ความคาดหวังด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลใหม่


ความคาดหวังด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลใหม่ต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย
ความคาดหวังด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลใหม่
 
ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมานำไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งตัวผมเองที่จะมีความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงที่มีต้นทุนสูง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยวิธีการที่นอกเหนือจากวิธีการตามปกติในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงตัวผมจึงยิ่งมีความมุ่งหวังในรัฐบาลใหม่สูงกว่าปกติ

ผมในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งที่ติดตามปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จึงขอแสดงความคาดหวังของผมที่มีต่อรัฐบาลใหม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งผมก็คาดว่ารัฐบาลใหม่อาจจะทราบถึงความคาดหวังดังกล่าวอยู่แล้ว



ผมขอแบ่งความคาดหวังด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลชุดใหม่ไว้ 2 ด้าน คือ การจัดการปัญหาระยะสั้นและการวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ผมมีความเห็นว่าเนื่องจากรัฐบาลนี้จะมีหน้าที่เพียง 1 ปี ซึ่งแน่นอนว่าในระยะเวลาที่จำกัดคงจะจัดการได้เฉพาะปัญหาเฉพาะหน้า แต่อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงหวังเพียงว่ารัฐบาลใหม่จะวางรากฐานที่ดีเพื่อให้รัฐบาลต่อไปมาสานต่อเท่านั้น



การจัดการปัญหาระยะสั้น ในการแก้ปัญหาระยะสั้นผมมีความหวังว่ารัฐบาลจะรีบทำ 2 เรื่องเป็นการเร่งด่วน คือ การเร่งจัดทำงบประมาณปี 2550 ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัว และสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล



ปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะชะลอตัวจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลให้อุปสงค์ภาคเอกชนเติบโตในอัตราที่ลดลง การที่เศรษฐกิจยังขยายตัวในระดับค่อนข้างดีในครึ่งแรกของปีนี้มาจากการขยายตัวของการส่งออกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการส่งออกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในปี 2550 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะเดียวกัน การยุบสภาเมื่อต้นปี 2549 ส่งผลให้ไม่มีการพิจารณางบประมาณประจำปี 2550 ภาครัฐจึงไม่มีงบประมาณลงทุนตามปกติสำหรับปีงบประมาณ 2550 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ ดังนั้นการเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี 2550 เพื่อให้มีการใช้จ่ายได้ทันภายในต้นปีหน้า จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงตามการชะลอตัวของการส่งออก



สำหรับเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลนั้น เนื่องจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ต้องการทราบความชัดเจนในแนวทางดำเนินงานและนโยบายของรัฐบาลในหลายเรื่อง จึงทำให้ชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไปก่อน แนวทางที่ต้องมีความชัดเจนได้แก่ ประการแรก จะสานต่อนโยบายสำคัญที่สืบเนื่องจากรัฐบาลก่อนหรือไม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประการที่สอง แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรและการนำปรัชญาดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติจริงจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง



ประการแรก รัฐบาลใหม่จะสานต่อเรื่องสำคัญจากรัฐบาลก่อนหรือไม่ โดยเฉพาะในนโยบายสำคัญ คือ (1) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2) การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งนักลงทุนต้องการทราบว่ารัฐบาลจะดำเนินการเจรจากับประเทศคู่เจรจาที่อยู่ระหว่างดำเนินการต่อไปให้สำเร็จหรือไม่ และในส่วนข้อตกลงที่มีการเจรจาสำเร็จแล้วแต่ยังไม่มีผลในการปฏิบัติ เช่น ข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นและไทยจะมีการลงนามเพื่อให้มีผลไปสู่การปฏิบัติจริงหรือไม่ นอกจากนี้รัฐบาลจะเพิ่มประเทศคู่เจรจาหรือไม่ และ (3) การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega-Projects) รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะลงทุนโครงการใดบ้าง ในระยะเวลาเมื่อใด และมูลค่าการลงทุนเป็นเท่าใด เพราะนักลงทุนรายใหญ่หลายรายพร้อมที่จะลงทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ใน Mega-Projects เพียงแต่ต้องการความชัดเจนเท่านั้น



ประการที่สอง แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร ปัจจุบันยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมากเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษว่า "Sufficiency Economy" ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเกิดความเข้าใจผิดว่าประเทศไทยจะพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก และอาจจะเลิกสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งยังความมีเข้าใจผิดว่าประเทศไทยมีทิศทางที่จะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบก่อนยุคอุตสาหกรรมโดยหันไปเน้นเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมดั้งเดิม



นอกจากนั้นนักลงทุนต่างประเทศยังคงเข้าใจสับสนอย่างมากเกี่ยวกับทิศทางการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะจากการที่มีการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นในเครือบริษัทชินวัตรทำให้นักลงทุนต่างเกิดความกังวลว่าประเทศไทยอาจจะไม่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศเหมือนในอดีต ซึ่งรัฐบาลต้องชี้ให้ชัดเจนว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรและสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจระบบตลาดอย่างไร เพื่อให้ต่างประเทศเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและยังคงความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจเสรีและไม่กีดกันธุรกิจต่างประเทศ



การวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ในระยะเวลา 1 ปี ผมไม่คาดหวังว่ารัฐบาลจะแก้ไขหรือปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลคงทำได้เพียงแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนบางประการ และช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจระยะยาวให้กับประเทศ



อุปสรรคในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนที่รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ระยะสั้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คือ กฎ ระเบียบต่างๆ ตลอดจนบริการของรัฐบาล ที่ทำให้การประกอบธุรกิจไม่คล่องตัว เช่น ระเบียบในการขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งของสิงคโปร์นั้นใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของไทยในการอนุญาตดำเนินการ



สำหรับการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาวซึ่งเป้าหมายหลักทั่วไปของทุกประเทศ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลและมีความสามารถในการแข่งขันได้ การพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลหมายถึงการมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและมีการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ รวมทั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่หมักหมมมานาน ผมจึงไม่คาดหวังว่าในเวลา 1 ปี รัฐบาลจะทำอะไรได้มากนัก

ดังนั้น ผมเพียงหวังว่ารัฐบาลจะเน้นการสร้าง กฎ กติกาในการแข่งขันที่เป็นธรรมของธุรกิจ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว



สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในโลกที่เปลี่ยนแปลงและมีการเปิดเสรีการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเสรีในสาขาใหม่ๆ เช่น บริการการเงิน และการค้าปลีก เป็นต้น การเปิดเสรีดังกล่าวจะส่งผลให้มีบริษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศ เช่น สถาบันการเงินจากต่างประเทศ และบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ เข้ามาแข่งขันกับธุรกิจไทย รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องออก กฎ ระเบียบในการกำกับดูแลการแข่งขันให้เหมาะสมและยุติธรรมเพื่อไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะจากต่างประเทศใช้ความได้เปรียบกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมและสร้างอำนาจผูกขาดเอาเปรียบผู้บริโภค



ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผมหวังว่ารัฐบาลจะวางรากฐานที่เกี่ยวกับการศึกษาในการพัฒนาความสามารถของคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์และภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีนที่เป็นภาษาหลักในการติดต่อทางการค้าและธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งประชากรของไทยยังมีความล้าหลังในทักษะดังกล่าวอย่างมาก



นอกจากนี้ การที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาความรู้ด้านนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับธุรกิจ และต้องพัฒนากฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงรูปแบบในการคุ้มครองที่เป็นรูปธรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ ผมยังคาดหวังว่ารัฐบาลจะช่วยพัฒนาระบบ Logistic ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยมีต้นทุนด้านนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คือเกือบร้อยละ 20 ของต้นทุนสินค้าทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วเกือบเท่าตัว โดยส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนเกี่ยวกับการจัดการสินค้าคงคลังเนื่องจากความล่าช้าในการขนส่ง การลดต้นทุนทางด้าน Logistic จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก



คงต้องยอมรับว่าสิ่งที่ผมและคนอื่นๆ คาดหวังนั้น เป็นภาระที่หนักหน่วงมาก แต่การที่รัฐบาลนี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับความเชื่อถือทั้งในด้านความสามารถและจริยธรรม และมีประสบการณ์ที่ยาวนาน รวมทั้งการที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการสร้างคะแนนนิยมเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นแม้ว่าเวลา 1 ปีจะเป็นเวลาที่ไม่มากนัก แต่ผมก็ยังมีความมั่นใจว่ารัฐบาลปัจจุบันจะทำให้ความหวังของผมและคนอื่นๆ ในสังคมไทยเป็นจริงขึ้นมาได้

ที่มา หนังสือพิมพฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2158   19 ต.ค.  - 21 ต.ค. 2549

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 55176เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท