ชีวิตเปลี่ยน...ที่มหาวิทยาลัย ???


อย่าลืมว่าจุดหมายคืออะไร เวลาเพียงแค่ 5% ของชีวิต มันไม่ได้ตัดสินทุกอย่างไม่ใช่หรือคะ

          ขึ้นชื่อเรื่องด้วยความสงสัย หลายๆ คนถามตัวเองบ่อยครั้ง ชีวิตเปลี่ยนไปตอนไหน ไม่มีใครสามารถตอบได้ เพราะชีวิตเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปตามกระแสสังคมและพลวัฒน์ต่างๆ  ค่อยๆ เปลี่ยนโดยที่เราไม่รู้ตัว

          น้อยคนนักที่จะจำได้ถึงความฝันตอนเด็กๆ ตัวผู้เขียนเองใช้เวลานึกอยู่หลายวันเลยทีเดียว ก็ยังจำไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วเราฝันอะไร แล้วทำไมความฝันของเราจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

          ชีวิต 4 ปี ในมหาวิทยาลัย ถ้านับจากอายุเฉลี่ยที่ 80 ปีแล้ว เป็นเพียงแค่ 5% ของชีวิตเท่านั้น จริงหรือที่ทำให้ชีวิตคนหักเหได้  

          ในรั้วมหาวิทยาลัยแต่ล่ะแห่ง เราจะได้ยินกิตติศัพท์ที่ไม่เหมือนกัน..จริงหรือเปล่าคะ อย่างคนที่เรียนธรรมศาสตร์หรือรามคำแหง เค้าก็ว่าพวกหัวการเมือง (ใกล้ชิดค่ะ เท่าที่เจอเป็นอย่างนั้นจริง) จุฬาฯ เค้าก็ว่าหัวสูง (เท่าที่เห็นก็พอสังเกตได้บ้าง) มีเด็กจุฬาฯ เล่าให้ฟังว่า สังคมที่นั่นแรงมาก โดยเฉพาะสายสังคม (สมชื่อจริงๆ) ไม่ว่าจะเรื่องศักดิ์ศรี หน้าตา เงินทอง แข่งกันจนน่ากลัว จนทำให้คนเปลี่ยน หรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยเอกชน  อย่างที่มีข่าวให้เราเห็นบ่อยๆ ที่เด็กต้องหาเงินพิเศษ (ด้วยวิธีพิเศษ) เพื่อมาประชันกับเพื่อน  เพราะเฉพาะค่าเรียนอย่างเดียวมันก็ไม่ได้แพงมากไม่ใช่หรือคะ 

          ผู้เขียนเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่ค่อยสนใจสินค้าแบรนด์เนมมาตั้งแต่เด็กๆ นอกจากว่าซื้อเพราะคุณภาพของชิ้นงานจริงๆ ไปเดินกับเพื่อนหรือรุ่นน้องที่เรียน กทม. แทบทุกคนรู้จักและเลือกใช้แบรนด์เนมทั้งสิ้น ถูกตราหน้าว่าเชยอยู่บ่อยๆ (แต่ไม่ค่อยรู้สึกค่ะ...ถูกประทับจนหนาแล้ว) เห็นมั๊ยคะ ถ้าไม่ใช่อย่างหนา ใครจะทนได้ ก็ต้องขวนขวายหาเงินมาซื้อใช้จนได้...สังคมมันพาไป  ผ่านชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมานานมากแล้ว เลยไม่ติดค่ะ จากการศึกษาข้อมูล ส่วนใหญ่ติดมาจากรั้วมหาวิทยาลัยแทบทั้งนั้น

          เดี๋ยวจะว่าคิดไปเองคนเดียว แล้วเอาความมาตู่ ถ้าไม่ลืมจะเขียนเล่าเรื่องในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละยุคสมัย จากการศึกษา สัมภาษณ์ และติดตามเรื่องนี้มาพักใหญ่ จริงๆ สังคมในมหาวิทยาลัยก็มีหลากหลายค่ะ ที่ดีๆ ก็มาก ขึ้นอยู่กับว่าเราไปเข้ากับกลุ่มไหน แก๊งค์ใด แล้วเราตามน้ำ หรือเลยเถิดไปตามนั้นหรือเปล่า อยากรู้ว่าเราเปลี่ยนไปมั๊ย หรืออยากย้อนมองดูตัวตอนนี้ ต้องลองไปอ่าน เจ้าชายน้อย ค่ะ

          ปัจจุบัน คนก็ยังแย่งกันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ก็ยอมรับว่าโอกาสมันดีกว่าจริงๆ ไม่ว่าจะในเรื่องของความภาคภูมิใจ หน้าตา ทุนศึกษาต่อ โอกาสในหน้าที่การงาน และการได้รับความนับถือ (น้องสาวจบธรรมศาสตร์ และมีโอกาสได้ทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโซกะ ประเทศญี่ปุ่น)  

          สมัยนี้คนที่จะได้รับโอกาสดีๆ ก็มีแต่ที่จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแทบทั้งสิ้น จบตรีไม่ดี ก็ไปชุบตัวตอนเรียนโท หรือในต่างประเทศ  แค่มีเงินก็มีโอกาส ระดับบนๆ เลยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แล้วเมื่อไหร่คนเก่ง คนดี คนที่เข้าใจสังคมรากหญ้าจะมีโอกาสได้พัฒนาประเทศให้ GNH มันสูงขึ้นล่ะคะ

          จำได้ว่าตอนประถมเคยอยากเป็นนักข่าว เพราะมีคนบอกว่าเหมาะกับบุคลิก พอม.ต้น อยากเป็นวิศวฯ เพราะรู้สึกว่าเท่ห์ดี ม.ปลาย อยากเป็นสถาปนิก เพราะอยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สุดท้ายเกือบจะคล้อยตามความต้องการของบิดาไปเป็นหมอ/พยาบาล แต่พอไปลองใช้ชีวิตฝึกงานในร.พ. ถึงรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยต้องตั้งลำใหม่

          ในที่สุดด้วยการตัดสินใจส่วนตัว เพราะไม่มีใครมาคอยแนะนำ และไม่เคยต้องติดสอยห้อยตามเพื่อนๆ คนใด  จึงเลือกเรียนที่แม่โจ้  เชื่อมั๊ยคะ...มีแต่คนทั้งตกใจและแปลกใจ 

          ไม่มีใครรู้จักมหาวิทยาลัยแม่โจ้เลย  สมัยนั้นยังเป็นสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ แถวๆ ภาคกลางไม่มีใครรู้จักเลย แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ตาม เหตุใดจึงเลือกเรียนที่นี่....สงสัยมั๊ยคะ

          สมัยมัธยม ผู้เขียนจัดได้ว่าเป็นนักเรียนเกรด A คนหนึ่งเลยทีเดียว (คิดเข้าข้างตัวเองค่ะ) เรียนดี หัวไว ไม่เคยเรียนพิเศษ แต่ติดอันดับต้นๆ ของชั้นมาตลอด เป็นนักกีฬาโรงเรียน สอบภาษาอังกฤษได้ที่ 1 ของจังหวัด (ไม่ชอบแข่งเรียนเลยสอบเพราะโดนบังคับอยู่ครั้งเดียว) ชอบดนตรีและงานศิลปะ (แม้จะไม่ค่อยมีฝีมือ) เป็นประธานกลุ่มนักเรียน (แต่ยังไม่ทันรับตำแหน่งก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยเสียก่อน) ครอบครัวมีปัญหา ย้ายโรงเรียนบ่อยแต่ไม่เคยมีผลกระทบกับการเรียน  เรียกได้ว่า เรียนดี กีฬาเด่น ทำงานเป็น ไม่เห็นแก่ตัว (จะโดนหาว่าโม้มั๊ยเนี่ย...รีบเข้าเรื่องดีกว่า)

          ที่ว่ามาทั้งหมด...ไม่ใช่จะอวดอ้าง  แต่เพียงจะบอกสาเหตุที่ไม่มีคนอยากเชื่อว่าจะเลือกเรียนที่ แม่โจ้ มหาวิทยาลัยที่ไม่มีใครรู้จัก  ผู้เขียนเลือกที่นี่เป็นอันดับ 1 ด้วยวุฒิการศึกษา ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ในสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร...ชื่อเท่ห์มั๊ยคะ

          เพียงเพราะอยากอยู่ที่ไกลๆ ห่างจากสังคมในเมือง ที่มีแต่ความเห็นแก่ตัวและการแก่งแย่งชิงดีกัน ฟังดูเว่อร์ไปหรือเปล่าคะ นี่คิดสมัยเรียน ม.5 นะ การเลือกเรียนที่เชียงใหม่เป็นเพราะบรรยากาศด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่เลือก มช. เพราะคิดว่าคงอยู่ในเมือง  ในจินตนาการ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ คงเป็นที่ในฝัน

          เลือกเรียนด้านอาหาร เพราะเป็นปัจจัยสี่ คงไม่มีตกงาน แถมได้อยู่คณะวิศวฯ ที่ตัวเองใฝ่ฝัน องค์ประกอบครบ...เลือกเลย  ระบบเอ็นทรานซ์สมัยก่อน ต้องอาศัยดวงสุดๆ เลือกคณะแล้ววัดกันไปเลย ไม่มีการให้โอกาสดูคะแนน ไม่ได้เรียนพิเศษ ไม่ได้ติวข้อสอบ จบแค่ ม.5 อ่านหนังสือสรุป ม.ปลาย ตอนสอบ กศน. เล่มเดียว ได้แค่นี้ก็หรูแล้ว สมัยก่อนคิดอย่างนี้จริงๆ ถ้าไม่ชอบแล้วค่อยเอ็นฯ ใหม่ เมื่อก่อนมีแต่คนคิดแบบนี้

          แต่พอได้เข้ามาเรียนแล้ว ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปจริงๆ พ.ศ. 2538 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก อันดับแรกพ่อกลับมาอยู่บ้านเมื่อรู้ว่าลูกจะไม่อยู่แล้ว ต่อมาคืนก่อนเดินทางพ่อเข้ามานอนด้วยและกอดเป็นครั้งแรกตั้งแต่จำความได้ สุดท้ายครอบครัวเราเดินทางด้วยกันครบเป็นครั้งแรกตอนขับรถมาส่งที่เชียงใหม่ และนั่นเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งครอบครัว....แค่นี้ชีวิตก็คุ้มแล้วค่ะ

          2538 เป็นปีที่แม่โจ้เปลี่ยนจากสถาบันฯ เป็นมหาวิทยาลัย (ยังเสียดายไม่หาย..ชอบชื่อสถาบันฯมากกว่า)  เป็นปีที่จัดซีเกมส์ที่เชียงใหม่ เป็นปีที่มีงานกล้วยไม้นานาชาติที่แม่โจ้  เป็นปีสุดท้ายที่มีการรับน้องสุดโหดทั้งปีและคัดพี่ว๊ากเกอร์แบบหินสุดๆ 

         ชีวิตเจอแต่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ

         ชีวิตเด็กเรียนเปลี่ยนไปสุดๆ เหมือนที่หลายๆ คนได้เจอประสบการณ์ใหม่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งคนในเมืองน้อยนักจะได้เจอ  สิ่งที่ทำให้นักศึกษาแม่โจ้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงสุดในการทำงาน

         เคยเห็นมหาวิทยาลัยที่มีการรับน้องตลอดปีมั๊ยคะ ไม่บอกว่าหนักหรือโหดแค่ไหน เอาเป็นว่าใครที่ผ่านไปได้จนกระบวนการสุดท้าย ก็ไม่ธรรมดาล่ะ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ คนไม่ไหวเค้าก็ไม่ฝืนหรอกค่ะ ที่สำคัญสมัยนี้ไม่มีให้เห็นแล้วด้วย  

         วีรกรรมของผู้เขียนนอกจากแสดงศักยภาพด้านการเรียนใน ปี 1 เทอม 1 และปี 4 เทอมสุดท้ายแล้ว  นอกนั้นก็มีแต่กิจกรรมและกิจกรรม ไม่ว่าจะขึ้นเขา เข้าป่า โดดเรียน ฝืนกฎ กินเหล้า เล่นบอล แต่ก็ไม่เหลวแหลกนะคะ ไม่เคยเที่ยวผับเที่ยวเธค ทำตัวไร้สาระ...ก็แค่ปรับตัวเข้ากับสังคม  ด้วยผลการเรียนปานกลาง

         ปี 1 ทำกิจกรรมชมรมในขณะที่เพื่อนตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือและเตรียมเอ็นฯใหม่ ปี 2 ตั้งชมรมกีฬายิงปืน ในขณะที่เพื่อนบางคนเพิ่งทำงานชมรม เชิญโค้ชทีมชาติและนักกีฬามาเปิดแคมป์สอนยิงปืน ด้วยทีมงานเพียง 4 คน (มีเพียงเงินที่เก็บได้จากสมาชิก) ปี 3 ตั้งสโมสรคณะวิศวะ กับทีมงานชุดเดิม  ถึงจะเล่นเยอะแต่เราทั้ง 4 ก็จบ 3 ปีครึ่ง ด้วยคะแนนดีๆ (1 ใน 4 จบ ดร.ด้านเคมีฟิสิกส์ที่แสนยาก อีกคนกำลังเรียน ป.เอก หลังผ่านชีวิตรองกรรมการผู้จัดการ และกำลังจะเป็นเจ้าของกิจการ คนที่สาม จบ ป.โท เป็นผู้จัดการโรงงาน และคนสุดท้าย ผู้เขียนเอง ที่ชีวิตราบเรียบที่สุด)

          สิ่งที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคือ ความรับผิดชอบ อดทน และเข้มแข็ง จากชีวิตคุณหนูที่แสนสบาย (จะว่าอย่างนั้นก็ได้ค่ะ) ในครอบครัวข้าราชการชั้นกลาง เด็กๆ มีแต่คนคอยเอาใจ มีรถรับส่งถึงประตูโรงเรียนตลอด  ผู้เขียนคิดเอาว่ามันเปลี่ยนไปในเวลาแค่ไม่ถึง 4 ปีเท่านั้น

          เริ่มต้นจากศูนย์ ยึดอาชีพลูกจ้างด้วยเงินเดือนเริ่มต้นแค่ 6,300 บาท ไม่เรียนต่อเพราะไม่ต้องการพึ่งพาใคร อายุ 23 ปี ซื้อบ้านราคา 1.6 ล้านบาท (ด้วยเงินผ่อน) อายุ 26 ซื้อรถ (ด้วยเงินผ่อนอีก) และยกให้แม่กับน้องชาย ไม่ได้ต้องการสมบัติมากมาย แค่อยากทำอะไรเพื่อครอบครัวที่เรารักเท่านั้น ทุกวันนี้ชีวิตก็ยังอยู่ดีมีสุข อยู่หอพักในกทม. ใช้เงินเดือนที่เหลือจากการชำระหนี้สิน เดินทางด้วยรถโดยสาร ทำในสิ่งที่ชอบ ใช้ชีวิตไม่หวือหวา ไม่อยากได้อยากมีอะไร.....ที่ว่ามาทั้งหมด เพราะอิทธิพลของชีวิตในมหาวิทยาลัยค่ะ….เชื่อมั๊ยคะ

          ตอนนี้ชีวิตของผู้เขียนยังไม่จบสิ้น แต่เจอแล้วค่ะ...สิ่งที่เราเรียกว่าความฝัน จริงๆ มันวนเวียนอยู่กับเรามาตลอดนั่นแหละค่ะ แต่เราหาไม่เจอซักที อ่านเรื่อง ฝันใกล้ๆ ไปช้าๆ ของหนุ่มเมืองจันทน์ (อีกแล้ว) ต้องใช้ตัวช่วย เลยตามเจอจนได้

          น่าตลกมั๊ยคะ...ถ้าบอกว่าอยากเป็นนักเขียน  จำได้ว่าชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนประถม เรื่องแรกที่ติดใจคือ เชอร์ล็อกโฮล์ม  เป็นเรื่องที่จุดประกายการอ่าน จนทำให้ฝันฟุ้งไปว่าอยากเป็นนักสืบ เป็นตำรวจ หรือนักข่าว แต่จริงๆ แล้วก็แค่อยากเป็นคนถ่ายทอดเรื่องราวให้คนอื่นติดตาม เจอบันทึกตัวเองที่แอบเก็บไว้ตอนประถมและม.ต้น ตอนนั้นทำไว้เผื่อว่าเป็นนักเขียนชื่อดังจะได้มีเรื่องในอดีตมาขายได้....(555 คิดรายได้แต่เด็ก)

          รู้สึกว่าตัวเองเริ่มต้นช้าไปหน่อย มาคิดได้ตอนจะ 30 อยู่แล้ว อยากเป็นนักเขียน แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่คือการสั่งสมไอ้สิ่งที่เค้าเรียกว่า ประสบการณ์ ความรู้ ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบ แล้วก็เก็บเงินไว้เลี้ยงตัวเองยามเกษียณหากไม่มีคนดูแลจะได้อยู่รอดเพื่อทำสิ่งที่รักได้ แต่ตอนนี้ขอเขียนบันทึกให้ตัวเองอ่านไปก่อน เผื่อตอนแก่เก็บไว้ขายได้อีก....555

          อย่าลืมว่าจุดหมายคืออะไร เวลาเพียงแค่ 5% ของชีวิต มันไม่ได้ตัดสินทุกอย่างไม่ใช่หรือคะ

คำสำคัญ (Tags): #diary#sharing
หมายเลขบันทึก: 55433เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เห็นด้วยครับ หลายคนชีวิตเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัย แต่หลังจากนั้น ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
อาจเป็นเพราะหลายคนค้นพบตัวเอง ตอนอยู่มหาวิทยาลัย

แต่สำหรับการเริ่มต้นตอนอายุ 30 นั้น นายบอนว่า ไม่ช้าหรอกครับ สำหรับการเป็นนักเขียนตามความฝันของพี่ ไม่ว่าเวลาในการเขียนบล็อกของพี่จะกี่ % ก็แล้วแต่

แต่สิ่งที่บันทืกไว้ ก็เจ๋งๆทั้งนั้นนะครับ


ขอบคุณคร้าบบบ.. ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท