การประกันคุณภาพเป็น end หรือ เป็น means กันแน่


          ผมอ่านเอกสารของ สมศ. เพื่อเตรียมตัวเองไปเป็นผู้ประเมินภายนอกให้แก่ มอ. ในเดือนหน้า   มาสะดุดประโยคที่ว่า    "เร่งรัดการปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา   เพื่อให้การประกันคุณภาพมีเอกภาพ......"

          ผมสะดุดคำว่า   "เพื่อให้การประกันคุณภาพมีเอกภาพ"     ผมสงสัยว่า  คำว่า เอกภาพ   หมายความว่าอย่างไร

          ถ้าเอกภาพหมายความต้องประเมินมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มด้วยเกณฑ์เดียวกัน   อย่างที่ใช้อยู่ในเวลานี้   น่าจะผิด   หรือก่อผลร้ายต่อประเทศในภาพรวมมากกว่าก่อผลดี

          อาจจะก่อผลดีต่อ สมศ. หรือต่อระบบการประกันคุณภาพอุดมศึกษาก็ได้   แต่ถ้าคิดที่คุณภาพและคุณประโยชน์ของอุดมศึกษาต่อบ้านเมือง  เอกภาพแบบนี้จะก่อผลร้าย

          จึงเกิดประเด็นขึ้นในใจผมว่า   การประกันคุณภาพ/ระบบประกันคุณภาพเป็นตัวเป้าหมาย  หรือเป็นเครื่องมือกันแน่   ผมกังวล  (ผมอาจจะผิด)  ว่าอาจมีการสับสน

          ผมมองว่าระบบประกันคุณภาพไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย  เป้าหมายสุดท้ายคือคุณภาพของอุดมศึกษาของประเทศ   และคุณภาพของอุดมศึกษาของประเทศต้องเป็นคุณภาพบนความหลากหลาย

          ดังนั้น   ถ้าการประกันคุณภาพต้องการสร้างเอกภาพบนความเหมือนของสถาบันอุดมศึกษา   ผมว่าผิด  และจะก่อผลร้ายต่ออุดมศึกษาของประเทศในระยะยาว

          เราเห็นข้อผิดพลาดของการดำเนินการด้านการศึกษาระดับพื้นฐานจนทำให้คุณภาพ ของผู้จบการศึกษาตกต่ำอย่างน่าตกใจ

          ผมไม่อยากเห็นเราดำเนินการด้านอุดมศึกษาผิดพลาดอีก จนทำให้สถาบันอุดมศึกษากอดคอกันดิ่งเหวแห่งความไร้คุณภาพภายใต้วิธีคิดแบบเน้นเอกภาพ  เพื่อความสะดวกในการประกันคุณภาพ

          ผมขอภาวนาให้ผมเข้าใจผิด

วิจารณ์   พานิช
20  ต.ค.  49

หมายเลขบันทึก: 55802เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2006 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมมองว่าการจัดการศึกษาทุกแบบ ก็มีจุดอ่อนเฉพาะตัว ไม่ควรหนีจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง แต่ควรปรับสมดุล บางเรื่องคงต้องเอามาตรฐานเดียวมาบังคับ บางเรื่องใครอยากทำแบบไหนก็ทำไป

ตัวอย่างของจุดอ่อน:

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท