การจัดระบบความรู้ชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง


การจัดการความรู้ : ชุมชน : การพึ่งตนเอง
                  นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีคำกล่าวอมตะที่เกี่ยวข้องกับ คุณค่า และ ความสำคัญ  ของ ความรู้ อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวที่ว่า มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน  ปัญญาประดุจดังอาวุธ ความรู้คืออำนาจ ฯลฯ  คำกล่าวเหล่านี้แฝงแง่มุมที่ว่า การมีความรู้  การใช้ความรู้  และ การสร้างความรู้  อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์  สภาวะแวดล้อม จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์และแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังมหาศาล  ผู้ที่ มี ใช้ และ สร้าง  ความรู้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะเป็นผู้ที่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถ้าเรามีความรู้ในเรื่องการรับประทานอาหาร รวมทั้งการออกกำลังกาย เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายอย่างถูกต้อง และเรานำความรู้นี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เราก็ย่อมเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง  หรือถ้าเรามีความรู้ในวิธีการทำงานต่าง ๆ ของเราอย่างลึกซึ้ง เราก็สามารถนำความรู้ดังกล่าวมาใช้เพื่อให้การทำงานของเราเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้                อย่างไรก็ตาม ความรู้หลาย ๆ อย่างจะเก่าเร็วและใช้งานได้เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือขึ้นกับสถานการณ์ (บริบท) อีกทั้งความรู้ยังเป็นสิ่งที่มีพลวัต ไม่หยุดนิ่งจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามสภาวะแวดล้อมและกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการพัฒนาหรือสร้างความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมขึ้นใช้งานจึงจำเป็นสำหรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะที่เราอยู่ อีกทั้งความรู้ใหม่ ๆ เหล่านี้ยังถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญด้วย  ความอยู่ดีกินดีมีสุขของคนในชุมชน สังคม ประเทศชาติ ล้วนเกี่ยวข้องกับการ มี  ใช้ และ สร้าง  ความรู้อย่างเหมาะสมภายใต้ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันในแต่ละภาคส่วนของสังคม  ทั้งในภาคประชาชนหรือชาวบ้าน ในภาคแข่งขันหรือธุรกิจ และในภาคสาธารณะ ซึ่งได้แก่ภาครัฐหรือราชการ และภาคประชาสังคม โดยในยุคของเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) และสังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) โจทย์ที่สำคัญที่แต่ละภาคส่วนต้องตีให้แตกคือ ความรู้ที่สามารถนำมาใช้งานได้นั้นจะหาได้จากแหล่งใดบ้าง เมื่อหาได้แล้วจะนำความรู้นั้นมาตรวจสอบปรับใช้ได้อย่างไร เมื่อใช้แล้วมีวิธีใดบ้างที่จะถ่ายทอดหรือจัดเก็บความรู้ดังกล่าวเพื่อไม่ให้สูญหาย นอกจากนี้ยังต้องหาแนวทางที่จะช่วยให้สามารถนำความรู้นั้น ๆ ไปเชื่อมโยงเข้ากับแต่ละภาคส่วนให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังต้องหาวิธีปรับใช้งานความรู้ต่อไปในอนาคต หรือสร้างให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์หรือสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป                 จากที่กล่าวไปแล้ว แนวทางหนึ่งที่สามารถแก้โจทย์ข้างต้นได้คือ การอาศัย การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความหมายรวมถึง การรวบรวม การจัด ระบบ  การจัดเก็บ และการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถนำมาสร้างเป็นความรู้ การตีความ ทำความเข้าใจถึงที่มา และตรวจสอบแนวคิดของความรู้นั้น ๆ ตลอดจนการแบ่งปันความรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ขบคิด ต่อยอดความรู้สำหรับนำไปใช้งาน ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัย การเชื่อมโยงระหว่างบุคคล เป็นกลไกสำคัญ โดยมี เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสนับสนุน                การจัดการความรู้ในสังคมไทยมีอยู่ด้วยกันหลายระดับในแต่ละภาคส่วน ได้แก่ การจัดการความรู้ในภาคประชาชนหรือชาวบ้าน การจัดการความรู้ในภาคแข่งขันหรือธุรกิจ และการจัดการความรู้ในภาคสาธารณะ ซึ่งได้แก่ ภาครัฐหรือราชการ และภาคประชาสังคม                ในภาคแข่งขันหรือภาคธุรกิจนั้นส่วนหนึ่งจะมีการจัดการความรู้กันอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนสามารถจ้างที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญตลอดจนมีเงินทุนพอสำหรับสั่งซื้อระบบหรือเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการความรู้ ซึ่งโดยมากเป็นซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ดังนั้น การปรับตัวในด้านการจัดการความรู้ของภาคธุรกิจจึงเป็นภาคที่ค่อนข้างไปได้เร็วกว่าภาคอื่น                 ในภาคประชาชนหรือชาวบ้าน และภาคสาธารณะ ซึ่งได้แก่ ภาครัฐหรือราชการและภาคประชาสังคมนั้น เป็นภาคที่ยังมีการจัดการความรู้ไม่มากนัก จำเป็นต้องมีผู้เข้าไปแนะนำ กระตุ้น สนับสนุน และส่งเสริมเพื่อให้ทั้งสองภาคส่วนสามารถนำความรู้มาจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้หากสามารถส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย เข้าใจถึงเรื่องของการใช้ความรู้และการจัดการความรู้อย่างถูกต้อง และทั่วถึงมากขึ้น ก็ย่อมจะช่วย ลดช่องว่างทางความรู้ ระหว่างภาคส่วน อีกทั้งยังส่งผลให้แต่ละภาคส่วนเกิดการสะสม ทุนทางปัญญา   ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย                ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการจัดการความรู้ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมดเสมอไป แต่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการจัดการความรู้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาวะแวดล้อมของตนเอง เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาให้ดีขึ้นเจริญขึ้นอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น ในภาคประชาชนหรือชาวบ้านที่ไม่มีเงินทุนหนา ก็สามารถใช้การจัดการความรู้ในระดับชาวบ้านแบบง่าย ๆ ได้เพื่อพึ่งพาตนเอง เป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง

                ในระดับชาวบ้านนั้น การจัดการความรู้ที่มาจาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ได้มาจาก การสังเกต และ ทดลอง มาเป็นเวลานานจากผู้รู้ในชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือปราชญ์ชาวบ้าน นอกจากนี้ ความรู้ดังกล่าวยังมีมุมมองที่แฝงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อ ซึ่งความรู้เหล่านี้ควรส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือถ่ายทอดเพื่อไม่ให้สูญหายไป  อีกทั้งหากมีการจัดการความรู้ในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีพอแล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลาย ๆ อย่างยังสามารถพัฒนาไปสู่ความรู้ที่มีคุณค่าต่อภาคส่วนอื่น ๆ อีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 55597เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2006 01:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท