AAR Peer Assist ระหว่างทีม รพ.แพร่ รพ.นนทเวช กับ รพ.เทพธารินทร์ (๓)


ความต้องการจากข้างนอกก็ช่วยกระตุ้นให้เราได้พัฒนา แล้วก็ทุกครั้งที่คนของเรามาร่วมแลกเปลี่ยน เขาก็เห็นอะไรดีๆ ที่จะเอาไปทำต่อ

(ตอนที่ ๑) (ตอนที่ ๒

โรงพยาบาลนนทเวช

คุณภาสรร วงศ์โกมลเชษฐ นักกายภาพบำบัด

จริงๆ แล้วทีมเบาหวานของนนทเวชเริ่มมานานมาก หลายปี แต่ดูเหมือนว่า off ๆ on ๆ ตามกระแส ก็เลยทำให้ไม่เต็มที่ เท่าที่ได้ร่วมกับทีมเบาหวาน นักกายภาพฯ อย่างของนนทเวชต้องบอกว่าแผลน้อยมาก อาจเป็นเพราะลักษณะของประชาชนแถบนั้นจะไม่ค่อยมี อีกทีก็เป็นบน ward อยู่ที่ ward และ OPD ที่เขาจะเจอค่อนข้างเยอะกว่า แต่ว่ากายภาพฯ ส่วนใหญ่จะดูในเรื่องของ complication ยังไม่ได้ป้องกัน เท่าที่ไปเจอก็คือไม่ได้อยู่ในส่วนที่จะก่อนจะเกิดอะไรขึ้นคือจะอยู่ในส่วนของการส่ง consult complication ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็ให้เราเข้าไป take care ดูแลตรงนั้น

ตอนนี้สิ่งที่ได้เพิ่มก็คือคงต้องเข้าไปก่อน ตอนนี้จริงๆ แล้วทีมพยายามแนะนำเรื่องการดูแลเท้า เพิ่มเริ่มปีนี้ ก็มีการแนะนำเป็นกรุ๊ป exercise พอทำเป็นกรุ๊ปปัญหาที่เจอคือ connect คนมายากมาก การที่จะมาทำเป็นกรุ๊ปเป็นอะไรที่ยากมาก การทำ individual ก็จะมีพยาบาลที่ OPD ทำก่อน พอแรกรับปุ๊บน้องก็จะทำมาก่อน ตรงนี้เป็น process เป็นโภชนากร เป็นเภสัชฯ แล้วก็เป็นพยาบาล ที่เป็น consult จากวิชาชีพ

แต่ที่มาดูวันนี้ก่อนมาไม่ได้คาดหวังอะไรเลย พอพี่เขาบอกให้มา เราก็ว่าจะได้ความรู้เพิ่มเติม แต่เราก็ไม่ได้รู้ว่าหัวข้ออะไร ต้องมาเอาอะไร ก็มารู้กว้างๆ คือความรู้พื้นฐานต้องบอกตรงๆ ว่าตอนที่เรียนมาหรือในวิชาชีพเรื่องเบาหวานมีจำกัดมาก เท่าที่เรียนมาคือไม่ได้ focus ตรงนั้น เพราะว่าอาจไม่เหมือนรัฐบาล อย่างเอกชนไม่ได้ลง สูติ ศัลยฯ Med เด็ก คือภาพมันครอบคลุมทุกบริเวณ ไม่ได้แยกว่าคนนี้จะเป็น specialist Med คนนี้จะเป็น specialist Ortho. ก็คือกว้าง ดูทุกสิ่งทุกอย่าง

ทีนี้พอมา สิ่งที่ได้ เอาวิชาชีพตัวเองก่อน ก็คือได้รู้เรื่องรองเท้า anatomy คืนกลับไปหมดแล้ว เดี๋ยวจะไปเก็บกลับคืนมาใหม่ เพราะว่าจะต้องไปดูแลอีกที แล้วก็เรื่องรองเท้าคงต้องไปคุยกับโรงพยาบาลอีกที เป็นนโยบายว่าจะให้เราทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเอกชนจะมี limit ค่อนข้างเยอะ service เราจะทำได้ถึงไหน เพราะว่าถ้าเราจะไปป้องกันตรงนั้นก็ต้องมีให้มากขึ้น ได้น้อยไหม คงไม่น้อยเพราะได้วิชาชีพอื่นมาด้วย ไปรู้เรื่องของพยาบาลที่ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนว่าทำแผลอย่างไร มันต้องยังไง

ถ้าจัดกิจกรรมแบบนี้อีกเท่าที่เห็นตอนนี้การจัดกรุ๊ปเล็กดี ดีในแง่ของการแสดงความคิดเห็น ประสบการณ์มันตรง แต่ทั้งนี้เผอิญประสบการณ์ไม่เหมือนกับพวกพี่ในแง่ของวิชาชีพ ตัวเองยังไม่มี ก็เลยไม่มีอะไรจะไป share ก็คือถ้าอยากให้เพิ่มก็คือมีคนที่มีประสบการณ์จริงมาอีก คือเหมือนมีจากหลายๆ ที่ เพราะหลายๆ ที่ประสบการณ์ก็คงไม่เหมือนกัน วัสดุก็ไม่เหมือนกัน วิธีการก็ไม่เหมือนกัน ถ้าได้อีกเยอะๆ ก็ดี

ที่จะกลับไปทำต่อคือ scope งานให้เพิ่มไปอีกว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มขึ้น ก็คงต้องไปคุยในแง่ของทีมว่าจะทำอะไรเพิ่มว่าตอนนี้จะทำอะไรต่อไป

คุณเจริญขวัญ วงศาโรจน์ พยาบาลวิชาชีพ (ดูแลคนไข้เบาหวาน)

เพิ่งจบมา 3 ปี ประสบการณ์ก็ยังไม่ค่อยมากเท่าไร ความคาดหวังที่มาครั้งนี้ก็เหมือนกับคุณเอื้อย คือไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะไม่รู้ว่าจะมาเจอกับอะไร จริงๆ ก็คิดว่ามาโรงพยาบาลเทพธารินทร์ต้องเจอ case เกี่ยวกับเท้า ก็คือประสบการณ์ของคนไข้นนทเวชยังไม่ค่อยมีเท่าไร เกี่ยวกับคนไข้เป็นแผล ก็คาดหวังว่าจะมาเจอ แล้วเราก็รู้จัก case มากขึ้น

ที่เกินความคาดหวัง ก็คืออย่างการใช้ vacuum dressing ตอนที่เรียน ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าทำอย่างไร ก็ได้ประสบการณ์ตรงนี้ไป

ถ้าจัดกิจกรรมแบบนี้อีก ถ้าเป็นกลุ่มเล็กๆ อย่างนี้ก็เห็นด้วย แต่ว่าอยากจะให้นอกจากการบรรยาย อยากจะให้มีการเจอกับคนไข้จริงๆ บ้าง จะได้มีประสบการณ์ ไม่ต้องวาดภาพเอง เห็นได้ชัดเจนกว่า ที่จะกลับไปทำต่อ ก็อีกหลายอย่างที่ต้องกลับไปทำ เพราะอย่างที่ทราบคือเราเพิ่งเริ่มจริงๆ จังๆ ก็ต้องไปคุยกับทีม

คุณรัชนี โศจิศุภร พยาบาลวิชาชีพ ผู้จัดการแผนกอายุรกรรมผู้ป่วยนอก
 
ความคาดหวังคืออย่างที่เรียนผู้อำนวยการว่าเราจะไปดูงานที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์สักครั้ง อยากดูว่าที่โน่นเป็นอย่างไรบ้าง เรานึกภาพไม่ค่อยออก เพราะว่ารู้สึกว่า foot clinic เคยไปดูงานที่วชิระ พี่เขาก็ยังไม่ได้ทำ ไปดูราชวิถี ก็ยังไม่ได้ทำ ก็เลยบอกว่าที่นี่น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด ก็เลยขอ ผอ.ท่านมา ท่านก็บอกว่าลองไปติดต่อดูซิว่าเปิดเมื่อไร พอโทรมาปุ๊บคุณพรรณก็บอกว่า 6-7 มาเลย ก็เลยเหมือนที่บอก 2 คนนี้ก็เลยถูกเรียกกะทันหัน ก็เลยไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก

แต่เรารู้ว่าอยากมาดูคลินิก มาดูว่าที่นี่ทำอะไรบ้าง มีอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อเช้าก็แอบไปดูแล้ว มาถึง 8 โมงเช้าก็ไปดู จากที่เมื่อวานไม่มีคนไข้ วันนี้มีคนไข้ คุณป้าเข้ามารอทำเล็บ trim callus ก็ได้ idea อันที่หนึ่งก็เรื่องเตียง ตอนแรกก็คิดอยู่ว่าจะใช้เตียงแบบไหน อย่างไรก็นึกภาพไม่ค่อยออก ไป apply เอาเตียงที่ทำผม เอาเตียงเสริมสวยนี่แหละ ใหม่ๆ คิดว่าจะยังไม่ลงทุนก่อน พอได้ไปดูก็เห็นว่าเตียงเสริมสวยไม่สะดวก คือพอเราทำเล็บเสร็จ ต้อง trim callus ก็ต้องยกเตียงขึ้น ไม่อย่างนั้นมันจะไม่สะดวกกับคนทำ ก็เลยคุยกับน้องว่าอย่างไงต้องเป็นเตียงไฮโดรลิกแน่นอน

ในส่วนของการให้ความรู้นี่ เราก็ได้รับการอบรมมาแล้วระดับหนึ่ง ก็พอรู้แล้วว่าจะ set อย่างไร แต่เรื่อง service นี่เรายัง set ไม่ได้ กับเรื่อง wound care ก็ยังนึกภาพไม่ออก จริงๆ แล้ว wound care ตอนนี้เป็นหน้าที่ของ OPD, ER เขาทำอยู่ ที่นี้ถ้าเราเอาเท้ามาทำ เราก็จะดูว่ากลับไปต้องไปคุยกับทีมว่าเราจะรวมกันไหม อย่างที่ได้ idea จากอาจารย์นิโรบลเรื่องการดูแลแผล จริงๆ แล้วตอนนี้เราเคยส่งน้อง ER ไปดูเรื่อง wound care แต่ที่นี้ที่เอกชนมีปัญหา turn over rate พอสมควร น้องที่เรียกมาก็ลาออก ก็เลยกลายเป็นว่าเราจะเริ่มอย่างไร ทีมที่มีอยู่ก็ขึ้นๆ ลงๆ คนโน้นลาออก คนนี้ลาออก ก็ต้องมีคนใหม่มาอีก ก็จะมีปัญหานิดหนึ่ง

แต่รอบนี้กลับไปก็คิดว่าเราจะ revise พื้นที่ OPD ขึ้นมาใหม่ ก็เลยจะเสนอว่าเป็น wound clinic ไปเลย เป็นที่ทำแผลด้วย อะไรด้วยตรงนี้ ก็คิดว่าจะลองนำ idea ที่ได้จากที่นี่ไปเสนอดู ก็ได้เกินที่คาดหวังรวมทั้ง vacuum dressing ปกติก็ไม่ได้อยู่ใน ward เรื่องพวกนี้ ประสบการณ์ตรงนี้เลยยังไม่มี แต่ก็คิดว่าจะได้นำเอาไป share กับน้องๆ ที่ OPD ที่ดูแลตรงนี้อีกทีหนึ่ง

กิจกรรมก็คงจะอยากให้จัดให้ครอบคลุมใน field ของเบาหวานที่เราต้องดูแลคนไข้ แต่ว่าจะค่อยๆ เริ่มไปทีละส่วน เพราะทีมของเรายังมีเจ้าหน้าที่น้อย แต่มีศูนย์ตั้งขึ้นมา 12 ศูนย์ ก็เลยถูกดึงไปๆ มาๆ ก็คือบุคลากรไม่เยอะ แต่ในลักษณะของ Business Plan กำลังจะ growth มันก็เลยหนักหน่อย จริงๆ คิดว่าถ้าทำ DM อย่างเดียวคิดว่ามันไหว ทำได้ แต่ตอนนี้ต้องทำอย่างอื่นอีก ก็อาจต้องไปพยายามถ่ายทอดคนอื่น

ทีมผู้แบ่งปัน
คุณนุชฎา ชื่นอานนท์ Burn Unit คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ตอนที่อาจารย์นิโรบลชวนมา ก็มาเลยไม่ได้คาดหวัง ได้วันหยุดก็มา ก็นึกเสียดายที่เมื่อวานไม่ได้มา รู้สึกว่าตนเองคงพลาดอะไรไปเยอะเลย แต่แค่ครึ่งวันเช้าก็รู้สึกว่าได้อะไรมาเยอะ ได้ทั้งความรู้เพิ่มเติมและก็ได้เห็นพี่ๆ น้องๆ มา share ประสบการณ์ร่วมกัน คือตัวเองอยู่โรงพยาบาลใหญ่ แล้วก็จะมี product อะไรมาให้ใช้เยอะแยะ ก็เลยนึกกันตลอดเวลาว่าที่อื่นเขาใช้อะไรกัน เขาทำอย่างไรกัน

ทีนี้ก็ได้มาฟังว่าเขารู้จัก apply ในสิ่งที่เขามีอยู่ในแถวบ้านเขา แถวชุมชนเขาเอามาทำ คือถึงมันอาจดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็อยากให้ค่อยๆ พัฒนากันไป ซึ่งก็เหมือนกับเพิ่งเริ่มต้น คือถ้าคราวหน้ามาดีไม่ดีอาจจะต้องขอยืมเทคนิคจากที่แพร่มาใช้ เพราะดูเหมือนว่าแพร่จะนำไปพัฒนาต่อ และทางเราถ้ามี case ดีๆ ใหม่ๆ ก็จะเก็บเกี่ยวความรู้ไว้แล้วคราวหน้าก็มา share กัน

ผศ.ดร.นิโรบล กนกสุนทรรัตน์
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ครั้งแรกก็มาแบบนี้ เขาจัด 2 วัน มาได้วันเดียว คือวันที่ 2 ไม่เคยเจอวันแรกเลย ครั้งนี้ก็พอดียุ่งๆ อยู่ อาจารย์เขาให้ schedule ไป แต่ไม่ได้ดู อาจารย์ติดต่อไปว่าวันเสาร์มาได้หรือไม่ มาได้ก็จะมาฟังคนอื่นวันเดียว พอมาเปิด schedule เมื่อวาน ก็เห็นว่ามีตั้งแต่เมื่อวาน เสียดายคราวที่แล้วก็ไม่ได้มา ไม่ได้เห็นว่าคนอื่นเขาทำอย่างไร PCU เขาทำอย่างไร โรงพยาบาลอื่น โรงพยาบาลชุมชนทั่วไปในจังหวัดเขาทำอะไรกันบ้าง เขา active ขนาดไหน ทำไปเยอะแค่ไหน พอฟังตอนท้ายเขาทำกันเยอะ มีการ co ทั้งศัลยฯ educator

เราก็รู้สึกว่าเขาทำได้ถึงขนาดนี้ ที่รามาฯ ทำได้หรือไม่ ที่รามาฯ เป็น specialty มัน specialๆๆ มันไม่ coordinate กันหรอก โอกาสที่จะมาเชื่อมโยงกันค่อนข้างยาก แต่เรามี idea ที่จะไปทำแล้ว อย่างคุยกับน้องในเรื่องของทำให้ครบวงจร ตั้งแต่เอาคนไข้ที่ยังไม่เป็นแผลเบาหวานมาสอนเรื่องการดูแลเท้า ก็ยังไม่ได้ทำจริงจังแต่ว่าตอนนี้ให้นักศึกษาปริญญาโทเข้าไปทำเป็นโครงการ คนไข้ก็ชื่นชอบมากเลย ก็มีการแช่เท้า การตัดเล็บ ก็สนุกสนานกัน ซึ่งคนไข้ชอบมาก แต่จะให้เป็นทีมเลยก็ยังไม่ได้ จะให้นักศึกษาไปเริ่มต้น แล้วก็ให้คนที่สนใจเห็น แล้วก็ดูว่าเขาจะเอาด้วยหรือไม่ คือเป็นการพัฒนา ซึ่ง HA ก็บังคับให้มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งกะจะให้น้องๆ ที่เป็น educator เป็นคนลงมือประสานเพื่อให้ลงสู่การปฏิบัติ ทำเป็นแบบถาวร โดยที่ผู้ปฏิบัติตรงนั้นเป็นผู้ลงมือกระทำ ก็มาฟังตรงนี้ก็ได้ไอเดียตรงนั้นไปว่าสิ่งที่เราคิดก็ไม่เว่อร์ คนอื่นก็ทำกันแล้ว

ดร.วัลลา ตันตโยทัย ผู้ประสานงานเครือข่าย KM เบาหวาน โรงพยาบาลเทพธารินทร์

คาดหวังว่ากิจกรรมจะได้ตอบสนองความต้องการของทีมที่จะมา มีอะไรที่ได้มากกว่าความคาดหวัง ก็ได้ เพราะว่าเราก็ได้เห็นภาพ อย่างแพร่ก็เห็นเลยว่าทีม active ไปเรียนรู้อะไรมาก็เอามาใช้ มาทดลอง คือพร้อมที่จะเอาสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ส่วนนี้คิดว่าเป็นความโชคดีของคุณหมอวิชินและของโรงพยาบาลแพร่ เราก็จะเอามาพูดต่อในคนของเรา

ส่วนที่น้อยกว่าความคาดหวังคงไม่มี แต่ก็รู้สึกว่าการจัดอาหารครั้งนี้ได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทุกทีคนจะติดใจ และที่น้อยกว่าอีกอย่างคือยังรักษาเวลาไม่ได้ตรง นี่ก็ late มาแล้ว

เหตุที่ต้องติดต่อคุณหมอวิชินไปบ่อยๆ เพราะว่าการทำ peer assist จะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าทั้งทีมผู้ขอเรียนรู้กับทีมที่แบ่งปัน เราก็เคยเจอว่าขอมาเรียนเรื่องเท้า เรียนเรื่องค่าย แต่พอมาปุ๊บจะเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วย ยังไม่ได้เรื่องอาหารอะไรอย่างนี้ คือ focus ต้องชัดเจน แล้วก็ต้องคุยกันในทีมให้เข้าใจว่าเรามาเพื่ออะไรและมีอะไรที่เราอยากรู้บ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร ก็มองเห็นจุด ทำไปปรับปรุงไปเรื่อยๆ

สิ่งที่จะไปทำต่อก็คือมีอะไรที่บกพร่องก็ต้องไปปรับปรุงต่อไป ทีมนนทเวชเคยติดต่อเรามาจะมาดูเรื่องยาอย่างเดียว นี่ก็ฝังใจมาก เพราะหัวหน้าห้องยาคนก่อนเขาก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เภสัชฯ ก็ไม่ได้มีบทบาท เราก็รู้สึกอายมาก ไหนว่าเราเป็นศูนย์ เภสัชฯ ก็ไม่มีบทบาทอะไร ก็บังเอิญเมื่อวันอังคารและพุธมีทีมที่ประจวบฯ มาแลกเปลี่ยนเรื่องดูแลผู้เป็นเบาหวาน เราก็เลยเชิญทีมเภสัชฯ ขึ้นมาด้วย เราคุยให้เขาฟังว่าทางนนทเวชเคยขอมาดูแล้วเราไม่มีอะไรให้เขาดู เขาก็เลยตื่นตัวและมาร่วมกิจกรรมกับเรา แล้วก็มีความคิดที่จะพัฒนา ก็รู้สึกว่าความต้องการจากข้างนอกก็ช่วยกระตุ้นให้เราได้พัฒนา แล้วก็ทุกครั้งที่คนของเรามาร่วมแลกเปลี่ยน เขาก็เห็นอะไรดีๆ ที่จะเอาไปทำต่อ เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้ ไม่มีใครขาดทุน

ทีมอื่นๆ ที่เขามาจากต่างจังหวัด เขากลับไปเขาก็จะคุยกันไปในรถว่าจะกลับไปทำอะไรๆ หัวหน้าก็แกล้งหลับบ้าง แต่จริงๆ เขาบอกว่าไม่หลับ ก็ฟังลูกน้องคุยเขาบอกว่าได้ใจลูกน้อง ก็คิดว่าคุณหมอวิชินก็ได้ใจทีมนะ หมายถึงว่าทีมมีความคิดและมองออกว่าจะไปทำอะไร เพราะฉะนั้นกลับไปก็รีบทำ อย่าไปทิ้งไว้ กลับไปอาทิตย์นี้ อาทิตย์หน้าก็ต้องเริ่มเลย เพราะทุกคนยังมีไฟอยู่ ถ้าทิ้งไว้นานเดี๋ยวจะเลือนไป ไฟก็จะมอด

ท้ายที่สุดก็ขอบคุณที่ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนกัน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 55259เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2006 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท