หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เรื่องเล่าจากนิสิต (สาขาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์ฯ)


จากการที่เรามีการกำหนดหน้าที่งานให้กันและกันตามความถนัด หรือความสมัครใจ รวมถึงการมีแผนงานที่ชัดเจน มีการจัดการแบบมีส่วนร่วม หรือการ “ร่วมด้วยช่วยกัน” และการประชุมประเมินผลอย่างต่อเนื่องในแต่ละกิจกรรม ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งผลการประเมินจึงอยู่ในระดับดีมาก


        ดิฉันเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิชาเอกภาษาเกาหลี   ได้ร่วมกับเพื่อนนิสิตในสาขาจัดทำโครงการที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นพี่รุ่นแรก (พ.ศ. 2555) ของโครงการนี้
        พวกเราได้ทำโครงการนี้ที่องค์การบริหารตำบลเลิงแฝก อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม

 

     


        ความรู้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ เพราะการที่เรามีความรู้นั้นแน่นอนกว่าสมบัติที่ติดตัวเราโดยที่ไม่สามารถหลุดหายไปไหนได้  แต่เราจะมีความรู้ได้นั้น  เราต้องแสวงหาความรู้  และทั้งนี้ทั้งนั้น  ในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายยิ่งกว่าในสมัยก่อน  คือการกำหนดขอบเขตการเรียนรู้ เฉพาะปัญหาจุดเล็กๆ  และจุดที่ถูกระเบิดจากภายในหมู่บ้าน หรือสังคม เช่น เด็กๆ หรือเยาวชนที่ถูกทอดทิ้ง  ปัญหายาเสพติด โดยสาเหตุมาจากฐานะครอบครัวความยากจน  จึงยากที่จะเห็นเยาวชนเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ   ด้วยเหตุนี้จากทรัพย์ที่มีไม่มากพอ  กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เยาวชนขาดการเรียนรู้  
         นั่นจึงเป็นแรงจูงใจที่เราคิดโครงการขึ้นมา  เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่ขาดโอกาสในการแสวงหาความรู้ตามความรู้ที่เราได้รับมา  โดยเน้นการเผยแพร่ความรู้ให้ได้มากที่สุด

 

 

 

         สิ่งที่เราได้ทำคือ  การร่างโครงการให้เป็นรูปเป็นร่างเพื่อให้สมาชิกในโครงการเข้าใจให้ได้มากที่สุด  รวมถึงแผนการดำเนินงานที่เราต้องลงมือปฏิบัติ ว่าจะให้ออกมาในรูปแบบใด  โดยสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงและสมาชิกต่างเข้าใจในจุดประสงค์ที่เราได้วางไว้ก็หนีไม่พ้นการแบ่งหน้าที่ให้แก่สมาชิก หรือทีมงานที่ทำงานร่วมกัน

          การแบ่งงานนั้น  สิ่งที่เป็นตัวกำหนดก็คือ แบ่งตาม “ความถนัด”  ของแต่ละคน ซึ่งช่วยทำให้มองออกชัดเจนว่า  แต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน  นอกจากนั้นยังคำนึงถึงเรื่องแผนการใช้งบประมาณ  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้ได้มากที่สุด  ทั้งในเรื่องวัสดุอุปกรณ์  และอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างกระบวนการศักยภาพการเรียนรู้ร่วมกัน   

 

 

 

            อย่างไรก็ดี  ในฐานะที่เราศึกษาเกี่ยวกับด้าน “ภาษาเกาหลี”  สิ่งที่เราเลือกจะทำย่อมหลีกไม่พ้นเรื่องการเผยแพร่ความรู้ภาษาที่เราได้ศึกษามา  โดยเผยแพร่ให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมในหมู่บ้านชนบท

           การดำเนินการนั้น   เมื่อเราได้กำหนดจุดเริ่มต้น  นั่นก็คือการวางแผนโครงการเสร็จสิ้นแล้ว  เมื่อไม่พบปัญหาใดๆ   เราจึงเริ่มดำเนินการลงมือปฏิบัติตามแผนที่เราได้ร่างไว้  โดยสิ่งแรกสิ่งแรกที่เราได้ลงมือทำคือการ “เก็บข้อมูลหมู่บ้าน”  ซึ่งพบว่าในละแวกอำเภอกุดรัง  ตำบลเลิงแฝกเป็นชุมชนที่ประชากรเดินทางไปทำงานยังประเทศเกาหลีมากที่สุดเลยก็ว่าได้  และด้วยเหตุนี้เราจึงลงความเห็นว่า  ชุมชนเลิงแฝกนี่แหละเหมาะสำหรับการจัดโครงการของเรา  ดังนั้นเราจึงเริ่มลงมือสำรวจข้อมูลชุมชนแบบเข้มข้นและจริงจัง

          เมื่อทราบข้อมูลชุมชนและได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผู้สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว  เราจึงเริ่มทำเอกสารหรือสื่อการเรียนรู้และลงมือจัดกิจกรรมตามแผนที่จัดเตรียมไว้   โดยเริ่มจากการปูพื้นฐานขั้นต้นในการเรียนภาษาเกาหลี  ซึ่งเรามีกระบวนการประเมิน หรือสอบวัดผลทักษะของผู้เรียนก่อน  เพื่อดูถึงพัฒนาการของผู้เรียน  มีการแบ่งห้องเรียนออกเป็นห้องเรียนสำหรับผู้ใหญ่และห้องเรียนสำหรับเด็กเล็ก

 

 

และเมื่อถึงเวลาของการปฏิบัติจริง  ทำให้เราเห็นถึงจุดบกพร่อง  หรือปัญหาในการทำงานหลายอย่าง  เช่น ห้องของเด็กจะมีเด็กจำนวนมาก  จนเราต้องจัดประชุมกับทีมงาน  เพื่อหารือว่าจะแก้ไขในจุดนี้อย่างไร และแน่นอนว่าเด็กส่วนมากจะอยู่ในวัยที่ควบคุมได้ยาก  ทำให้เราต้องออกแบบวิธีการในการควบคุมเด็กๆ ให้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด   แต่ก็ไม่ใช่แต่เพียงปัญหานี้เท่านั้น   ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย  และวิธีการขับเคลื่อนให้โครงการดำเนินการต่อไปก็คือ “ประชุมหารือ”  และการ “รับฟังความคิดเห็น”  ของเหล่าสมาชิกทุกๆ คนนั่นเอง

          ปัญหาในการทำงานนั้น งานทุกอย่างย่อมต้องมีเสมอ  เพราะปัญหาจะเป็นเหมือนกับกำแพงที่เราต้องพังทลายลงไปให้ได้  ในการสอนของเราก็พบปัญหาไม่น้อยเช่นกัน  เช่นพอดำเนินการได้ระยะหนึ่ง  จำนวนผู้ที่มาเรียนรู้จากเราก็น้อยลงๆ   สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในจุดนี้ก็คือการอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ที่พวกเราได้นำมาเผยแพร่ว่าเมื่อเรียนรู้ร่วมกันแล้วจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรให้สัมพันธ์กันระหว่างความรู้ที่ได้รับมาและงานที่จะทำ  

 

 

 

           ในการทำงานตรงนี้เราต้องเข้าถึงชาวบ้านให้ได้มากขึ้น  เราจึงต้องประชุมออกแบบวิธีการลงชุมชนเพื่อให้เข้าถึงชาวบ้าน  เพราะแน่นอนว่าเป็นบุคคลที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน การทำให้ชาวบ้านยอม “เปิดใจ”  ออกมาอย่างเป็นกันเองให้ได้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และท้าทายสำหรับพวกเรา  ซึ่งในที่สุดเราก็ค้นพบว่าการ “พูดคุยอย่างเป็นกันเอง” และความ “จริงใจ”  นี่แหละคือทางออกของเรื่องเหล่านี้

         นอกจากนี้เรื่อง “เวลา” ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ  กล่าวคือเวลาที่ไม่ตรงกันของชาวบ้านและพวกเรา  ทำการจัดกิจกรรมชะงักไปบ้าง  จนเราต้องมาคุยกันถึงการแบ่งเวลาเพื่อให้มีเวลาที่ตรงกันกับชาวบ้าน  ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย  เพราะไหนต้องเรียนไหนต้องลงชุมชน  จึงต้องจัดสรรเวลาให้ได้ดีที่สุด  เช่นเดียวกับชาวบ้านบ่อยครั้งก็เข้ามาเรียนในชั้นเรียนช้าบ้าง  เพราะมีภารกิจทางบ้าน  พวกเราจึงต้องยืดหยุ่นเวลา  สร้างความสมดุลกันทั้งสองฝ่าย  เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการ “เรียนรู้คู่บริการ” 

          และนอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่นๆ  อีก เช่น  กลุ่มผู้เรียนที่เป็นเด็กเล็กเข้ามาเรียนรู้กับเราเป็นจำนวนมาก  จนเราต้องปรับแผนด้วยการแบ่งห้องเรียนออกเป็น 2 ห้องเรียน  เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อีกทั้งเมื่อผู้เรียนเป็นเด็กเล็ก  ก็จำต้องออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้เด็กๆ เกิดความสนใจ ไม่เบื่อ  เราจึงแทรกกิจกรรมสันทนาเข้ามาเป็นระยะๆ  มีเกมส์ให้เด็กได้เล่น  เป็นเกมส์ที่ยังคงเกี่ยวกับภาษาเช่นเดิม เรียกว่าเปลี่ยนวิธีการสอนมาเป็นแบบที่ไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย เสมือนว่า “เรียนๆเล่นๆ”สร้างความสุขทั้งพวกเราและผู้เรียน

 

 

 

เหนือสิ่งอื่นใด  จากการที่เรามีการกำหนดหน้าที่งานให้กันและกันตามความถนัด หรือความสมัครใจ  รวมถึงการมีแผนงานที่ชัดเจน มีการจัดการแบบมีส่วนร่วม หรือการ “ร่วมด้วยช่วยกัน”   และการประชุมประเมินผลอย่างต่อเนื่องในแต่ละกิจกรรม  ทำให้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  ซึ่งผลการประเมินจึงอยู่ในระดับดีมาก   
         นอกจากนี้ การร่วมมือของสมาชิกอันเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม รักและสามัคคีกัน  ตลอดจนความกระตือรือร้นในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนที่มุมานะในการเผยแพร่ความรู้แก่ชาวบ้าน ก็เป็นหนทางสู่ความสำเร็จอีกเช่นกัน

         และกรณีการจัดการที่ดีนั้น  เราพบว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีรู้ความสามารถและความใส่ใจต่อกิจกรรม  รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านในทุกเรื่อง  โดยเฉพาะชาวบ้านกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม  แต่ยังช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับพวกเราอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

       ในการทำโครงงานครั้งนี้  ทำให้เราได้เรียนรู้คำว่าการ “พึ่งพาอาศัยกัน”  เป็นหัวใจของการใช้ชีวิต  มนุษย์เราไม่สามารถที่จะอยู่คนเดียวได้  โดยเฉพาะในการทำงานที่ต้องมีหลากหลายทางความคิดเห็น  จึงย่อมมีความแตกต่างและขัดแย้งกันเป็นธรรมดา  หากแต่เมื่อเปิดใจและคำนึงถึงปลายทางที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน  ก็เป็นจุดผ่อนคลายและหลอมรวมผู้คนเข้าหากันได้ในที่สุด

      เช่นเดียวกับนิสิตนั้น พวกเราได้เห็นถึงการพัฒนาการการเรียนรู้ของเราเอง  การนำความรู้ในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยฯ  ไปใช้ประโยชน์ด้วยการลงพื้นที่ถ่ายทอดให้กับชุมชนเป็นเสมือนการทบทวนความรู้ของตัวเราไปในตัว   ทำให้เราเข้าใจถึงบทเรียนมากยิ่งขึ้น  ซึ่งไม่ใช่แค่ความรู้ในทางวิชาการเท่านั้น แต่หมายถึงความรู้ในการใช้ชีวิตดีๆ นั่นเอง 
      การเข้าร่วมโครงการนี้จึงถือเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เราเติบโตทั้งกาย ใจ  วิญญาณ และสังคมพร้อมๆ กัน

 

 

 

ผู้เขียน : นางสาววฐิตา แสงอินทร์คุ้ม และเพื่อนจำนวน 11 คน  
สาขา :  ภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
โครงการ  : การพัฒนาขีดความสามารถและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเลิงแฝก อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม
หัวหน้าโครงการ : อาจารย์กนกกุล มาเวียง

 

หมายเลขบันทึก: 554670เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2013 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2013 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แค่เห็นภาพก็มีความสุข

นิสิตเขียนเก่งมากน่าชื่นชม

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะคะ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

กำลังรวมเล่มเป็นเรื่องเล่าของนิสิตครับ
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ-สื่อการเรียนรู้ในระบบการเรียนการสอน หรือการทำกิจกรรมนอกชั้นเรียน...
ไว้เสร็จแล้ว จะส่งไปให้ นะครับ

สวัสดีครับ พี่มนัสดา

อากาศเย็น หรือร้อนๆ สลับกันไปมา
ยังไงๆ รักษาสุขภาพ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท