เมื่อฉันเป็น "ฟาน้อย"


"ครั้งแรกในชีวิต....ชักเริ่มไม่สนุกซะแล้วซิเรา"
เมื่อวันที่ 22-23  ต.ค. ที่ผ่านมานี้ ม.นเรศวร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัด  โครงการ “KM Workshop สำหรับผู้นำนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ดิฉันได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ คุณอำนวย  (Facilitator)  หรือที่เราชาว ม.นเรศวร เรียกกันว่า  ฟาน้อย  และอีกหน้าที่ที่ได้รับมอบอย่างกระทันหัน คือ การทำกระบวนการ AAR  (ครั้งแรกในชีวิต....ชักเริ่มไม่สนุกซะแล้วซิเรา )ก่อนถึงวันงาน ท่าน อ.วิบูลย์  ย้ำหนักหนาว่า  ฟาที่ดี  ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับกลุ่ม ทำตัวให้เหมือนไม่มีเราอยู่ในที่นั้น (คอยสังเกตการณ์)   นอกซะจากว่ากลุ่มมีข้อขัดข้อง ต้องการคำอธิบายในบางขั้นตอนของกระบวนการ จึงค่อยเข้าไป หรือ แจ้งให้ฟาใหญ่ช่วย    (คุณสมบัติที่แท้จริง ของคนที่จะทำหน้าที่  "ฟา" นั้นเป็นอย่างไร)

กับบทบาทของตัวเอง ที่มีต่อ KM  ครั้งนี้   ขอบอกอย่างไม่อายและไม่ไว้หน้าตัวเองเลยว่า รู้สึกว่าตัวเองสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ ของครั้งก่อนๆ มาใช้ในครั้งนี้ได้น้อยมาก รู้สึกว่าตัวเอง ทำประโยชน์ได้ลดลง และรู้น้อยเกินกว่าจะมาทำงานนี้ได้ (แต่คงถอนตัวไม่ได้แล้วหล่ะ  เพราะรับเสื้อเค้ามาแล้วนี่ ... สู้ๆ)

เกือบทุกอย่างในโครงการนี้ เป็นเรื่องใหม่ สำหรับตัวเอง 

แม้ว่าก่อนถึงวันงาน ก็ได้อ่านหนังสือ ทบทวนความรู้ และอ่านประสบการณ์ของท่านอื่นๆ จาก blog   สืบค้นจาก net  เรียกว่า  ทำการบ้าน  มาเท่าที่เวลาจะอำนวย

การทำงานกับ  นิสิต นักศึกษา ที่เป็น  ผู้นำ ผู้ทำกิจกรรม  โดยส่วนตัว คิดว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ความสามารถหลากหลาย และมีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง และที่สำคัญ มาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ    จึงไม่แปลกเลยที่เราจะตื่นเต้น และกังวลใจ กับตัวเองมาก   กังวลกับความสามารถของตัวเองที่จะทำหน้าที่(ในนามมหาวิทยาลัยนเรศวร) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เข้าร่วมโครงการได้แค่ไหน อย่างไร ? 

หลังจากทำหน้าที่  ฟาน้อย  วันที่ 22 ต.ค. เช้า ผ่านไปด้วยความสงสัยในใจกับบทบาทของตัวเองว่า  เราทำหน้าที่  Facilitator  แล้วหรือ  ทำอย่างไร  แค่ไหน  หรือ ฉันยังไม่รู้ความหมาย บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ของ ฟา กันแน่

ทำไม ผลจึงออกมาเป็นอย่างนี้   Story telling  ไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์  ที่เราคาดไว้  !!!  แล้วเวลานั้น เราทำอะไรอยู่ เราแก้ไขหรือเปล่า อย่างไร  ทำไมเราไม่เตรียมตัวมาให้ดีกว่านี้  หรือ เราควรจะต้องรู้อะไรให้มากกว่านี้ แล้วเรายังไม่รู้.......

ผู้เล่า  นำเสนอกระบวนการทำกิจกรรมของสถาบันตัวเองเชิงระบบ  และมีการเปรียบเทียบกิจกรรมของแต่ละสถาบัน การเล่าไม่เป็นธรรมชาติ มีการแสดงตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ เรื่องที่นำเสนอค่อนข้างเป็นทางการ (ไม่มีการเปิดใจ)   ?????  เกิดคำถามในใจมากมาย กับบทบาทของ ฟาน้อย  ตนนี้ว่า1.        เราจะทำอย่างไรให้ผู้เล่า สามารถเลือกเรื่องที่จะเล่าจากประสบการณ์ของตัวเองให้สอดคล้องกับหัวปลา ?

2.        ระหว่างการเล่า  หากผู้เล่า  เล่าไม่ตรงประเด็น ทุกคนในกลุ่มก็ไม่กล้าขัด กลัวผิดหลัก deep listening เราควรปล่อยให้เล่าไปจนไม่มีอะไรจะพูด หรือไม่ ?  อย่างไร

3.        หากผู้เล่า ไม่เข้าใจว่า การเล่าเรื่องจากใจ ไม่เสแสร้ง ตามหลักการที่วิทยากรได้แจ้งไว้แต่ต้น เป็นอย่างไร นั้น เราจะแก้ปัญหาอย่างไร?  4.        หากผู้เล่า ไม่สามารถเล่าเรื่องได้ อาจเพราะตื่นเต้น คิดไม่ออก ไม่รู้จะเล่าอะไร เราควรทำอย่างไร ?

จากประสบการณ์ในอดีตของตัวเอง  เคยพบคนที่มีความสามารถในการเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ สนุก สนาน จึงคิดว่า การเล่าเรื่อง storytelling  เป็นทักษะอย่างหนึ่ง ที่อาจเกิดจากพรสวรรค์  หรือต้องใช้การฝึกฝน   (ซึ่งโดยส่วนตัว ก็เป็นคนที่ไม่สามารถเล่าเรื่องอะไรได้น่าสนใจ  (เป็นคนพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ชอบสับสน เล่าเรื่องกระโดดไปโน่น นี่ นั่น ประจำ แค่จะอธิบายแผนที่ทางไปบ้านตัวเอง ยังพูดไม่รู้เรื่องเลย เพื่อนๆ ชอบให้เขียนมากกว่าเล่า) จึงสะท้อนใจกับตัวเองว่า ฉันยังเล่าเรื่องได้ไม่ดีเลย แล้วเราจะชวนให้คนอื่นเล่าเรื่องให้ดี ได้อย่างไรหนอ!!!

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ตะโกนบอกตัวเองดังๆว่า "ฉันต้องทำการบ้านอย่างหนัก ก่อนถึง UKM"   กับบทบาทของ ฟาน้อย  เกี่ยวกับ  การทำให้ storytelling  เกิดขึ้น และมีพลัง นั้นทำอย่างไร ?

และต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า  

หากเกิดเหตุการณ์อย่างครั้งนี้อีก  ฟาน้อย (อย่างเรา)  จะทำอย่างไร ?

ในตอนหน้าจะพูดถึง  บทบาทของการทำ AAR   ที่ตื่นเต้น เร้าใจ สุดๆ ไม่แพ้กัน

 
คำสำคัญ (Tags): #ฟาน้อย#storytelling
หมายเลขบันทึก: 55730เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2006 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท