ของฝากจากเวียดนาม


ชาวเวียดนามเป็นชนชาตินิยม เขาจะปลูกฝังคนในชาติตั้งแต่เด็ก ๆ ให้จดจำและปฏิบัติตามข้อบัญญัติ 5 ข้อของชาวเวียดนามที่ดี

        หายหน้าไปจาก G2K เสียนาน หลังงานวันครูโลก 2006 เพราะต้องเตรียมตัวและเดินทางไปปฏิบัติภารกิจแทนหัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ เพื่อร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สรุปประสบการณ์และข้อเสนอแนะจากการเข้าร่วมทดลองใช้การจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต เรื่องโรคไข้หวัดนกและการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับอุบัติภัย ณ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซียและองค์การยูนิเซฟ ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเองไม่ได้พา Notebook ไปด้วย จึงขาดมือไม้ในการใช้ท่อง Net ชวดส่งบันทึกขึ้นบล็อก

        กลับถึงสุพรรณฯ ด้วยอาการเมาเครื่องบินนิดหน่อย นอนพักได้
4-5 ชั่วโมง ก็ต้องลุกขึ้นมาเตรียมตัวไปเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มคุณครูที่สนใจร่วมวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ โดยดิฉันได้รับมอบหมายจาก หน.ลำดวน หัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ ให้เติมเต็มคุณครูเรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ส่งเสริมทักษะกระบวนการคิด

        กลับเข้าบ้านตอนเย็นก็เจอภาวะน้ำท่วม แม้จะยังไม่ถึงบ้านพักของตัวเอง แต่ก็ไว้ใจไม่ได้เพราะบ้านฝั่งตรงข้ามท่วมไปถึงเข่าแล้ว จึงต้องเตรียมพร้อมขนข้าวของขึ้นไว้ที่สูง  อยากจะบันทึกสิ่งที่ได้พบเจอที่เชียงใหม่ บรรยากาศการเติมเต็มกับเพื่อนครู ก็เป็นอันต้องพับไว้ก่อน เพราะต้องขนรีบของหนีน้ำก่อนเดินทางไปศึกษาดูงานกับสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย ณ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่
16-20 ตุลาคม 2549 จริง ๆ ออกเดินทางคืนวันที่ 15 เวลาตีสอง และกลับถึงสุพรรณบุรีในวันที่ 21 เมื่อสาย ๆ ของวันนี้ (8.50 น.) ที่ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางยาวนานก็เป็นเพราะพวกเราใช้พาหนะรถบัสในการเดินทางนั่นเอง

       เอาเป็นว่างานอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ขอติดไว้ทยอยนำเสนอก็แล้วกัน สำหรับบันทึกนี้อยากบอกเล่าแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้พบเห็นมาหมาด ๆ เสียก่อน…ก็เรื่องไปเวียดนามนี่แหละ

        การไปครั้งนี้โต้โผใหญ่ในการจัดการคือ สมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย ซึ่งนายกสมาคมฯ ท่านจำเริญ พรหมมาศ ได้แจ้งพวกเราว่าเป็นครั้งแรกที่สมาคมจัด ซึ่งพวกเราจะออกค่าใช้จ่ายกันเอง คนละ
8,800 บาท สำหรับชาวสุพรรณฯ 2 นั้นถ้ารวมค่ารถบัสที่ไปรับ-ส่งพวกเราที่จังหวัดมุกดาหารด้วย ก็เป็น 9,900 บาท กินอยู่อย่างดีเป็นที่พอใจของพี่น้องศึกษานิเทศก์ เหนื่อยอยู่นิดหนึ่งก็ตรงเดินทาง โดยรวมแล้วบรรยากาศดีมาก เฮฮาได้สาระและข้าวของที่พากันไปช้อปปิ้ง รวมถึงภาพถ่ายบรรยากาศอันน่าประทับใจ พวกเราพี่น้องศึกษานิเทศก์จากหลายที่หลายทางได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน ศึกษาดูงานและท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

        เรื่องเที่ยวค่อยพูดกันทีหลัง ขอนำเสนอเรื่องวิชาการตามประสาคนชอบเรียนรู้กันเสียก่อน การมาครั้งนี้คณะของเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมศึกษาดูงานสถาบันการศึกษาสองแห่ง คือ ที่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งชื่อ
เหวี่ยนถี่เหมียนทาย ตั้งอยู่ในเมืองเว้ และที่มหาวิทยาลัย ดานัง อยู่ในเมืองดานัง

                                           

        ที่โรงเรียนประถมฯ มีบริเวณคับแคบมาก ๆ ผู้บริหารของโรงเรียนต้อนรับคณะของเราได้เพียงสิบกว่าคนเท่านั้น เพราะห้องเขาแคบมาก จึงต้องส่งตัวแทนของพวกเราเข้าไป ตัวแทนที่ว่าก็คือ นายกสมาคมฯ คณะกรรมการสมาคมฯ และหัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ แต่ละเขตพื้นที่ฯ บางท่าน ที่เหลือก็เดินไปพูดคุยกับครูบ้าง นักเรียนบ้าง นักเรียนตัวเล็ก ๆ ที่นี่ คุยเก่ง สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีมาก และกล้าแสดงออก

        ที่เวียดนามเขาเรียนในสัดส่วน
5-4-3 คือ ประถมฯ 5 ปี, มัธยมฯ ต้น 4 ปี และ มัธยมฯ ปลาย 3 ปี ส่วนในระดับปฐมวัยนั้น รัฐจะไม่เน้น ปล่อยให้เอกชนเป็นผู้จัดและมีการแข่งขันกันสูง นักเรียนเวียดนามจะเรียนเป็น 2 ผลัด คือ ภาคเช้าและภาคบ่าย  นักเรียนคนละชุด ครูก็คนละชุดกัน ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเขามีอาคารสถานที่จำกัดในขณะที่คนของเขามีเยอะ เขาเรียนคนละครึ่งวันแต่เรียนถึง 6 วัน ๆ ละ ประมาณ 4 ชั่วโมง เรียนทุกวิชาเหมือนกับเรายกเว้นเขาเรียนภาษาเวียดนาม แต่เราเรียนภาษาไทย อัตราส่วนครู : นักเรียน เท่ากับ 1:35-40 คน สำหรับโรงเรียนแห่งนี้มีครู 9 คน นักเรียนประมาณ 350 คน

                          


        มีข้อสังเกตว่าเขาจะจัดให้นักเรียนได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์
4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเรียนภาษาอังกฤษ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่สามารถทำให้นักเรียนคิดคำนวณและสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว มีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า…แล้วเขามีเทคนิคในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร นักเรียนของเขาจึงเก่งได้ เสียดายที่มีเวลาน้อยเกินไปในการไขข้อสงสัย

        อีกสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้ในห้องเรียนของเขา คือ เขาจะไม่เน้นจัดบอร์ด ป้ายนิเทศ ตกแต่งห้องมากมายเหมือนห้องเรียนประถมฯ ของไทย ตรงนี้คงจะทำให้ครูเขาไม่ต้องคอยกังวลกับการจัดห้องหับเหมือนครูเรา มีเวลาจัดการเรียนการสอนเต็มที่ และไม่ต้องคอยควักกระเป๋าตัวเองซื้อข้าวของมาจัดห้องเตรียมไว้ให้คนโน้นคนนี้มาคอยตรวจ…ก็ไม่รู้ที่เวียดนามเขาเป็นแบบนี้ทุกโรงเรียนหรือไม่ แต่ที่นี่เขาไม่เน้นจัดห้องเหมือนของเราสักเท่าไร

        นอกจากเรื่องการเรียนการสอนแล้ว ในเรื่องการนิเทศการศึกษา เขาจะมีศึกษานิเทศก์ประจำวิชา ซึ่งแต่ละโรงเรียนสามารถร้องขอไปที่รัฐเพื่อให้ศึกษานิเทศก์ลงมาดูแล ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ถ้าโรงเรียนไม่ร้องขอไป จะได้รับการนิเทศเพียงภาคเรียนละ
1 ครั้ง

        ส่วนที่มหาวิทยาลัยดานังนั้น หากเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยบ้านเรา ก็ถือว่ามีบริเวณที่คับแคบมากเช่นกัน พวกเราร้อยกว่าชีวิต เข้าไปนั่งอัดกันอยู่ในห้องเล็ก ๆ เพื่อฟังการนำเสนอจาก
Mr.Duong Mong Ha (Director International Relations Department) สรุปความจากการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างเขากับคณะของเราได้ว่า ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่มากของดานัง และเป็นแบบฉบับของมหาวิทยาลัยทั่วไป จะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเลยก็ว่าได้ มีนักศึกษาประมาณ 61,000 คน อาจารย์ประมาณ 1,600 คน มีวิทยาเขตถึง 7 แห่งด้วยกัน

        เปิดสอน
4 ด้าน คือ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรม และภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากันระหว่างที่นี่กับของเมืองไทยด้วยหลายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎแถวภาคอีสาน ที่ไทยเรียกว่าโครงการริมฝั่งโขง ของดานังจะส่งไปเรียนทั่วโลกหลายแห่ง แต่ก็จะเน้นส่งไปเรียนที่เมืองไทยเพราะอยู่ใกล้กัน

        ส่วนเพื่อนบ้านที่อยู่ชิดติดกันอีกประเทศหนึ่ง คือ ประเทศลาวนั้น ขณะนี้มีนักศึกษามาเรียนต่อระดับปริญญาโทประมาณ
3,000 คน เพราะที่ประเทศลาวนั้นมีแค่ปริญญาตรี ส่วนที่ประเทศจีนก็มีนักศึกษามาเรียนที่นี่ ประมาณ 50-100 คน นอกจากนี้ก็มีมาจากแคนาดา อเมริกา และออสเตรเลียบ้าง ทราบเพิ่มเติมว่าค่าใช้จ่ายต่อปีของนักศึกษาต่างชาติในระดับปริญญาตรีประมาณ 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ

       
Mr.Duong Mong Ha บอกเพิ่มเติมด้วยว่านอกจากนี้ มหาวิทยาลัยดานัง ยังมีนักศึกษาทางไกลที่เรียนกับมหาวิทยาลัยดานังอยู่อีกประมาณ 9,000 คนด้วย

        นอกจากข้อมูลที่ดิฉันได้รับโดยตรงดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างพวกเรากันเองบนรถอีกว่าชาวเวียดนามเป็นชนชาตินิยม เขาจะปลูกฝังคนในชาติตั้งแต่เด็ก ๆ ให้จดจำและปฏิบัติตามข้อบัญญัติ
5 ข้อของชาวเวียดนามที่ดีว่า

                    
1. รักประเทศชาติ
                             สังเกตว่าชาวเวียดนามรักประเทศชาติก็ตรงที่ฟังจากการบรรยายที่มหาวิทยาลัย และรับทราบข้อมูลว่า นักศึกษาเวียดนามที่ไปร่ำเรียนที่อื่นนั้นจะกลับมาทำงานและพัฒนาประเทศของตัวเอง ในขณะที่เปรียบเทียบกับข้อมูลที่เราเคยรับทราบมาว่าประเทศข้างเคียง คือ ชาวลาว จะนิยมไปทำงานที่ประเทศอื่นแล้วส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่พี่น้องที่บ้านใช้ หรือแม้แต่คนไทยบางกลุ่มก็นิยมไปทำงานต่างประเทศ เพราะค่าจ้างสูงกว่าเมืองไทยก็มี

                    
2. ทำให้ดีที่สุด
                             ข้อนี้ดีมาก เพราะถ้าปลูกฝังให้ทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดแล้วล่ะก้อ…จะคิดทำอะไรก็หายห่วง ไม่รู้ว่ารวมถึงความมานะบากบั่นและอดทนด้วยหรือเปล่า…เพราะมีเพื่อนศึกษานิเทศก์บางท่านทราบข้อมูลในการทำเกษตรกรรมบางเรื่องมา เช่น ปลูกข้าวครั้งเดียวเกี่ยวสามครั้ง เพราะเมื่อเขาจะเกี่ยวข้าวครั้งแรกจะปล่อยตอข้าวไว้ให้งอกขึ้นมาอีก ทำแบบนี้เพื่อให้เกี่ยวได้สามครั้ง หรือการปาดยางพาราถ้าเป็นเมืองไทยจะปาดตั้งแต่โคนขึ้นไปเมื่อเลยหัวก็เลิก…ล้มต้นแล้วปลูกใหม่ ส่วนชาวเวียดนามนั้นจะปีนขึ้นไปปาดตั้งแต่ยอดแล้วต่อท่อให้น้ำยางไหลลงมา เห็นคนเล่าบอกว่าทำอย่างนี้จะได้น้ำยางเยอะ

                    
3. ปฏิบัติตนตามกฎระเบียบ
                              เห็นได้จากการพากันยึดถือกฎจราจรที่จะขับรถกันไม่เกิน
60 กม./ชั่วโมง เขาคงมีเรื่องปฏิบัติอื่นอีกแต่พอดีตัวเองไม่ทราบ

                    
4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
                              ชัดเจนเรื่องอาหารการกินของเขาที่จะเน้นผักเยอะ เป็นผลดีต่อสุขภาพ การไปไหนมาไหนด้วยการปั่นจักรยานทำให้ได้ออกกำลัง สังเกตว่าชาวเวียดนามจะไม่อ้วน มีหุ่นสวยเพรียวเพราะวิถีชีวิตนี่เอง และส่วนใหญ่จะใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขา มีผ้าปิดหน้าปิดจมูกกันทั้งเมืองกันฝุ่น (คงจะกันกลิ่นด้วยเพราะปัจจุบันเขาก็ใช้รถมอเตอร์ไซด์กันเยอะด้วย) กันแสงแดด ไม่กลัวร้อนไม่กลัวอบในขณะที่คนไทยเราไม่ค่อยใช้วิธีนี้ เลือกประโคมครีมกันแดดกันเสียมากกว่า และส่วนใหญ่จะกลัวร้อนพากันหลบเข้ารถแอร์กันมากกว่า
 
                              เดาว่าเป็นเพราะปั่นจักรยานกันมากด้วยหรือเปล่า ร่างกายก็จะขับถ่ายน้ำออกมาทางเหงื่อเสียมากกว่า และคงจะปัสสาวะกันน้อย จึงทำให้บ้านเมืองเขามีห้องสุขาสาธารณะน้อยมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา แต่ละที่ ๆ เราไปแวะ จึงต้องรอต่อคิวกันยาวเหยียด แม้กระทั่งในโรงแรมก็เหมือนกัน พ้นจากในห้องพักของเราแล้วก็มีห้องสุขาน้อยจริง ๆ

                                           

                    
5. มีความภูมิใจในประเทศชาติและตัวเอง
                              ตรงนี้เราเห็นได้จากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนักศึกษาหญิงในระดับมหาวิทยาลัยเขาจะใส่ชุดประจำชาติ
อ๋าวหญ่าย สีขาว เป็นชุดนักศึกษา และสตรีทั่วไปเขาก็สวมใส่ชุด อ๋าวหญ่าย หลากหลายสีสวยงาม เห็นได้ทั่วเมืองดานัง เป็นเอกลักษณ์ของเขา หรือการให้เด็ก ๆ นักเรียนผูกผ้าพันคอสีแดง เพื่อบ่งบอกว่าเป็นลูกหลาน โฮจิมินท์ วีรบุรุษของชาติเขา

        เห็นอย่างนี้แล้วก็นึกว่าแล้วไทยเราปลูกฝังอะไรที่เป็นแบบ
ฝังหัว อย่างเขาหรือเปล่า ก็ไม่ถึงขนาดนั้น คงเป็นเพราะบ้านเมืองเราไม่ใช่สังคมนิยมอย่างเขานั่นแหละ… การปลูกฝังแบบ ฝังหัว ถ้าเป็นเรื่องดีก็น่าทำนะคะ เห็นคุณครูประจำชั้นหลายคนของไทยเราก็มีการตั้ง กฎของห้องเรียน ให้นักเรียนได้ถือปฏิบัติอยู่เหมือนกัน แต่หลายคนก็บ่นว่าเด็กไม่เป็นอย่างนั้น…เป็นเพราะอะไรกันน๊า….

หมายเลขบันทึก: 55375เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2006 02:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมชอบนิสัยที่รักในความขยันของชาวญวนที่ภาษาทางนครพนมเรียกว่า  แกว  ซึ่งพวกเขาบางคนมาแต่งงานกับญาติผมก็มี...และในอดีต  ท่านประธานาธิบดี โฮจิมินท์..เคยมาอยู่ที่หมู่บ้านหนึ่งในนครพนมด้วยครับ...ตอนผมเป็นเด็กเกือบได้ไปทำงานอยู่กับญาติที่เป็นญวน

และเริ่มเรียนนับตัวเลข  ที่ว่า  หมวด  หาย  บา  บน  หน่ำ  เส่า   ใบ  ตาม จิน  เมย...ก็คือการนับ  1...2...3...4...5...ฯลฯ...นั้นเองครับ

ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณท่านอาจารย์ umi ค่ะ
  • เป็นความรู้ใหม่ของดิฉันค่ะ ว่าประธานาธิบดีโฮจิมินทร์เคยมาอยู่ที่นครพนมบ้านเราด้วย
  • คนเวียดนามน่ารักค่ะ อัธยาศัยดี แต่ก็มีแม่ค้าบางคนที่ขี้โกงนิดหน่อย ทำเป็นไม่รู้เรื่องเวลารับเงินเราไปแล้วไม่ทอนให้เรา
  • มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดิฉันไปเดินดูข้าวของจุกจิกตามฟุตบาทเมืองเว้กับเพื่อน ๆ แม่ค้าจะขายภาพให้เราภาพละ 5 บาท (20 ใบราคา 100 บาท) คิดเป็นเงินดองเท่ากับภาพละ 2,000 ดอง พวกเราสามคนจะซื้อคนละ 20 ใบ ก็คิดเป็นเงินดอง 40,000 ดอง พอทุกคนให้แบ็งค์ใบละ 50,000 ดองเธอไป แม่ค้ารับไปสามใบหน้าตาเฉยแล้วก็จะไม่ยอมทอนเงินให้เรา
  • ดิฉันไม่ยอมจึงเอาเงินคืนและไม่ซื้อภาพของเธออีกเลย แต่พี่ผู้ชายสองคนเขาใจอ่อนยอมซื้อเธอ ซึ่งเธอก็ยอมทอนเงินแต่โดยดี สำหรับดิฉันไม่ซื้อเลยเพราะเห็นว่าแม่ค้ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์คิดจะคดโกง เราไม่น่าไปอุดหนุน
  • เมื่อเดินทางไปที่วัดเทียนมู่ พวกเราไปเจอภาพแบบเดียวกันนี้อีก แถมราคาถูกลงด้วย เขาคิด 30 ใบราคา 100 บาท ดิฉันก็เลยซื้อที่นี่
  • ตอนข้ามไปเวียดนาม ทางคณะได้แจกเอกสารเล่มเล็ก ๆ ให้เราเรียนรู้ภาษาเวียดนาม ดิฉันไม่ได้นำติดตัวมาด้วย จำภาษาเวียดนามได้คำสองคำติดปาก คือ "กามเอิน" หมายถึง "ขอบคุณ" และ "แดบหลำ" หมายถึง "สวยมาก" ค่ะ
  • แต่ที่รู้ ๆ สาว ๆ เวียดนามสวยมากค่ะ หาคนเจ้าเนื้อหรืออ้วน ๆ ลงพุงแบบพวกเราไม่ค่อยเจอ อาจจะเป็นเพราะชุด "อ๋าวหญ่าย" ซึ่งเป็นชุดประจำชาติก็ได้ที่ทำให้สาว ๆ จะต้องรักษาทรวดทรงองค์เอวเธอให้สะโอดสะองค์ไว้ และการปั่นจักรยานอยู่ทุกวันก็น่าจะทำให้หุ่นดีด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ ปวีนา

หนูชื่อ อารยาค่ะ อยากจะรบกวน คุณ ปวีณา นิดหน่อยค่ะ

คือ หนูต้องทำ โปรเจค ส่งอาจารย์ น่ะค่ะ เป็น งานที่ ต้องติดต่อกับ คนเวียดนาม นะค่ะ

ไม่ทราบว่า คุณ ปวีณา พอ จะแนะนำ คนเวียดนามให้ หนู หน่อยได้ไหมค่ะ

ขอแค่ อีเมล์ ก็ พอค่ะ ถ้าไม่เป็นการรบกวน จนเกิน ไปนะค่ะ

ขอความกรุณา ด้วยค่ะ

อารยา

ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท