ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่


     ตอนนี้แต่ละฝ่ายต่างแสดงออกหรือบอกให้ถึงซึ่ง “ทางออก” ที่นี้ถ้าทางออกของอีกฝ่ายหนึ่ง อาจไม่เป็นทางออกของอีกฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจเสนอทางออก ที่ไม่เป็นที่ยอมรับจากอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ แต่ในความคิดของผม ผมถือว่าการเจรราจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการหาทางออกนั้น แต่การเจรจาต้องประกอบไปด้วย หลักประชาธิปไตย และหาทางที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

     การหาทางออกของคุณสุเทพ ที่บอกว่าให้ยึดมาตรา 3 และขอนายกฯที่เป็นกลางตามมาตรา 7 นั้น มาตรา 3 บอกว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม กล่าวโดยสรุป อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจออกกฎหมายผ่านรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านรัฐบาล และอำนาจการตรวจสอบผ่านศาล จะเห็นได้ว่าอำนาจนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนได้ใช้อำนาจนั้นผ่านการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่มี 1 คน 1 เสียง ย่อมเป็นอำนาจในการออกกฎหมาย และการตั้งรัฐบาล

     สำหรับมาตรา 7 บอกว่า  ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันนี้ใกล้เคียงกับการขอนายกฯคนกลางของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาตรา 7 นี้เหมือนว่าจะทำได้จริงๆ แต่การขอนายกฯคนกลางนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นก็คือหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 ที่ต้องมีการพระราชทานนายกฯ (กล่าวคือนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ในการนั้นมีรองสภาฯผู้แทนเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ) นั้น เพราะการเมืองไทยไม่มีสมาชิกรัฐสภา เป็นการปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารและไม่มีรัฐธรรมนูญ    ดังนั้นข้ออ้างที่ระบุว่าการมีนายกฯพระราชทานเป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะเหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว 80 ปี และเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะมีก็แต่การทำรัฐประหารที่มักเกิดขึ้น   ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคือพยายามตีความมาตรา 7 ให้กว้าง แต่ตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้มีการใช้มาตรานี้ เพราะขณะนี้ก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และมีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย อีกทั้ง ยังมีรัฐธรรมนูญที่คอยรองรับ  ดังนั้นข้อเสนอนายกฯพระราชทานจึงขัดกับรัฐธรรมนูญ ในหลายมาตรา และตามกฎหมายข้อเสนอดังกล่าวนี้ย่อมขัดกับมาตรา 7 โดยตรงอยู่แล้ว  เนื่องจากมาตรา 7 ระบุว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด  (เน้นว่าถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ) ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

     สำหรับเรื่องการจัดตั้งสภาประชาชนนั้น เป็นข้อเสนอที่สามารถกระทำได้ โดยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสภาประชาชนเข้าไป หากคนส่วนใหญ่ หรือการทำประชามติยอมรับก็เป็นเรื่องที่ทำได้ ดีกว่าจัดตั้งองค์กรที่ไม่เป็นที่รองรับของรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะเกิดข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการ จัดตั้งขององค์กร

     ส่วนที่บอกว่าให้รัฐบาลยุบสภา นายกฯ และคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ในแนวทางของกฎหมายแม้จะมีรัฐบาลรักษาการ สุดท้ายก็ต้องนำไปสู่การเลือกตั้ง ให้ประชาชนเสียงข้างมากเลือกผู้แทนเข้ามาบริหารตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่มีช่องว่างใดที่จะทำให้มีนายกฯพระราชทานได้เลย

     หากมีการกระทำอย่างที่ผู้ชุมนุมหรือคุณสุเทพเรียกร้องอาจผิดรัฐธรรมนูญได้ในมาตรา 181, 171, 172 มาตราที่ 181 มีใจความว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 (2) (หมายความว่า ยุบสภา) คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด วิเคราะห์ตามมาตรา 181

1. หากพิจารณาจาก มาตรา 181 อย่างละเอียดก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญมีลักษณะ "บังคับ" ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้นต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ (โปรดสังเกต รัฐธรรมนูญใช้คำว่า "ต้องอยู่ในตำแหน่ง") ทั้งนี้ด้วยเหตุผลก็คือ ต้องการให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความต่อเนื่องไม่ขาดตอนนั่นเอง ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึง "ไม่อนุญาต" ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากตำแหน่งได้ ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นการขัดแย้งกับ มาตรา 181  เสียเอง 

2. นายกฯคนกลางจะมาได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จึงอนุญาตให้เขาเข้ามาใช้อำนาจบริหาร (Executive Power) ซึ่งในบางครั้งอาจมีการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ดังนั้น การนำเอาบุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ จึงถือได้ว่าเป็นการนำเอาบุคคลที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาใช้อำนาจอธิปไตยอันมีลักษณะขัดแย้งกับมาตรา 171 และ 172

3. ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมและคุณสุเทพนั้น อาจก่อให้เกิดสุญญกาศทางการเมือง ซึ่งอาจไม่ขัดกับระบอบที่ให้ความสำคัญแก่รัฐธรรมนูญก็ได้ ระบอบที่ยึดการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นระบอบที่ตายตัวแน่นอนและเป็นกลไก ถ้าให้เกิดสุญญกาศทางการเมืองแล้วก็อาจผิดมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญได้ ดังที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้นก็ได้

ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการเจรจา โดยยึดหลักระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากผิดไปจากระบอบนี้ก็แสดงว่านายสุเทพและกลุ่มแกนนำ พยายามทำตัวให้เป็นรัฎฐาธิปัตย์เที่ยวแต่งตั้งสภาประชาชนเอง นายกฯคนกลางเอง โดยที่ไ่ม่มีใครคอยตรวจสอบระบอบนี้ได้เลย

Cr.  ดร. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
 

หมายเลขบันทึก: 555748เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2013 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2013 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตามมาอ่านค่ะ อาจารย์ต้น

.... ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การเจรจา โดยยึดหลัก ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเท่านั้น ... หากผิดไปจากระบอบนี้ก็แสดงว่า... นายสุเทพและกลุ่มแกนนำ .... พยายามทำตัวให้เป็นรัฎฐาธิปัตย์....เที่ยวแต่งตั้งสภาประชาชนเอง ... นายกฯ คนกลางเอง โดยที่ไ่ม่มีใครคอยตรวจสอบระบอบนี้ได้เลย ....

รุ่นเก่าไม่ช้าก็ตาย เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีจิตสำนึกเพื่อองค์กรและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ขอบคุณมากครับที่ยังมีความเป็นกลาง ประเด็นของผมก็คือต้องยึดหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการตรวจสอบพฤติกรรมขององค์กรทางการเมืองทั้งหลายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท