เมื่อภาคี KM มาเจอกัน


ฟังเรื่องราวงาน KM ของทุกภาคีแล้ว ดิฉันได้รู้ว่าแต่ละงานแต่ละที่มี inspiration จุดเริ่มต้น รูปแบบ และวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

น้องๆ ชาว สคส. ได้เล่าเรื่องดีๆ ที่ภาคี KM มาพบเจอกันเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ ไปบ้างแล้ว อ่านที่นี่ () () (๓) () ดิฉันในฐานะที่เป็นหนึ่งในภาคีที่ไปร่วมกิจกรรมในวันนั้นขอเล่าบ้าง

เริ่มต้นเดิมทีดิฉันได้รับการติดต่อจากคุณธวัช หมัดเต๊ะว่าขอเชิญไปประชุมที่ The Tide Resort บางแสน ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ เพื่อให้ข้อมูลกับคณะผู้ประเมินหน่วยงาน สคส. ในประเด็นที่ว่าการทำ KM เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไร พอใกล้วันที่กำหนดคุณธวัชก็ประสานเรื่องกำหนดการและจัดการเรื่องการเดินทางเป็นที่เรียบร้อย นัดหมายให้ไปขึ้นรถตู้ที่อาคาร SM Tower เวลา ๐๗.๔๕ น.

ดิฉันมีการเตรียมตัวสำหรับงานนี้เป็นพิเศษ ตั้งแต่สรุปข้อมูลกิจกรรมของเครือข่าย KM เบาหวาน คนที่เข้าร่วมเป็นใคร อยู่ที่ไหน จำนวนเท่าใด มีผลอย่างไรต่อผู้ป่วยเบาหวานบ้าง สอบถามคุณธวัชเรื่องการแต่งกาย แม้จะได้คำตอบว่า “แต่งตามสบาย” แต่พอเอาเข้าจริงดิฉันคิดว่าแต่งกายให้เป็นแบบทางการหน่อยก็น่าจะดีเพื่อให้เกียรติแก่คณะกรรมการ

คืนก่อนเดินทางดิฉันเข้านอนเร็วกว่าทุกคืนคือก่อน ๒๒ น. เพื่อจะได้ตื่นนอนแต่เช้าและสมองปลอดโปร่ง ความที่ส่วนใหญ่เข้านอนหลัง ๒๔ น.ไปแล้ว ทำให้คืนนั้นตื่นขึ้นมาหลายรอบก็ยังไม่เช้าสักที ตื่นจริงๆ ก็เลยไม่เช้าเท่าไหร่ ดื่มกาแฟเสร็จ รีบออกจากบ้านก่อน ๐๗ น.อาศัยทางด่วนไปลงที่พหลโยธิน ไปถึงสำนักงาน สคส.ก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย สวัสดี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ทักทายน้องๆ ชาว สคสและภาคี เช่น ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร อาจารย์ ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ คุณทรงพล เจตนาวณิชย์

การดินทางไปบางแสนในวันนี้ใช้รถตู้ ๒ คน ดิฉันได้นั่งรถตู้คันเดียวกับอาจารย์วิจารณ์ อาจารย์วิบูลย์ คุณแกบ คุณธวัช ฯลฯ คุณแกบเตรียมอาหารเช้าไว้ให้ทุกคนเป็นข้าวเหนียวหมูทอดและหมูหวานพร้อมน้ำดื่ม อาจารย์วิจารณ์และคุณแกบชี้แจงถึงกิจกรรมในวันนี้ให้พวกเราทราบล่วงหน้า แล้วยังให้คุณอุทัย อันพิมพ์ Intern KM เล่าความคิดและงานที่จะทำเกี่ยวกับเกษตรประนีตให้พวกเราฟังด้วย

รถตู้ทั้ง ๒ คันถึง The Tide Resort เร็วกว่าเวลาเล็กน้อย ได้พบกับ พญ.นันทา อ่วมกุล จากกรมอนามัยและคุณสมพร อินทร์แก้ว จากกรมสุขภาพจิต ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืดและภรรยาตามมาสมทบในเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนอาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา จาก มอ. มาถึงประมาณ ๑๑ น.กว่า ตามแผนเดิมภาคีแต่ละคนจะเข้าไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการคนละ ๓๐ นาที เริ่มเวลา ๑๑.๐๐ น. แต่เปลี่ยนแผน ดิฉันเข้าใจว่าอาจารย์วิจารณ์และอาจารย์ประพนธ์ได้ใช้เวลาช่วงเช้าในการให้ข้อมูลกับคณะกรรมการ ภาคีจึงจะเริ่มให้ข้อมูลภาคบ่ายแล้วจะไปเป็นคู่ๆ

ระหว่างที่รอเวลาเข้าไปพบคณะกรรมการ ชาว สคส.ขอให้ภาคีแนะนำตนเองและเล่าเรื่องงาน KM ที่ทำอยู่ พอได้พูดทุกคนเล่าเรื่องของตนได้อย่างน่าประทับใจ ได้สาระและข้อคิดที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ดังที่น้องๆ ชาว สคส.ได้บันทึกไปแล้ว ถึงเวลา ๑๒ น.ก็ยังไม่จบ

คุณทรงพลเล่าเรื่องงานของตนเองได้อย่างน่าสนใจและมีหลักการตามเคย ดร.ปฐมพงศ์เล่าภาพ KM ภายในโรงเรียนที่เริ่มจากครูแล้วขยายไปทุกกลุ่มและกำลังขยับไปสู่เครือข่าย ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ คุยให้ฟังตั้งแต่ยังงงๆ กับ KM แต่ได้แรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยม site ต่างๆ จนต้อง commit ตัวเองว่าจะต้องทำและมีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ

พญ.นันทาเล่าว่าก่อนทำ KM ถูกเรียกไปติวเข้มตั้ง ๓ หนและได้ไปดู reality show ตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานครั้งแรก ขณะนี้มีการนำ KM ไปใช้ในหลายหน่วยงาน ทั้งในงานบริหารและงานบริการ สอดแทรกในงานประจำเช่น งานสุขศึกษา การส่งเวรของพยาบาล เป็นต้น พญ.นันทากล่าวว่าได้ทดแทนบุญคุณของ สคส. โดยไปเป็นวิทยากรในที่ต่างๆ ทำให้รู้จักหน่วยงานแปลกๆ ได้โอกาสในการแลกเปลี่ยนและได้เพื่อน

อาจารย์วิบูลย์เล่าว่าเริ่ม KM มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เอา KM ไปต่อยอด QA มีการแลกเปลี่ยนกันภายในมหาวิทยาลัยและระหว่างมหาวิทยาลัย เกิด network ทั้งภายในและภายนอก เรื่อง QA ยังไปตามโครงสร้าง แต่ KM ไม่จำกัดเลย ไปทั่วทั้งผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา เดี๋ยวนี้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรทุกคณะทำ KM แล้ว ใครไม่ทำก็ล้าสมัย

ไม่น่าเชื่อว่าคุณเดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ดูเฉยๆ แต่เล่าเรื่องได้อย่างน่าฟังแฝงข้อคิดดีๆ มากมาย ได้เห็นเส้นทางที่ทำให้ชาวนาเป็นบัณฑิตที่สอนนักวิชาการได้ เห็นการเรียนรู้ขาม field ที่โรงเรียนชาวนาแลกเปลี่ยนกับชาวโรงปูนซีเมนต์ แก่งคอย

คุณสมพร อินทร์แก้ว ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ KM เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๘ เริ่มเรียนรู้จากการถอดคำบรรยายของอาจารย์วิจารณ์ ผู้บริหารของกรมคืออธิบดีเอาจริงเอาจัง คอยให้โจทย์ บอกความต้องการ มีคณะกรรมการ คณะทำงานที่มาจากหน่วยงานต่างๆ และทุกหน่วยงานต้องมีคณะทำงาน KM มีการจัดเวทีให้คนเรียนรู้ มีช่องทาง กระบวนการตามงาน ในปี ๒๕๔๙ มีกระบวนการพัฒนาทักษะของ facilitator ที่น่าประทับใจคือการเอา KM เข้าไปในเนื้องาน เช่น การช่วยเหลือคนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ใช้เทคนิค KM เข้าไปพัฒนางาน

อาจารย์พิชิตเล่าว่า KM ที่ มอ. ถูกกระพือโดย กพร. เริ่มที่บุคลากรสายสนับสนุนก่อน เพราะสายนี้ถูกละเลยในการทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเชียร์ให้ทำ KM ง่ายกว่าสายอาจารย์ มีการจัดเวทีให้นำเสนอ มีการให้รางวัล มีระบบให้คนไปเรียนรู้ กิจกรรมงอกขึ้นมาเยอะ เกิดเป็นโครงการย่อยๆ หลายโครงการ ไม่ได้บอกว่าให้ทำ KM แต่บอกให้พัฒนางาน ใช้เทคนิคอะไรก็ได้ ถ้ามีการแลกเปลี่ยน best practice มี sharing งานดีขึ้น และมีการจดบันทึก ก็ถือว่าเป็น KM

คุณอุทัย อันพิมพ์ Intern KM บอกว่าฟังภาคีแล้วได้ประโยชน์ ขอเป็นลูกศิษย์ด้วย ฝ่ายภาคีบอกว่า “เป็นลูกมือดีกว่า” ส่วนคุณดนัย รักขิตตธรรม Extern KM กล่าวว่าได้เรียนรู้หลายจุด เก็บเล็กเก็บน้อย ที่คิดว่าจะ apply ได้ในองค์กรของตนเอง ได้เคล็ดลับหลายเรื่อง

ฟังเรื่องราวงาน KM ของทุกภาคีแล้ว ดิฉันได้รู้ว่าแต่ละงานแต่ละที่มี inspiration จุดเริ่มต้น รูปแบบ และวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน ไม่เพียงแต่ในเรื่อง KM เท่านั้น แต่ยังได้สัมผัสถึงความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนอีกด้วย

ดิฉันได้เข้าไปให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการประเมินพร้อมกับ พญ.นันทา อ่วมกุล และคุณสมพร อินทร์แก้ว คณะกรรมการพูดคุยและซักถามอย่างเป็นกันเอง ถามว่าเวลาทำ KM ผู้ป่วยเข้าร่วมด้วยหรือเปล่า บางท่านก็เกรงว่าการให้ผู้ป่วยมา share การปฏิบัติกันนั้นอาจจะมาแนะกันผิดๆ เช่น ให้ไปกินใบโน่นใบนี่ เป็นต้น เราตอบได้อย่างชัดเจนว่าเวลาให้ผู้ป่วยมา share กันนั้น เรามีกรอบมีคำถามชัดเจน เช่น กินอาหารนอกบ้านอย่างไรไม่ให้น้ำตาลสูง ทำอย่างไรจึงจะไม่ลืมกินยา ไม่มีคำถามที่เราคาดไว้คือผลกระทบของ KM ต่อภาวะสุขภาพ ส่วนใหญ่จะถามว่าเราทำอะไร อย่างไร เสียมากกว่า

อาจารย์วิบูลย์ และอาจารย์พิชิต ต้องไปขึ้นเครื่องบินที่สุวรรณภูมิจึงออกเดินทางไปก่อน ดร.เลขา และอาจารย์วิจารณ์กลับไปพร้อมกันด้วย ถัดมาคือ พญ.นันทาและคุณสมพรที่มีรถจากกรมมาเองก็ขอตัวกลับตามไป ที่เหลือรอกลับรถตู้คันเดียวกัน กว่าจะเสร็จภารกิจและออกเดินทางได้ก็เลย ๑๘.๓๐ น.ไปแล้ว ถึงกรุงเทพรถติดมาเรื่อยๆ กว่าจะถึงอาคาร SM Tower ก็เกือบ ๒๐ น. คุณเดชาคุยเรื่องต่างๆ ให้อาจารย์ปฐมพงศ์ที่นั่งแถวเดียวกันฟังมาตลอดทาง มีคนแอบกระซิบว่า “คุณเดชาลืมเอาถ่านออก” อาจารย์ปฐมพงศ์ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีมากๆ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 55849เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2006 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ขอบคุณค่ะ อาจารย์ เจ้านายไปลูกน้องคอยฟังเรื่องเล่า เร้าพลังจากคนอื่น.....เจ้านายหนูเล่าไม่เก่งเท่าอาจารย์เลยค่ะ....ขอนินทานิดหน่อย

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์เล่าตั้งแต่ต้นจนจบทำให้ตัวเองซึ่งไม่ได้เดินทางพร้อมคณะได้รู้ด้วย ดีใจที่ได้ไปพบอาจารย์อีกครั้ง และท่านอื่นๆด้วย เรียนรู้จากทุกท่าน ทำให้เกิดพลังในการทำงานต่อ

ดีใจมีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เพื่อจัดการกับความรู้Dm

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท