ภาษาของความคิด


ใช่หรือไม่ ที่ภาษาจำกัดขอบเขตของความคิด

ไอเดียที่จะเขียนบล๊อกนี้ มาจากคุณครูที่ช่วยดูแลเรื่องการเขียนโครงร่างงานวิจัยภาษาอังกฤษชื่อ

คุณครู Kate Cadman 

http://www.staff.adelaide.edu.au/graduatecentre/rep/contact/

ครูเคทได้บอกกับพวกเรานักเรียนว่า ภาษาคือพาหนะของความคิด โลกทัศน์ของเรามีขอบเขตจำกัดอยู่แค่ที่ความสามารถทางภาษาของเราจะไปถึง

ไม่กี่วันถัดมาได้ฟัง คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พูดถึงภาษาไทยในเทป รายการต่างสมัยรอยไทยจาก managerradio

26/06/48 คุยกับคุณ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เรื่อง สุนทรภู่

w3.managerradio.com

พบว่า ทั้งครูเคท และครูเนาวรัตน์ เห็นตรงกันคือ ความคิด มีความเกี่ยวพันกับ ภาษา และความสามารถทางภาษามาก

ครูเนาวรัตน์บอกว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตใจของคน คงไม่พ้น "รู้สึก" "นึก" และ "คิด"

เวลาคิด ต้องใช้ภาษาในการคิด

คนไทย คิดเป็นภาษาไทย

ฝรั่ง คิดเป็นภาษาฝรั่ง

ผมเลยเกิดวาบขึ้นมาว่า

เอ๊ะ เวลามาเรียนต่างประเทศแล้วต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดเวลาเนี่ย เราควรคิดหรืออย่างน้อยฝึกหัดตัวเองให้คิดเป็นภาษาอังกฤษไหม?

ถ้าสมมติฐานที่ว่าภาษาจำกัดความคิดเป็นจริง

ข้อจำกัดในภาษาอังกฤษของเรา ย่อมจำกัดขอบเขตในความคิดของเราด้วย

ได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตต่างประเทศ ว่าศัพท์หลายคำ เป็นคำที่มีความหมายมากกว่าคำแปล

ลองยกตัวอย่าง เช่น คำว่า argument เปิดพจนานุกรม จะพบคำแปลว่า การโต้เถียง, การโต้แย้ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ คือเราคนไทยรู้สึกว่าอยู่ดีๆ ก็ไม่ควรเถียงกันหรือมีความเห็นแย้งกัน

แต่พอมาพบเจอคำนี้ในชีวิตจริง มันกินความหมายความกว้างไปถึง ฐานของความคิดที่แต่ละคนยืนอยู่ มันเป็นการหาเหตุผลสนับสนุนความคิดของตน และเป็นแกนสำคัญของการสร้างสังคมแบบตะวันตก หรืออาจกล่าวได้ว่า สังคมตะวันตกพัฒนาบนวัฒนธรรมของการโต้เถียงกัน

ดังนั้นเวลาที่ฝรั่งเขาถามกันว่า What is your argument? จึงไม่ได้หมายความว่าจะชวนทะเลาะ แต่หมายถึงการสร้างความกระจ่างให้คู่สนทนาได้รู้ว่า เรายืนอยู่บนฐานความคิดแบบไหน

ฉันใด ฉันนั้น เวลาผมคิดจะอธิบายความหมายของ "ไม่เป็นไร" ในบริบทคนไทย ก็เกิดความขลุกขลักอยู่มาก เพราะไม่เป็นไรมันไม่ได้แปลตรงๆ ว่า it doesn't matter

จากตัวอย่าง ทำให้ผมเกิดความคิดได้ว่า หากคนไทย เติบโตมากับรุ่มรวยของภาษาไทย จะมาหัดคิดเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อตอนระบบความคิด วิธีคิด ปักหลักมั่นคงเป็นภาษาไทยแล้วล่ะก็ การคิดด้วยภาษาอังกฤษ จะติดอยู่ในกรอบที่แคบกว่า การคิดด้วยภาษาไทย

ผมได้ข้อสรุปส่วนตัวว่า หากต้องการคิด เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ อย่างใหม่ หรือเพื่อหาแง่มุมที่หลากหลาย ในการแก้ปัญหา เราควรจะคิดเป็นภาษาไทย โดยใช้มิติของภาษาอื่นๆ มาช่วยเสริมให้เกิดมุมมองที่กว้างขวางขึ้น

อย่างไรก็ตามผมไม่คัดค้านการฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษ  การฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นเรื่องจำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น แต่ใช้ในจุดมุ่งหมายเพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่น

จะให้ดีเราน่าจะหาโอกาสศึกษาภาษาอื่นๆ ที่เราชอบเพิ่มเติมด้วยช่วยเสริมโลกทัศน์ให้กับเรา ยิ่งเรียนรู้ภาษาอื่นๆ มากขึ้น ยิ่งทำให้เราเข้าใจโลกผ่านวิธีคิดที่หลากหลายขึ้น

เราศึกษาภาษาอังกฤษเข้าใจความหมายของ "argument" และใช้ประโยชน์จากมัน

คนต่างชาติมาศึกษาภาษาไทย ก็อาจเข้าใจความหมายของ

"ไม่เป็นไร" ในบริบทวัฒนธรรมไทย และใช้ประโยชน์จากมันได้พอๆ กัน

คำสำคัญ (Tags): #phd#ภาษา#วัฒนธรรม
หมายเลขบันทึก: 55788เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2006 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"ศัพท์หลายคำ เป็นคำที่มีความหมายมากกว่าคำแปล"  อันนี้เห็นด้วย 100% เลยค่ะ

แต่่จากตัวอย่างที่พี่สุธียกมาดูเหมือนพี่สุธีจะหมายถึงคำแปลข้ามภาษาตามพจนานุกรมซะมากกว่ารึเปล่า่

หลายๆคำแปลข้ามภาษาแบบตรงตัวแล้ว ไม่ได้ความหมายจริงๆ อันนี้ก็เรื่องนึง (เดี๋ยวมัทจะเขียนถึงการแปลอีกแบบทีหลังค่ะ)

เห็นด้วยที่พี่สุธีบันทึกไว้ค่ะ คือเมื่อเราได้รู้บริบท ได้เรียนรู้ว่ามันใช้ตอนไหนมากขึ้นๆ เราก็จะเข้าใจหน้าที่ของคำ หรือ ประโยคนั้นๆและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างที่พี่บอก(เวลาแปลก็จะแปลแบบไม่ตรงตัวได้คล่องขึ้นเรื่อยๆ) 

ส่วนเรื่องการคิด มัทว่าคิดทั้งสองภาษาได้เลย คือถนัดอันไหนก็เอาโลด เพราะตอนนี้ฝรั่งสนใจและศึกษาวัฒนธรรมชาติอื่น ศาสนาอื่นมากขึ้น จน มัทคิดว่ามีศัพท์พอที่จะคิดพร้อมๆกันไปได้ (บางคำถ้าฝรั่งไม่มี เค้าก็ใช่ทับศัพท์ตามสันสกฤต ตามภาษาอินเดียนแดง ตามโรมันไป ไม่แน่ ของไทยเราอาจจะมี ศัพท์ที่ฝรั่งจะเอาไปใช้ก็ได้!)

ที่สำคัญคือเราต้องเลือกให้ถูกว่าศัพท์นั้นๆมาจากฐานความคิดไหน ถ้าเป็นคำศัพท์จากทฤษฎีฝรั่งแบบดั้งเดิมก็คงหาคำที่เราถูกใจไม่ได้
มัทเคยคิดไม่ออก แล้วไปหาหนังสือทาง นิเวศวิทยา ทางทฤษฎีเชิงระบบ หรือแม้แต่ศาสนาพุทธ แล้วรู้สึกว่าได้ศัพท์ที่ตรงใจเรามากกว่า

อ. คนนึงที่นี่สอนว่าให้เขียนเป็นภาษไทยก่อนเลยก็ได้ ถ้าเขียนภาษาอังกฤษไม่ออก เขียนเพื่อเรียบเรียงความคิดตัวเอง เอาแค่ขั้นนี้ให้ได้ ให้รู้ว่าตัวเองคิดอะไร แล้วสื่ออกมาได้ด้วยภาษาแม่อย่างเป็นระบบ แล้วขั้ขต่อไปก็จะแปลเป็นอังกฤษได้เอง ถ้าไม่ได้ก็หาคนคุยด้วย

อ. ที่ปรึกษาสอนว่า ถ้าหาคำที่ต้องการไม่ได้ หลายๆครั้งเป็นสิ่งดี็ ให้อธิบายมาเลยว่าที่สื่อหน่ะ หมายความว่าอะไร ให้คนธรรมดาอ่านรู้เรื่องด้วย

มัทก็ใช้วิธีไปพูดๆให้อ.ฟังว่าจะสื่ออะไร พูดยาวเลยบางทีเกินสิบประโยค พอเค้าเข้าใจแล้วเค้าก็ช่วยหาคำ หรือ ประโยคสรุปให้ 

อ. พูดว่า "ให้คิดว่าเขียนจม.กลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง หน่ะ จะเขียนว่ายังไง ให้เข้่าใจง่ายๆ" อย่าไปติดกับ "คำ" ที่เป็น ภาษาที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม (lingo หรือ jargon) มากเกินไป เพราะ

การแปลภาษาอังกฤษเป็นอังกฤษเองนั้นก็มีเป็ญหาไม่ใช่ย่อยเลย 

คำหนึ่งคำก็เป็น ป้าย (label) ที่คนเราตั้งขึ้นมาเรียก สิ่งของ ความคิด ทฤษฎีที่ ซับซ้อนมากแค่ไหนเราก็มักจะจัดการติดป้ายให้มันได้โดยใช้คำหรือวลีเดียว

  • บางคำพ้องรูปมีหลายความหมายแต่ทุกคนเป็นอันเข้าใจรู้กัน
  • บางคำใช้ในคนละสาขาวิชา ก็มีคนละความหมาย แบบนี้ไม่ค่อยเป็นไร บริบทมันบอก
  • แต่บางคำไม่มีคำพ้องรูป ใช้ในสาขาวิชาเดียวกันนี่แหละ แต่ผ่านการวิเคราะห์ผ่านการเมืองผ่านเวลา ความหมายก็เปลี่ยนไป แบบนี้แหละที่เป็นปัญหามาก (semantic) ทำให้กลุ้มใจเวลาคุยและเขียนงานเรื่อยๆเลยค่ะ

ปล.

  • ฝรั่งพูดว่า "What is your argument?"
  • คนไทยคงพูดว่า "ไหนช่วยกรุณาชี้แจงเหตุผลที่มาที่ไปในจุดยืนของคุณหน่อยค่ะ"
  • คนไทยพูดว่า "ไม่เป็นไร"
  • ฝรั่งพูดว่า "That's alright (หรือ That's OK). No need to bother. (หรือ Don't bother)" ถ้าเค้ายืนยันที่จะทำอะไรให้เราก็มักจะต่อด้วย "Really...I mean it...please. That's OK"

------------------------------------------- 

เคยคิดว่าฝรั่งไม่รู้จัก คำว่า "เกรงใจ" แต่พอมาแคนาดาแล้วเปลี่ยนใจค่ะ ฝรั่งที่นี่โคตรขี้เกรงใจเลย คำที่แปลตรงๆของคำว่าเกรงใจอาจจะไม่มี (เค้าใช้คำว่า considerate,nice, polite)
แต่จากการกระทำแล้ว สิ่งที่เค้าทำนั้น คนไทยเรียกว่า"ความเกรงใจ"แน่นอนค่ะ

------------------------------------------- 

 

 

สวัสดีค่ะ  คุณสุธี

  • ครูอ้อยอ่านบันทึกแล้วคล้อยตาม  และมีความเห็นตรงกัน  ตรงที่ใช้ภาษาความคิด  เช่น  ครูอ้อยสอนนักเรียนชั้น ป.ต้น  ครุอ้อยต้องคิดใช้ภาษาที่จะสื่อสารกับนักเรียนในกลุ่มนี้ได้เข้าใจอย่างรวดเร็ว  ในทำนองเดียวกัน ภาษากับความคิด  ได้ถูกนำมาใช้อีกเวลาพูดคุยกับครูจ้างชาวต่างประเทศ  เช่น  ฟิลิปปินส์ที่โรงเรียนสำเนียงก็แปร่งๆ 

ดีมากค่ะ  What's your argument?.....

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท