๙ พระบรมราโชวาท(๙๑-๙๙)ใน ๑๐๘มงคลเพื่อความสุขและความสำเร็จของชีวิตที่ยั่งยืน(๑๑)


น้อมนำ ๙ พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ ๙

เพื่อเป็นแสงสว่าง เป็นหนทางแห่งการดำเนินชีวิต พระบรมราโชวาทที่เกี่ยวเนื่องกับหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่ทรงพระราชทานต่อ คนไทย เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นหนทางแห่งชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

 

 

๙๑. สุขภาพจิตสำคัญกว่าสุขภาพกาย เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

"....สุขภาพจิตสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ เพราะว่าคนไทยที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่จิตใจฟั่นเฟือน ไม่ได้เรื่องนั้น ถ้าทำอะไรก็ยุ่งกันได้ กายแข็งแรงก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคมอย่างใด ส่วนคนที่สุขภาพกายไม่สู้จะแข็งแรง แต่สุขภาพจิตดี หมายความว่า จิตใจดี รู้จักจิตใจของตัว และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องย่อมเป็นประโยชน์ต่อตนเองมาก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มาก ในที่สุดสุขภาพจิตที่ดีก็อาจจะพามาซึ่งสุขภาพทางกายที่ดีได้...."

 

 

๙๒.จะปักใจเชื่ออะไรต้องใช้สติ และค้นคว้าไตร่ตรอง ให้แน่ใจว่าเป็นความจริง

"....โลกปัจจุปันเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้นก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรลงไป ควรพิจารณาดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่สมเด็จพระส้มมาสัมพุทธเจ้ายังทรงแนะนำให้ใช้สติและปัญญาศึกษาค้นคว้าและไตร่ตรองให้แน่ว่า คำสั่งสอนนั้นเป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่ ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้รู้บัญญัติไว้....."

 

 

๙๓. ไม่ควรเหยียดหยามคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นเก่าจึงเกิดคนรุ่นใหม่

"....การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์ แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี ด้วยเหตุว่าคนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้...."

 

 

๙๔. การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญยิ่งของมนุษย์

"....การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป....."

 

 

๙๕. ศึกษาเพื่อให้เกิด" ความฉลาดรู้" แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้

"....ต้องศึกษาเพื่อให้เกิดความฉลาดรู้คือ รู้แล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆโดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่มุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม

อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือ ต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติและเที่ยงตรงเป็นกลาง....."

 

 

๙๖. เรียนรู้ และนำมาพิจารณาให้แจ่มชัด จากนั้นฝึกฝนจนชำนาญ จึงนำไปใช้ให้สำเร็จผลได้

"....การเรียนรู้ทุกอย่างนั้น จะต้องเรียนรู้ตามความรู้ของผู้อื่นก่อนเป็นเบื้องต้น เมื่อรู้แล้วจึงนำมาพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งละเอียดลงไปอีกชั้นหนึ่ง ให้ถึงเนื้อหาสาระ อันจะอ้างอิงอาศัยหลักฐานได้ มิให้เป็นการเรียนรู้อย่างเลื่อนลอย แต่เมื่อถึงขั้นที่สองนี้แล้วก็ยังถือว่าจะนำมาใช้การให้ได้ผลแน่นอนจริงๆไม่ได้ยังจำเป็นต้องนำความรู้นั้นมาปฏิบัติฝึกฝนอีกให้เกิดผลประจักษ์แจ้ง และเกิดควา่มคล่องแคล่วชำนาญขึ้นพร้อมกันไปด้วย จึงจะนำไปใช้ปฏิบัติให้สำเร็จผลได้ไม่ขัดข้อง....."

 

 

๙๗. พึงศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ความรู้ ความคิด และความฉลาด

"....การศึกษาเพิ่มเติมที่แต่ละคนกระทำนั้น กล่าวได้ว่ามีอยู่สองทาง

ทางหนึ่งคือ ศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำรา และวิเคราะห์วิจัยตามระบบและวิธีการที่ปฏิบัติกันในมหาวิทยาลัย

อีกทางหนึ่งคือ สดับตรับฟัง สังเกต จดจำจากการกระทำคำพูดของบุคคล รวมทั้งเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆที่ได้ประสบผ่าน แม้แต่อุปสรรคความผิดพลาดของตนเองก็อาจนำมาคิดพิจารณาให้เป็นบทเรียนที่ทำให้เกิดความรู้ ความคิด ความฉลาด ได้ทั้งสิ้น...."

 

 

 

๙๘.  มีความรู้สูงแล้ว ต้องมีความละอายต่อบาป

"...หากบุคคลใดมีความรู้สูง แต่ขาดหิริโอตัปปะ คือ

ไม่มีความละอายต่อบาป นำความรู้นั้นไปใช้ในทางมิชอบ ก็จะำทำให้สังคมเดือดร้อน...."

 

 

๙๙. เผยแพร่ความรู้ความสามารถให้ผู้อื่นคือการสร้างบารมี

"....ผู้ใดมีความรู้ใด ก็ควรจะแพร่ออกไปให้คนอื่นทราบ เพราะว่าการเผยแพร่ความรู้ความสามารถไปให้ผู้อื่นนั้นไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆ เพราะว่าความรู้ และความดีเมื่อเผยแพร่ออกไปยิ่งทวีคูณขึ้น ไม่ได้หมดไปจากตัว ยิ่งทำดียิ่งทำให้คนอื่นมีความรู้ ความรู้ของเราก็ไม่หมดลงไป ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น อันนี้เรียกว่า การสร้างบารมี....."

 

้* ขอบคุณ ๙ พระบรมราโชวาทจากหนังสือ ๑๐๘ มงคล พระบรมราโชวาท โดย สำนักพิมพ์อมรินทร์ ร่วมกับ 7 -ELEVEN และฺ BOOK SMILE รายได้ส่วนหนึ่งทูลเกล้าถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในกิจการของโรงเรียนวังไกลกังวล

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันพุธที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ส ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 556058เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท