“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๔ (๒)


บันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

การนำเสนอประสบการณ์จากการเปิดชั้นเรียนห้องภูมิปัญญาภาษาไทย  ภาคเช้า

 

คุณครูปุ๊ก - จินตนา  กฤตยากรนุพงศ์   นำเสนอ

คุณครูนัท – นันทกานต์  อัศวตั้งตระกูลดี  พิธีกร

 

ในปีการศึกษา ๒๕๕๔  คุณครูปุ๊กเปิดชั้นเรียนระดับชั้น ๕  ในแผนการเรียนรู้กลบทโคลงประดิดเดกเหล้น  และได้นำแผนที่เคยเปิดชั้นเรียนนั้นมาปรับพัฒนาต่อเพื่อใช้ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ - ๒๕๕๖ ด้วย

กล่าวโดยสรุปแผนการเรียนรู้นี้ เริ่มจากการเรียนรู้ธรรมชาติของคำ และการเดินทางของคำซ้อนที่แสดงกิริยาอาการของสัตว์ แล้วนำคำเหล่านั้นมาแต่งให้เป็นกลโคลงประดิดเดกเหล้น (ดังรายละเอียดในบันทึกหมายเลข 474011, 474114, 474241,474445, 474446 ดังได้แสดงไว้ในบันทึกที่เกี่ยวข้องแล้ว)

 

การนำเสนอ

  • ขั้นสร้างแรงบันดาลใจ ครูกล่าวถึงที่มาของกลโคลงประดิดเดกเหล้นว่าเป็นกลโคลงที่จำรึกไว้ที่วัดโพธิ์ฯ และเป็นสมบัติของบรรพชนที่ตกทอดมาเป็น ๑๐๐ ปีแล้ว  ทำให้ผู้เรียนเกิดความพยายามในการแก้กลโคลงอย่างมาก และไม่ยอมแพ้ ต่างจากรุ่นก่อนที่ครูไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจเรื่องความเป็นมา ที่เมื่อแก้โคลงไม่ได้ก็ไม่มีแรงจะไปต่อ
  • เมื่อครั้งที่เปิดชั้นเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๔ พบว่าผู้เรียนมีคลังคำซ้อนน้อย แผนการเรียนรู้จึงได้เริ่มต้นจากการสะสมคลังคำก่อน
  • เมื่อแผนดำเนินไปถึงเรื่องความหมายของกระทู้และโคลงกระทู้  ผู้เรียนสามารถสรุปและหาคำตอบได้เองจากการอ่านกลโคลง  และได้เพิ่มเติมความหมายของคำว่า “กระทู้” ใน internet ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนก่อนการนำเข้าสู่โคลงกระทู้ในแบบโบราณด้วย
  • ปีการศึกษานี้ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ และบริหารเวลาได้ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนมีเวลานำเสนอผลงานของตนเองในชั้นเรียน เป็นการกระตุ้นจากเพื่อนๆ ที่ยังทำงานไม่เสร็จให้มีความตั้งใจในการแต่งกลโคลงมากขึ้น เพราะอยากออกมาอ่านงานของตนให้เพื่อนฟังด้วย
  • เป้าหมายปลายของการเรียนรู้เรื่องกลโคลง คือ ต้องการให้ผู้เรียนมีความสนุกกับการสร้างคำ เล่นกับคำ  และสามารถแต่งโคลงสี่สุภาพได้  โจทย์โครงงานต่อยอดคือการสรุปเนื้อหานิทานสุภาษิตให้เป็นโคลงสี่สุภาพภายในบทเดียว

 

 

ช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

คุณครูนัท  ปัจจุบันสอนนักเรียนชั้น ๖ ที่ผ่านการเรียนแผนนี้มาแล้ว  ในตอนที่เรียนเรื่องรามเกียรติ์ได้ทำการตรวจสอบความรู้เดิมของนักเรียนโดยให้แต่งบทสรรเสริญพระราม และให้เลือกได้ว่าจะเขียนเป็นร้อยแก้ว  เป็นกาพย์   หรือเป็นโคลงก็ได้ พบว่าทุกคนเลือกแต่งโคลง สะท้อนว่าแผนการเรียนรู้นี้สามารถสร้างสมรรถนะในการเขียนคำประพันธ์ประเภทให้กับผู้เรียนได้จริง

 

คุณครูชนก  สอนนักเรียนชั้น ๖ คู่กับครูนัท พบว่านักเรียนรุ่นนี้มีทักษะทางภาษาดีมาก พอให้แต่งบทประพันธ์ เด็กไม่มีอิดออด สามารถแต่งได้ และเลือกสรรคำได้ค่อนข้างมีระดับคำที่อยู่ในระนาบเดียวกัน เช่นเมื่อพูดถึงพราหมณ์ให้คำว่าบิดามารดา ไม่ใช้พ่อแม่ เป็นต้น ผู้เรียนสามารถใช้คำได้ดีมาก และมีความเป็นเอกภาพ  เด็กประถมสามารถเขียนโคลง เขียนกาพย์กลอนได้ หมดยกเว้นฉันท์อย่างเดียว และเขียนอย่างมาได้อย่างที่อยากเขียนจริงๆ ไม่ได้เขียนเพราะโดนบังคับว่าให้เขียน

 

คุณครูใหม่   ตอนเป็นเด็กเราทุกคนโดนโครงสร้างลูกชิ้นกลมๆ เป็นตัวบังคับแรกเริ่ม  แต่หลักการของเพลินพัฒนาจะเริ่มจากหน่วยย่อยที่สุดคือการรู้จักคำโดด คำคู่ แล้วจึงมาถึงช่อคำ ที่เกาะเกี่ยวกันไว้ในลักษณะต่างๆ  เด็กจะรู้ว่าคำแบบไหนสวย คำไหนรวมกับคำไหนแล้วแสดงความหมายอย่างไร ถ้าเปลี่ยนตัวคำเสียงคำก็เปลี่ยน ความหมายก็เปลี่ยน

 

ชื่อของหน่วยวิชา “ภูมิปัญญาภาษาไทย” เป็นชื่อที่เตือนเราไว้ให้ย้อนนึกถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และกลับไปหาทุนทางปัญญาที่เรามีอยู่ ครูในหน่วยวิชานี้จะได้กลับไปศึกษาเรียนรู้ทุนเหล่านั้น เพื่อนำกลับมาสอนเด็กให้เด็กเข้าถึงตัวคำและเชื่อมโยงถึงบรรพบุรุษ หากเรียนกันด้วยวิธีนี้เด็กจะเชื่อมโยงได้หมดทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่  และที่สำคัญคือกระบวนการเรียนรู้แบบนี้เป็นการสร้างชีวิตด้วยภาษา ในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยสร้างชีวิตให้กับภาษาด้วย

 

คุณครูญา  ตอนเห็นตัวอย่างงานเด็กที่มานำเสนอ และคุณครูนัทพูดถึงนักเรียนคนหนึ่งที่ครูญาจำได้ว่าเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้น ๓ เขายังเขียนคำประพันธ์ พอได้เห็นพัฒนาการของเขาก็ชื่นใจ ได้เห็นว่ารากฐานที่คุณครูสร้างไว้ในช่วงชั้นที่ ๑ มาต่อยอดที่ช่วงชั้นที่ ๒ อย่างไร

 

คุณครูตั๊ก  ดีใจที่ได้เห็นพัฒนาการของเด็ก พวกเขาไม่ใช่เพียงแค่ทำงานส่งครู เมื่อสองวันก่อนพ่อคนหนึ่งส่งไลน์ผลงานของลูกชายที่ทำให้แม่โกรธ และเขาได้เขียนขอโทษแม่เป็นกลอนแปด  น้องผู้หญิงอีกคนหนึ่งเขียนอวยพรวันเกิดพี่ชายเป็นบทกลอน  ทำให้ครูตั๊กรู้สึกได้ว่าเรากำลังสร้างการเรียนรู้ภาษาให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  ภาษาสร้างชีวิตให้มีคุณภาพ

 

คุณครูเปิ้ล  สอนวิชา ESL อดไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาชื่นชม  ESL ก็เป็นภาษาและคิดมาตลอดว่าภาษาอังกฤษเรียนง่ายกว่าไทยมาก เพราะที่เคยเรียนมายากมาก ตอนที่มาอยู่ที่เพลินจึงได้เห็นว่าครูไทยทำอะไรบ้าง พอมาเห็นกลอนวันนี้ที่เด็กแต่งรู้สึกทึ่งมาก และได้รู้วิธีการของครูว่าครูดึงศักยภาพเด็กขึ้นมาได้อย่างไร

 

คุณครูปาด   การศึกษาเรื่องสมองระบุเอาไว้ชัดว่า เมื่อสมองสามารถทำอะไรได้เรื่องหนึ่งแล้วก็จะ สามารถเชื่อมโยงสู่อีกเรื่องหนึ่งได้เอง  ในมุมของ ESL ก็มีความเป็นไปได้ที่เด็กจะลองเขียนงานให้มีคำสัมผัสเสียงดู

 

 

 

 

 

 ผลงานการเขียนคำกลอนวันฮาโลวีนของนักเรียนชั้น ๓ หน่วยวิชา ESL ระดับชั้น ๓ เมื่อวันที่ ๓๑ ต.ค.๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 554070เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท