BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญากฎหมาย เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม และการเมืองไทย ๓


สำนักประวัติศาสตร์ - หลักคุณธรรม

"สำนักประวัติศาสตร์" แนวคิดนี้ มีความเห็นแย้งกฎหมายธรรมชาติ โดยบอกว่ากฎระเบียบในสังคมนั้น เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ และค่อยเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาให้เหมาะสมกับสังคมนั้นมากกว่า การอ้างถึงกฎธรรมชาติที่เลือนลอยซึ่งไม่อาจจับต้องได้ เช่น

ในโลกนี้ โดยมากครอบครัวจะเป็น "ผัวเดียวเมียเดียว" แต่ในสังคมตะวันออกกลาง ซึ่งอากาศร้อนจัดนั้น จะเป็น "ผัวเดียวแต่หลายเมีย" ขณะที่ธิเบตดินแดนที่ราบสูงซึ่งมีอากาศหนาวจัดทั้งปี กลับนิยม "หลายผัวแต่เมียเดียว"... ซึ่งความแตกต่างของรูปแบบครอบครัวทำนองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากกฏธรรมชาติหรือโองการของพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมนั้นๆ มากกว่า...

กฎระเบียบนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ดังเช่น สังคมผู้ดีอังกฤษนั้น จะเคร่งครัดในรูปแบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ตอนหลังสงครามโลก ซึ่งผู้ชายอังกฤษต้องเสียชีวิตระหว่างสงครามจำนวนมาก ทำให้อัตราระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันมาก ระหว่างนี้ ผู้ชายจึงมักจะมีเมียเก็บ มีกิ๊ก หรือเป็นชู้กับบรรดาหม้ายสงครามอื่นๆ ซึ่งสังคมผู้ดีอังกฤษตอนนี้ มักจะแกล้งเอาหูเอานาเอาตาไปไร่ ไม่พูดถึง เพราะเห็นใจหัวอกผู้หญิงด้วยกัน... แต่ต่อมา เมื่ออัตราผู้หญิงกับผู้ชายเริ่มกลับมาสมดุล ความเคร่งครัดในรูปแบบผัวเดียวเมียเดียว ก็ค่อยๆ เริ่มกลับมา...

จากรูปแบบผัวเมียของสังคมต่างๆ สะท้อนให้เห็นได้ว่ากฎระเบียบ ไม่ได้เกิดจากกฎธรรมชาติหรือโองการของพระผู้เป็นเจ้า แต่เกิดจากสาเหตุหลายอย่างที่จำเป็นและเหมาะสมในสังคมนั้นๆ และมีพัฒนาการมาในรูปแบบประวัติศาสตร์ของสังคมนั้นๆ

ยังมีตัวอย่างอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งสมภารมักจะนำมาคุยกับเพื่อนสหธรรมิกหรือญาติธรรม ก็คือ ในสังคมตะวันออกกลางซึ่งอยู่ท่ามกลางทะเลทรายนั้น การลักขโมย จะมีบทลงโทษชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ดังเช่น ขโมยน้ำดื่ม ก็อาจถูกตัดมือ เพราะน้ำดื่มเพียงกระติกเดียว อาจทำให้เจ้าของขาดน้ำและเสียชีวิตได้...

ขณะที่สังคมปักษ์ใต้บ้านเราในสมัยสมภารยังเด็ก พอเสร็จฤดูทำนาแล้ว ว่างๆ ก็มีการลักขโมยวัว จัดเป็นเรื่องสนุกสำหรับลูกผู้ชาย ผู้ที่ถูกขโมยวัวไปก็ต้องสืบให้ได้ว่า ใครหรือหมู่บ้านใดเป็นผู้เอาไป แล้วไปขโมยคืนมา อะไรทำนองนี้... จริงอยู่ว่า การลักขโมยวัว จัดเป็นความผิด แต่มิใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ตามความรู้สึกของคนในสมัยยุคนั้น แต่ปัจจุบันนี้ สังคมเปลี่ยนไป การลักขโมยวัว การสืบ การตามวัว คล้ายๆ กีฬาของลูกผู้ชายอย่างสมัยก่อน ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคม...

อนึ่ง สำหรับสังคมของชาวสะปาตาร์ ซึ่งเป็นนครรัฐหนึ่งในจักรวรรติกรีกโบราณ การลักขโมย กลับได้รับการยกย่องถึงความสามารถของคน เป็นการฝึกหัดให้เฉลียวฉลาด รู้จักเอาตัวรอด อะไรทำนองนี้... ที่เป็นอย่างนี้ เพราะรัฐสะปาตาร์ตั้งอยู่ลึกเข้าไปภายในแผ่นดิน อยู่ห่างจากทะเล ทั้งเป็นสถานที่แห้งแล้งกันดาร ผู้ที่จะดำรงอยู่ได้ จะต้องมีความเข้มแข็งมาก และต้องเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อจะบุกยึดหรือปล้นสะดมภ์รัฐข้างเคียงให้ได้... ดังนั้น การลักขโมย จึงเป็นวิธีการสำคัญยิ่งในการฝึกคนให้เหมาะสมกับความจำเป็นของรัฐสะปาตาร์

จะเห็นได้ว่าแนวคิดบ่อเกิดกฎหมายของสำนักประวัติศาตร์ ซึ่งแย้งสำนักกฎหมายธรรมชาติ ก็น่าสนใจ เพราะมีเหตุผลพอฟังได้เช่นกัน ส่วนมีความสอดคล้องกับเกณฑ์ตัดสันจริยธรรมของสำนักหลักคุณธรรมอย่างไร ค่อยนำมาเล่าต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 554946เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท