนนำมาจากบทความเรื่อง “The truth about IQ”  (http://blog.lib.umn.edu/nich0185/myblog2/2012/04/the-truth-about-iq.html)

จริงๆ แล้ว ผู้ที่จะประสบความสำเร็จ ใช่ว่าจะต้องมีไอคิวสูงเหมือนกับ "ไอน์สไตน์ (Einstein)" หรือ "โมซาร์ต (Mozart)" ซึ่งมีการคาดคะเนกันว่า ทั้งสองท่านมี IQ สูงกว่า 160 คนทั่วไปที่มี IQ อยู่ในช่วงปกติ (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในทุกสังคม คือ มีประมาณร้อยละ 68-70) นี่แหละ ขอเพียงมีทักษะในการอ่านและการคิดขั้นสูงพอสมควร และที่สำคัญเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนรักการอ่าน และมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการตลอดชีวิต ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ (ทักษะและคุณลักษณะดังกล่าว เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน ในช่วงของทศวรรษที่ 2 ของการปฏิรูปการศึกษาไทยของ สพฐ. [ดังภาพล่าง] อยู่แล้ว ขอเพียงโรงเรียนที่รับผิดชอบให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ช่วยให้ผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้น สามารถพัฒนาตามทักษะและคุณลักษณะตามที่ได้กำหนดไว้ในช่วงชั้นนั้นๆ ก็ถือว่า ท่านได้พัฒนาเด็กครบถ้วนทั้งด้าน IQ, EQ, AQ และ MQ ซึ่งก็เท่ากับว่า ท่านได้เตรียมอนุชนของเรา ให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพและมีความสุขแล้ว)ผู้เขียนรู้สึกศรัทธา และขอเชิดชู “คุณครูมะเดื่อ (ชื่อที่ใช้ใน GotoKnow)”   ครูโรงเรียนในสังกัด สพฐ.จากเมืองสามอ่าว (คำที่คุณครูชอบใช้)  ที่ได้เสียสละทุ่มเทเวลานอกราชการ ในการฝึกฝนเด็กทำหนังสือเล่มเล็ก และช่วยเหลือเด็กที่อ่านเขียนไม่คล่อง ให้ก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาตนเอง โดยที่เด็กไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ต่างกับครูจำนวนไม่น้อย ที่รับสอนพิเศษให้กับเด็กที่เก่งอยู่แล้วและอยากเก่งยิ่งขึ้นรวมทั้งมีเงินจ่าย โดยเพิกเฉยละเลยเด็กด้อยโอกาส ที่ทั้งไม่เก่งและผู้ปกครองไม่มีปัจจัยพอที่จะสนับสนุนให้มีโอกาสในการเรียนพิเศษเพิ่มเติม

อนึ่ง ผู้เขียนขอแนะนำผู้ที่อนุชนควรนำไปเป็น “บุคคลบันดาลใจ” ในการพัฒนานิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนรักการอ่าน คือ “อ.Wasawat Deemarn” แห่ง GotoKnow อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งไม่ใช่แค่รักการอ่าน แต่เรียกได้ว่า เป็น “หนอนหนังสือตัวยง” เลยทีเดียว จะเห็นได้จากการที่ท่านได้ซื้อหนังสือมากถึง 147 เล่ม จากงานสัปดาห์หนังสือ 1 งาน ดังตัวอย่างหนังสือ 6 เล่มที่อาจารย์ซื้อ ซึ่งผู้เขียนได้แสดงความเห็นในบันทึกหนึ่งของอาจารย์ว่า “อ่านบันทึกนี้แล้ว คิดถึงคำกล่าวที่มีข้อความประมาณว่า ‘การที่จะดูว่าชาติไหนจะเจริญเพียงใด ให้ดูจากพฤติกรรมของคนในชาตินั้น ว่าจะนำเงินไปซื้อหนังสือ หรือซื้อฝรั่งมาเคี้ยวเล่น’ อาจารย์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากค่ะ ของ ‘คนไทยที่รักการอ่าน’  ตามนิยามที่ ‘บุญตา นันทวกุล’ ได้ให้ไว้ในงานวิจัยว่า ‘พฤติกรรมรักการอ่าน หมายถึง การกระทำที่บุคคลแสดงออกถึงความสนใจในการอ่านและการชอบอ่าน รู้จักใช้เวลาว่างโดยการอ่าน แสวงหาโอกาสและแสวงหาหนังสือเพื่ออ่าน มีความสมัครใจและยินดีที่จะอ่านเองโดยไม่มีการบังคับ และเป็นการแสดงพฤติกรรมการอ่านอย่างสม่ำเสมอ มีการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน หนังสืออ่านเล่น ข่าวสารบ้านเมือง เรื่องตลกเบาสมอง บันเทิงคดี สารคดีหรือหลายประเภทของสิ่งพิมพ์ เช่น อ่านหนังสือวารสาร หนังสือพิมพ์ หนังสืออ้างอิง’…อยากจะขอความกรุณาอาจารย์ช่วยเล่าหน่อยนะคะ ว่า อะไรน่าจะเป็นเหตุปัจจัยที่มา ของพฤติกรรมรักการอ่านของอาจารย์เอง …" ซึ่งอาจารย์ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจมาก และแสดงถึงการเป็นคนถ่อมตนว่า "พฤติกรรมการรักการอ่านของตัวเอง เกิดจากครอบครัวที่พ่อกับแม่เป็นต้นแบบ บ้านเรายากจน การอ่านหนังสือจึงเป็นเรื่องการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ไม่เสียตังค์มาก ดังนั้น ทุกระดับการเรียน ผมจะเป็นคนเข้าห้องสมุดสม่ำเสมอ ยิ่งโตขึ้น เรียนหนังสือก็ไม่เก่ง ครูอาจารย์ก็สอนไม่เข้าใจ หนังสือจึงเป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำคัญที่คนเรียนไม่เก่งอย่างผมต้องใช้มัน เพื่อความอยู่รอดในอนาคต และเมื่อเป็นครูแล้ว การอ่านก็ยิ่งเพิ่มกำลังมากขึ้น เพราะต้องนำความรู้ไปสอนลูกศิษย์ต่อไป หากคนเป็นครูไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะเรื่องราวรอบตัว ก็จงอย่าเป็นครูดีกว่า ..."

ในอีกบันทึกหนึ่ง อาจารย์ได้กล่าวถึงหนังสือที่ซื้อมา ความว่า "หนังสือ 'ค้นหาตัวเอง' พอจะเรียกได้ว่า เป็น 'หนังสือเปลี่ยนชีวิต' ของตัวผมเอง ผมรู้จักหนังสือ 'ค้นหาตัวเอง'...มาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี จำได้ว่า ยืมห้องสมุดมหาวิทยาลัยมาอ่าน อ่านแล้วรู้สึกเหมือนคำตอบบางอย่างในหนังสือเล่มนี้ มันตรงกับสิ่งที่เราค้นหาอยู่จริง เราคิดว่า แนวทางในหนังสือเล่มนี้แหละ คือ แนวทางที่เราจะเติบโตขึ้นไปในอนาคตข้างหน้า”  ซึ่งผู้เขียนได้ให้ความเห็นความตอนหนึ่งว่า "…การค้นหาตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านำไปสู่การรู้จักตนเอง ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ประพันธ์ไว้ว่า...'จงรู้จักตัวเอง คำนี้หมาย ว่าค้นพบ แก้วได้ ในตัวท่าน...' "

ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่ง ที่กระหายใคร่เรียนรู้ไปทุกอย่าง การเข้ามาอ่านบันทึกใน "GotoKnow" ตอบสนองความอยากรู้อยากเรียนของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี Blog ขอ "ดร.พจนา แย้มนัยนา" อดีตผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ซึ่ง Early Retired และได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดา เป็น Blog หนึ่งที่ผู้เขียนจะหาโอกาสติดตามอ่าน เพื่อเรียนรู้ชีวิตสัตว์ พืช และวัฒนธรรมของชาวตะวันตก โดยจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษที่สอดแทรกในแต่ละบันทึกไปด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ชี้ว่า การเรียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของตนเอง เพิ่มขึ้นมาจากภาษาแม่ จะช่วยให้สติปัญญาดีขึ้น ผู้เขียนเองจบการศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรี แต่ไม่ได้สอนภาษาอังกฤษโดยตรง มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในการฟังพูดอ่านเขียนมากหน่อย ก็ตอนไปเรียนหลังปริญญาโทแบบ Part Time ที่ Australia แต่ที่สำคัญ คือ ผู้เขียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองตลอดเวลา จากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัวแบบเป็นกระบวนการตลอดชีวิต เช่น ในช่วงที่ทำงาน ก็ได้เข้ารับการอบรมทุกโปรแกรมที่มหาวิทยาจัดเพื่อเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษให้กับบุคลากร (ในทุกโปรแกรมจะเข้าร่วมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายซึ่งจะเหลือเพียง 2-4 คนในขณะที่วันแรกๆ มีจำนวน 37-42 คน) อ่านบทความและเอกสารออนไลน์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ อ่านนิตยสารภาษาอังกฤษที่สายการบินจัดไว้ให้ ขณะนั่งเครื่องเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (เมื่อพบสำนวนน่าสนใจก็จดบันทึกไว้) หาโอกาสพูดคุยกับชาวตะวันตก ดูรายการโทรทัศน์แทบทุกรายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เรียนรู้ภาษาอังกฤษที่พบเห็นในที่ต่างๆ เช่น ฉลากผลิตภัณฑ์ โบรชัวร์ (Brochure) ฯลฯ รวมทั้งเรียนรู้จาก Blog ใน GotoKnow เช่น Blog ของคุณ "sr" คนไทยที่ไปใช้ชีวิตใน Australia ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ ก็ชอบอ่าน อีก Blog หนึ่งที่ได้ติดตามอ่านเพื่อเรียนรู้สำนวนภาษาอังกฤษที่ไม่ค่อยจะมีที่ไหนเขียนไว้ ก็คือ Blog "Daily English Tips By Kru P' M" ถามจากผู้เขียน ท่านก็บอกว่า ได้มาจากภาพยนตร์ และเพื่อนชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร อย่างสำนวนล่าสุดที่ได้เรียนรู้คือ  “ใครจะไปคิดล่ะ” (http://www.gotoknow.org/posts/558438) ภาษาอังกฤษจะใช้สำนวนพูดว่า "Who would have thought? ตัวอย่างเช่น Tom : Do you know? Mike just quit his job. (รู้รึเปล่า ไมค์เพิ่งลาออกจากงาน) Jerry : Who would have thought he could do such a thing? (ใครจะไปคิดล่ะ ว่าเขาจะทำเรื่องแบบนี้ได้)...แต่น่าเสียดายว่า มีคนอ่านน้อยไปหน่อย ทั้งที่เป็นเรื่องที่น่าศึกษามากเพราะจะช่วยให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้แบบ "Gradually" คือค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กละน้อย เพราะผู้เขียนจะแนะนำบันทึกละสำนวน

ในปี 2558 เราก็จะเข้าสู่ "ASEAN Community" ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ จึงอยากเชิญชวนให้ทั้งอนุชนและผู้ใหญ่เราได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น เพราะเท่ากับใช้กระสุนนัดเดียวยิงได้นกสองตัว คือได้ทั้งภาษาที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ และยังได้พัฒนาสมองไปด้วยในขณะเดียวกัน อนึ่ง จากการที่บริษัท Education First ผู้นำด้านการเรียนต่อต่างประเทศและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทั่วโลก ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนวัยผู้ใหญ่จาก 54 ประเทศทั่วโลก (ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก) ประจำปี 2012 พบว่า ประเทศไทยมีระดับความสามารถต่ำมากและจัดอยู่ในอันดับที่ 53 อันดับที่ 54 คือ ลิเบีย (http://blog.eduzones.com/poonpreecha/106026) คนไทยเราก็ยิ่งจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนเอง ให้มีทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น ไม่เช่นนั้น เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีใน 17 สาขาอาชีพ เราจะเสียเปรียบประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอย่างเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประชาชนใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในระดับเดียวกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่อุบลฯ ก็มีคนจากประเทศนี้เข้าไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ทั้งในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ แต่คงไม่ได้เข้าร่วมทดสอบ จึงไม่ปรากฏข้อมูลในสถิติ) สองสามวันก่อนลูกสาวของผู้เขียนถามว่า หลักสูตรจิตวิทยาสาขาใดที่น่าสนใจ ผู้เขียนไม่ได้ตอบแต่แนะให้เธอสืบค้นและศึกษาด้วยตนเองดูก่อน ผู้เขียนเองสืบค้นพบว่า "จิตวิทยาคลินิก" เป็น 1 ในอีก 9 สาขาอาชีพที่มีข้อตกลง MRA เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ให้เป็นสาขาอาชีพที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN Community เพิ่มเติมจาก 8 สาขาอาชีพเดิม (การทดสอบสติปัญญาของเด็กไทยที่กล่าวถึงไปแล้ว ก็ดำเนินการโดยนักจิตวิทยาคลินิก) ภาพเล็กๆ ที่บรรยายภาพว่า ได้งานทำในมาเก๊าเพราะพูดภาษาอังกฤษได้ นั้น ผู้เขียนนำมาจากบันทึกของตนเองเรื่อง "มาสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกันเถอะ" (http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/493040) ที่เขียนเพื่อจูงใจให้นักศึกษาอยากพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยได้นำ DVD ที่ผู้เขียนบันทึกจาก "รายการสถานีประชาชน" สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ไปให้ชม ซึ่งเป็นตอนที่อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้นำผู้ที่ได้รับการจ้างงานให้ไปทำงานในมาเก๊า คือ คุณอธิวัฒน์ไปออกรายการ โดยเขาบอกว่า ตนได้รับการจ้างงานเป็นคนแรก เพราะสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับผู้ทำการสัมภาษณ์งานได้ แม้จะไม่มีความรู้และประสบการณ์ในตำแหน่งงานที่สมัคร คือ "Bartender" แต่บริษัทก็หางานอื่นให้ คือให้ไปทำงานในตำแหน่ง Bar Back (ผู้ช่วยเตรียมอุปกรณ์) ในขณะที่ ผู้สมัครงานจำนวนสี่สิบกว่าคนที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ตามตำแหน่งงานที่สมัคร และมีใบรับรองฝีมือแรงงานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่กลับถูกคัดออกตั้งแต่โต๊ะแรกที่สัมภาษณ์ เพราะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ คุณอธิวัฒน์บอกว่า ตนไม่ได้ไปเรียนภาษาอังกฤษจากสถาบันสอนภาษาใดๆ อาศัยว่าชอบภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ด้วยตนเองจากการฟังเพลงภาษาอังกฤษ ดูภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม และฝึกสนทนากับพี่สาวในแต่ละวัน (คุณอธิวัฒน์ได้รับการจ้างงาน ด้วยวุฒิม.ปลายในเงินเดือนขั้นต้น 22,000 บาท พร้อมด้วยที่พัก อาหาร และบริการซักรีดฟรี) ...จากที่ศึกษามา ผู้เขียนพบว่า ผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษด้วยการฟัง/พูดได้ในสถานการณ์จริง ล้วนเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริง  และมีการเรียนรู้ฝึกฝนด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ส่วนพวกที่เรียนเฉพาะในสถานศึกษา รวมทั้งไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม แต่ไม่ฝึกฝนด้วยตนเองและหาโอกาสนำไปใช้ตลอดเวลา ก็จะสื่อสารไม่ได้เหมือนเดิม  

ในเรื่องของการอ่านนั้น "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" ได้สำรวจพบว่า คนไทยนับวันแต่จะใช้เวลาในการอ่านหนังสือน้อยลงเรื่อยๆ โดยสาเหตุที่ใช้เวลาอ่านน้อยและไม่อ่านนั้น ส่วนใหญ่บอกว่า เพราะชอบดูทีวีมากกว่า ก็ไม่เป็นไร ถ้าจะดูทีวีโดยอ่านหนังสือน้อยลง ก็ควรดูรายการที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัยด้วย ผู้เขียนได้เขียนบันทึกแนะนำรายการดีๆ ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละวัยที่ http://www.gotoknow.org/posts/556414 ดังส่วนหนึ่งของชื่อรายการและวันเวลาที่ออกอากาศในภาพล่าง (ผลการสำรวจพบว่าเด็กชอบดูการ์ตูนและรายการที่สนุก ไม่ชอบดูรายการที่มีสาระ แต่ทุกรายการที่แนะนำ มีลักษณะเป็น "Edutainment" คือ ดูสนุกแต่ได้รับสาระประโยชน์ไปด้วยในขณะเดียวกัน ถ้าท่านผู้อ่านไม่เคยดู สามารถดูได้ที่บันทึกดังกล่าว ซึ่งได้ให้ Link ไว้เพื่อให้เข้าไปชมรายการทีวีย้อนหลังแบบ Online ได้) ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ กลุ่มที่บอกว่า ไม่ชอบ-ไม่สนใจอ่าน เพราะเป็นอุปนิสัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตนเองเป็นอย่างยิ่ง ส่วนกลุ่มที่บอกว่าไม่มีเวลาอ่านนั้น ถ้าเอาเวลาไปอ่านทาง Internet ก็น่าจะดี แต่คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยในปี 2556 พบว่า กิจกรรมยอดนิยมสามอันดับแรก คือ รับส่งอีเมล์ ค้นหาข้อมูล และ การใช้งานเครือข่ายสังคม โดยกลุ่มผู้ใหญ่เน้นใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อรับส่งอีเมล์ ส่วนเด็กและเยาวชนเน้นใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อ เล่นเกมออนไลน์ และดาวน์โหลด (http://www.slideshare.net/ptteppawong/presentation-internetuserprofile) 

"English Breakfast" เป็นรายการภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนดูมาตลอด ช่วงที่ยังสอนอยู่ก็ได้บันทึกรายการดังกล่าวเป็น DVD เพื่อนำไปเป็นสื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี จากทุกคณะแทบทุกสาขาวิชา ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชา "พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน" กับผู้เขียน 

เมื่อประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านบันทึกแรกของ “คุณครูอร วรรณดา” ซึ่งเพิ่งเป็นสมาชิกของ GotoKnow เธอเขียนเกี่ยวกับการที่คุณแม่เล่านิทานให้ฟัง เลยทำให้เธออยากอ่านเอง เห็นหน้าคุ้นๆ มารู้ภายหลังว่า เธอเป็นลูกศิษย์ปริญญาโทสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา และต่อจากนั้นเธอก็เขียนเกี่ยวกับการสร้างนิสัยรักการอ่านติดต่อกันกัน 2 เรื่อง เธอใช้ภาษาได้สละสลวยมากและเนื้อหาสาระดี จึงขอยกข้อความสองตอนจากบันทึก 2 เรื่องของเธอ มาเพื่อเป็นแนวคิดสำหรับครูและผู้ปกครอง  “...คนรุ่นก่อนมองการณ์ไกล แอบปลูกต้นรัก (การอ่าน) ให้ลูกหลานได้อย่างแยบยล เล่านิทานให้ฟัง-สร้างจินตนาการตาม กระตุ้นให้อยากอ่านหนังสือด้วยตัวเองแทนการฟังจากการเล่านิทาน และขณะเดียวกันได้สอดแทรกคติสอนใจให้กับลูกหลานด้วย…การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กนักเรียนจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานของภาครัฐ  โรงเรียนนับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างนิสัยรักการอ่านของเด็ก ครูและบุคลากรในโรงเรียนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนนาวารักการอ่านลำนี้ ให้ไปสู่จุดหมาย แล้วร่วมกันปลูกต้นรัก (การอ่าน) ต้นนี้ให้เจริญเติบโต ออกดอกบานสะพรั่งในหัวใจของเด็กๆ”

การอ่านที่จะให้ได้รับประโยชน์มากขึ้นก็คือ ต้องมีทักษะในการอ่านด้วย หลักสูตรมุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะในการอ่านและคิดวิเคราะห์ แต่เด็กไม่ค่อยได้รับการฝึกทักษะดังกล่าว เวลาทำแบบทดสอบที่ใช้คำถามเชิงวิเคราะห์จึงมักทำคะแนนได้ต่ำ การมีนิสัยรักและมีทักษะในการอ่าน จะทำให้อ่านด้วยความเข้าใจ และสามารถนำสิ่งที่ได้อ่านไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง ทั้งด้าน EQ, AQ และ MQ ได้ด้วย นอกเหนือจากด้าน IQ ที่ได้กล่าวไปแล้ว ผู้เขียนจึงได้เน้นเรื่องของการอ่านเป็นพิเศษ

ตามแนวคิดของ "Bloom" นั้น จุดประสงค์ทางการศึกษาด้านพุทธิพิสัยดังภาพบนซ้าย (ที่ปรับใหม่แต่นักวัดผลจำนวนมากยังใช้ Version เก่า เพราะใช้แต่ความรู้เดิมและตำราเล่มเดิม ไม่อ่านวารสารต่างประเทศ [Online] ที่ได้ Update การปรับทฤษฎีมานานแล้ว) การคิดขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การจำ (Remembering) ความเข้าใจ (Understanding) และการประยุกต์ใช้ (Applying) ส่วนการคิดขั้นสูงได้แก่ การวิเคราะห์ (Analysing) การประเมินค่า (Evaluating) และการคิดสร้างสรรค์ (Creating)

สำหรับภาพบนขวา แสดงการทำงานของสมองซีกซ้าย (Left Brain Function) ซึ่งจะทำหน้าที่ด้านการคิดวิเคราะห์ (แยกสิ่งที่คิดเป็นส่วนย่อย) การคิดแบบตรรกศาสตร์ และการเรียนรู้ภาษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และการทำงานของสมองซีกขวา ซึ่งจะทำหน้าที่ด้านการคิดเป็นภาพรวม การหยั่งรู้ การคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ด้านศิลปะและดนตรี คนที่มีสมองซีกเด่นต่างกันจะมีความถนัดต่างกัน แต่คนที่สมองทั้งสองซีกมีความเด่นพอๆ กัน จะมีความสามารถตามหน้าที่ของสมองทั้งสองซีก ดังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่พระองค์ทรงมีพระอัจริยภาพทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ (ซ้าย) ภาษา ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ (ขวา) จากการที่ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาที่เรียนรายวิชา "การพัฒนาทักษะการคิด" และวิชาอื่นๆ ทำแบบทดสอบวัดความถนัดของซีกสมอง พบว่า นักศึกษาทุกระดับ ทุกหมู่เรียน ทุกสาขาวิชา และทุกชั้นปี ส่วนใหญ่จะเป็นพวกสมองซ้าย รองลงเป็นพวกสมองกลาง (Middle Brain or Whole Brain Persons) และพวกสมองขวามีจำนวนน้อยที่สุด ผู้เชี่ยวชาญด้าน IQ ชี้ว่า การจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ใช้สมองทั้งสองซีกจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีที่สุด และที่สำคัญจะตอบสนองเด็กทั้งกลุ่มสมองซ้าย สมองกลาง และสมองขวาด้วย ผู้เขียนได้จัดการเรียนรู้ในแบบดังกล่าวมาตลอด และสนับสนุนให้นักศึกษาฝึกสอน รวมทั้งครูที่เข้ารับการอบรม สอนหรือจัดการเรียนรู้ในแนวทางเดียวกันด้วย นอกจากนั้นยังได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการควบคุมปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา ซึ่งได้พัฒนาแบบวัด แบบฝึก และแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อใช้วัด/ฝึก และจัดการเรียนรู้ ด้านการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งมีแบบวัดคู่ขนานสำหรับชั้น ป.4 และสำหรับชั้น ม.1 ที่วัดในเนื้อหาเดียวกัน แต่ให้เด็กตอบสองแบบ คือให้คิดคำตอบด้วยสมองซีกซ้ายโดยให้คิดวิเคราะห์เพื่อเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด และด้วยสมองซีกขวาโดยให้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อเสนอคำตอบที่เป็นไปได้มาให้มากที่สุด  และมีงานวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป.4 ที่ส่งการคิดวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนด้วย (วิทยานิพนธ์หลายเรื่องได้รับทุนระดับชาติและได้รับการประเมินในระดับดีเยี่ยม) 

รายการ "ท้าให้อ่าน"เป็นรายการทีวีที่ครูควรแนะนำให้เด็ก ป.ปลายดู และผู้ปกครองก็ควรดูไปพร้อมกับบุตรหลานและให้บุตรหลานฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์และลองตอบคำถามตามไปด้วย (ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนวันเวลาในการออกอากาศเป็นทุกวันเสาร์เวลา 07.30 น.) เท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามดูมาหลายครั้ง พบว่า  ในช่วงให้ตอบคำถามจากหนังสือโจทย์ (ทางรายการได้มอบหนังสือโจทย์ให้เด็กอ่านไปล่วงหน้า) ซึ่งเป็นการวัดการคิดขั้นพื้นฐาน คือ การจำ เด็กส่วนใหญ่จะตอบได้ แต่พอใช้คำถามอ่านสด ซึ่งเป็นการวัดการคิดขั้นสูงคือ การวิเคราะห์ตัวเลือกที่ไม่ได้ศึกษาเนื้อหามาก่อน เด็กส่วนใหญ่จะตอบผิด อย่างเช่น ในภาพบนและล่าง ที่นำโจทย์คำถามมาจากหัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์ความว่า "ไอบ้าแฮปปี้ศึกมวยโลกยิ่งใหญ่ ดอนชัยโชคร้ายตกรอบ" แล้วถามว่า จากหัวข้อข่าวนี้ คำว่า "ไอบ้า" คือชื่อของอะไร มีเด็กตอบถูก (ตัวเลือก ค.) คิดเป็น 33 % ผิด (ตัวเลือก ก. และ ข.) คิดเป็น 67 % ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ทั้งเด็กที่ตอบว่า เป็นชื่อของนักมวย ค่ายมวย (ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด) และสมาคมมวย (ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง) ล้วนแสดงออกถึงการขาดทักษะการคิดตั้งแต่ระดับความเข้าใจซึ่งเป็นระดับการคิดขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้จากการที่เด็กประมาณ 6 คนที่พิธีกรให้แสดงเหตุผลในการเลือกคำตอบนั้นๆ ไม่มีใครเลยที่คิดว่า "ไอบ้า" เป็นคำย่อภาษาอังกฤษ ทุกคนคิดว่าเป็นคำภาษาไทย ที่ "บ้า" หมายถึง บ้าๆ บอๆ ทั้งนั้น (นักเรียน ป.6) สำหรับเด็กส่วนใหญ่ (67 %) ที่ตอบผิด แสดงว่า ขาดความเข้าใจในการอ่าน คือไม่สามารถแปลความได้ว่า การจัดมวยโลกน่าจะจัดโดยสมาคมมวย ไม่ใช่จัดโดยค่ายมวย ยิ่งเด็กที่ตอบว่า เป็นชื่อของนักมวย ยิ่งแสดงว่ามีปัญหามากในการอ่าน...ก็ไม่ทราบว่า คุณครูที่เข้าไปเชียร์ในห้องส่งและที่ติดตามดูรายการได้มองเห็นปัญหาดังกล่าว และคิดที่จะนำไปสู่การแก้ไขหรือไม่ เพราะทักษะการอ่าน เป็นสิ่งที่เกิดจากการฝึกฝน ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ (ส่วนใหญ่ครูมักจะตั้งคำถามระดับความจำ เช่น ใช้คำถาม ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เท่าใด ควรถามระดับความเข้าใจ โดยใช้คำถาม ทำไม เพราะเหตุใด และถามระดับการประยุกต์ใช้ เช่น ถ้า...แล้วอย่างไร ให้มากขึ้น)   

นักจิตวิทยาเชื่อว่า "IQ" ส่งผลต่อความสำเร็จด้านการเรียนมาก แต่พอออกไปทำงาน "EQ" จะส่งผลต่อความสำเร็จในงานมากกว่า ดังคำบรรยายในภาพล่างที่ระบุว่า IQ ทำนายความสำเร็จในงานได้ในช่วง 1-20 % ในขณะที่ EQ ทำนายได้ในช่วง 27-45 %  ผู้เขียนเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาปริญญาโทสาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ที่ทำวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของ EQ กับการปฏิบัติงานของพยาบาลจิตเวชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบว่า EQ ใช้เป็นตัวทำนายคุณภาพของการปฏิบัติงานของกลุ่มตัวอย่างได้ (เป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับผลการประเมินในระะดับดีเยี่ยม) "EQ หรือบางที่เรียกว่า EI" มีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึง ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป กรมสุขภาพจิตได้ใช้ทฤษฎีที่นำไปเทียบกับ "เก่ง ดี สุข" แต่การกำหนดพฤติกรรมบ่งชี้ยังมีความซ้ำซ้อนกันระหว่างเก่งกับดี ผู้เขียนขอเสนอทฤษฎีที่จำแนก EQ เป็น 4 องค์ประกอบซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทักษะ EQ 4 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะการตระหนักรู้ในตน (Self Awareness) ที่สำคัญ คือ การประเมินตนเองได้อย่างถูกต้อง 2) ทักษะการจัดการตนเอง (Self Management) ที่สำคัญคือ การควบคุมอารมณ์ การปรับตัว การมุ่งผลสัมฤทธิ์ และการมองโลกในแง่ดี 3) ทักษะการตระหนักรู้ทางสังคม (Social Awareness) ที่สำคัญคือ การเข้าใจคนตามที่เขาเป็น และการมุ่งให้บริการ และ 4) ทักษะการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม (Relationship Management) ที่สำคัญคือ การเป็นผู้นำ การจัดการความขัดแย้ง และการพัฒนาทีมงาน ซึ่งทักษะต่างๆ ดังกล่าว ครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา และครูแนะแนวสามารถศึกษาหลักสูตรและกิจกรรมการพัฒนา ซึ่งสามารถสืบค้นได้ทางออนไลน์และนำไปฝึกให้กับเด็ก (มีรายละเอียดมากที่ไม่อาจนำมากล่าว ณ ที่นี้) สำหรับผู้เขียนเอง ได้พัฒนา EQ ให้กับนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนด้วยโดยแทรกลงไปในทุกรายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน ซึ่งได้จัดให้นักศึกษาได้พัฒนาทั้ง 4 ทักษะ       

ผู้เขียนรู้จัก "AQ" ครั้งแรกในปี 2545 จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีของ "สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย" โดยวิทยากรได้นำเสนอเพียงทฤษฎีแบบย่อๆ  จากนั้นผู้เขียนได้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมและได้สร้างแบบวัด "AQ" จำนวน 30 ข้อเพื่อนำไปใช้กับนักศึกษาในกิจกรรมการพัฒนาตน โดยประยุกต์จากแบบวัด "The Adversity Response Profile-ARP" ของ "Stoltz (1997=2540)" ซึ่งเป็นผู้นำด้านการศึกษา AQ, Stoltz ได้แบ่งสัดส่วนของคนในสังคม ตามลักษณะพฤติกรรมการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตเป็น 4 ประเภท เทียบเคียงกับการแข่งขันปีนเขา (ดังภาพล่าง) ได้แก่ 1) พวก Quitters คือ พวกไม่สู้ และถอนตัวออกจากการแข่งขัน มีประมาณ 18 %  2) Campers คือ พวกสู้ในตอนต้น แต่ไม่อดทนพอที่จะสู้ต่อให้ถึงเป้าหมายจึงหยุดพักระหว่างทาง เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม คือมีประมาณ 54 % และ 3) พวก Climbers คือพวกนักสู้ สามารถปีนเขาไปจนถึงยอดและได้รับชัยชนะ มีประมาณ 28 % ผู้เขียนคิดว่า ในแต่ละกลุ่มสังคม น่าจะมีสัดส่วนของคนแต่ละประเภทแตกต่างกันไป สำหรับนักศึกษาที่ผู้เขียนรับผิดชอบตลอดเวลากว่า 35 ปี ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลเป็นรายบุคคล คะเนพวก Quitters, Campers และ Climbers ได้ว่าน่าจะอยู่ในอัตราส่วประมาณร้อยละ 20 : 65 : 15 ตามลำดับ ตัวอย่างพฤติกรรมของนักศึกษาพวก Quitters เวลาได้รับมอบหมายงาน จะมีข้ออ้างกับตนเองที่จะไม่ลงมือทำงาน (excuses not to work) คือ อ้างว่า ร้อนเกินไป หนาวเกินไป ง่วงเกินไป น่าเบื่อเกินไป เช้าเกินไป สายเกินไป น้อยเกินไป มากเกินไป ที่จะทำงาน ผู้เขียนให้ความสำคัญฯ กับการเลี้ยงดูบุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครอง ว่ามีอิทธิผลสูงมากต่อการพัฒนา AQ ให้กับอนุชน จากการสัมภาษณ์เชิงลึกนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอุบลฯ ศรีสะเกษ ยโสธร อำาจเจริญ ที่สมัครขอรับทุนการศึกษา พบว่า แทบทุกคนได้รับการเลี้ยงดูแบบให้ใช้ชีวิตแบบสุขสบาย ให้เรียนอย่างเดียวไม่ให้ช่วยเหลืองานผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนา นับเป็นการสร้างค่านิยมรังเกียจงานหนัก ขาดคุณลักษณะ "หนักเอาเบาสู้" นำไปสู่การขาดความอดทนพากเพียรในการเรียน และการทำงานในอนาคต  

 เมื่อผู้เขียนให้นักศึกษากรอกข้อมูลพื้นฐานก่อนการพัฒนาตน นักศึกษาส่วนใหญ่จะกรอกว่า ตนยึดคติ "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" ในการดำเนินชีวิต แต่พอสังเกตจากการกระทำ น้อยนักที่ปฏิบัติตามคตินั้น และมีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่กรอกว่า ยึดคติ "ชีวิตคือการต่อสู้" ก็ไม่ทราบว่าผู้กรอกเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ว่าต่อสู้กับอะไร ผู้เขียนเองก็ไม่เคยวิเคราะห์คำตอบของโจทย์นี้ แต่จากการได้อ่านบทวิเคราะห์ ในบันทึกเรื่อง "เราต่อสู้กับอะไรหรือ" ของ "คุณ ส.รตนภักดิ์" (http://www.gotoknow.org/posts/558278) ทำให้ได้คำตอบอย่างชัดเจน ท่านได้เขียนความนำไว้ว่า "ได้ยินคนกล่าวบ่อยๆ ว่า 'ชีวิตคือ การต่อสู้' ซึ่งประโยคนี้ น่าจะมาจากผู้ที่มีประสบการณ์ ที่ผ่านกาลเวลา การดำรงชีวิต ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆมา จนสามารถสรุปนิยามเส้นทางของชีวิตได้ว่า 'ชีวิตคือ การต่อสู้' (The Life is Fighting) แต่ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยต่อผู้เพิ่งเกิดมาใหม่ว่า เป็นเช่นนั้นจริงหรือ..." แล้วท่านก็ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า เราต้องต่อสู้กับ 10 อย่าง ขอยกตัวอย่างการต่อสู้อย่างที่ 9 ซึ่งท่านกล่าวไว้ดังนี้ "๙) "ตัวเอง" (Self) ในตัวเราทุกคนมีพลังฝ่ายลบและบวกกันทุกคน อยู่ที่ว่าใครจะจับฝ่ายใดมาเป็นพลังของตนเองในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ อุปสรรคอยู่รอบกายเรา ในตัวเราก็มีจำนวนมากเช่นกัน อุปสรรคที่ทุกคนเอาชนะได้ยากคือ กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มานะ อิสสา ความอ่อนแอ ความสิ้นหวัง ท้อแท้ เบื่อหน่ายฯ เป็นคุณลักษณะที่ซ่อนในใจเรา ที่ศาสดาของศาสนาสอนไว้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องมองให้เห็นว่าตัวเรามีอยู่ แล้วดั้นด้น ให้พ้นด้วยสติ ปัญญาและแรงบันดาลใจ" ผู้เขียนได้ค้นภาพมาประกอบเนื้อหาที่ท่านเขียนไว้ในข้อที่ 9 ดังภาพข้างล่าง

การพัฒนา "MQ : ความฉลาดทางจริยธรรม" ให้กับอนุชน เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อน เพราะมีเหตุปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย จึงพัฒนาได้ยากกว่า 3 Qs ที่ได้กล่าวไปแล้ว ถ้าจะพัฒนาให้ได้ผลจริง ต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เยาวัยโดยครอบครัว แล้วได้รับการสร้างเสริมเติมแต่งด้วยสถานศึกษา ที่สำคัญอีกอย่างสภาพแวดล้อมทางสังคมก็ต้องเอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ในสังคมต้องเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมตามที่คาดหวังให้อนุชนมี ไม่ใช่สอนให้อนุชนซื่อสัตย์แต่ผู้ใหญ่กลับมีพฤติกรรมคอรัปชั่นโกงบ้านกินเมืองกันอย่างกว้างขวาง แล้วจะไปหวังให้เด็กซื่อสัตย์ได้อย่างไร เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใหญ่กลุ่มดังกล่าว ทำให้ "ผู้ใหญ่ฝ่ายธรรม" ต้องสร้าง "หลักสูตรโตไปไม่โกง" เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความซื่อสัตย์และมีจิตสาธารณะ แล้วกลุ่มคนโกงชาติทั้งหลายไม่รู้สึกว่า "โดนตบหน้าฉาดใหญ่เข้าให้" หรืออย่างไร

การพัฒนาจริยธรรมนั้น ควรจะพัฒนาให้ครบทั้ง 4 องค์ประกอบ ตัวอย่างเช่น จะพัฒนา "ความซื่อสัตย์" ต้องพัฒนา 1) ความรู้เชิงจริยธรรม คือ การให้ความรู้ว่า ความซื่อสัตย์ หมายถึงอะไร พฤติกรรมอย่างไรที่แสดงว่า ซื่อสัตย์/ไม่ซื่อสัตย์ 2) เหตุผลเชิงจริยธรรม คือ การให้อภิปรายแสดงเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องซื่อสัตย์ 3) เจตคติเชิงจริยธรรม คือ การสร้างความรู้สึกชื่นชมการแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ และ 4) พฤติกรรมเชิงจริยธรรม คือ การสนับสนุนให้แสดงออกถึงความซื่อสัตย์/ละเว้นพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ โคห์ลเบอร์ก (Kohlberg) ได้ศึกษาพัฒนาการของเหตุผลทางจริยธรรมของคนจากทุกกลุ่มวัฒนธรรมทั่วโลก และสรุปว่า เด็กอายุแรกเกิด-7 ปี จะใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นที่ 1) คือขั้นหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ เช่น ใช้เหตุผลว่า เมื่อเก็บกระเป๋าเงินของคนอื่นได้ต้องนำไปแจ้งครู เพราะถ้าไม่แจ้งแล้วครูรู้จะถูกลงโทษ เด็กอายุ 7-10 ปีจะใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นที่ 2) คือขั้นแสวงหารางวัล เช่น ใช้เหตุผลว่า เมื่อนำไปแจ้งครู จะทำให้ได้รับคำชมว่าเป็นเด็กดี หรือได้รับรางวัลการทำความดี ทั้งสองขั้นเป็นเหตุผลที่แสดงว่ายังไม่มีจริยธรรมจริง เพราะยึดตนเองเป็นหลักจึงเรียกว่า ใช้เหตุผลในระดับก่อนเกณฑ์ เด็กอายุ 10-13 ปีจะใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นที่ 3) คือขั้นทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ เช่น ทำเพราะพ่อแม่อยากเห็นเราเป็นคนซื่อสัตย์ พ่อแม่จะได้ภูมิใจที่มีลูกเป็นคนซื่อสัตย์ เด็กอายุ 13-16 ปี ใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้น ที่ 4 ) คือขั้นทำตามหน้าที่หรือกฎเกณฑ์ของสังคม เช่นทำเพราะเป็นระเบียบที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ให้นักเรียนปฏิบัติ ขั้นที่ 3-4 ถือเป็นจริยธรรมระดับตามเกณฑ์ คือมีจริยธรรมในขั้นที่ยอมรับได้ เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปจะใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นที่ 5) คือขั้นทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อการเคารพตนเอง เช่น ทำแล้วรู้สึกภาคูมิใจในตนเองที่ได้ทำดี และ ผู้ใหญ่จะใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นที่ 6) ขั้นอุดมคติสากล คือทำเพื่อความถูกต้อง เช่น ให้เหตุผลว่า นำไปแจ้งเพราะไม่ใช่สมบัติของเรา เราไม่มีสิทธิ์เก็บไว้เป็นของตน ขั้นที่ 5-6 ถือเป็นขั้นสูงจึงถือเป็นจริยธรรมในระดับเหนือเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่หตุผลเชิงจริยธรรมจะชงักอยู๋ในบางขั้น ไม่พัฒนาไปตามวัยที่สูงขึ้น เช่น อยู่ในวัยผู้ใหญ่แต่ใช้เหตุผลในขั้นที่ 1 ในการกระทำ/ไม่กระทำ เช่น ใช้เหตุผลว่า ที่ต้องกลับบ้านตรงเวลา เพราะถ้าไม่ตรงจะถูกภรรยาต่อว่าสร้างความรำคาญใจให้ ก็แสดงว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นมีจริยธรรมระดับเดียวกับเด็กอายุ 0-7 ปี ทฤษฎีนี้ เชื่อว่า ผู้ที่ใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นสูงจะมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเสมอต้นเสมอปลายมากกว่า ผู้ที่ใช้เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นต่ำกว่า 

ผู้ใหญ่ที่อยากเรียนรู้ว่า IQ, EQ, AQ, และ MQ พัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร และอนุชนที่อยากเรียนรู้ว่า การเป็นผู้มี 4Qs ดีเป็นอย่างไร ศึกษาได้จากบันทึกต่างๆ ใน Blog "เส้นทางชีวิต..ใครลิขิต" (http://www.gotoknow.org/blog/nongnarts5) ของ "คุณนงนาท สนธิสุวรรณ" ผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพรัก ศรัทธา และยึดเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเป็นผู้ให้ ตัวอย่างเช่น การมอบเงินสนับสนุนการซื้อพันธุ์เห็ดให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะการงานอาชีพและมีอาหารกลางวันกิน และการมอบเงินรางวัลสุดคะนึงทั้งหมด ให้ ดร.ขจิต ฝอยทอง นำไปจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในโรงเรียนชนบทห่างไกล

ขอฝากข้อคิดในการพัฒนา "4 Qs ให้กับอนุชน" มายังคุณครูและผู้ปกครองทุกท่าน...

ผู้เขียนสนับสนุน การพัฒนา 4Qs แบบบูรณาการลงไปในกิจกรรมการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ตามปรัชญาการศึกษาของ John Dewey ที่ว่า "การศึกษาคือชีวิต ไม่ใช่การเตรียมเพื่อชีวิต" ดังตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ของ "ครูหยิน" จากบันทึกเรื่อง "ชีวิตคือหลักสูตรที่ดีที่สุด ธรรมชาติคือเนื้อหาที่แท้จริง โลกคือสถานศึกษาที่ใหญ่ที่สุด" http://www.gotoknow.org/posts/538780 ความว่า "เรียนรู้คุณค่าของธรรมชาติ ครูรักสอน  นักเรียนรักเรียน เราคือโรงเรียนแห่งความรัก สนุกกับการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการปฏิบัติจริงทุกๆ พื้นที่ที่เป็นนสถานที่ธรรมชาติ ภาพนี้แสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณณ์ของป่าชายเลนที่เราได้มีส่วนร่วมในการดูแลฟื้นฟูมานับ 10 ปี ป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ" และเรื่อง "ค่ายอัจฉริภาพแห่งการเรียนรู้" (http://www.gotoknow.org/posts/552854) ความตอนหนึ่งว่า "...จัดกิจกรรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเทือกเขาบรรทัดแม่น้ำปะเหลียน...ให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยการลงศึกษาในพื้นที่จริง เพราะเป็นสิ่งที่นักเรียนได้ซึมซับและรับรู้คุณค่า สุดท้ายนำมาสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน (MQ) ป่าต้นน้ำเทือกเขาบรรทัดที่ขึ้นไปศึกษาระยะทาง 14  กิโลเมตร เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดภายในป่าหาผักกูดในป่ามาปรุงเป็นอาหาร...เรียนรู้วิธีการปรุงอาหารด้วยวิธีรรมชาติ (IQ)...นักเรียนทุกคนที่ได้ร่วมค่ายมีความสุข  สนุกสนานกับกิจกรรมที่ต้องฝ่าด่านความยากลำบาก (AQ) มีความภาคภูมิใจในความสำเร็จ (EQ) ประทับความทรงจำครั้งหนึ่งของชีวิตที่ได้ใช้ชีวิตในป่า ได้พบป่าต้นน้ำที่ไหลมาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนาน 

ตัวอย่างกิจกรรมง่ายๆ เพื่อพัฒนา 4Qs แบบบูรณาการ ซึ่งทำได้ทั้งในโรงเรียน (เป็นกลุ่ม) และที่บ้านที่ทำร่วมกับสมาชิกในครอบครัว คือ การจัดสวนหย่อม ปลูกดูแลไม้ดอกและดูแลสัตว์ป่าตามธรรมชาติเช่น ผีเสื้อ ตั๊กแตน ฯลฯ (ภาพตัวอย่างจากกิจกรรมของผู้เขียนเองที่บ้านไอดิน-กลิ่นไม้) ซึ่งจะทำให้อนุชนได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสวน พัฒนา IQ จากการศึกษาธรรมชาติของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดและสัตว์ป่า พัฒนา EQ จากการทำงานเป็นทีมและการเรียนรู้ทักษะทางสังคม พัฒนา AQ จากการฝึกความอดทนพากเพียรลงมือทำงานจนประสบความสำเร็จ อดได้รอได้ที่จะได้เห็นไม้ดอกออกดอก และพัฒนา MQ ด้วยการปลูกฝังความเมตตาต่อสัตว์ และการมีจิตสำนึกที่จะร่วมสร้างโลกนี้ให้สวยงาม 

และท่อนนี้ เป็นของฝากสำหรับอนุชนที่ต้องการพัฒนา 4Qs

ถ้าอนุชนอยากจะหาผู้ใหญ่ดีๆ ไว้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง ให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุข ที่ "GotoKnow" มีแบบอย่างให้เรียนรู้มากมาย แต่ด้วยขีดจำกัดของพื้นที่ในการเขียน ขอนำเสนอตัวอย่างเพียง 3 ท่าน ดังนี้ ... 

"คุณเพชรน้ำหนึ่ง" และทีมงาน ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้กับ "สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรบ้านใหม่เขาดงรื่นพัฒนา" ที่ หมู่ 12 ตำบลพรานกระต่าย อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเชร  ด้วยการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการสร้างความรักในอาชีพที่เป็นรากเหง้าของตนเอง และหวงแหนอาชีพที่บรรพบุรษได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้...

บันทึกที่แนะนำให้อนุชนอ่าน เพราะมีคุณค่ามากต่อการกระตุ้นต่อมคิด และจิตสำนึกที่จะพัฒนาตนเองเพื่อ "ก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าและมีความสุข"

1) เรื่อง “ความทรงจำครั้งยังเด็ก” (http://www.gotoknow.org/posts/558477) เขียนโดย คุณ "พี่หนาน " เจ้าของกิจการส่วนตัวจาก อุตรดิตถ์ 2) เรื่อง "อยากให้โลกหมุนช้าลงกว่านี้...ปี 2556" (http://www.gotoknow.org/posts/557832) เขียนโดย "คุณหมอทิมดาบ" จาก ชัยภูมิ และ  3) เรื่อง "เรื่องเล่า คำสอนของพ่อ" (http://www.gotoknow.org/posts/555574) เขียนโดย "คุณครู Prayat Duangmala" จาก มหาสารคาม ดังตัวอย่าง เรื่องที่ 1) ...เราผ่านงานมามากมีประสบการณ์มาก  พอโตเป็นผู้ใหญ่งานทั้งหลายที่พบจึงเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยสำหรับเรา...ฝึกหัดเป็นผู้ทำงานช่วยเหลืองานพ่อแม่ ตั้งแต่ยังเล็ก “อย่าเกรงกลัวงานหนัก”  เพื่อที่วันข้างหน้า  งานจะช่วยให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ... เรื่องที่ 2) ที่บ้านผม แค่มองจากหน้าต่างก็เห็นภูเขาแล้วครับ  เมื่อก่อนภูเขาจะเต็มไปด้วยต้นไม้ปกคลุม  ตอนนี้เริ่มมองเห็นก้อนหินเป็นหย่อมๆ ชัดเจน  ทำให้ผมเจ็บปวดได้เสมอเมื่อคิดถึง...ถ้าได้เกิดใหม่ขอเกิดเป็นต้นไม้  ที่หยั่งรากลึกบนภูเขาและไม่ไปไหน ใคร ๆ ก็อย่าพลัดพรากเคลื่อนย้ายได้ (ขอเป็นจิตอาสาพาลูกชายไปปลูกป่า เช่นเดียวกับปู่สอนครับ)... และเรื่องที่ 3) ...การเรียนที่วิทยาลัยครู เขาจบสองปี เราเรียนสองปีครึ่ง จากการติด จ. ในสมัยนั้นต้องมาแก้ พ่อก็บอกว่าจะเอาอย่างไร ถ้าไม่ตั้งใจก็ออกมาทำนา.. ในที่สุดก็รู้คุณค่าที่พ่อสอน ทำให้เริ่มอ่านหนังสืออย่างจริงจังเมื่อจบระดับ ปกศ.ในสมัยนั้นและบรรจุได้ในที่สุด และสอบ พม.ได้ในปีเดียว พ่อจะสอนให้ทำความดี มีความซื่อสัตย์ไม่เอาเปรียบคนอื่น ให้ช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่า ผมจึงมีเพื่อนมากที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือ...และขอฝาก "ผู้ใหญ่" อ่านเรื่อง "หนูขอคิดเอง" (http://www.gotoknow.org/posts/558375) เขียนโดย "คุณนุชระพี" จากศูนย์พัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการความรู้และการเรียนรู้ (UsableLabs) ซี่งมีความตอนหนึ่งว่า "...สิ่งที่คับข้องอยู่ในใจตั้งแต่เด็กคือ ทำไมคำขวัญวันเด็กต้องนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ให้ด้วยล่ะ? ปูชนียบุคคลของชาติคนอื่นๆให้แทนไม่ได้หรือ  ตกลงนายกคือคนดีที่สุดของประเทศ ดีเลิศ ดีมากพอที่จะสั่งสอนสร้างฝันผู้ใหญ่ในอนาคตของชาติทุกคนได้เลยหรือ (อันนี้ตั้งเพิ่มเติมตอนอยู่ในวัยที่ต้องรับผิดชอบตนเองแล้ว)...

 

ขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นต้นแบบของผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า และ/หรือเขียนเล่าประสบการณ์อันควรค่าแก่การเรียนรู้ของอนุชน เพื่อนำไปเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ระหว่างก้าวเดินสู่ความเป็นผู้ใหญ่ 

และขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่กรุณาเข้ามาอ่าน มอบดอกไม้กำลังใจ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  

                      



ความเห็น (28)

จะติดตามอ่านต่อไปจ้าา ขอบคุณจ้ะพี่ไอดิน ฯ

ตามมาเรียนกับอาจารย์ค่ะ

อบอุ่นใจ ดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าอ่านบันทึก ชอบรูปแบบการนำเสนอ บันทึกของอาจารย์ให้สาระ ความรู้มากๆ

ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณมากครับ ท่านอาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้ ที่ได้ให้เกียรติครับ ;)...

"IQ, EQ, AQ, และ MQ" คือปัจจัยหลักของ

การพัฒนาคุณภาพชีวิต..ของเด็กไทย

แต่จะทำอย่างจึงไปได้ถึงฝั่งฝัน

เพราะปัจจุบัน..รัฐ และผู้ปกครองต้องการเพียง IQ อย่างเดียว ขอขอบคุณกับความรู้

ดี ๆ ที่มีให้ได้คิด

อาจารย์แม่คะ ครูหยินส่งผ่านเมล์ไปตั้งแต่วันแรกที่ได้อ่านบันทึกค่ะ

และหลังจากนั้นครูหยินไม่มีโอกาสได้เข้า โกทูโนว์ เพราะเครื่องคอมเสีย ประกอบกับภาระกิจมากมาย

ไม่เคยมีวันหยุด...พร้อมกับมีแขกมาเยี่ยมบ้านสวนบ่อยมากจึงไม่มีโอกาสไป 2- 3 เดือน

ครูหยินมี เสาร์ - อาทิตย์นี้ เป็นวันหยุดแรกเพื่อเตรียมตัวพานักเรียนไปขึ้นเขาอีกในวันอาทิตย์หน้าค่ะ

ตอนปีใหม่ก็จัดค่าย และรับแขกไปด้วยค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน

-ตามมาอ่านบทความเกี่ยวกับ IQ EQ AQ และ MQ ครับ..

-ส่วนใหญ่จะได้ยินแต่คำว่า"IQ" แต่ในระยะหลัง ๆนี้มี EQ AQ และ MQ เพิ่มขึ้นมา..ขอบคุณมาก ๆ ครับ..

-สำหรับบุคคลอาจารย์แม่ไอดินได้นำมาเป็นตัวอย่าง ผมถือว่าเป็นคนที่ควรนำเอาไปเป็นตัวอย่างมาก ๆครับ...

-เป็น"เด็ก"คนหนึ่งที่เคยได้รับโอกาสดี ๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา และการใช้ชีวิต เมื่อมีโอกาสจึงขอแบ่งปัน"โอกาส"ให้กับน้อง ๆ ครับ..

-ขอบคุณครับ..

ครบถ้วนทั้งแนวคิดดีๆ ภาพประกอบ และตัวอย่างการขับเคลื่อนบ่มเพาะเด็กๆสู่การเป็นพลเมืองดีของแผ่นดิน ขอบคุณบันทึกคุณภาพเช่นนี้ค่ะ..


พรุ่งนี้ วันที่ 16 มกราคม 2557 "เป็นวันครูแห่งชาติ" ครูผู้มีบทบาทเป็น "วิศวรกรสังคม" สร้างคนให้เป็นคนดีของบ้านเมือง และเป็นพลเมืองดีของประเทศ "ครูไอดิน-กลิ่นไม้" ในฐานะ "ครูอาวุโส" จึงขออนุญาตท่านผู้อ่านคุยยาวๆ กับคุณครูรุ่นน้องรุ่นลูกทั้ง 4 ท่าน (จากทั้ง 4 ภาคการปกครองของไทย) ที่มีน้ำใจเข้ามาให้กำลังใจและทักทายพูดคุยกับ "ครูอาวุโส" ที่แม้จะเกษียณฯ ไปแล้วแต่ยังเป็นห่วงงานด้านการศึกษาของไทย จึงใช้ Blogs ใน GotoKnow เป็นเวทีให้ได้แลกเปลี่ยนและเสนอ ความรู้ ประสบการณ์ ความเห็น และข้อคิด ที่สั่งสมมากว่า 35 ปีในบทบาท "ครูของครู" และได้ซึมซับจิตวิญาณครูมาตลอดชีวิต เพราะเกิดมาในครอบครัวที่พ่อเป็นครูใหญ่แม่เป็นครูน้อยในถิ่นทรกันดาร (แม่คลอดลูกสองคนในวันครูปี 2493 และ 2497) มีพี่สาวสองคน (ที่ถ่ายรูปกับครูไอดินฯ ในภาพประจำตัว) ก็เป็นครูภาษาไทยระดับประถมฯ น้องชายคนติดกันเป็น (พระ) ครู น้องชายคนเล็กเป็นครูวิชาสังคมฯ ในระดับมัธยม

คุณครูทั้ง 4 ท่าน ล้วนเป็นผู้มีทั้งความรู้ความสามารถและจิตวิญญาณครู ได้เสียสละแรงกาย แรงใจ และแรงสติปัญญา ฯลฯ เพื่อทุ่มเทให้กับงานการจัดการศึกษา ซึ่งผู้เขียนมีความศรัทธาและขอเชิดชู... "คุณครูมะเดื่อ ณ ประจวบคีรีขันธ์ (ภาคตะวันตกตามภาคภูมิศาสตร์ ภาคกลางตามภาคการปกครอง) "อ."Wasawat Deemarn" ครูของครู ณ เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) "คุณครูอร ววรรณดา" ณ ศรีสะเกษ (ภาคอีสาน) และ "คุณครูหยิน" ณ ตรัง (ภาคใต้)

ภาระงานของครูหนักนัก สมกับที่คำว่า "ครู" ที่มาจากคำว่า "ครุ, คุรุ" ที่แปลว่าหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูที่มี "จิตวิญญาณครู" เห็นศิษย์ทุกคนเป็นลูกเป็นหลานเหมือนน้องๆ ลูกๆ ที่เป็นครูทั้ง ท่าน ช่วงที่ยังทำงาน คณไอดินเองก็ได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ สติปัญา และเงินให้กับการคิดค้นหาวิธีและผลิตสื่อเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ และจัดหารางวัลเป็นสิ่งเสริมแรงผู้ที่มีพฤติกรรมการเรียนที่พึงประสง ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อเป็นเครื่องล่อ (Incentive) ให้อยากรู้อยากเรียน จะได้มีสามารถพัฒนาตนเอง ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่จะนำไปใช้ในการสมัครงาน การทำงาน และการดำเนินชีวิตในสังคม

การทุ่มเทดังกล่าวไม่ประสงค์ความดีความชอบพิเศษ เพราะผู้บริหารทุกระดับไม่สนใจอยู่แล้วกับครูที่ไม่เคยไปเสนอหน้าเพราะง่วนอยู่กับเรื่องของการเรียนการสอน (คุณจะนอนตี 1 ตื่นตี 5 เพื่อคิดค้น ผลิตสื่อ ตรวจงาน ติดตามผู้เรียนเป็นรายบุคคลทาง Online แต่ผม/ฉันจะไปรู้ได้อย่างไรว่าคุณทำอะไรอยู่ เพราะคุณไม่เคยไปเสนอหน้ารายงานให้ทราบ ก็เราไม่ได้ต้องการประกาศให้ใครทราบนี่นา เราเป็นดังที่พ่อหลวงทรงมีพระราชกระแสว่า สังคมนี้มันต้องมีคนปิดทองหลังพระอยู่บ้าง ไง) เชื่อว่าคุณครูทั้ง 4 ท่าน ก็คงถือคติเหมือนครูไอดินฯ คือ "ทำดี ดี ...ไม่ใช่ทำดี ได้ดี" ดังที่พระท่านว่า ถ้าทำดีมันก็ดีอยู่แล้วในขณะที่ทำ ความชอบพิเศษที่เราได้รับก็คือ ความสุขความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้ทำในสิ่งดีๆ และภาพของผู้เรียนที่เรียนรู้ด้วยความสุข ความสนใจ และเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ แค่นี้ก็ทำให้หัวใจของครูเบ่งบานด้วยความสุขแล้ว ส่วนคุณครูที่ถือคติ "ทำดี ต้องได้ดี (เช่น รางวัลความดีความชอบพิเศษ)" เมื่อไม่ได้ดีอย่างที่หวัง ก็คับข้องใจ บ่นว่า "ทำดีได้ดี มีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป"

ในโอกาสวันครูที่จะถึงนี้ และตลอดไป ครูไอดินก็ขอให้น้องครู ลูกครูทั้ง 4 ท่าน มีพลังกายพลังใจ พลังสติปัญญาในการทำงานวิศวกรสังคมเพื่อชาติบ้านเมือง ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัวและส่วนตัว และมีความสุขท่ามกลางความรักของลูกศิษย์ลูกหา กันนะคะ

ต้องขออภัยน้องครู ลูกครูทั้ 4 ท่านและท่านผู้อ่าน ที่ความเห็นข้างบนมีการ "พิมพ์ตก พิมพ์เกิน" หลายแห่งเพราะเป็นการเขียนสดๆ แบบยาวๆ ครูไอดินฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ นะคะ

... แม่เป็นครูน้อยในถิ่นทรกันดาร (ทุร)...ภาระงานของครูหนักนัก สมกับที่คำว่า "ครู" ที่มาจากคำว่า "ครุ, คุรุ" ที่แปลว่าหนัก...(ตัดคำว่า ที่ [ตัวเอนออก])...เหมือนน้องๆ ลูกๆ ที่เป็นครูทั้ง ท่าน... (ทั้ง 4 ท่าน)...คณไอดินเองก็ได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ สติปัญา... (ครูไอดินฯ, ปัญญา)...ผู้ที่มีพฤติกรรมการเรียนที่พึงประสง (ประสงค์)...จะได้มีสามารถพัฒนาตนเอง...(ตัดคำว่า "มี" ออก)

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...

-ตามมาอีกรอบ..

-วันนี้มี"เมี่ยงบะโอ"มาฝากครับ..

-เผื่ออาจารย์แม่ไอดินจะนำไปทำกินที่บ้านไร่..ครับ..

ขอบคุณอาจารย์แม่มากครับ

ที่กรุณาเอารูปมาเป็นบุคคลต้นแบบ

ปกติเป็นคนธรรมดา

มีความสุขกับการทำงานในสิ่งที่เราชอบครับ

ครูวุฒิเคยเจอตอนไปทำกิจกรรมให้ม.มหาสารคามครับ

ถ้ามีดินมีพื้นที่ควรปลูกในดินดีกว่าในท่อครับ

ขอบคุณอาจารย์แม่ที่เขียนบันทึกๆดีๆให้อ่านอย่างสม่ำเสมอครับ

ครูหยินได้เห็นภาพที่มากจากความสามารถของ อ.ที่เป็นคนต้นแบบ...แห่งเทคโนโลยี

ที่ใคร มักปฏิสธ...ว่าทำไม่ได้ครูหยินเองยังทำแบบอาจารย์ไม่เป็น ต่อไปนี้จะพยายามเรียนรู้

และขอขอบคุณไมตรีจิตที่มีให้ ทำให้รู้ศึกซาบซึ้ง และได้รับความสุขอย่างมากค่ะ

ตามเ?สกาลของวันครู...ขอบแบบอย่างของครูดี แบบอาจารย์แม่...เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นกำลังใจครูรุ่นต่อไปน่ะคะ

อ่านรายละเอียดของวันครู..ที่อาจารย์แม่ได้เขียนถึง...ซาบซึ่้ง...คงมีค่ามากกว่าความดีความชอบที่อยู่นอกกรอบนอกสายตาของผู้บริหาร...แต่เราทำงานด้วยหัวใจ...ความสุขที่ได้รับ..จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กเราเท่านั้นที่จะซึมซับและรับรู้ได้...มันยิ่งใหญ่จริง ๆ..ทำให้มีพลังในการกระทำ...และยังดีที่ยังมีคนอย่างอาจารย์แม่เข้าใจ จึงเป็นแรงใจให้ได้ทำ และสู้ต่อเท่าที่มีลมหายใจอยู่ ขอขอบคุณมากจริง ๆ ค่ะ

ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่แวะมาให้กำลังใจทักทายอาจารย์แม่ไอดินฯ ถึงสองครั้งสองครา และที่ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งแทนประเทศไทยก็คือ การที่คุณเพชรฯ ได้ปฏิบัติตนทั้งในหน้าที่การงาน และการดำเนินชีวิตส่วนตัว เป็นแบบอย่างแก่อนุชนอย่างครบถ้วนตามคำขวัญวันเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการกำหนดคำขวัญหลายเท่านัก นอกจากนั้นยังเป็นแบบอย่างของข้าราชการที่ทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่เข้าถึงชาวบ้านแบบเป็นกันเอง และใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามคำสอนของพ่อหลวง เป็นข้าราชการในอุดมคติของอาจารย์แม่ไอดินฯจริงๆ ค่ะ

ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่" มากนะคะ ที่เมตตาเข้ามาให้กำลังใจน้องเสมอมา น้องได้บอกกับผู้ใหญ่ที่อยากเรียนรู้ว่า IQ, EQ, AQ, และ MQ พัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร และอนุชนที่อยากเรียนรู้ว่า การเป็นผู้มี 4Qs ดีเป็นอย่างไร ให้ศึกษาได้จากบันทึกต่างๆ ใน Blog "เส้นทางชีวิต..ใครลิขิต" (http://www.gotoknow.org/blog/nongnarts5) ของ "คุณนงนาท สนธิสุวรรณ" ผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพรัก ศรัทธา และยึดเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเป็นผู้ให้

แว่บเข้ามาขอบคุณท่านอาจารย์ไอดินฯ อีกครั้งหนึ่งที่ให้เกียรติในวันครูที่ผ่านมานี้ครับ ;)...

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-ตามมาอีกรอบ..ฮ่า ๆ ๆ

-ขอบคุณสำหรับคำชมที่ทำให้ผม"เขิน"ได้นะครับ...

-วันหยุดที่ผ่านมาครอบครัวเล็ก ๆของผมนำ"มันมู้"มาทำเมนูเด็ด...ครับ

-เก็บภาพมาฝากอาจารย์แม่ไอดิน..เผื่อวันใดที่อาจารย์แม่ไอดินเปิดร้านจะได้เป็นเมนูประจำร้านน่ะครับ..

-แจ้งให้อาจารย์แม่ไอดินทราบอีกเรื่องหนึ่งว่า"มีพี่หนาน"ที่สนใจอยากจะไปอยู่"ยโสธร"ด้วยนะครับ..

-ท่านคงมีเป้าหมายอะไร..ที่เหมือนๆ กับผมเช่นเดียวกันเป็นแน่..ฮ่า ๆ

-ขอบคุณครับ..

สวัสดียายไอดิน

ป๋าเดไม่ได้เข้าบล๊อกเพราะมัวยุ่งงานไปประเมินที่ยโสธรบ้านเรา และตอนปีใหม่ก็ไม่ค่อยสบาย จากนั้นไปประเมินต่อที่ จ.หนองคาย.....กลับมาจึงต้องรีบทำบันทึกภาคสนาม (Field note) ส่งเลขาคณะกรรมการเพื่อส่งให้ สมศ.ถ้าส่งไม่ทันตามกำหนด โดนปรับเงิน....แต่ สมศ.ส่งเงินมาให้เราช้าไม่ยักกะตัดเงินตัวเอง 555 ที่สำคัญอีกเรื่องคือถ้าเขียนบล๊อกแล้วก็อยากเอาภาพใส่ประกอบ แต่มันเอาภาพเข้าลำบาก จึงทำให้ไม่อยากจะเขียนอะไร.......อ่านบันทึกยายไอดินแล้วให้ความรู้ที่ดี ๆ กับผู้สนใจ มีประโยชน์มาก ขอขอบคุณครับ...........



ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "ทพญ.ธิรัมภา ลุพรหมมา" ทันตแพทย์โรงพยาบาลสระใคร

ไอดินฯ ชื่นชอบวิถีชีวิตส่วนตัวของคุณหมอ และขออนุญาตนำไปอ้างอิงในบันทึกต่อไปด้วยนะคะ กำลังเตรียมต้นฉบับค่ะ

ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่เป็นกำลังใจให้อาจารย์แม่เสมอมา

อาจารย์แม่ขอนำภาพจากสองบันทึกล่าสุดของลูกขจิต (ดังภาพล่าง) ไปประกอบบันทึกเรื่องต่อไป ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ สำหรับความรู้เรื่อง "มันมู้" ซึ่งเป็นอีกมันที่อาจารย์แม่ไอดินฯ ไม่เคยรู้จัก รวมทั้งเมนู "บัวลอยมันมู้" ที่ชวนลิ้มลอง

อาจารย์แม่เองก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับ "มัน" ในอดีต ที่จะนำลงในบันทึกต่อไป ดังภาพล่าง ค่ะ

ขอบคุณ "ป๋าเด" มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจยายไอดินฯ พร้อมนำภาพเนี้ยบๆ มาฝาก

อ่านจากบันทึกของป๋าเด ยายไอดินฯ เห็นป๋าเดเดินทางไกลคนเดียวระยะทางไกลๆ ก็รู้สึกเป็นห่วงนะคะ...ก็ขอให้ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพในทุกเที่ยวของการเดินทางนะคะ

บันทึกต่อไปของยายไอดินฯ พบกันในเรื่องข้างล่างนะคะ ...

  • สวัสดีครับอาจารย์แม่
  • อ่านบันทึกนี้ทั้งได้ทบทวนทฤษฎีจิตวิทยาในทุกๆ แนว
  • ทั้งได้ความรู้ใหม่เพิ่มเติมขึ้นมากครับ
  • เช่น AQ => Adversity Quotient ความฉลาดในการเผชิญปัญหา คงรวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วยนะครับ ที่ผ่านมาเคยได้ยินเพียง IQ, EQ และ MQ (แค่ MQ ได้ยินทีแรกก็ไม่คุ้นครับ)
  • มาบันทึกนี้ได้รู้จัก AQ เพิ่มขึ้นมาดีเลยครับ (รู้ช้าไปคงไม่เป็นไรนะครับ)
  • อาจารย์สบายดีนะครับ?
  • ผมเหลืออีกแค่ 1 เดือน ก็จะปลดจาก "ว่าที่คุณครู" เตรียมตัวสอบเพื่อเป็น "คุณครู" เสียทีครับ

ขอบคุณ "ว่าที่ครูอาร์ม" มากนะคะ ที่เข้ามาคุยกับอาจารย์แม่ และขอโทษด้วยที่ตอบช้าเพราะคิดว่าไม่มีใครเข้ามาแสดงความเห็นอีกแล้ว เลยไม่ได้เข้ามาดูค่ะ

ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาที่อาจารย์แม่เขียนถึงในบันทึกนี้ มาจากขอบข่ายมาตรฐานวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนด ซึ่งอาจารย์แม่เป็นผู้รับผิดชอบเขียนตำราและประสานงานการสอนในรายวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" ค่ะ ในการสอบบรรจุเข้ารับราชการครู ก็จะมีการออกข้อสอบวัดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาทางจิตวิทยาเหล่านี้ อาจารย์แม่เห็นว่า ว่าที่ครูอาร์มสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางจิตวิทยาในการพัฒนาผู้เรียน ได้เป็นอย่างดี เวลาตอบข้อสอบก็คงทำได้ดีเช่นกัน ก็ขออวยพรล่วงหน้าให้สามารถสอบบรรจุได้ในครั้งแรกที่สอบ และได้รับการบรรจุเข้าทำงานเพื่อประเทศไทยจะได้คุณครูคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอีกคน นะคะ

ที่บอกว่า "AQ => Adversity Quotient ความฉลาดในการเผชิญปัญหา คงรวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วยนะครับ" อาจารย์แม่ขอทำความเข้าใจว่า ความสามารถในการคิดหาทางออกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็น "IQ : Intelligence Quotient" ค่ะ ...การใช้คำว่า "ความฉลาด" อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด จริงๆ แล้วควรใช้คำว่า ความสามารถมากกว่า เพราะ AQ เป็นเรื่องของบุคลิกภาพของคนที่สู้ไม่ถอย มีความอดทนฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท