วลัยลักษณ์กับการสร้างทุนมนุษย์?


องค์การใด ๆ จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ต้องมีทุนมนุษย์ที่นอกเหนือจากความเก่งแล้วก็ต้องมีความดีอยู่ด้วยในอีกมิติหนึ่ง
เมื่อ 2 วันก่อนผมได้ปรึกษาหารือร่วมกันในทีมคุณอำนวย และทีมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของวลัยลักษณ์ เพื่อพูดคุยในประเด็นที่จะนำไปแลกเปลี่ยนรู้ในเวที UKM ที่สุโขทัย ซึ่งจัดโดย มน.ในช่วงวันที่ 2-4 พย. นี้ โดยส่วนตัวผมแล้วผมคิดว่า ประเด็นที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คือ ทุนมนุษย์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาองค์การใด ๆ ก็ตามให้ไปสู่เป้าหมายขององค์การที่วางไว้ ......สำหรับวลัยลักษณ์ เราเองเป้าหมายสูงสุดของพวกเราก็คือ การเป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น และเป็นเลิศสู่สากล หรือนั่นก็คือวิสัยทัศน์ขององค์การของเรา ที่พวกเราได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นและร่วมกันกำหนดขึ้น  และแน่นอนว่าการที่องค์การใด ๆ จะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้นั้น องค์การนั้นก็ต้องมีความเก่ง และศักยภาพ(Talent)ที่จะทำให้องค์การเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งความเก่งที่ว่าจะมีมากน้อยเพียงใดก็จะขึ้นอยู่กับทุนของแต่ละองค์การที่มีอยู่ ซึ่งก็ประกอบด้วยหลายอย่าง อาทิ  ทุนทรัพยากร ทุนทางสังคม ทุนระบบ และที่สำคัญที่สุดในความคิดของผมก็คือ ทุนมนุษย์  หรือพูดง่ายก็คือ คนในองค์การนั้นมีความเก่งและความดีมากแค่ไหนนั่นเอง .....ผมคิดว่าวลัยลักษณ์ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นสูง ก็คิดไม่ต่างอะไรกับองค์การชั้นนำอื่น ๆ ของประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ขององค์การ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความคิดที่ไม่ต่างอะไรกันนั้น ผมคิดว่าที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นที่จะสร้างทุนมนุษย์ในเรื่องความเก่งหรือความรู้ความสามารถแต่เพียงมิติเดียว ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษาต่อ การอบรม การศึกษาดูงาน การวิจัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มุ่งที่จะให้คนของเรามีความเก่ง มีความรู้ความสามารถ  แต่คำถามที่ท้าทายอีกหนึ่งคำถามก็คือ ความเก่งที่เป็นทุนมนุษย์ของเรานั้น จะสามารถนำพาองค์การของเราให้ไปสู่วิสัยทัศน์ที่วางไว้ได้หรือไม่  ผมคิดว่าคำตอบทุกท่านรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการไปถึงเป้าหมายที่องค์การต้องการคงไม่ใช่การบรรลุเป้าหมายแค่เพียงช่วงข้ามคืน แต่เราต้องการการบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืนมากกว่า .....ดังนั้นผมคิดว่าการที่จะทำให้องค์การใด ๆ สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ก็จะต้องมีทุนมนุษย์ที่นอกเหนือจากความเก่งแล้วก็ต้องมีความดีอยู่ด้วยในอีกมิติหนึ่ง ความดี ที่ว่าผมหมายความถึง การคิดดี ทำดีเพื่อองค์การ นั่นคือ ทำงานอย่างเสียสละ ทุ่มเท เห็นแก่ส่วนรวม ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ผมคิดว่าที่ผ่านมาองค์การไม่น้อยที่ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างทุนมนุษย์ในมิตินี้เลย........สิ่งที่ท้าทายตามมาก็คือ แล้วเราจะสร้างทุนมนุษย์ในมิตินี้ให้เกิดขึ้นกับบุคลากรของเราได้อย่างไร ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายเลยถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างความเก่ง แต่ผมก็คิดว่า มันก็ยังมีทางที่ทำได้  ขอเพียงคนในองค์การนั้นรักองค์การของตังเองอย่างแท้จริงและสุดใจ เช่นเดียวกับ วลัยลักษณ์ ที่เราเชื่อว่าทุนมนุษย์ด้านความดี จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อคนทุกคนในวลัยลักษณ์รักวลัยลักษณ์จริง ๆ เพราะเราเชื่อว่า คนเราถ้าลองได้รักอย่างสุดใจแล้ว เราก็พร้อมที่จะให้ พร้อมที่จะเสียสละ และพร้อมที่จะทุ่มเท เพื่อสิ่งหรือคนที่เรารักจริงไหมครับ .......เกิดคำถามตามมาอีกว่า แล้วเราจะทำให้คนในองค์การของเรารักองค์การได้อย่างไร  ในความคิดของผม ผมคิดว่า ในองค์การนั้นต้องมีผู้นำที่รักองค์การนั้น ๆ อย่างแท้จริงมาก ๆ และต้องมีความมานะ อดทน อดกลั้น ที่จะพิสูจน์ให้คนในองค์การเห็นว่า ท่านรักองค์การของท่านอย่างจริงใจ ที่ผมใช้คำว่าผู้นำ ไม่ใช่คำว่าผู้บริหาร เพราะในความเห็นผมคิดว่า ผู้บริหารเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำ องค์การต้องให้ความสำคัญกับการสร้างผู้นำ ไม่ใช่ผู้บริหาร เพราะถ้าองค์การใดมีผู้บริหารที่ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ องค์การนั้นก็เป็นองค์การที่ยากจะไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้ ดังนั้นคนในองค์การก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหาร และผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำ ก็ต้องเข้าใจที่จะให้การยกย่อง ยอมรับผู้นำ ........ใช่ไหมครับ..........โดยสรุปก็คือ การสร้างทุนมนุษย์ ไม่ควรที่จะเน้นที่ความเก่งอย่างเดียว แต่ควรที่จะเน้นที่ความดีด้วย การสร้างทุนมนุษย์ให้มีพร้อมทั้ง 2 มิติ ใช้เงินอย่างเดียวทำไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ใจที่พร้อมจะทุ่มเท เสียสละ อดทน อดกลั้น  รวมทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ในองค์การไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในองค์การที่ต้องร่วมมือกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน..
หมายเลขบันทึก: 55531เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งคะ การมีต้นแบบที่ดี การได้อยู่ การได้รู้จัก การได้ทำงาน การได้เห็น การได้สัมผัส ทำให้เราได้รับรู้แนวทางที่ดี...ประสบการณ์ที่ดีของการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำที่ดีของพี่โจ๊ก หัวหน้าส่วนการเงินที่ทั้งเมและน้องจันทร์รู้สึกชื่นชมมาก เนื่องจากเมื่อนำเงินค่าตอบแทนการเป็นวิทยากรไปให้พี่โจ๊กนำเงินที่ได้จากการไปสนับสนุนบริการวิชาการให้พี่ส่วนการเงินเก็บไว้เป็นเงินกองกลางของส่วนการเงินฯ...ซึ่งทำให้เราได้รับรู้ถึงความเสียสละ และการแสดงถึงความรักลูกน้อง...การพร้อมให้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกดี มีความสุขและภูมิใจกับการที่ได้ทำงานกับองค์กรที่มีบุคลากรที่ดีเช่นนี้
ศิริมาศ เลือดกาญจนา
ขอปลื้มด้วยคนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท