การทำงานแบบครบวงจรทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมาก ต้องลองถึงจะรู้


คนทำงานหน่วย Chem ทำแบบนี้กันนั่นเอง จึงทำได้ทันแม้คนจะน้อยกว่าปกติ

วัน 2 วันนี้เรามีสมาชิกในหน่วยลากันด้วยหลายๆเหตุ (ความจริงก็อาทิตย์ที่แล้วด้วย) แต่เราก็ทำงานกันได้ทันท่วงที แม้ทุกคนที่ทำอยู่จะเหนื่อยกันเกินเหนื่อยเกือบทั้งวัน

ช่วงเช้าตัวเองรับหน้าที่เปิดเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ Hitachi 917 ตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง (เรามีเวรเช้าในช่วงก่อน 8 โมงครึ่งที่มีกัน 4 คน)จัดการลุยทำงานกับหลอดเลือดทั้งหลายที่ทะยอยกันมายิ่งกว่าสายน้ำภาคเหนือตอนนี้ (ว่าเข้านั่น) จนกระทั่งคนคุมเครื่องตัวจริงของสัปดาห์นี้คือพี่นุขรัตน์มารับช่วงต่อ

สัปดาห์นี้ตัวเองอยู่ในจุด D ทำการทดสอบพิเศษต่างๆ สำหรับวันนี้ต้องตรวจเช็คผลด้วย จุดนี้ไม่ต้องรับผิดชอบงานหนักนัก งานจะกระจายทำได้ตลอดวัน และมีเวลาเพื่องานอื่นๆได้ จึงสามารถรับเป็นวิทยากรอบรมบล็อกให้ชาวสารบรรณในช่วงบ่ายได้ ถือได้ว่าตัวเองมีส่วนช่วยแบ่งเบางานสมาชิกน้อยมาก แต่ถึงกระนั้นก็ต้องกลับมาทำการทดสอบตัวหนึ่งตอน 5 โมงครึ่งเพราะทำไม่เสร็จก่อนเที่ยงครึ่ง คือการทดสอบ D-lactic acid หนึ่งรายที่ส่งมาช่วง 11 โมงไล่ๆกับอีก 3 ราย ลุยทำไปได้ผลสำเร็จแค่ 3 รายเท่านั้น สลับกับการแว่บเข้าไปกินข้าวตอนรอเวลา incubate 10 นาที ก็ถึงเวลาต้องไปเป็นวิทยากรเสียก่อน

สมาชิกทุกคนที่เหลืออยู่ ต่างก็ทำงานกันแบบครบวงจร คือทำทั้งงานในจุดที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำงานอื่นๆเท่าที่จะทำได้ตลอดเวลาที่มีงาน ดังนั้นคนหนึ่งๆก็จะรับผิดชอบงานมากเกินกำลังตลอดช่วงเช้า ต้องบอกซ้ำอีกทีเหมือนทุกครั้งที่เล่าเรื่องการทำงานว่า น่าอัศจรรย์ใจมากที่เราทำงานผิดพลาดน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณงานและจำนวนคนที่มีอยู่ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผูกพันตัวเองไว้กับคนคุณภาพกลุ่มนี้ค่ะ ประทับใจอยู่เสมอ และอยากช่วยให้ทุกคนได้ใช้ศักยภาพที่มีให้เป็นประโยชน์กับตัวเองบ้าง ไม่ใช่อุทิศเพื่องานบริการเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา

คนที่ควรจะได้รับคำนิยมเป็นพิเศษในสัปดาห์นี้ก็คือ คุณปรือของเรานั่นเอง โดยเฉพาะวันนี้คุณท่านรับงานของหนุ่มมิง (ลาเทศกาลฮารีละยอ) คุณศิริ (จุด C ทดสอบ GGT และ 5'NT ในวันนี้) อยู่เวรเที่ยงแทนพี่ปนัดดา แถมด้วยหันซ้ายหันขวาทำงานอื่นที่ผ่านเข้ามาไปหมด ใช้เวลาทานอาหารกลางวันไม่ถึงครึ่งชั่วโมง กับทั้งจัดการกับ lactic acid อีกรายที่ส่งมาช่วงบ่าย (เพราะคนทำไปเป็นวิทยากร!!) เรียกว่าเป็นคนทำงานครบวงจรที่สุดในวันนี้เลย ต้องให้"เหรียญ"เพิ่มจริงๆ

นี่แหละค่ะ ผลแห่งการหมุนเวียนงานในหน่วย เพราะเราทุกคนทำงานทุกอย่างได้ เรารู้ว่าแต่ละจุดทำอะไร เราจึงสามารถใช้เทคนิคส่วนตัวปรับวิธีการทำงานให้ส่งเสริมกันได้ เมื่อเกิดการผิดพลาดทุกคนก็จะมีส่วนช่วยในการสืบเสาะหาสาเหตุ ไม่กล่าวโทษตัวคน เพราะเรารู้ว่าทุกจุดมีโอกาสผิดพลาดอย่างไรได้บ้าง (เราต่างทำกันมาแล้วทั้งนั้น) เราจึงทำงานได้แบบครบวงจร แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ชื่นชมกันเองได้อย่างไร ใช่ไหมคะ

หมายเลขบันทึก: 55769เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2006 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท