ปีติสุขกับการกินอาหารอย่างมีสติ


ความรู้สึกที่ผ่อนคลายเบาสบาย บางครั้งก็ไม่ได้ทำให้เราเกิดเสียงหัวเราะแบบนั้นได้ กลับกลายเป็นความรู้สึก “ตื้นตันใจ” จนกระทั่ง “น้ำตาไหลออกมาเอง” แบบว่าอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกมั่นคงแบบลึกที่ด้านในของเรา

ปีติสุขกับการกินอาหารอย่างมีสติ 
โดย นพ. วิธาน ฐานะวุฑฒ์
  

        ช่วงเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เบาสบายหรือแม้แต่รู้สึกสบายใจด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราอาจจะรู้สึกว่าตัวเราเองยิ้มได้ง่าย บางครั้งรู้สึกอยากหัวเราะ หรือแม้กระทั่งบางครั้งสามารถหัวเราะออกมาได้เองคนเดียว

         แต่ความรู้สึกที่ผ่อนคลายเบาสบาย บางครั้งก็ไม่ได้ทำให้เราเกิดเสียงหัวเราะแบบนั้นได้ กลับกลายเป็นความรู้สึก “ตื้นตันใจ” จนกระทั่ง “น้ำตาไหลออกมาเอง” แบบว่าอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกมั่นคงแบบลึกที่ด้านในของเรา

        ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๒๑ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ผมรู้สึกผ่อนคลายแบบหลังนี้ คือเป็นความสุขแบบสำรวม ที่ไม่มีเสียงหัวเราะ แต่เป็นความสุขแบบตื้นตันใจ และอบอุ่น ทั้งนี้ เพราะการประชุมครั้งนี้ ดร . จารุพรรณ กุลดิลก ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้นิมนต์ “พระภิกษุณีนิรามิสา” และคณะฯ ที่มาจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส มาพูดคุย และเล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตของท่าน ที่หมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนาม

   หลวงพี่นิรามิสาเป็นคนไทยที่ไปบวชอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานหลายปีแล้ว

     แม้ว่าผมจะเป็นแฟนตัวยง ที่เรียกได้ว่าติดตามงานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์มาตลอด (ท่านติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษมากกว่าห้าสิบเล่ม) อีกทั้ง ผมได้มีโอกาสคลุกคลีนัวเนียอยู่กับอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ผู้ซึ่งนับได้ว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านติช นัท ฮันห์ อีกผู้หนึ่ง

 อาจารย์วิศิษฐ์ สามารถ “ไขปริศนา” ของท่านนัท ฮันห์ ให้กับผมได้เสมอ ในช่วงที่ศึกษางานเขียนของท่านจำนวนมากกว่าสิบเล่มในช่วงหลายปีก่อน และแม้เรื่องราวที่หลวงพี่นิรามิสาเล่ามาทั้งหมดในวันนั้น เกือบจะไม่ได้มีอะไรที่ใหม่ไปจากหนังสือของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ผมเคยอ่านมาก่อนแล้ว ผมกลับพบประสบการณ์ที่ “แปลก” ว่าเรื่องที่หลวงพี่เล่านั้นเป็น “เรื่องเก่าที่ไม่เก่า” เป็นเรื่องเก่าที่ผมสามารถเรียนรู้ได้ใหม่เพิ่มอีก เหมือนกับการขึ้นบันไดเวียน ที่เหมือนกับว่าซ้ำที่เก่า แต่แท้จริงอยู่สูงขึ้นไปจากเดิมนั่นเอง

 หลวงพี่นิรามิสาเล่าเรื่องหมู่บ้านพลัมด้วยน้ำเสียงเนิบนาบ เป็นจังหวะแต่มีพลัง สลับกับการ “เชิญระฆัง” เพื่อเจริญสติ และการร้องเพลงสวดมนต์เป็นระยะๆ ช่างเหมือนกับงานเขียน ที่มีเว้นวรรค หรือขึ้นบรรทัดใหม่ ที่ช่วยให้ผู้อ่านไม่รู้สึกอึดอัดกับตัวอักษรที่แน่นเกินไปเป็นพืด

 หลวงพี่บอกว่าที่ใช้คำว่า “เชิญระฆัง” และไม่ใช้คำว่า “ ตีระฆัง” ก็มีความหมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน และให้เกียรติกับทุกสรรพสิ่ง แม้แต่กับระฆังที่ส่งเสียงมาช่วยให้เราได้มีสติเป็นระยะๆ ตลอดเวลาที่ฟังเรื่องราว ผมรู้สึก “ ปีติสุข” แบบตื้นตันใจจริงๆ

 เมื่อจบเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมู่บ้านพลัม รวมไปถึงเรื่องราววิธีการของ “การเฝ้าดูอารมณ์” แบบที่ท่าน ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ ได้เอ่ยถึงไว้บ้างในคอลัมน์นี้ เมื่อสองสัปดาห์ก่อนแล้ว (“เมื่อรู้สึกขัดใจ ต้องขัดที่ใจ” , มติชนรายวัน ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘) ในช่วงท้ายสุด หลวงพี่นิรามิสาให้พวกเราทั้งหมดได้ลองกินอาหารอย่างมีสติ ที่ผมพบว่า มีประโยชน์ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ได้อย่างน้อยสามประการคือ

 หนึ่ง เริ่มตั้งแต่การเดินอย่างมีสติ เพื่อไปตัก หรือไปซื้ออาหาร ทำให้เราไม่ตักอาหารมากเกินไป ไม่ซื้ออาหารมามากเกินความต้องการ ชนิดของอาหาร ให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน รวมไปถึงจำนวนมื้อของอาหารก็เช่นกัน แต่ละท่านมีความต้องการทางกายภาพที่ไม่เหมือนกัน การค่อยๆ เคี้ยวอาหาร การฝึกที่จะไม่พูดคุยกัน ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ขณะที่กำลังกินอาหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของการฝึกตนเพื่อดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ

การได้ใคร่ครวญ และใช้ความละเอียดกับปัจจุบันขณะ ในการเดิน และกิจกรรมต่างๆ เป็นแบบฝึกหัดที่ดีของการฝึกใช้ชีวิตที่ละเอียด ไม่คิดสับสนวุ่นวายหลายเรื่องแบบนี้ เป็นการทำให้คลื่นสมองของเราช้าลง จากเบต้าเวฟ ( ๑๓- ๒๖ Hz) เป็นอัลฟาเวฟ ( ๘-๑๓ Hz) หรือถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้คลื่นสมองช้าไปกว่านั้นได้อีก เป็นเธต้าเวฟ ( ๔-๘ Hz) และเดลต้าเวฟ ( ๐.๕-๔ Hz) ได้ในที่สุด งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากมาย ล้วนแล้วแต่บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นประโยชน์กับตัวของผู้ฝึกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ดีขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น เกิดญาณทัศนะ ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นดีขึ้น ฯลฯ

 สอง หลวงพี่บอกว่า เมื่อเรากำลังกิน และเคี้ยวอาหารอยู่นั้น ถ้าเราได้มีโอกาส “ มองให้ลึกๆ” เราจะมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เช่น เมื่อเรากำลังเคี้ยวเต้าหู้อยู่นั้น เราจะมองเห็นว่า เต้าหู้ทำมาจากเมล็ดถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลืองถูกปลูกโดยชาวไร่ชาวสวน เมล็ดถั่วเหลืองจะต้องอาศัยดินที่อุดมสมบูรณ์ กว่าจะเป็นต้นโต และออกเมล็ดได้ ต้องอาศัยน้ำ ต้องอาศัยแสงแดด และก๊าซต่างๆ เพื่อมาทำการสังเคราะห์แสง

เมื่อเราสามารถมองเห็น “ความเชื่อมโยงต่างๆ” เหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เราเข้าใจ “ ธรรมชาติของสรรพสิ่ง” ได้ง่ายมากขึ้น หลวงพี่บอกว่า “การเคี้ยวเต้าหู้” ของเรา จึงเปรียบเสมือนว่า เรากำลัง “เคี้ยวจักรวาล” ทั้งหมดอยู่ในปากของเรานั่นเอง

 เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ที่เน้นถึงความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก เหมือนกับที่ ฟริตจอป คาปรา นักฟิสิกส์ชื่อดังใช้คำว่า “web of life” และเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่แยกส่วนแบ่งส่วน อย่างวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตัน

 สาม การค่อยๆ เคี้ยวอาหารทำให้เราได้มีโอกาสขอบคุณอวัยวะต่างๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นฟัน เป็นลิ้น ที่ช่วยในการเคี้ยว เป็นกระเพาะอาหารที่ช่วยย่อยอาหาร เป็นลำไส้ที่ช่วยย่อย และดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์กับร่างกาย การสร้างความรู้สึกขอบคุณ ยังนำไปสู่ความรักความเมตตากับอวัยวะต่างๆ ของเรา กับเซลล์ต่างๆ ของเรา ที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี

 การขอบคุณแบบนี้เข้าได้กับเรื่อง “ การพูดคุยกับเซลล์” ซึ่งเป็นเรื่องราวหนึ่งในวิทยาศาสตร์การแพทย์กระบวนทัศน์ใหม่ ที่เชื่อเรื่อง ความเชื่อมโยงแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญกับเซลล์เล็กเซลล์น้อย เชื่อการสื่อสารกันได้ผ่านคลื่นพลังงานในรูปของคลื่นความคิด

ต่างๆ  เหล่านี้ เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน ระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์แบบใหม่ ที่อ่อนโยน นอบน้อมถ่อมตนต่อโลก และธรรมชาติ ที่ทำให้แม้แต่กับเรื่องการกินอาหารแบบธรรมดา กลายเป็นการกินอาหารที่ก่อให้เกิดปีติสุขแบบไม่ธรรมดา เป็นปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอได้นั่นเอง

บทความจาก www.jitwiwat.org


ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ๔ มิถุนายน ๒๕๔๘

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 55512เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ

ได้เข้ามาเจอบันทึกนี้....จากหน้าแรกที่ขึ้น..."บันทึกสุ่มแสดง.." จึงได้อ่าน...

และรู้สึกขอบคุณ...และขอบคุณอีกครั้งค่ะ...

(^____^)

กะปุ๋ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท