จุดอ่อนแอดมิชชั่น โอกาสทองโรงเรียนกวดวิชา


แอดมิชชั่น-โอกาสทองโรงเรียนกวดวิชา

กมลวรรณ มักการุณ, จีราวัฒน์ คงแก้ว
ดูเหมือนว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอยู่นั้นยังเป็นการแก้ที่ "เกาไม่ถูกที่คัน" เพราะนโยบายการเปลี่ยนระบบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย จากระบบสอบคัดเลือก (Entrance Examination) มาเป็นระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ "แอดมิชชั่น" (Central University Admissions System: CUAS) ไม่ได้มีที่ท่าว่าจะทำให้บทบาทของ "โรงเรียนกวดวิชา" หรือติวเตอร์นอกระบบลดลงไปได้เลย

ปัญหาของระบบ "แอดมิชชั่น" สะท้อนจากความไม่พร้อมในการจัดสอบ "โอเน็ต" และ "เอเน็ต" ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปัญหาในขั้นตอนการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากพากันร้องเรียน จนสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต้องประกาศ "ยกเลิก" การตรวจผลสอบโอเน็ตและเอเน็ตในที่สุด

การนำระบบดังกล่าวมาใช้กลับยิ่งทำให้เด็กเกิดความไม่แน่ใจในสถานภาพความปลอดภัยของตนเอง เพราะระบบนี้ไม่เน้นการใช้ผลการสอบเป็นหลักเหมือนระบบเอนทรานซ์แบบเดิมที่เคยสอบปีละ 2 ครั้ง แต่พิจารณาจากผลการเรียนศึกษาบวกกับการสอบในวิชาหลักถึง 5 วิชา ข้อเท็จจริงดังกล่าวถูกยืนยันด้วยสถานการณ์โรงเรียนกวดวิชาเมื่อปีที่ผ่านมา

โดย "ธเนศ เอื้ออภิธร" นายกสมาคมผู้บริหารและธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา เปิดเผยว่า ความไม่เข้าใจในระบบแอดมิชชั่นแบบใหม่ (บวกกับความผิดพลาดของการตรวจข้อสอบในครั้งนี้) ทำให้เด็กนักเรียนเกิดความสับสน และทำให้ต้อง "เพลย์เซฟ" ด้วยการหันมาพึ่งโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น!!

ตลาดกวดวิชาสุดฮอต 5 พันล้าน โต 10%

"ธเนศ" กล่าวว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาด แม้ในระยะ 2-3 ปีให้หลังนี้จะมีการขยายตัวลดลงอยู่บ้างเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะในเวลานั้นตลาดนี้จัดว่า "บูม" สุดๆ แต่วันนี้ โรงเรียนกวดวิชาก็ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสกับธุรกิจอื่นๆ ธุรกิจนี้ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยมีมูลค่าเงินสะพัดกว่าปีละ 5 พันล้านบาท!!

เขาอ้างอิงถึงรายงานการวิจัย เรื่อง "การกวดวิชาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย" โดย รศ.ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยทำวิจัยไว้ในปี 2545 โดยการสำรวจเด็กนักเรียน 3,353 คน พบว่านักเรียน ม. ปลายทั่วประเทศมีอัตราการกวดวิชาประมาณ 30% โดยในจำนวนนี้ 70% เรียนจากโรงเรียนกวดวิชา และอีก 30% เรียนจากที่อื่นซึ่งไม่ใช่โรงเรียน เช่นเรียนกับครูพิเศษนอกเวลาเรียน และมีค่าใช้จ่ายในการกวดวิชาที่เกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 3,300 ล้านบาท

"แต่ปีนี้ สัดส่วนของนักเรียนที่กวดวิชาเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของนักเรียนทั้งหมด และตลาดโดยรวมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเติบโตของตลาดกวดวิชา" ธเนศ ยังเชื่อว่าตลาดของโรงเรียนกวดวิชาน่าจะโตกว่านี้ด้วยซ้ำ ถ้าในช่วงปีที่ผ่านมา ค่ายใหญ่ๆ ที่มีอยู่ประมาณ 10 กว่ารายชะลอการลงทุนใหม่ และชะลอการเปิดสาขา เนื่องจากส่วนใหญ่รอดูชะตากรรมหลังระบบแอดมิชชั่นที่เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ปี 2548 และปฏิบัติการเต็มที่ในปี 2549 นี้ นั่นเอง

"ผมคาดว่าหลังจากที่การเติบโตของโรงเรียนกวดวิชาหยุดนิ่งมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ปีนี้น่าจะเติบโตประมาณ 10% เนื่องจากมีพฤติกรรมการมากวดวิชาของนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" เขาระบุ "แอดมิชชั่น" คือ "โอกาส" ของติวเตอร์ "การสอบ O-NET และ A-NET ผมคิดว่าไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อโรงเรียนกวดวิชา ตรงกันข้ามอาจเป็นเชิงบวกด้วยซ้ำ ซึ่งอาจสวนทางกับความต้องการของคนออกนโยบายที่ต้องการลดการกวดวิชาให้น้อยลง

ส่วนเรื่องความผิดพลาดของการออกข้อสอบก็คงไม่ทำให้มีเด็กมาเรียนกวดวิชาเยอะขึ้น แต่คงส่งผลในเรื่องความน่าเชื่อถือของระบบใหม่เองมากกว่า" ธเนศ ระบุ เขากล่าวว่า โครงสร้างการสอบแบบใหม่ มีการคิดคะแนนในวิชาหลักๆ ใหม่ อาจทำให้เด็กเรียนกวดวิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้สอบน้อยลง วิชาอะไรที่ไม่มีผลกระทบต่อการสอบก็ไม่เลือกเรียน และหันมาเลือกเรียนแต่บางวิชาที่ใช้สอบมากขึ้น ซึ่งวิชาที่ใช้สอบก็คือวิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ซึ่งก็เป็นวิชาที่มีการเปิดโรงเรียนกวดวิชากันคับคั่งอยู่แล้ว

 "สัดส่วนการให้คะแนนจะเปลี่ยนไป เมื่อก่อนทุกวิชามีความสำคัญเท่ากันหมด 100% แต่คราวนี้ O-NET และ A-NET ให้สัดส่วนคะแนนแต่ละวิชาไม่เหมือนกัน ก็อาจทำให้เด็กเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่มีสอบใน O-NET และ A-NET" เขาอธิบายต่อว่า สถานการณ์นี้คือ "โอกาส" ของโรงเรียนกวดวิชาในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียน หรือเป็นการทำ CRM ให้มากขึ้นด้วยการแนะแนวเด็ก ให้ความรู้ความเข้าใจในระบบการศึกษาแบบใหม่ "แต่ก็คงไม่มุ่งยอดขายมากนัก"

ธเนศกล่าว "เพราะจริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่นี้ ทางกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีความผันผวนหรือไม่ แต่ก็บอกได้ว่าในระยะสั้น เด็กนักเรียนที่มากวดวิชาคงไม่ลดลง แต่รูปแบบการเรียนอาจแตกต่างออกไป โรงเรียนกวดวิชาต้องปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับระบบใหม่มากขึ้น" เขาขยายความต่อไปว่า โรงเรียนกวดวิชาไม่เห็นด้วยกับระบบการรับเข้าศึกษาแบบใหม่หรือ "แอดมิชชั่น" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เนื่องจากเล็งเห็นถึง "ความบกพร่อง" ของระบบ เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยากให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง นักวิชาการ นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนโรงเรียนกวดวิชาได้มีโอกาส "ทบทวน" ร่วมกันว่า ระบบการศึกษาไทยนั้นมาถูกทางแล้วหรือไม่ และควรจะก้าวเดินต่อไปในทิศทางใด

"หลักสูตรใหม่- CRM" กลยุทธ์รับระบบใหม่ แม้จะมองว่าปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่เกิดขึ้นนั้นไม่ส่งผลใน "แง่ลบ" ต่อโรงเรียนกวดวิชา แต่ตรงกันข้ามยังทำให้มีนักเรียนหันมาพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น แต่ติวเตอร์ที่จะอยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางกระแสความผันผวนของระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้อง "ปรับตัว" ที่สำคัญคือต้องปรับตัวได้ในเรื่องการออกแบบ "เนื้อหาหลักสูตร" เพื่อรองรับระบบใหม่  

"ลักษณะของระบบแอดมิชชั่นจะมีหลายส่วน มีทั้งส่วนที่เป็นการเรียนเอาเกรดในโรงเรียน ซึ่งส่วนนี้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ที่เปลี่ยนคือ O-NET และ A-NET ที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาต้องดีไซน์คอร์สใหม่ รวมถึงการที่มีระบบรับตรงจากมหาวิทยาลัย ต่อไปจะทำให้โรงเรียนกวดวิชามีหลายเซ็กเมนท์มากขึ้น เช่นการกวดวิชาเข้าจุฬาอินเตอร์ และมหิดลอินเตอร์แบบรับตรงต่อไปจะไม่เหมือนกัน ต่อไปโรงเรียนกวดวิชาจะไม่สามารถเคลมได้ว่าติวที่นี่ที่เดียวสอบเข้าได้ทุกหลักสูตร แต่ต่อไปทุกหลักสูตรจะมีความเป็นนิชมาร์เก็ตมากขึ้น คือต้องมีการดีไซน์คอร์สใหม่เพื่อ O-NET และ A-NET รวมถึงการรับตรงด้วย "เริ่มมีโรงเรียนกวดวิชารายใหญ่ๆ ดีไซน์คอร์สออกมาเพื่อสอบ O-NET และ A-NET โดยเฉพาะแล้ว"

ตรงนี้เขามองว่า นอกจากจะเรียกว่าเป็นโอกาสแล้วยังเป็น "อุปสรรค" อีกด้วย เนื่องจากการที่โรงเรียนกวดวิชาต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหาร นอกจากปรับเนื้อหาติวเตอร์ยังต้องเพิ่ม "บทบาท" ในการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีแก่เด็กนักเรียน หรือเปรียบเหมือนการทำ CRM กับลูกค้า "โรงเรียนกวดวิชาต้องเป็นพี่เลี้ยง แนะแนวให้เด็กนักเรียนได้ เพราะตอนนี้มีข่าวคราวของระบบการศึกษาแบบใหม่ออกมาเยอะมาก ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เราก็ต้องช่วยเด็กๆ กลั่นกรอง และทำให้พวกเขาเข้าใจระบบนี้" ติวเตอร์ "แบรนด์เนม" งัดทีเด็ด พลิก "วิกฤติ" เป็น "โอกาส"

การเกิดขึ้นของระบบแอดมิชชั่น ทำให้โรงเรียนกวดวิชาหันมาปรับตัวเองอยู่ตลอด แต่ละรายพยายามปรับทัศนคติ และปรัชญาของตัวเองใหม่ เป็นการเรียนแบบเพิ่มเติมความเข้าใจ เพื่อให้เด็กมีความพร้อม มีพื้นฐานที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยได้ดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจติวเตอร์ยังไม่ถูกลดบทบาทลงไป หากแต่กลับร้อนแรง ล่าสุดโรงเรียนกวดวิชาเคมี อ.อุ๊ ถึงขั้นตัดสินใจประมูลที่ดินย่านถนนศรีอยุธยา ซึ่งสะท้อนว่าธุรกิจติวเตอร์ยังคงมีความน่าสนใจที่ต้องติดตาม

อย่างไรก็ตาม ธเนศบอกว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเอง เป็นความสำเร็จที่ต้องรอคอย ขณะที่คนทั่วไปคิดว่า มีความต้องการเหลืออยู่มาก เป็นธุรกิจที่น่าลงทุน หากในความเป็นจริงกลับพบว่า พฤติกรรมของเด็กนักเรียน จะมีความจงรักภักดี และเชื่อมั่นในแบรนด์ดังๆ เท่านั้น และยังเป็นการเรียนแบบตามๆ กันไปอยู่ "ที่ผ่านมา หลายโรงเรียนดึงกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ และไม่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับเด็ก เช่นการเป็นเอ็ดดูเทนเมนท์ บางโรงเรียนก็เน้นสื่อการสอนที่น่าสนใจ มีกราฟฟิกพรีเซนเตชั่น บางโรงเรียนก็เน้นหลักสูตรใหม่ๆ ที่เข้าใจไม่ยาก และสนุก มันก็ขึ้นกับแนวทางของแต่ละโรงเรียน และแน่นอนว่าการจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ได้หมายความว่า การเรียนการสอนจะต้องเป็น เอ็ดดูเทนเมนท์ เพราะจุดใหญ่ๆ ยังเน้นด้านวิชาการอยู่"

หากจะพูดถึงติวเตอร์ระดับ "แบรนด์เนม" ที่ดังๆ บ้านเรามีอยู่ไม่กี่เจ้า เช่น "เอ็นคอนเซ็ปต์ อี-อะคาเดมี่" ผู้พลิกวงการการเรียนภาษาอังกฤษ, ถ้าพูดถึงวิชาเคมีก็ต้องยกให้ "เคมี อ.อุ๊", ภาษาไทย+สังคม ก็ต้อง "อาจารย์ปิง" ผู้โด่งดังแห่งดาว้องก์, "แอพพลายด์ฟิสิกส์" ที่ขึ้นชื่อในวิชาฟิสิกส์, "House of Science" เรียนชีววิทยาแบบไม่ต้องท่อง, "แอคเซส" ฯลฯ "โรงเรียนกวดวิชาที่ดังๆ มีประมาณกว่า 10 รายเท่านั้น ในจำนวนนี้กินส่วนแบ่งตลาดไปกว่าครึ่ง ไหนจะคู่แข่งจากรายที่ไม่ได้จดทะเบียนอีก เพราะมีอาจารย์หลายคนก็ออกมาสอนพิเศษเด็กเอง ซ้ำตลาดในกรุงเทพฯเองก็เริ่มอิ่มตัว เพราะรายใหญ่ๆ คลุมพื้นที่ทุกมุมเมืองไปแล้ว มันเป็นอะไรที่ต้องปรับตัวและสร้างจุดขายให้กับตัวเองได้จริงๆ จึงจะอยู่ได้

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 21 เม.ย. 49

หมายเลขบันทึก: 55184เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าคุณพยายามวิเคราะห์ด้วย แม้เล็กน้อย ก็จะเป็นการฝึกวิธีคิดนะคะ ไม่ลองดูหรือคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท