สายธารความรู้สู่การเลี้ยงโคแบบไทบ้าน ตอนที่ 5 นายฮ้อยสมัครเล่น


ตลาดนัดโค -กระบือ คือ ตลาดชีวิต ที่มีอนิจจัง ทุกขัง อนนัตาอยู่ในตัว

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม  2549 ได้มีโอกาสไปศึกษาเก็บข้อมูลที่ตลาดนัดโค - กระบือจังหวัดบุรีรัมย์ ไปแบบศิลปินเดี่ยวไม่มีเพื่อนกะว่าไปหาเอาข้างหน้า  ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะทุกคนให้การต้อนรับและให้ความร่วมมือดีมาก  โดยเฉพาะคุณลุงหว่างเจ้าของตลาดนัดท่านเป็นกันเองมาก ต้องของขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ ตลาดนัดสนามนี้จะเปิดทำการสองครั้งต่อสัปดาห์ คือทุกวันพุธ และวันอาทิตย์

          แรกเริ่มไปถึงตลาดนัด เวลา 07.42 น.  พบว่ามีโค - กระบือ ไม่มากนัก เพราะในวันอาทิตย์ขายกันเฉพาะโค แต่ไม่มีกระบือ เพราะจะขายกระบือในวันพุธเท่านั้น และจะมีการซื้อขายโคกันไปบ้างแล้วในวันพุธที่ผ่านมา และที่สำคัญในวันนี้พ่อค้าซื้อโคกลับไปกันเกือบหมดแล้วเนื่องจากมีการนำโคเข้ามารอขายและขายกันตั้งแต่เย็นวันเสาร์ ส่วนใหญ่พ่อค้าที่มาขายจะมานอนค้างคืน ดังนั้นถ้าใครอยากได้โคงามและราคาถูกต้องมาดักซื้อตั้งแต่วันเสาร์  ถ้าช้าจะได้โคราคาแพงเพราะผ่านมือพ่อค้ามาแล้วหลายรายเหมือนกับการปั่นหุ้น และถ้าไปช้าหรือสายกว่านี้ ประมาณ 10.00 น. แล้วจะพบแต่ตลาดว่างเปล่าค่ะ

          ในตลาดนัดนี้ ไม่มีขายเฉพาะโค -กระบือเท่านั้นยังมีสินค้าชนิดอื่น ๆ วางขายทั่วไปคล้าย ๆ กับตลาดนัดคลองถม โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์จะขายดีเป็นพิเศษ เพราะตลาดนี้รายได้สะพัดและเจ้าของตลาดยังเปิดร้านขายอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการเกษตรแบบครบวงจร แถมราคายังย่อมเยา

          ตลาดนัดสนามนี้ถือว่ามีการจัดการดีพอสมควรภายในพื้นที่ 22 ไร่ มีพื้นที่สำหรับร้านค้า สำนักงานตลาดและที่จอดรถ ประมาณ  5  ไร่  คอกพัก  6  ไร่ พื้นที่เอาโคขึ้นรถ 1 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นสนามโค กระบือให้ลูกค้าซื้อขาย   ซึ่งเจ้าของตลาดบอกว่ายังคับแคบ เพราะเป็นตลาดใหม่ ต้นไม้ก็ยังเล็กร่มเงามีน้อย จึงได้สร้างกรระท่อมสำหรับให้พ่อค้านั่งพักต่อรองราคากันได้  แต่ส่วนใหญ่แล้วพ่อค้าทั้งหลายจะไม่พักตามศาลาถ้ายังขายไม่หมดแต่จะนั่งเฝ้าโคของตัวเองอยู่ใกล้ๆ วึ่งเป็นการง่ายต่อคนที่ต้องการซื้อสามารถภไปสอบถามราคาได้เลยไม่ต้องถามหาเจ้าของให้ยุ่งยาก

           ในตลาดนัดโค - กระบือนี้จะมีผู้เกี่ยวข้องในการซื้อขายอยู่ 4  ฝ่าย คือ

           1.  เจ้าของตลาดนัด  จะจัดการระบบตลาดให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย โดยคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการในจตลาดจากพ่อค้าที่นำโคมาขาย โดยคิดค่าธรรมเนียมตัวโคตัวละ 25  บาท ถ้าโคอายุน้อยกว่า 3 เดือนไม่คิดค่าธรรมเนียม และไม่คิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายใด ๆ อีกทั้งสิ้นเก็บครั้งเดียว 25 บาทต่อตัวก็แล้วเสร็จ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการต่อรองราคาของพ่อค้า ให้พ่อค้าตกลงกันเองให้เรียบร้อย เมื่อตกลงราคาซื้อขายกันเรียบร้อยแล้วตลาดก็จะออกไบสำคัยการซื้อขายหรือใบเสร็จให้กับผู้ซื้อ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเป็นโคที่มีการซื้อขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่ลักขโมยมาและยังเป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำโคที่ขโมยมาแล้วนำมาขายซื้อในตลาด

            2.  เกษตรกรที่นำโคจากฟาร์มของตนเองมาขาย  ส่วนใหญ่จะพบน้อยมาก เนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีประสบการณ์ในการต่อรองราคา  อาจไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าได้ หลายครั้งที่เกษตรกรต้องขายโคในราคาถูก เพราะบรรดาพ่อค้าจะพยายามหาตำหนิ หาข้ออ้างสารพัดมากดราคา  ดังนั้นถ้าไม่มีประสบการณ์หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ช่วยขายแล้ว ไม่สมควรอย่างยิ่งที่เกษตรกรจะไปขายเอง

           3.  เกษตรกรที่มาหาซื้อโคจากตลาดนัดไปเลี้ยงต่อ ทั้งนำไปใช้งาน ไปเลี้ยงขายต่อ และนำไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งเกษตรกรที่จไปซื้อก็ต้องระมัดระวังและมีประสบการณ์พอสมควรเหมือนที่กล่าวแล้วในตอนที่ 4  ไม่เช่นนั้นจะเจ็บตัวได้

           4.  พ่อค้าโค  ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ จะมาเล่าสู่กันฟังในตอนต่อไปค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 55186เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พยายามเชื่อมประเด็นความรู้ด้วยนะครับ ว่ามีความรู้ที่เกี่ยวกับเราอย่างไรบ้าง ถ้าไปแบบนักท่องเที่ยวจะไม่ค่อยได้อะไรมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท