"เด็กเร่ร่อน"ก็มีดี รวมตัวตั้งคณะเชิดสิงโตหาเงิน


"ผมเคยเป็นเด็กเร่ร่อนมาก่อน มีปัญหาที่บ้านอยู่ไม่ได้ หนีออกมา ก็เร่ร่อนไปทั่ว ยังโชคดีที่ได้ไปเชิดสิงโตกับคณะที่ค่อนข้างดังเหมือนกัน แต่ก็มีปัญหาอีก เลยออกมา แล้วก็กลับเป็นคนเร่ร่อนอีกครั้งหนึ่งที่สะพานอรุณอมรินทร์ กว่า 5 ปีแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อนเริ่มเห็นแล้วว่าเด็กเร่ร่อนที่อยู่ที่นี่ค่อนข้างเยอะ และจากที่เคยคุยกัน ก็เห็นว่าเด็กบางคนมีความคิดดี อยากทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง จึงชวนเด็กๆ มาฝึกซ้อมเชิดสิงโตดีกว่า เป็นอาชีพได้ด้วย ดีกว่าไปติดยา ต่อมาจึงก่อตั้งเป็นคณะศิษย์หลวงพ่อโบสถ์น้อย ซึ่งท่านรองเจ้าอาวาสอนุญาตให้ใช้เป็นชื่อคณะได้"
"เด็กเร่ร่อน"ก็มีดี รวมตัวตั้งคณะเชิดสิงโตหาเงิน "เด็กเร่ร่อน" ไม่ว่าจะผ่านไปนานสักเพียงไร ภาพที่สังคม "วาด" ไว้ก็ยังไม่เคยเปลี่ยน ทั้งติดยา เกเร เป็นภาระของสังคม และทำอะไรไม่เป็นนอกจาก "ดมกาว และขอทาน" หากแต่ใครผ่านไปแถวใต้สะพานอรุณอมรินทร์ บริเวณหลังวัดหลวงพ่อโบสถ์น้อย ช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก คงได้หยุดดูกลุ่มเด็กและเยาวชน หน้าตามอมแมม เสื้อผ้าค่อนข้างเก่า ต่อตัวให้สูงขึ้น พร้อมกับเสียงตีกลองจังหวะเชิดสิงโต และหากไม่บอกคงไม่มีใครรู้ว่า นี่คือการซ้อมการเชิดสิงโตของคณะศิษย์หลวงพ่อโบสถ์น้อย เป็นคณะเชิดสิงโตที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็น "เด็กเร่ร่อน" ต้น เทพณรงค์ หรือ "พี่หวาน" ของเด็กๆ หัวหน้าคณะวัย 29 ปี ปลีกตัวมานั่งพูดคุยหลังจากที่ซ้อมเชิดสิงโตเสร็จแล้วในเย็นวันหนึ่งว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคณะเชิดสิงโต "เด็กเร่ร่อน" คณะนี้ เกิดขึ้นจากการที่เขามองเห็นเงาสะท้อนของตัวเองที่เคยเป็นเด็กเร่ร่อนมาก่อน รู้ว่าหากปล่อยให้เด็กๆ ไม่มีอะไรทำ อนาคตของชาติคงหนีไม่พ้น "ตกนรกยาเสพติด" แน่ๆ "ผมเคยเป็นเด็กเร่ร่อนมาก่อน มีปัญหาที่บ้านอยู่ไม่ได้ หนีออกมา ก็เร่ร่อนไปทั่ว ยังโชคดีที่ได้ไปเชิดสิงโตกับคณะที่ค่อนข้างดังเหมือนกัน แต่ก็มีปัญหาอีก เลยออกมา แล้วก็กลับเป็นคนเร่ร่อนอีกครั้งหนึ่งที่สะพานอรุณอมรินทร์ กว่า 5 ปีแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อนเริ่มเห็นแล้วว่าเด็กเร่ร่อนที่อยู่ที่นี่ค่อนข้างเยอะ และจากที่เคยคุยกัน ก็เห็นว่าเด็กบางคนมีความคิดดี อยากทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง จึงชวนเด็กๆ มาฝึกซ้อมเชิดสิงโตดีกว่า เป็นอาชีพได้ด้วย ดีกว่าไปติดยา ต่อมาจึงก่อตั้งเป็นคณะศิษย์หลวงพ่อโบสถ์น้อย ซึ่งท่านรองเจ้าอาวาสอนุญาตให้ใช้เป็นชื่อคณะได้" เมื่อรวมกลุ่มก้อนกันได้แล้ว ต้นจึงเริ่มฝึกการเชิดสิงโต ด้วยภาคทฤษฎีปากเปล่า บอกเล่าถึงการแสดงเชิดสิงโต และใช้ในงานใดบ้าง จากนั้นเป็นภาคปฏิบัติฝึกจากการต่อตัว จากนั้นหากใครมีแววจะให้ฝึกเชิดหัวสิงโต ซึ่งต้องให้สัมพันธ์กับเสียงกลอง ซึ่งกว่าจะฝึกให้ทุกคนสามารถต่อตัวหรือเชิดสิงโตได้อย่างคล่องแคล่วต้องใช้เวลานานถึง 8-9 เดือนทีเดียว "มีส่วนน้อยที่พอมีพื้นฐานเคยอยู่ในคณะเชิดสิงโตมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้เลย ซึ่งผมไม่ซีเรียส สอนหมดทุกอย่าง แต่สิ่งที่ผมออกเป็นกฎเหล็กคือ ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเสพเองหรือขาย หากผมรู้ จะไล่ออกจากคณะทันที ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นคณะเด็กเร่ร่อน แต่จะบอกเด็กในคณะเสมอๆ ว่า ไม่จำเป็นต้องทำให้สังคมเขาตีตราหน้าพวกเรามากขึ้น การเชิดสิงโตเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องไปนั่งขอทานให้คนอื่นเขาดูถูก ทุกคนก็เข้าใจดี" แม้จะเป็นคณะเชิงสิงโต "น้องใหม่" แต่คณะศิษย์หลวงพ่อโบสถ์น้อยก็มีงานโชว์ไม่น้อยทีเดียว เฉลี่ยแล้วประมาณเดือนละ 2-3 งาน โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะปากต่อปาก ซึ่งแต่ละงาน "ต้น" จะหารให้กับเด็กๆ ทุกคน คนละ 50-100 บาท ขึ้นอยู่กับค่าจ้างงานเล็กหรืองานใหญ่ และส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เป็น "เงินคงคลัง" สำหรับซื้ออุปกรณ์ ตัดชุด ซึ่งราคาแต่ละอย่างก็ค่อนข้างแพงทีเดียว "หัวสิงโต 1 หัว ราคาประมาณ 16,000-18,000 บาท กลองตัวละ 5,000 บาท หัวแปะยิ้มก็เป็นพัน ส่วนชุดที่จะใส่ก็ประมาณ 20,000 บาท ของเหล่านี้ใช้ไปก็เสีย ต้องซื้อใหม่ให้ดูดีอยู่เสมอ ซึ่งเงินที่ได้ส่วนหนึ่งผมเก็บไว้เลยเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ไม่ได้ไปรบกวนเงินเด็กๆ ถ้าถามว่าพอใช้จ่ายไหม แต่ละคนก็บอกว่าพอนะ ถ้าไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย ก็มีเงินประจำ แต่เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ สิ่งที่ผมเน้นคือ นี่จะเป็นความรู้ติดตัวเด็กไปจนตาย" ก่อนขอตัวไปซ้อมเชิดสิงโตต่อ หัวหน้าคณะให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนว่า จริงๆ แล้วเด็กเร่ร่อนจำนวนมากไม่อยากเป็นภาระของสังคม เพียงแต่พวกเขาไม่ได้รับโอกาสหรือบริการใดๆ จากหน่วยงานของรัฐ หรือแม้กระทั่งสังคมรอบข้าง เมื่อเขาไม่มีกิจกรรมทำ เขาจึงหันหน้าไปหายาเสพติด ดมกาวบ้าง ขายยาบ้า แล้วก็ต้องไปขอทาน เด็กหลายคนตัดสินใจทันทีที่จะเข้าร่วมมาฝึกเชิดสิงโต แม้จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาจะได้ค่าตอบแทนหรือไม่ แต่นั่นก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เด็กเร่ร่อนมีทางเลือกน้อยมาก คณะเชิดสิงโตศิษย์หลวงพ่อโบสถ์น้อยเป็นอีกบทพิสูจน์ว่า เด็กเร่ร่อนก็มี "ดี" เช่นเดียวกัน ร่วมสนับสนุนการสร้างโอกาสในการเรียนรู้กับเด็กเร่ร่อน หมายเลขบัญชี 706-2-33411-2 บัญชีเงินฝาก ออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปิ่นเกล้า ชื่อบัญชีสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน บทความจาก หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2549


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท