วารสารเก๊ระบาด ช่วยกันปกป้องวงการวิชาการไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ


 

          บทความใน Science ฉบับวันที่ ๔ ต.ค. ๕๖เรื่อง Who’s Afraid of Peer Review?     บอกเราว่า วงการวิชาการในโลกกำลังเผชิญความยากลำบากกับการระบาดของวารสารเก๊    ที่เป็นวารสาร online    โดยที่วารสาร online ที่คุณภาพสูงก็มี   

          วงการวิชาการไทย จึงต้องรู้เท่าทัน   รู้ว่าวารสารใดที่เก๊    ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพของต้นฉบับที่ส่งมาลงตีพิมพ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ    เป็นวารสารที่จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งหาเงินเป็นเป้าหมายหลัก    เราต้องช่วยกันเผยแพร่วิธีการตรวจสอบว่า ผลงานวิชาการที่นำมาขอตำแหน่งวิชาการ หรือขอรางวัล ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารเก๊    ตามที่มีตัวอย่างวงการวิชาการไทยตกหลุมมาแล้ว ดังคำกล่าวของ ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์  

          ผู้เขียนบทความข้างบน ทดลองกุผลงานวิจัยขึ้น    ส่งไปขอตีพิมพ์ในวารสาร  online จำนวน ๓๐๔ ฉบับ    กว่าครึ่งตกลงรับลงตีพิมพ์    สะท้อนภาพการระบาดของวารสารเก๊ จากระบบวารสาร online   จริงๆ แล้ว บทความนี้เล่าเรื่องผลงานวิจัยที่มีรายละเอียดและวิธีการที่แยบยล    มีรายละเอียดมากมาย    เพื่อตรวจสอบวารสารว่าจริงหรือเก๊

          ข่าวร้ายคือ แม้ในสังกัดสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ก็มีวารสารเก๊แทรกอยู่    ข่าวดีคือ มีสำนักพิมพ์ที่ตรวจสอบ (review) ต้นฉบับอย่างจริงจัง    และปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ผลงานเก๊ที่ผู้เขียนกุชึ้น

          สมัยก่อน การตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารใดๆ ไม่ต้องเสียเงิน    คนเสียเงินคือผู้บอกรับวารสาร    แต่ในยุค ICT การเสียเงินกลับทาง    ใครจะตีพิมพ์ผลงานต้องเสียเงิน (ซึ่งในที่สุดเงินจะมาจากแหล่งทุนวิจัย)    คนอ่านอ่านฟรี เพราะเป็น online open-access journal    การจัดทำวารสารจึงกลายเป็นธุรกิจ ที่คิดเงินจากผู้ต้องการตีพิมพ์    (ผมตกใจมาก ที่ในบทความระบุว่า เมื่อวารสารหนึ่งบอกรับผลงานเก๊ ก็แจ้งให้จ่ายเงินค่าพิมพ์ ๓,๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐ    และบรรณาธิการแก้เกี้ยวว่า เงินนี้เป็นค่าจัดการ ไม่ใช่ค่าตีพิมพ์    แม้จ่ายเงินแล้ว ทางวารสารอาจไม่ตีพิมพ์ก็ได้ หากการตรวจสอบภายหลังพบว่าคุณภาพไม่เข้าขั้น)   

          จึงเกิด “วารสารผี” หรือวารสารเก๊ ที่เป็น online open-access journal จำนวนมากมาย ที่ John Bohannon ผู้เขียนบทความใน Science บอกว่ากว่าครึ่งของวารสารแบบนี้ ๓๐๔ ฉบับ เป็นวารสารเก๊    ตั้งขึ้นเพื่อหาเงินเป็นเป้าหมาย    และเป็นตัวทำลายคุณภาพของวงการวิชาการ หากวงการใดไม่ตระหนักและไม่ระมัดระวังในเรื่องนี้    ก็จะเกิดศาสตราจารย์ที่ได้ตำแหน่งจากผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารแบบนี้    หรือเกิดผู้ได้รับรางวัลนักวิจัย ที่ผลงานตีพิมพ์ในวารสารแบบนี้    ตามที่ ศ. ดร. ยอดหทัย กล่าว

          ตรวจสอบรายชื่อวารสารที่ต้องสงสัยว่าจะเป็น วารสารเก๊   ได้ใน Beall’s List ได้ ที่นี่    แต่ข้อมูลในบทความนี้ บอกเราว่า Beall’s List ก็ยังไม่ไวพอ    ยังมีวารสารเก๊หลุดไปเยอะ

          นักวิชาการที่มีคุณภาพ ต้องระวังอย่าหลงไปตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้   เพราะจะไม่ได้รับบริการ peer review ที่ดี    ระบบการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ มีเป้าหมายที่แท้จริงเพื่อ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการ    เมื่อเราส่งผลงานไปขอตีพิมพ์    สิ่งที่เราได้รับประโยชน์มากที่สุดคือระบบ peer review    ที่วารสารที่ดีมี reviewer  ที่เก่ง    ที่จะตรวจสอบและให้ความเห็นที่มีคุณค่ายิ่งทางวิชาการ    ทำให้เราได้เรียนรู้    คุณค่าด้านการเรียนรู้เพื่อขยายวงความรู้ เพิ่มเติมความละเอียดลออ หรือความลึกซึ้งทางวิชาการ คือคุณค่าที่แท้จริง    ส่วนการได้มีผลงานตีพิมพ์ถือเป็นรอง

          แต่จะมีนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง ที่เป้าหมายหลักคือการได้ตีพิมพ์    สำหรับเอามาอ้างเป็นผลงานสำหรับขอตำแหน่งวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์อื่นๆ    คนเหล่านี้ไม่สนใจว่า วารสารที่ส่งไปตีพิมพ์จะเก๊หรือไม่    ขอเพียงได้ตีพิมพ์เป็นพอใจ    คนเหล่านี้ เป็นแนวร่วมของวารสารเก๊    และช่วยจ่ายเงินค่าตีพิมพ์ให้วารสารเหล่านี้ดำรงอยู่ได้    นักวิชาการเหล่านั้น อาจเรียกได้ว่า นักวิชาการเก๊

          ที่น่าเห็นใจคือนักวิชาการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์    โดนวารสารเก๊หลอก    ก็จะเสียเงินโดยไม่ได้รับประโยชน์จาก peer review ใดๆ เลย    และเมื่อตีพิมพ์แล้ว นำมาเสนอเป็นผลงานวิชาการ   หากระบบตรวจสอบผลงานวิชาการของสถาบันที่นักวิชาการท่านนั้นเข้มแข็ง รู้เท่าทันระบบวารสารเก๊   ผลงานนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ

          ต้องอ่านบทความนี้เองนะครับ   จะได้รายละเอียดมากมาย    และเห็นว่า ธุรกิจวารสารออนไลน์เก๊มีรายได้มหาศาล    บทความบอกว่าเมื่อเขาไล่ตรวจจับ    ก็พบศาสตราจารย์ที่มีชื่อว่าเป็นบรรณาธิการวารสาร    และสารภาพว่าตนไม่ได้ทำหน้าที่จริงจัง    ยกให้เป็นของอีกคนหนึ่ง    ซึ่งเมื่อโดนจับได้ ก็ยอมรับว่าจะปิดวารสารนั้น     จะเห็นว่า วิธีจัดการกับ “ผู้ร้าย” ทางวิชาการ ทำไม่ยาก    และผู้ร้ายก็ดิ้นไม่หลุดด้วย    วิธีการคือการตรวจสอบอย่างเข้มข้น   

          ที่ผมเขียนบันทึกนี้และนำข้อคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาของ ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ มาลงไว้ ก็เพื่อเป้าหมายนี้   คือกระตุ้นให้วงการวิชาการไทย (ซึ่งรวมระบบการพิจารณาผลงานเพื่อตำแหน่งวิชาการ และเพื่อให้รางวัล) เอาใจใส่ตรวจสอบจริงจัง    ไม่ได้มีเป้าหมายสร้างความเสื่อมเสียแก้บุคคลใด หรือสถาบันใด

          ศ. ดร. ยอดหทัย ให้ความเห็นไว้ดังนี้ ถ้าเราจะทำให้สังคมวิจัยดี/สะอาดขึ้น เราจะต้องไม่กลัวที่จะ speak out ในกรณีที่เราพบผู้ที่เอาประโยชน์จากการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร predatory journals แบบนี้

          ผมเศร้าใจที่ได้เห็นเอกสารประกอบการประชุมของ สกอ. ในกรณีที่อาจารย์ของ ม. มหาสารคามผู้หนึ่งขอตำแหน่ง ศ. โดยการตีพิมพ์ในวารสาร junk  ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ aware ก็ให้ผ่าน 

          แต่เมื่อ กก.วิชาการของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่โดยการทักท้วงไม่ยอม ก็ถูกฟ้อง   และแทนที่ กก. สภามหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่อย่างถูกต้องโดยจัดการอย่างเด็ดขาด ก็ไม่ทำ !  กก.วิชาการก็มีสภาพเหมือนตัวบ้าไป   อาจารย์ ยงยุทธ และอาจารย์ วิชัย คงทราบเรื่องนี้ดี

          อีกกรณีหนึ่งก็เป็นอาจารย์ใกล้ๆตัวเรา  ที่ได้ทั้งตำแหน่ง ศ. และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ด้วยการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร"จ่ายเงิน"เกือบทั้งสิ้น !  มีผมเขียน e-mail คัดค้านอยู่คนเดียว

          ***ปัญหาของคนไทยเราคือเราบอกว่าต้องจับโจร แต่พอมีโจรอยู่ใกล้ๆก็แกล้งทำเป็นไม่เห็นครับ***

ยอด” 

          ผมสนับสนุนความเห็นของ ศ. ดร. ยอดหทัยทั้งหมด   และขออนุญาตท่านนำมาลงบันทึกนี้ 

          ขอย้ำว่า วารสาร online open-access journal ที่คุณภาพสูงก็มี    และวารสารที่ไม่ online จึงตรวจสอบระบบ peer review ยาก    และเป็นวารสารที่ระบบ peer review อ่อนแอ หรือแทบไม่มีเลย ก็มี    ดังนั้น ระบบการบริหารงานวิจัยและวิชาการของทุกมหาวิทยาลัยต้องเอาใจใส่เรื่องนี้    เพื่อระมัดระวัง ไม่ยกย่องผลงานเก๊    ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย    และต่อคุณภาพของผลงานวิชาการ

          ผมได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เพราะมีการให้ข้อมูล และปรึกษาหารือกัน online ในวงการของมหาวิทยาลัยมหิดล   โดยผมได้รับทราบว่า มีการนำไปปรึกษาหารือในคณะกรรมการของบัณฑิตวิทยาลัย    และเชื่อว่าคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการก็นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 554893เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่ะ

เท่าที่ทราบ ระบบประเมินของมหาวิทยาลัยก็ดูเหมือนให้ความสำคัญกับปริมาณมากกว่าคุณภาพ -จำนวนชิ้นของการตีพิมพ์ ทำให้อาจารย์นักวิจัยใหม่ ๆต้องเร่งรัดดำเนินการ เสียค่าตีพิมพ์มากมายโดยมหาวิทยาลัยก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ผลงานตามตัวชี้วัด

ยังเคยสงสัยพวกวารสารออนไลน์ทั้งหลายน่าจะมีต้นทุนต่ำ โดยไม่ได้มีการจ่ายให้กับผู้เขียน/กองบรรณาธิการ/และผู้อ่านงาน(เพียร์รีวิวเออร์)เลย คงเป็นการทำธุรกิจของคนบางกลุ่มซึ่งถือว่าเอาเปรียบนักวิชาการที่เชิญให้เป็นผู้อ่านอย่างยิ่ง แต่นักวิขาการเหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ การอ่านก็ทำให้เขาได้ติดตามวงการไปด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งตระหนักว่าควรต้องปฏิเสธกันบ้างเพราะต้องสละเวลาอ่านกันทุกวันตลอดปี

และที่น่าคิดวารสารออนไลน์ต่าง ๆไม่วามีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพต่างก็พากันเก็บเงินค่าตีพิมพ์กันทั้งนั้น มีอีกไม่กี่เล่มที่ไม่เก็นเงิน การที่นักวิจัยไทยกระตือรือร้นสร้างผลงานเพื่อตีพิมพ์ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาซึ่ง สกว. เองก็มีส่วนได้รับเครดิตอย่างสูงในเรื่องนี้ ดังนั้นทำอย่างไรจะสกรีนหาที่ตีพิมพ์ดี ๆราคาสมเหตุสมผลเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักวิจัย ทำนองเดียวกับที่มีรายชื่อของผู้อ่านผลงานวิชาการระดับ ศ. แต่ก็ต้องรับฟังคนที่อยู่ในฟีลด์ที่เขาจะรู้ดีว่าวารสารใดเป็นที่นับถือของวงการเขา ซึ่งวารสารพวกนี้อาจไม่มีไม่มีค่าอิมแพ็ค เพาะความอนุรักษ์ของกลุ่มบรรณาธิการที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ส่วนจะเป็นวารสารเก๊หรือเปล่าก็คงพูดยาก คงต้องให้นักวิชาการดี ๆของเราช่วยรีวิวซ้ำว่างานเหล่านั้นดีหรือไม่ แต่ถ้ามีการตรวจสอบแบบนี้จริงก็ต้องระวังให้ได้นักวิชาการที่อ่านมีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นจริง ๆอย่าให้เป็นดังการอ่านผลงานทางวิชาการ หรือการประเมิน ข้อเสนองานวิจัยที่เอาคนฟีลด์หนึ่งไปอ่านงานของอีกฟีลด์หนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหา สร้างความชอกช้ำให้กับผู้เสนอผลงานมามากแล้ว--

-ประเทศนี้เต็มไปด้วยปัญหา

เพียงความพึงใจ ก็เป็นผลประโยชน์ของมนุษย์ได้แล้ว มิจำเป็นต้องมีเป้าหมายเป็นเงินทอง ทรัพย์ หรือทานรางวัลใดใด

นี่คือ needs ที่4 ที่ มาสโลว์กล่าวไว้. จากความพึงใจ มันสามารถพัฒนาไปสู่ความเชื่อ และ ความเชื่อ ก็แปรไปเป็นสินค้าและบริการได้

จากนั้น เมื่อมีปริมาณผู้เสพสินค้านั้นกันมากๆ ก็คือ กระแส โดยค่าบริการแรก คือ ความพึงใจ แต่เมื่อผู้เสพสินค้านั้น มีในกระเป๋ามากๆเขา

ปฎิบัติการ "ล้วงกระเป๋า" ก็สามารถหยิบได้ในทรัพย์ปริมาณมากเช่นกัน.

แค่คน1250 คน ในยุคที่ไม่มีโทรศัพท์ สามารถนัดกันมาโดยมิต้องนัดหมาย ยังสามารถทำให้คนไทยเชื่อแบบนั้น ตอบแบบนั้น

และ ครูก็ให้คะแนนว่าตอบถูกซะด้วย(ตอบว่านัดกันคงไม่ได้คะแนน) หากพิจารณาตามเหตุและผลได้กันจริง. งานนั้น ตีพิมพ์ด้วย

ตรรกะที่ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ใช้กันมาถึงทุกวันนี้. หมอตุลย์ บอกว่า คนแค่ 50 กว่าคน มาพร้อมกันที่อนุสาวรีย์ มิได้นัดกันนะ

เขนาดผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน ยังไม่เชื่อเลยว่า "ไม่ได้นัดกันมา"

สกอ. น่าจะแจ้งไปทุกสถาบัน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ กรุณาให้ความเห็นดังต่อไปนี้

เรียนคุณหมอวิจารณ์

ได้อ่านเรื่องวารสารเก๊ใน gotoknow แล้ว ขอ share ความเห็น เพราะผมเขียนเตือนเรื่อง OAJ มาตั้งแต่อยู่ สกว. โดยเขียนในสาร biodata (ตีพิมพ์ในหนังสือ วิจัย.. งานที่สร้างความสุขร่วมกัน) ตอนนั้นผมยังได้เสนอให้ใช้ข้อมูล online ที่เชื่อถือได้มาประกอบการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วย เช่น h-index คุณหมอเคยเอาเรื่องนี้เขียนใน blog แล้วด้วย แต่มีคน response ไม่เห็นด้วยแบบตั้งคำถาม

ผมเคยเสนอต่อหลายที่ว่า ผู้ที่เสนอผลงานจะต้องเสนอเอกสารที่ตอบโต้กับวารสารในการแก้ไขจากการ review เพราะจะเป็นหลักฐานบอกได้ว่าการ review ของวารสารนั้นๆ เป็น "ของจริง" แค่ไหน

อีกประการหนึ่งคือ ตอนนี้การ review ทำ online ที่เขาเปิดเผยให้ reviewer ทุกคนเห็น comment ของคนอื่น ซึ่งทำให้บรรดา reviewer ได้เรียนรู้ด้วย ดังนั้น เราก็สามารถเอาการทำหน้าที่เป็น reviewer มาเป็นผลงานวิชาการได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเอาการทำหน้าที่ reviewer ที่เทียบกับ reviewer คนอื่นนี่แหละมาเป็นหลักฐาน โดยถือว่าวารสารเลือก reviewer จากฐานข้อมูลที่เขามีอยู่ทั่วโลก ดังนั้น การให้ comment ของเราจึงเป็นผลงานที่เทียบเคียงกับผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่น (ที่เลือกจาก third party) ได้

เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเคยเสนอคนที่เรียนด้านการจัดการสารสนเทศทำวิทยานิพนธืเปรียบเทียบค่า citation, h-index (และค่าอื่นๆ ที่ค้นจาก ICT ได้ไม่ยาก) ของผู้ได้ รศ. และ ศ. สาขาต่างๆ ย้อนหลัง 3-5 ปีของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานความไม่เท่าเทียมกันของการพิจารณาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ตอนนี้การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเป็น KPI ที่เร่งทำกัน มีการเอื้อการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อแลกกับ KPI รวมทั้งทำให้เกิดข่าวว่ามหาวิทยาลัยส่งวารสาร online ยกคณะ/มหาลัย เพื่อพิมพ์ฉบับเดียวแล้วเลิกวารสารก็มี ข้อเสนอของผมยังไม่มีใครทำ มาคิดได้ตอนนี้ว่า ส. คลังสมองน่าทำมากเลย

สรุปคือ ควรหาทางพิจารณาการประเมินผลงานใหม่ เอาข้อดีของบริบทที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้วมาเป็นประโยชน์กับเราให้ทำงานได้ง่ายและแม่นยำขึ้น

--

สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ม. สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา 90112

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท