dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

ข้อคิดจากการดูงานการศึกษาปฐมวัยที่ญี่ปุ่นกับผลการประเมินคุณภาพระดับชาติ


ข้อคิดจากการดูงานการศึกษาปฐมวัยที่ญี่ปุ่นกับผลการประเมินคุณภาพระดับนานาชาติ

 

           ได้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อดูงานการศึกษาปฐมวัยครั้งล่าสุดก็ยังได้เห็นการให้ความสำคัญของการพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัย โรงเรียนที่ไปมีทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน จากการได้ดูงานและสนทนาพูดคุยกับครูใหญ่และบุคลากรของโรงเรียนแล้วพอจะเล่าได้ดังนี้ สำหรับ โรงเรียนเอกชนมีชื่อว่าFuji  Kindergarten  ตั้งอยู่ที่เมืองโตเกียว เป้าหมายของโรงเรียนนี้กำหนดไว้ชัดเจน คือ โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ     สิ่งที่เน้นคือ ความสนุกสนานร่าเริง ความดี และสุขภาพแข็งแรง นโยบายของโรงเรียน              คือเด็กนักเรียนของโรงเรียนจะต้องมาก่อน  โดยเด็กเป็นตัวตั้งในการดำเนินกิจกรรมหรือการดำเนินการจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนา   เพื่อการช่วยเหลือตนเองได้ จุดเด่นของโรงเรียน มีการจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน  โดยอาคารเรียนออกแบบเป็นรูปวงแหวนโอบล้อมด้วยบรรยากาศของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  สร้างค่อมต้นไม้ใหญ่ 3 ต้น ระหว่างต้นไม้และอาคารที่มีช่องว่างเล็กน้อยนั้น มีตาข่ายที่เด็กสามารถกระโดดลงไปนั่งหรือนอนได้อย่างสนุกสนาน  อาคารที่เป็น วงแหวนนั้นด้านบนมีลักษณะเป็น roof  house  มีพื้นที่ให้เด็กได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนานและได้ปีนต้นไม้ใหญ่หรือโหนต้นไม้  นอกจากนั้นมี  sky light  ให้เด็ก ๆ ได้มองลงไปด้านล่างของอาคารด้วย  ลักษณะของห้องเรียนไม่มีผนัง  หรือกำแพงมาขวางกั้นการทำกิจกรรมของนักเรียน  อุปกรณ์      การเรียนการสอนออกแบบให้เกิดการเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก  มองออกไปจะเห็นสภาพภายในและภายนอกของโรงเรียน  ระหว่างลานข้างบนที่เด็กวิ่งเล่นนั้นจะมีกระดานไม้ลื่น  เด็กสามารถสไลด์จากข้างบนลงข้างล่างสู่กองดินกองใหญ่รองรับเด็ก ๆได้อย่างเหมาะเจาะ     อาคารแต่ละส่วนที่ประกอบเป็นอาคารวงแหวน  ออกแบบเพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย  โดยเน้นในเรื่องของการได้สัมผัสภัยธรรมชาติ สถานที่ต่าง ๆ ก็ใช้ชื่อดอกไม้ในการตั้ง  เช่น    ดอกกุหลาบ  ดอกทานตะวัน  เป็นต้นสภาพภายนอกห้องเรียนนั้นไม่ว่าสถานที่  อุปกรณ์  สื่อ  หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มีจุดเด่นคือ ส่งเสริมให้เด็กได้เกิดพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  เช่น   ท่อนไม้ใหญ่ ๆ  เล้าเป็ด  คอกม้า  สนามเด็กเล่นที่เด็กเล่นแล้วสกปรกมีทั้งน้ำและทราย สถานที่ที่เด็กได้สัมผัสกับหิน ดิน กรวด เป็นต้น        - สนามเด็กเล่นที่เป็น  open field  อยู่ตรงกลางของวงแหวน  เปิดให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ พื้นสนามอาคารมีหญ้าปกคลุม  ทำให้เด็กได้เล่นโดยไม่มีอันตราย สถานที่ที่เด็กได้ใช้ภาษาอังกฤษ  เรียก Fun English Area  หรือ  English Room  นอกจากเด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติแล้ว เด็ก ๆ ยังได้สื่อสารด้วยการสนทนากับครูต่างชาติ ซึ่งโรงเรียนมีครูต่างชาติทั้งหมด  15  คน ห้องทำงานของครูใหญ่ ออกแบบให้อยู่ตรงกลางของอาคาร เป็น open area  ครูใหญ่สามารถดูและสังเกตพฤติกรรมของครูและเด็กได้ตลอดเวลา  ห้องสำนักงานและห้องพักครูอยู่บริเวณเดียวกัน  เปิดโอกาสให้   ทุก ๆ คนสามารถติดต่อได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว  การจัดกิจกรรม  เน้นพัฒนาการเด็ก  โดยใช้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ  การออกแบบอาคารเรียนดังกล่าวส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์  จิตใจ  และสังคมเป็นอย่างยิ่ง  และสิ่งดังกล่าวก็ส่งผลต่อการพัฒนาด้านสติปัญญา  คือ  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กแต่ละคนอย่างไม่มีขอบจำกัด

                ข้อสังเกต   การออกแบบอาคารเรียนลักษณะดังกล่าวเป็น  model  หรือรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนที่ต้องการให้เด็กได้สัมผัสและทำกิจกรรมที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด  ธรรมชาติดังกล่าวจะส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้เกิดจินตนาการอย่างไม่มีขอบเขต  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เด่นชัด  ดังนั้นจึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เด็กญี่ปุ่นทำไมถึงเป็นนักออกแบบ  นักค้นคว้า  และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต ถึงแม้จะเป็นชนชาติเชื้อสายเอเชียก็ตาม สำหรับนวัตกรรมที่โรงเรียนนี้นำมาใช้ประกอบในการจัดกิจกรรมคือ มอนเตสซอรี่ สังเกตได้จากสื่อและอุปกรณ์ภายในห้องเรียน และเอกสารการแนะนำโรงเรียน

          สำหรับอีกโรงเรียนหนึ่งเป็นโรงเรียนอนุบาลของรัฐบาล อยู่ที่เมืองโกเบ มีชื่อว่าKobe  Kindergarten  เป้าหมาย ของโรงเรียน   คือ การพัฒนาเด็กให้มีความแจ่มใส  ร่าเริง  แข็งแรง   และสุขภาพดี    สภาพของโรงเรียน  เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่เก่าแก่ที่สุด  โรงเรียนแห่งนี้  มีประวัติยาวนานตั้งแต่    ค.ศ.1887(สมัยเมจิ)  ใน ค.ศ.1912  - 1925  เริ่มรับนักเรียนโดยทั่วไป  และได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่  2      สำหรับอาคารเรียนปัจจุบันเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ 2 ปีที่แล้ว  อาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อรองรับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ การจัดกิจกรรม/ประสบการณ์  เด็กเรียนรู้จากการเล่น  โดยยึดหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ  เน้นการทำกิจกรรม  เช่น กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ  (แปลงร่าง) กิจกรรมเกษตร  (ปลูกมะเขือเทศ  องุ่น  บล็อกเคอรี่) กิจกรรมดนตรี กิจกรรมเล่านิทาน กิจกรรมขี่จักรยาน กิจกรรม  Hula Hoop  ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวเน้นพัฒนาการทุกด้าน  ไม่เน้นการเรียนรู้ที่เป็นสาระสำคัญอย่างในระดับประถมศึกษา  ดังนั้นเมื่อเด็กมาถึงโรงเรียนจะให้เด็ก  free  play  ประมาณ  1-1 ½  ชั่วโมง  หลังจากนั้นจึงจะเข้าห้องเรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น  การเล่านิทาน  การทำกิจกรรมศิลปะ  เป็นต้น  กิจกรรมพิเศษที่จัดให้  ได้แก่  การจัดกลุ่มไปทัศนศึกษา  การเชิญวิทยากรมาเล่านิทาน  ฯลฯ  นอกจากนั้นวิทยากรที่เชิญก็จะเป็นผู้ปกครองมาทำกิจกรรมในการฝึกปฏิบัติการทักทาย  การต้อนรับให้กับเด็ก ๆ การวัดประเมินผล  เน้นสิ่งที่ได้จากการจัดกิจกรรมหรือการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาล  Kobe  คือ  การส่งเสริมพัฒนาการเด็กและการฝึกทักษะให้กับเด็ก  (Skill  and development)

                ข้อสังเกต โรงเรียนนี้มีรูปแบบการพัฒนาเด็กที่เด่นชัด เน้นการเล่น การจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก  คือ ถึงแม้จะใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ   แต่โรงเรียนก็มีลักษณะเด่น มีเอกลักษณ์คือ  ไม่นำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้  เช่น Montessori ,  Waldorf,  Whole  language  เป็นต้น  แต่โรงเรียนมีปรัชญา  คือ  เด็กจะต้องได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ผ่านการเล่น  ครูปฐมวัย/บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดประสบการณ์อย่างหลากหลายเพื่อพัฒนาให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง  อารมณ์แจ่มใส  และร่าเริง  สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการแสดงของเด็ก ๆ ที่เด็กทุก ๆ คนได้ร่วมกันแสดงกลางสนามให้กับคณะผู้ศึกษา ดูงานได้ดู   เด็ก ๆ จะรู้จักการฟังจังหวะ  การทำตามจังหวะ  การเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์  ฯลฯ  ด้วยท่าทางที่มีความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างเป็นธรรมชาติ

           ทั้งสองโรงเรียนดังกล่าวกำหนดเป้าหมายที่ตัวเด็กอย่างชัดเจน และได้นำหลักวิชาการด้านการศึกษาปฐมวัยที่ถูกต้องมาใช้ในการพัฒนาเด็กของตนเอง เราจึงได้เห็นสภาพการศึกษาปฐมวัยของญี่ปุ่นตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนั้นจากการประเมินในระดับนานาชาติญี่ปุ่นจะอยู่ในลำดับต้นๆ อย่างเช่นผลสำรวจทักษะของผู้ใหญ่ซึ่งญี่ปุ่นได้รับการวางพื้นฐานตั้งแต่ปฐมวัยมาแล้ว ผลการสำรวจปีล่าสุดจากรายงาน OECD Skill Outlook 2013: First Results From The Survey of Adult Skills พบว่าญี่ปุ่นและฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ผู้ใหญ่หรือคนวัยทำงานมีทักษะที่มีความจำเป็นโดยรวมอยู่ในระดับสูงที่สุด ข้อสังเกตจากการประเมินครั้งนี้คือ ประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มของ OECD และทำแบบประเมินวัดสมรรถนะ หรือ PIAAC ครั้งนี้จะเป็นกลุ่มประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเกือบทั้งหมด แต่ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยของผลการสอบสูงสุดคือ ญี่ปุ่นและฟินแลนด์ โดยเฉพาะทักษะการอ่านออกเขียนได้ที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ในทุกระดับ อาจเรียกได้ว่าคนญี่ปุ่นมีคุณภาพชีวิตในการทำงานมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ รายละเอียดของผลการสำรวจทักษะด้านการอ่านออกเขียนได้พบว่า ชาวญี่ปุ่นทุกๆ 5 คน มีคะแนนการอ่านอยู่ในระดับสูง ซึ่งหมายถึงความสามารถในการอ่านรวบรวม ตีความและสังเคราะห์ข้อมูลได้มากกว่าบุคคลทั่วไป และมีเพียงร้อยละ 4.5 ของชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่าระดับ 1 สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพของคนต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยและจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องประกอบกับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกฝ่ายพร้อมร่วมมือกันทำเพื่อไปสู่เป้าหมายของชาติ

 

                                                                                               

หมายเลขบันทึก: 555461เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2013 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมากเลย อยากทำอนุบาลให้เป็นแบบสองโรงเรียนนี้จัง จะพยายามทำความฝันให้สำเร็จ เมื่อครั้งจบคณะศึกษาศาสตร์ศิลปากร ปีการศึกษา 2519 เคยฝันว่าจะมีโรงเรียนเล็กๆสักโรง อยากสร้างให้เป็นโรงเรียนที่มีเด็กเป็นตัวตั้งเมื่อทำงานมาสักระยะก็พบว่า ครูเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ฝันนี้เป็นจริง อีกไม่ถึงสิบเดือนแล้วจะเกษีนณ อยากทำให้ความฝันนี้สำเร็จไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลายจัง

Montessori และ Waldrof เห็นหลักคือเน้นพัฒนาการตามวัยตามหลักการแพทย์พื้นฐานของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรง มั่นคงสมดุลย์ ของร่างกายนำไปสู่พัฒนาการที่ดีของภายใน-จิตใจ จุดเด่นของทั้งสองคือ มีกระบวนการพัฒนาภายในและพัฒนาศักยภาพของครู….ทั้งสองแนวทางเป็นรากฐานที่ดีของปฐมวัยทั้งแบบทำการศึกษาที่บ้านและที่โรงเรียน แนวทางของญี่ปุ่นมีข้อจำกัดและเงื่อนไข มากมายเพื่อดึงสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์เพื่อความอยู่รอดออกมาใช้ ทำให้เขาคำนึงถึงผลผลิตทางกำลังคน เพื่อโลกแห่งการแข่งขันและผลประโยชน์ทางธุระกิจเพื่อประเทศ ดังนั้น เขาจึงวางแผนผลิต ผลิตอย่างไรให้ได้คุณภาพตามแผนและนโยบายแห่งชาติ….เราจึงได้เห็นความสุดในทุกแบบของญี่ปุ่น…ที่ทั่วโลกยอมรับว่าเก่งจริง แต่ความสุขวัยเรียนประถม-มัธยม กับ ไม่ได้เท่าฟินแลนด์ …. ในฐานะเป็นนักการศึกษาและทำการสอนเด็กปฐมวัยอยากจะแนะนำว่า ทำปฐมวัยที่ดีคำนึงถึงพัฒนาการ มีเครื่องมือ(เทคนิคกระบวน)ที่หลากหลาย ถ้าครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกมีความสุข มีความสนุกกับสิ่งที่ทำ เด็กๆที่อยู่ในความดูแลจะมีความสุข ปฐมวัยคือความสุขและสนุกสมวัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท