เห็นเป้าหมายเล็กในขณะจัดกระบวนการเพื่อเป้าหมายใหญ่


กระบวนการครั้งนี้ ได้ทำให้ผมทราบว่า เป้าหมายที่วางไว้นั้นเป็นเป้าหมายใหญ่เสียแล้ว คือกลายเป็นแม่ปลา เพราะผมพบลูกปลาตะเพียนอีกมากมายที่ว่ายวนเวียนอยู่เต็มไปหมด

             ๙ ต.ค.๔๙   เป็นงานภาคสนามตามปกติที่ผมปฏิบัติอยู่ทุกวัน   และต้องเดินทางอยู่เรื่อย ๆ ไม่ค่อยได้นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เลยช่วงหลัง ๆ นี้   พบว่าการห่างหายไปนานทำให้หนืดในการบันทึกอยู่เหมือนกันครับ   ได้ตระเวนเยี่ยม  Blog  ของท่านสมาชิก GotoKnow
หลายท่าน ยังไงวันนี้ถึงแม้นจะเหนื่อยล้าก็ต้องบันทึกเสียบ้างแล้ว 
            วันที่ ๑๙ ต.ค.๔๙  ได้มีโอกาสนำกระบวนการ Km ทดลองใช้เพื่อการเรียนรู้และฝึกตนเองและทีมงาน  คือคณะกรรมการศูนย์บริการ
และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล    สมาชิกสภาอบต. และน้องนักวิชาการเกษตร ของ อบต.ช้างซ้าย  ครูในโรงเรียนเจ้าของสถานที่ที่ผมขอใช้บริเวณใต้อาคารจัดกิจกรรม  ได้สังเกตุการจัดกระบวนการของผม 

            ซึ่งดูท่านให้ความสนใจมากเลย   การดำเนินการ   ก็เพื่อต้องการให้เกษตรกรได้เรียนรู้ศึกษา วิเคราะห์ตนเองและภาพรวมของสังคมกิจกรรมอาชีพการปลูกมันเทศว่าความเป็นจริงอยู่อย่างไร   ผมได้เชิญหลายฝ่ายเข้ามาร่วมเพื่อต้องการที่จะขยายกระบวนการ Km ไปสู่เพื่อนร่วมงานหลาย ๆ หน่วยงานโดยปฏิบัติกันจริง ๆ แล้วค่อยบอกกันทีหลัง   ผมได้ดำเนินการตามกระบวนการที่ร่างไว้ทันที

          แรกเริ่ม  ได้ขอความร่วมมือจากคณะกรรมการศูนย์บริการ ฯ  คนที่เคยผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชนมาแล้วมาฝึกการทำหน้าที่คุณอำนวย  และนักวิชาการเกษตร อบต.ฝึกเป็นคุณลิขิต  โดยหารือกันก่อนดำเนินการว่า   เป้าหมายเราต้องการอะไร  ก็คือต้องการให้เกษตรกร "ผลิตมันเทศที่ปลอดภัยจากสารพิษ"
ซึ่งถ้าจะไปบอกหรือห้ามเขาโดยตรงคงเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ 
ก็ต้องค่อย ๆ ให้เรียนรู้และเห็นข้อมูลประจักษ์ด้วยตนเอง  เราจึงค่อยสอดแทรกสิ่งที่ต้องการลงไป 

           กิจกรรมแรก  ผมเรียกว่า  "คลายกังวล "   เนื่องจากพบว่าการจัดประชุม  อบรมเกษตรกรในพื้นที่ใกล้บ้าน  เขาไม่หลุดพ้นจากภารกิจ
ประจำวันที่มีอยู่  และยิ่งประชุมอยู่ใกล้บ้านแล้วเขายิ่งอยากทำภารกิจนั้น  ซึ่งเป็นการสร้างความกังวลอย่างหนึ่งที่ได้ใจมายาก  ไม่เต็มที่ในการทำกิจกรรมร่วม  วิธีการที่ทำคือแจกกระดาษ ขนาด 1/4 ของกระดาษ เอ 4 ให้เขียนชื่อ นามสกุล แล้วตั้งคำถามว่า "ตอนออกจากบ้านนั้นท่านคิดกังวลอยู่กี่เรื่องอะไรบ้าง "  ให้เขียนลงไป  และบอกความกังวลของเราเอง(ทีมวิทยากร) เขียนนำว่ากังวลเรื่องใด  แล้วนำกระดาษนั้นไปวางในตะกร้า  แล้วพูดชักนำเข้าสู่กระบวนการโดยไร้กังวลให้นำความกังวลเหล่านั้นที่ต้องทำ  ไปฝากไว้ในตะกร้าก่อน  หลังจากนั้นเขาคือบุคคลตามที่เรามุ่งหวังที่ไร้ความกังวลแล้ว


           เริ่มชี้แจงทำความเข้าใจ ที่มาทำกิจกรรม  พร้อมทั้งบอกเป้าหมายที่ต้องการ  คือการปลูกมันเทศที่ปลอดภัยจากสารพิษ  

   
           กิจกรรมแบ่งกลุ่ม  แบ่งกลุ่มออกเป็น  ๓  กลุ่ม  ๆ ละ ๒๐-๒๕ ให้คณะกรรมการบริหารศูนย์บริการ ฯ ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยทั้ง ๓  กลุ่ม ขั้นตอนนี้ไม่ซับซ้อนอะไรมากเพราะให้แบ่งไปตามหมู่บ้านที่มาร่วม จำนวน ๓ หมู่บ้าน


           ส่วนคุณลิขิตกลุ่มแรกให้นักวิชาการเกษตรของ อบต. กลุ่มสอง ครูสอนโรงเรียนเอกชน ที่เป็นสมาชิกกลุ่มปลูกมันเทศช่วยเป็นคุณลิขิต   และอีกกลุ่มเลือกจากสมาชิกในกลุ่มที่มีความสามารถและเคยมีประสบการณ์บันทึกรายงานการประชุม 



            ทีมวิทยากรได้ตกลงกันว่า ในการที่จะได้มาซึ่งโจทย์ที่เราต้องการที่ต้องการจำเป็นต้องใช้กรรมวิธี  โดยจะต้องคอยตั้งคำถาม  เพื่อสกัดมูลเหตุปัจจัยที่โน้มนำให้เกษตรกรใช้สารเคมีในการปลูกมันเทศของเกษตรกรออกมา  แต่จะไม่ไปสอบถามเขาโดยตรง   แต่โดยวิธีการให้เกษตรกรศึกษาต้นทุนการปลูกมันเทศตั้งแต่เริ่มต้น (ตั้งแต่เริ่มคิดจะปลูก)  จนถึงขายผลผลิตว่าได้ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง  โดยใช้กระบวนการ " เรื่องเล่าเร้าพลัง "

             ให้ทุกคนในกลุ่มช่วยกันเล่า พลัดเปลี่ยนกันเล่าซึ่งก็สนุกดี  ผมนั้นคอยวิ่งไปมาระหว่าง ๓ กลุ่ม เพื่อสังเกตุพฤติกรรมทั้งของทีมวิทยากร(คุณอำนวยมือใหม่ ,คุณลิขิตมือใหม่) คุณกิจ (เกษตรกร) รวมถึงโจทย์ที่ต้องการเห็นแล้วเริ่มปรากฎให้เห็นในกระดาษบนป้ายผลที่ออกมาต้นทุนของการใช้  ปุ๋ยเคมี  และ สารเคมีสูงพอสมควร  และเป็นสารเคมีชนิดใดบ้าง  ซึ่งทำให้ทราบได้ทันทีว่า  อยู่ในระดับปริมาณที่เป็นอันตรายหรือไม่  และได้รู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกมากจากเดิมที่รู้อยู่แล้วนั้น 


            เมื่อผ่านกระบวนการครั้งนี้ทำให้รู้ว่าข้อมูลที่เคยมีอยู่นั้นล้าสมัยไปมากแล้ว  เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง  ที่ดึงให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมี  และสารเคมี  ซึ้งครั้งนี้ได้ทราบโจทย์ว่าจะต้องให้เกษตรกรได้เรียนรู้อะไรต่อไป   เพื่อให้ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี  ไปสู่เป้าหมายการปลูกมันเทศที่ปลอดภัยจากสารพิษ


            กระบวนการครั้งนี้  ได้ทำให้ผมทราบว่า เป้าหมายที่วางไว้นั้นเป็นเป้าหมายใหญ่เสียแล้ว  คือกลายเป็นแม่ปลาตะเพียน   เพราะผมพบลูกปลาตะเพียนอีกมากมายที่ว่ายวนเวียนอยู่เต็มไปหมด  ทำให้ค้นพบโจทย์ที่ผมคิดว่าจะต้องแปรรูปแบบเป็นเป้าหมายย่อยในการ"จัดการความรู้  เรื่องการปลูกมันเทศ"  เรื่องเดียว  จากเป้าหมายใหญ่เพื่อ จัดกระบวนการเรียนรู้กันต่อไป  เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้  เกษตรกรที่เป็นคุณกิจ  จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตมันเทศเพื่อเป็นสินค้าที่ปลอดภัยและสร้างรายได้ของเขาต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 55291เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2006 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมคิดว่ามีผมคนเดียวที่ไม่ค่อยได้บันทึก ยังมีพี่ชาญวิทย์อีกคนที่ไม่ค่อยได้บันทึกในช่วงนี้เช่นเดียวกัน
  • กิจกรรมหากได้มีคนเข้าใจและใช้เครื่องมือKMในทุกโอกาส เหมือนที่พี่ชาญวิทย์กำลังทำอยู่นี้ คงเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะมีความเป็นอิสระ ....และทำให้เนียนได้ดีมากครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมาให้ได้ ลปรร.

เรียน คุณสิงห์ป่าสัก

          ช่วงนี้ต้องทำงานให้ทันกับเวลาที่มี  เพราะเวลามีเท่าเดิมแต่งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ

           เมื่อเช้าพยายามเข้า GotoKnow หลายรอบแต่เข้าไม่ได้ เพิ่งได้ตอนนี้ครับ

           ขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท