ฉันโอเคนะ... แต่หัวใจฉันกำลังร้องไห้อยู่ข้างใน” ปาฏิหารย์แห่งการได้ยินเสียงภายใน


เรามักมีกรอบความคิดตัดสินตัวเอง เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เราก็จะพยายามอธิบายตัวเองว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วหาคำตอบให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว แต่เราเคยคิดที่จะเข้าข้างตัวเองบ้างไหมคะ หมายถึงการเข้าไปข้างในของตัวเองจริง แล้วฟังเสียงของหัวใจที่ต้องการบอกเราบางอย่าง

ฉันโอเคนะ... แต่หัวใจฉันกำลังร้องไห้อยู่ข้างใน” ปาฏิหารย์แห่งการได้ยินเสียงภายใน   

    
แก้ไขโดย ถั่วอบมะลิหอม    
Wednesday, 11 October 2006
 

        เพื่อนหลายคนทุกข์ใจ แต่บอกว่าตัวเอง..โอเค ความทุกข์จางหายไป เมื่อได้ออกไปดื่มสุรา เที่ยวบาร์ ร้องเพลงคาราโอเกะ ซื้ออุปกรณ์ไฮเทค รถยนต์ ยานอนหลับ ตีกอล์ฟ (ตามแห่ มิใช่ตามใจตนเอง) หรือเมื่อไปชอบปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า วุ่นอยู่กับงานบ้านงานเรือน หรือกับการเลี้ยงลูก สามี ละครทีวี พลิกๆๆหนังสือแมกกาซีนต่างๆเพื่อหนีความจำเจ  การมองหาเพื่อนใหม่หรือนำพาตัวไปอยู่ท่ามกลางเพื่อนหญิง เพื่อนชาย หรือคนแปลกหน้าเพื่อให้คลายเหงาไปวันๆ แม้ว่าลึกๆก็รู้สึกถึงความเดียวดายในฝูงชน  สิ่งต่างๆหรือผู้คนเหล่านี้นะหรือที่ทำให้ความทุกข์จางหายไป จริงหรือที่บอกว่า ฉันโอเค หรือฉันแฮปปี้  จริงๆแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่นะ
        หรือจริงๆแล้ว มันเป็น ข้อความ SMS หรือสัญญาณจากฟากฟ้าที่มาเป็นลางบอกเหตุบางเรื่อง บอกว่าชีวิตคุณมีความหมายนะ เปิดประตูของคุณนะ เปิดประตูไปหาผู้คนที่คุณรักและรักคุณและรอคอยคุณอยู่  เมื่อมีคำถามเกิดขึ้นในชีวิต คุณลองตอบคำถาม หรือตอบอย่างเกเร อย่างตามหัวใจของคุณเอง  ฟังเสียงหัวใจของคุณ  เชื่อในเสียงหัวใจที่คุณได้ยิน  ลองทำตามใจคุณเอง  มันง่ายๆ ตรงไปตรงมา  คุณลองทำดูนะ  แล้วบางทีคุณจะพบคำตอบมากมาย  ให้กับคำถามในชีวิต  ที่ประเดประดังเข้ามา  คำถามที่วุ่นวาย ที่รบกวนหัวใจ  คำถามที่ทำให้กินได้แต่นอนไม่หลับ  คุณลองเผชิญหน้าคำถามเหล่านั้น  ด้วยคำตอบจากหัวใจของคุณนะ  แล้วคุณจะอบอุ่นหัวใจ ไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย แล้วค่อยบอกตัวเองอย่างยอมรับว่า I am okay, I am happy จริงๆนะ
       เรามักมีกรอบความคิดตัดสินตัวเอง เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เราก็จะพยายามอธิบายตัวเองว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วหาคำตอบให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว  แต่เราเคยคิดที่จะเข้าข้างตัวเองบ้างไหมคะ หมายถึงการเข้าไปข้างในของตัวเองจริง แล้วฟังเสียงของหัวใจที่ต้องการบอกเราบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ใช่ออกมาในทางคำพูดหรือความคิด แต่เป็นความรู้สึก อาจเรียกได้ว่าเป็นหทัยปัญญา  เช่น เวลาเรามีอารมณ์เหงา เศร้า หรือเหว่ว้า ก็ให้รับรู้ตรงๆตามนั้น ไม่ต้องไปพยายามด่วนวิเคราะห์หรือตัดสินว่า เป็นเพราะฉันไม่มีเพื่อน หรือเพราะว่าเราทำอะไรบางอย่างผิดพลาดไปหรือเปล่านะ ชีวิตเลยต้องเป็นอย่างนี้  หรือแม้แต่ความรู้สึกเหนื่อยธรรมดาๆ เรายอมรับได้หรือเปล่า และคนรอบๆข้างของเราให้รับรู้ได้หรือเปล่า
          ฉันคิดว่าสังคมมักสอนให้เราคาดหวังกับตัวเองว่าต้องเป็นคนดี ที่ต้องยอมสละ ต้องไม่เหน็ดเหนื่อย หรือถ้าเหน็ดเหนื่อยก็เก็บมันไว้ ไม่จำเป็นต้องไปบอกกล่าวอะไรกับใคร ต้องอดทนกับความเหนื่อยยากของชีวิตแต่ละวัน หากเอ่ยอะไรออกไปเราก็อาจจะตัดสินตัวเองว่านั่นเป็นการพร่ำบ่น ทั้งๆที่ในทำนองกลับกัน การบอกกล่าวสื่อสารให้คนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานได้รับรู้ถึงความเป็นไปในชีวิตเรานั้นอาจเป็นของขวัญล้ำค่าก็ได้ เพราะเป็นการยอมรับเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาดูแลเราบ้าง เปิดโอกาสให้กับมิตรภาพที่จะไปพ้นความฉาบทาด้วยคำหวาน หรือรอยยิ้มเพียงอย่างเดียว  เปิดโอกาสให้คนอื่นมาเห็นความทุกข์ หรือร่วมรับรู้ทุกข์ไปกับเรา
           ลึกๆแล้วคนเรากลัวว่าตัวเองจะกลายเป็น “คนมีปัญหา” มากกว่า “คนมีปัญญา” มั้ง ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันอาจไม่มีทั้งสองอย่างเลยก็ได้ แต่เราก็พยายามหลีกเลี่ยงอาการของ “คนมีปัญหา” ด้วยอาการต่างๆ เหมือนกับการหลบหลีกความซื่อตรงที่จะยอมรับกับความรู้สึกด้านลบ เช่น ความรู้สึกไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เหนื่อย ท้อ เบื่อหน่าย หงุดหงิด  และอีกหมื่นพันความรู้สึกที่ถูกตัดสินให้เป็นวายร้าย หรือตัวปัญญา  บางคนบอกว่าวัฒนธรรมไทยไม่ชอบสื่อสารอารมณ์เหล่านี้ออกมาอย่างเปิดเผย เหมือนวัฒนธรรมฝรั่ง จะใช้วิธีหาทางออกแบบอื่นที่ปลอดภัยมากกว่าการเผชิญหน้าและสื่อสารตรง เช่น การบอกเล่าระบายให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีให้ได้รับรู้ พออารมณ์ดีขึ้นก็กลับไปร่วมงานกับคู่กรณีต่อ โดยอาจจะไม่นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาพูดคุยกัน ถ้าปัญหาได้รับการแก้ไข มันก็คงไม่เกิดขึ้นอีก แต่หากไม่ได้รับการแก้ไข หรือว่าเพื่อนร่วมงานเราไม่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ เราก็มักพบเจอเหตุการเดิมๆ เหมือนขับรถวนกลับมาที่เดิมอีก
ไม่ว่าเราจะบอกตัวเองหรือบอกคนอื่นอย่างไร เราไม่สามารถกลบเกลื่อนความรู้สึกของหัวใจและเสียงของร่างกายเราไปได้  ทั้งสองเสียงเปรียบดังพี่น้องที่เคียงข้างกันมาตลอด เวลาหัวใจเราโกรธหรือเสียใจ ไม่พอใจ ร่างกายเราก็รับรู้และแสดงอาการไปตามนั้น เช่น ร้อน เกร็ง ตึง เมื่อยล้า ชีพจรเต้นไม่ปกติ นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย  เป็นต้น ร่างกายเป็นเสมือนกระจกสะท้อนภาวะอารมณ์ของเราตลอดเวลา ไม่ว่าตัวสมองหรือความคิดที่ทำตัวเป็นพี่ใหญ่ จะพยายามกลบเกลื่อนด้วยวิธีไหนก็ตาม 
สังเกตว่ายิ่งคนเรียนมาสูง ก็ยิ่งได้รับการฝึกฝนให้ใช้ความคิดได้อย่างรวดเร็ว พิพากษาเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งพิพากษาตัวเองได้อย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ กรอบคิดหรือกรอบการตัดสินที่เรามีอยู่เหล่านี้เปรียบเหมือนอาวุธหรือศาสตราที่ช่วยทำให้สามารถวิเคราะห์และเข้าในสิ่งต่างๆได้ ยกเว้นตัวเอง เพราะเราไม่สามารถเข้าใจตัวเองได้ด้วยเหตุผลทางความคิด  ศาสตราเหล่ากลับกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเดินทางเข้าสู่พรมแดนแห่งหทัยที่กว้างใหญ่ไพศาล  ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ หลากหลายสีสัน มากกว่าเจ็ดสีเสียอีก  เหตุและผลเชิงประสบการณ์ที่ไม่ใช่ “เหตุผล” เชิงความคิดที่เราอาจหรือมักคิดเอาเอง
ดังนั้นหากเราสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกหรือแม้แต่ความคิดที่ออกมาจากใจเราอย่างไม่ด่วนสรุป หรือตัดสิน แต่ห้อยแขวนเอาไว้ เหมือนห้อยแขวนเสื้อผ้าไว้ และเฝ้ามองให้นานพอหรือเฝ้ามองอยู่เรื่อยๆ ยังไม่ต้องรีบหยิบมาสวมใส่ล่ะก็ เราก็จะเริ่มมองเห็นสีสันในเฉดต่างๆของเสื้อผ้า เฉดต่างๆของความรู้สึกนึกคิดในใจเราเอง  การมองเห็นหรือการได้ยิน แบบแผนของความรู้สึกนึกคิดบางอย่างที่ซ้ำๆที่มักเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ คุ้นชิน หรือเป็นอัตโนมัตินั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจตัวเอง
ฉันคิดว่าเวลาเราพูดถึงพฤติกรรมแห่งการบริโภค จนอาจถึงขั้นที่เรีกกได้ว่า การเสพติดต่างๆในสังคมบริโภคนั้นมีเหตุมาจากความไม่สามารถรับรู้และยอมรับภาวะอารมณ์ทุกข์ในตัวเอง ที่อยู่ในรูปแบบต่างๆได้อย่างตรงไปตรงมา และอย่างอ่อนโยน ทำให้ต้องค้นหาทางออกหรือทางหนีออกจากอารมณ์เหล่านี้ตามสติปัญญาหรือกำลังที่มี ยิ่งสมัยนี้ ทางเลือกที่จะบริโภค หรือเครื่องมือเปลี่ยนอารมณ์มีมากมาย หลายอย่าง หลายสถานที่ เช่น โรงหนัง ภาพยนต์ ซีดี วีดีโอ ทีวี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนท เพลง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเหล้าบาร์ คาราโอเกะ แมกกาซีน หนังสือ และอื่นๆ  ในความเห็นของฉัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นลบในตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ที่จะทำให้เรายังรู้สึกถึงคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ รู้สึกได้ถึงพลังของชีวิตที่จะไม่ถูกบั่นทอนไปง่ายๆจากกิจกรรมชีวิตในสังคม
นักนิเวศแนวลึกชาวพุทธคนหนึ่ง คือโจแอนนา เมซี่ บอกว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถยอมรับภาวะสิ้นหวัง ความแตกสลายและความเป็นอนิจจังแห่งการดำรงอยู่ได้  เวลาเราหนีหรือเบือนหน้าหนี ก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะเหล่านี้จะหายไป  และการพยายามเมินหรือละเลยความรู้สึกเหล่านี้กลับทำให้เรากลายเป็นคนที่เฉยชา จนอาจถึงขั้นเย็นชากับความรู้สึกของตัวเอง และคนรอบข้าง และมักมีคำพูดบอกตัวเองและคนรอบข้างว่า “ช่างมันเถอะ” หรือ “ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ ยอมรับมันเถอะ”  เรียกว่ากลบอารมณ์ด้วยการคิดแบบยอมรับสภาพ ยอมๆ มัน “คิดมากไปก็เท่านั้น”  การกลบเกลื่อนร่องรอยของอารมณ์ลบ ภาวะไร้พลัง เบื่อหน่าย ท้อแท้นั้นอาจรู้สึกอยู่ได้สักชั่วเวลาหนึ่ง แล้วความรู้สึกเหล่านี้ก็หาหนทางของมันเองที่จะวนกลับเข้ามาอีก จนความเบื่อหน่ายเติบโตเป็นความ “โคตรเบื่อ” คือความเบื่อทั้งตระกูลรวมใจ พากันมาทักทายเรา
แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราสามารถน้อมรับภาวะอารมณ์เหล่านี้ได้ พลังลบๆก็จะกลายร่างเปลี่ยนสภาพค่อยๆอ่อนโยนลง เป็นพลังที่ไม่ระรานตัวเองหรือคนรอบข้าง แล้วเราก็ค่อยๆนำพาตัวเองเดินเข้าประตู เดินเข้าไปสู่พื้นที่แห่งความผ่อนคลาย วางใจและการตื่นรู้มากขึ้น เพื่อรับรู้ถึงพลังศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในตัวเองที่จะเลือกทางเดินชีวิตและสรรสร้างสิ่งต่างๆดังใจประสงค์ได้  เข้าถึงปัญญาแห่งการยอมรับทุกข์ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การยอมแพ้ หรือศิโรราบให้กับความสิ้นหวัง หากแต่เป็นพลังชีวิตที่อุบัติขึ้นอีกครั้ง เป็นพลังนำพาเราให้ไปยืนที่จุดเริ่มต้นของหนทางสู่ปาฏิหารย์แห่งการได้ยินเสียงภายใน หนทางสายนี้พร้อมแล้วให้คุณก้าวเดินต่อไป เพราะ ทุกๆจุดที่คุณยืนอยู่คือโอกาสแห่งการเริ่มต้นใหม่
ขอให้ท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ และขอให้โชคดี!
 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 55515เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณ supat คะ

  • ครูอ้อยเขียนได้ดีมากเลยค่ะ
  • มีหลายตอนที่เขียนได้ถึงแก่นใจครูอ้อยเลย
  • เขียนบ่อยๆนะคะ  จะอ่านด้วยความสุขค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • ชอบใจเป็นที่สุด  เขียนดุจกลั่นวิญญาน
เข้ามาอีกครั้งเพื่อการอ่านซ้ำ  เลยรู้ว่าเขียนผิด  ครูอ้อยไม่ได้เขียนนะคะ  ขอแก้ผิด  อิอิ  ขออภัย

เป็นบทความที่อยู่ในเวบ ผมอ่านแล้วรู้สึกดีก็เลยมาถ่ายทอดให้อ่านอีกที

               supat

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท