นำเสนอ เพื่อตอบสนอง


      ผมไม่อยู่หลายวัน  แต่ทำตัวเสมือนอยู่  เพราะโรคติดบล็อก  เลยเขียนสต๊อกทิ้งไว้
      ยินดีกับอาจารย์สมลักษณ์  วงศ์สมาโนดน์  และบอย  สหเวชฯ  ที่กำลังจะซู่ซ่า (SUSA)
      ขอบคุณ kim ที่ติดตามอ่านและบอกว่า ชอบ ชอบ ชอบ
      ขอบคุณชาวบล็อกทุกคนที่เข้ามาอ่าน  หากมีอะไรที่จะติติง  เสนอแนะ  ขอเชิญเลยนะครับ  ยินดีครับ  ยินดี
      สำหรับชายขอบ  ที่ขอให้ผมเพิ่มเติมการนำทฤษฎีหมวกสมมติ 6 ใบ (Six Hats) ของ De Bono ไปใช้จริงให้เห็นภาพด้วยนั้น  ขอสนองครับ  ส่วนจะได้แค่ไหนช่วยบอกหลังจากอ่านแล้วด้วยครับ
      Six Thinking Hats หมวก 6 ใบ  คิด 6 แบบ  ของ Edward de Bono นั้น  เป็นหมวกสมมติ  เป็นหมวกในจิตนาการของการบริหาร  โดยกำหนดว่า  หมวกแต่ละสีเป็นตัวแทนของความคิดในมุมมองต่างๆ  ซึ่งคนในองค์กรเดียวกันอาจมองเรื่องเดียวกัน  ด้วยความคิดที่แตกต่างกัน  โดย Edward de Bono ยกตัวอย่างว่า  คนสี่คนยืนดูบ้านหลังเดียวกัน  คนหนึ่งอยู่หน้าบ้าน  คนหนึ่งอยู่หลังบ้าน  อีกสองคนอยู่ด้านซ้ายและขวาของตัวบ้าน  คนทั้งสี่จะเถียงกันว่ามุมที่ตัวเองเห็นคือลักษณะที่แท้จริงของบ้านนั้น  ดังนั้น  ถ้าใช้วิธีคิดแบบคู่ขนานให้พวกเขาเดินไปรอบๆ บ้าน  ทุกคนก็จะเห็นบ้านทุกด้านเหมือนๆ กัน
      การประชุมเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องใดๆ  จึงใช้หมวกแต่ละสี  เป็นการกำหนดทิศทางในการคิด  เพื่อทุกคนจะได้คิดและมองไปในทิศทางเดียวกัน  ในขณะเดียวกัน  โดยประหยัดเวลา  ขจัดอัตตา  และไม่สับสน  โดยใช้สัญลักษณ์สีของหมวก  หมวกแดง  หมวกดำ  หมวกเหลือง  หมวกเขียว  หมวกขาว  และหมวกฟ้า  เป็นตัวแทนความคิด
      แนวคิดข้างต้นเป็นการใช้หมวก 6 ใบ  6 สี ในการบริหาร  แต่หากผู้บริหารจะนำมาประยุกต์  ก็จะได้มุมมองในการวิเคราะห์ผู้ร่วมงานที่ความคิดแตกต่างกัน  แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วคนไม่ได้คิดแค่ 6 แบบ  โดยเป็นแบบใดแบบหนึ่งโดยสิ้นเชิง (Absolutely) ดังนั้น  หากนำคนที่คิดแต่ละแบบไปผสมกับการคิดแบบอื่นอีก 5 แบบ  ก็จะได้แบบความคิดเพิ่มขึ้นอีก 15 แบบ  หากผสมแบบความคิดไปเรื่อยๆ และกำหนดส่วนผสมมากบ้านน้อยบ้างด้วยก็จะได้ลักษณะการคิดของคนเป็นแสนเป็นล้านแบบ  คนที่คิดจนติดเป็นนิสัย Peter M Senge ใช้คำว่า archetype คือมีลักษณะเฉพาะตัว (typical) ซึ่งคนในโลกนี้อาจคิดไม่เหมือนกันเลยสักคนก็ได้
      การนำทฤษฎีหมวก 6 ใบ  ไปใช้ในการบริหารก็จะได้ผลข้างต้น  หากนำไปประยุกต์ใช้จริงสำหรับตนเองคือ  วิเคราะห์ตนเองว่าความคิดของเราเอียงไปทางหมวกใบใด  เป็นความคิดที่มีประโยชน์หรือมีอคติ  ควรเปลี่ยนแปลงหรือไม่  เพื่อประโยชน์ทั้งตนเองและผู้เกี่ยวข้อง  ก็ปรับความคิด  ปรับพฤติกรรม  เปลี่ยนมุมมองนั้นเสีย  และพัฒนาความคิดตนเองอย่างสม่ำเสมอ  จนเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนนิสัยได้
      การนำทฤษฎีหมวก 6 ใบ ไปใช้ในการวิเคราะห์เพื่อนร่วมงาน  หรือแม้แต่ผู้บังคับบัญชาก็จะทำให้เราเข้าใจความคิดของคนเหล่านั้น  และสื่อความหมายได้ตรงขึ้น  หรือเพิ่มยุทธวิธีในการสื่อความคิด  เพื่อความเข้าใจตรงกันได้มากขึ้น
      อ่านทฤษฎีแล้วต้องประยุกต์ใช้ครับ  แต่ทฤษฎีก็แค่บอกแนวคิด  หากต้องการให้เกิดผล  ต้องทำครับ
      ผมเป็นห่วงว่าการเขียนบล็อกยาวๆ และหนักๆ อาจทำให้บรรยากาศชุมชนชาวบล็อกเสียไป (ผมคิดเอง)
      ผมจึงสัญญาว่าจะเขียนเรื่องการบริหารในเชิงบทความทางวิชาการ  ลงใน web ของคณะศึกษาศาสตร์
      ไม่รู้จะทำตามสัญญาได้เมื่อไหร่ ? บอกตรงๆ ว่าที่เขียนลงบล็อกนี่ก็เข็นตัวเองน่าดู  แต่อยากให้ การบริหาร ไม่ยากอย่างที่คิด ครับ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5542เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2005 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์

   ผมขอร่วมแจมด้วยคน ผมเป็นคนไม่ชอบทฤษฎี แต่ชอบปฏิบัติ ในเรื่องมุมมองในการบริหาร (จะเรียกว่าหมวกหรืออะไรก็ตาม)  มันจะเกี่ยวกับ 2 สิ่งที่สำคัญ คือ 1. วัตถุสิ่งของที่จะมอง 2. ผู้มองและมุมมอง  ทำให้เกิดมุมมองได้ตั้งเป็น10 เป็นร้อย เพื่อให้ตัดสินใจง่ายเข้า จึงต้องเลือกตุ๊กตามา 1 ตัว แล้วให้ที่ประชุมช่วยกันปรับแต่งตุ๊กตาตัวนี้ ให้เป็นที่พอใจของคนหมู่มาก แล้วจึงเริ่มปฏิบัติตามแผนที่ตุ๊กตา เราก็จะได้งานที่ออกมาเป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่ และเป็นงานที่ทุกคนมีส่วนร่วม แล้วเราก็จะมีความสุขกับการทำงานครับ

   ถ้าเราทำให้ทุกคนช่วยกันทำงานได้ และสนุกด้วย การบริหาร ก็ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะผู้บริหารทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยครับ..

     ขอบคุณอาจารย์มากนะครับที่ใหความกระจ่าง เพราะผมเอาจากที่เคยบันทึกไว้ (สมุด) มาลงไว้ที่ ทฤษฎีหมวก 6 ใบ …กลยุทธ์เพื่อการตัดสินใจ แต่ด้วยเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ ก็เลยเชื่อมโยงไม่ถึงว่าถ้าจะนำมาใช้กับการบริหารยังไง (ไม่เคยลิ้มชิมรสดูที ฮา...)

     มาลองคิดดูอย่างละเอียด ถี่ถ้วน ตอนบ่ายรีบ ๆ (กลัวลืมที่จะเขียน blog ตัวเองจากที่ได้มาตอนกลางวัน ฮา...) ตอนนี้ก็เลยได้ว่าหลายรูปแบบ (ความคิด) ก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อเป็นผลึกแล้ว จำนวนแบบตามที่ De Bono คาดไว้ก็น่าจะเป็น 6! x n, n คือ คนที่เข้ามามีส่วนร่วมคิด ต่อนะครับ... งั้นผู้บริหารก็ปวดหัวแย่สิครับ ถ้า n ยิ่งเยอะ อย่างนี้การแบ่งลำดับชั้นในสายบริหาร (ปลัดฯ อธิบดี ผอ.กอง/สำนัก ...) ก็เลยจำเป็นใช่ไหมครับ ต่ออีกครับ... พอแบ่งหลาย ๆ ชั้นเข้า ก็ต้องรอการตกผลึก ทำให้ช้าก็เลยใช้วิธีสั่งการลงมา Top-down แรก ๆ ไม่เป็นไร ต่อมา...ที่นี้เมื่อด้านล่างคิดเองเป็นมากขึ้น (การศึกษาที่ให้เกิดปัญญาขึ้น) ก็เกิดปัญหาขัดแย้ง ก็ต้องมอบอำนาจตัดสินใจเป็นเรื่อง ๆ ที่เป็นปัญหา แต่ก็แก้ได้ไม่หมด... ทุกวันนี้ก็เลยพยายามกลับหัวใหม่ แต่การตัดสินใจเรื่องหนัก ๆ ยังอยู่ที่เดิม

     ผมคิดมากไปแล้วมั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท