จริงหรือไม่ คนไทยโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๑/๒


อุปนิสัยของคนไทยด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๑/๒

วาทิน ศานติ สันติ
              

บทนำ

               มนุษย์มีความจำเป็นจะต้องอยู่รวมกลุ่มกัน เป็นพวก และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่สังคมระดับหน่วยเล็ก ไปจนถึงหน่วยใหญ่ และมีการทับซ้อนกันของสังคม ผู้ที่เข้ามารวมกลุ่มมีมากมายหลายประเภท ในการรวมกลุ่มกันจะมีบุคคลที่มีความชอบและความเชื่อที่คล้าย ๆ กัน เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ระบบความเชื่อ ทัศนคติ การดำเนินชีวิต ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แม้จะอยู่กระจายกันก็ตาม แต่กระนั้นมนุษย์ก็ล้วนแต่มีความเป็นปัจเจกบุคคล มีความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ วิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างของตนเอง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้มีมากมายเช่น การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การอบรมสั่งสอนที่โรงเรียน การขัดเกลาทางสังคม เพื่อน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ฯลฯ ทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัว

            ปัจจุบันกลุ่มของสังคมไทยได้จัดเข้ากลุ่มใหญ่ ๆ ๓ กลุ่มคือ กลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มชนชั้นกลาง และชนชั้นต่ำโดยมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้ามาเป็นตัวกำหนด ทำให้มีการศึกษาที่แตกต่างกัน อำนาจในการพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต่างกัน ความก้าวหน้าในรูปแบบต่าง ๆ นำไปสู่การจัดระเบียบทางสังคมใหม่ ดังนั้นกลุ่มทางสังคมที่ได้รับการพัฒนาใหม่นี้จึงถูกแบ่งเป็น กลุ่มผู้ที่มีการศึกษา และกลุ่มผู้ไม่มีการศึกษา (ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. ๒๕๔๓ : ๒๗)

            บ่อยครั้งที่คนมีการศึกษาโอ้อวด ขี้อวด ในวิชาความรู้ที่ตนมี ใช้ความรู้นั้นดูถูกและรักแกคนที่มีความรู้น้อยกว่า หาผลประโยชน์ทางมิชอบจากความรู้ที่ตนมี เช่นการคดโกง หาผลประโยชน์ใส่ตน การโอ้อวด ขี้อวดในบางครั้งก็เกิดจากการที่ตนมีความรู้น้อยแล้วพูดจาอวดอ้างแสดงคุณสมบัติที่ไม่เป็นความจริง เราจึงหมายรวมบุคคลทั้งสองประเภทนี้ได้ว่าคนลืมตัว

            บทความนี้จะแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคนไทยในด้านการโอ้อวด ขี้อวด และลืมตัวในเชิงลักษณะนิสัยที่ติดอยู่ในภาษาไทยในรูปของ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย

 

เอกลักษณ์ของคนไทยในด้านการโอ้อวด ขี้อวด และลืมตัว

            ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ (๒๕๔๓ : ๔๕) ได้ให้ความหมาย ของเอกลักษณ์ว่าลักษณะเด่นที่มีและเป็นอยู่เฉพาะหมู่ กลุ่มสังคมหรือชาติใด ที่ชี้ถึงความเป็นตัวเอง เป็นไปอย่างมีระบบ ระเบียบแบบแผนอันเกิดจากปฏิบัติกันมา สั่งสมปรับปรุงสืบทอด จนกลายเป็นคุณค่าที่ยอมรับ เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มนั้น ๆ จึงเกิดเป็นเอกภาพ ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นรู้จักรักษาและทำให้เจริญรุ่งเรือง แต่กระนั้น คำว่าเอกลักษณ์ไม่ได้แสดงถึงลักษณะเด่นในทางด้านบวกเสมอไป หมายรวมถึงลักษณ์เด่นในทางด้านลบด้วย

            ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง ได้กล่าวถึงลักษณะนิสัยของคนที่ซึ่งทำให้คนไทยมีลักษณะนิสัย โอ้อวด ขี้อวด และลืมตัวไว้ดังนี้ คือในด้านความเป็นปัจเจกบุคคลว่า เป็นการย้ำและให้คุณค่าการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมีอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยที่พุทธศาสนาให้มีความพอใจและเชื่อมั่นในตนเอง รู้จักหาความสุขจากตนและพึ่งพาตนเอง เช่นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยปกติคนไทยไม่ชอบให้ใครมายุ่งเกี่ยว กับเรื่องส่วนตัวของตน ไม่ต้องการบังคับจิตใจผู้อื่น ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียม (ดูใน ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. ๒๕๔๓ : ๕๔) การเน้นย้ำให้เห็นคุณค่าของตนเอง และการเชื่อมั่นในตนเองนั้นหากอยู่ในอำนาจของจิตใจด้านลบ อาจนำไปสู่การโอ้อวดตนเองได้

             อีกลักษณะนิสัยหนึ่งคือ ความนิยมความโอ่อ่า นิสัยนี้เกิดจากการเชื่อมั่นและเกิดจากหยิ่งในเกียรติ์ แม้ว่าภายนอกจะดูฐานะต่ำ แต่ในใจไม่ยอมรับว่าตนเองต้อยต่ำ ถือว่าตนเองมีความสามารถเท่าเทียมคนอื่น ไม่ยอมให้ใครดูถูก จึงแสดงนิสัยด้วยการแสดงความโออ่า เพื่อให้เกิดการยอมรับ ชอบมีตำแหน่งที่ให้ได้อำนาจและได้รับเกียรติ ชอบการแสดงเป็นคนมีหน้าใหญ่ใจโต ชอบการยกยอจากผู้อื่น (ดูใน ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. ๒๕๔๓ : ๕๔)

            วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (๒๕๔๖ : ๓๐ - ๔๑) กล่าวถึงลักษณะนิสัยของคนไทย ว่า ไม่รู้จักประมาณตนเอง ต้องการมีหน้ามีตา พยายามรักษาหน้าตาและชื่อเสียงเกียรติยศ เข้าทำนองว่าหน้าใหญ่ใจโต ไม่ต้องการให้เสียหน้า หรือทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงฐานะของตน “ชิบหายไม่ว่าขออย่าให้ข้าเสียหน้า” , “ชิบหายไม่ว่าต้องการชื่อเสียง” ผลลัพธ์คือ คนไทยเป็นหนี้มากขึ้นและยิ่งจนลง ลักษณะ “จมไม่ลง”

              อานนท์ อาภาภิรม (๒๕๑๙ : ๒๓ - ๒๔) ได้กล่าวถึงค่านิยมในเรื่องความหรูหราว่า คนไทยมักนิยมการปฏิบัติตนที่แสดงของของความหรูหรา หรือเพื่อบ่งบอกสถานภาพทางสังคมของตนว่า เป็นคนชั้นสูง เป็นคนมีเงิน เช่นนิยมการแต่งการหรูหรา การจัดงานใหญ่โต ที่แสดงออกถึงความหรูหรา หรือความโก้เก๋ การแข่งกันแต่งกายว่าใครจะหรูหรากว่ากัน บางรายถึงกับกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาจัดงานก็มี การใช้จ่ายเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

              ซึ่งปัจจุบันนี้เราเห็นว่าผู้คนมากมายก็ยังมีค่านิยมเรื่องความโก้หรู ความรูหรา และการใช้สิ่งของฟุ่มเฟย เช่นใช้โทรศัพท์ราคาหลายหมื่นบาท ทั้ง ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมต่าง ๆ ได้ไม่ครบถ้วน การใช้รถยนต์ส่วนตัวราคาแพง หรือการแต่งกายด้วยสินค้ายี่ห้อดงจากต่างประเทศ ซึ่งราคาแพงมหาศาล ลักษณะนี้จึงเป็นลักษณะของการโอ้อวดอีกอย่างหนึ่ง เป็นการไม่ประมาณตนเอง

               จาการที่คนในสังคมไทยมีนิสัยที่ชอบยกย่องผู้มีความรู้ เพราะเชื่อว่าคนมีความรู้ จะเป็นผู้รอบรู้และหน้าเชื่อถือ บุคคลจึงต้องหาความรู้มาเลื่อนฐานะของตนเอง เพราะการมีความรู้หมายถึงการทำงานที่มีเกียรติมีตำแหน่งดีขึ้น อันที่จริงผู้รู้นั้นมีทั้งที่ผู้รู้จริงและรู้ไม่จริง ผู้ที่รู้จริงก็ดีไป แต่ผู้ที่รู้ไม่จริงก็คือผู้ที่รู้ไม่ลึกซึ้งแต่ก็ทำเป็นรู้ เพื่อตำแหน่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นการทำให้เสียงาน ผมที่ได้กลายเป็นไม่ดีสักอย่าง เป็นการหลอกตัวเองและหลอกคนอื่น (สุพัตรา สุภาพ. ๒๕๓๔ : ๑๔) ลักษณะนี้จึงเข้ากับความหมายของคนที่ชอบโอ้อวด อวดอ้าง และเป็นการลืมตัวในที่สุด

              อีกลักษณะนิสัยหนึ่งของคนไทยที่เอามาพิจารณาประกอบคือ การไม่เห็นเห็นใครเหนือกว่า ซึ่งสอดคล้องกับคำพังเพยที่ว่า “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้นใครดีกว่าใคร อีกฝ่ายที่ดีไม่เท่าจะไม่พอใจและหาทางว่ากล่าวหรือกลั่นแกล้งเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือไม่ก็โอ้อวดตนเอง (สุพัตรา สุภาพ. ๒๕๓๔ : ๒๘)

               จากลักษณะนิสัยที่กล่าวไป ทำให้คนไทยในระดับชาวบ้านค่อนข้างมีอิสระทางความคิด สามารถวิภาษและวิจารณ์ผู้อื่นที่อยู่ในระดับต่ำกว่า หรืออยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้น นิสัย โอ้อวด ขี้อวด และลืมตัวจึงเกิดขึ้น บทความนี้จะขอแยกประเด็นเป็นสองประเด็นคือ ๑) การโอ้อวด ขี้อวด และการลืมตัว ๒)ให้คนรู้จักเจียมตัว ไม่โอ้อวด มุ่งการสอนหรือการเตือน                             

๑. การโอ้อวด ขี้อวด และการลืมตัว

คางคกขึ้นวอ

              ความหมาย : คนที่มีฐานะต้อยต่ำพอได้ดิบได้ดีมักแสดงกริยาอวดดีลืมตัว (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒. ๒๔๔) และ คนชั้นต่ำที่ไม่เคยมีเคยได้สิ่งที่เกินคาดหมายแล้วมามีได้ขึ้น เป็นกริยาที่เห็นว่าตื่นเห่อต่าง ๆ (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๑๑๖) เป็นการเปลี่ยนเทียบกริยาของคนที่มีนิสัยพอได้ดีมักแสดงกริยาอวดดีลืมตัวกับคางคก ที่ลักษณะประจำของคางคกมักจะเชิดหัวชูคางเวลาที่เกิดอะไรขึ้นกันมัน โดยมีเรื่องเล่าว่า คางคกตัวหนึ่งได้ตามเสด็จพระราชาโดยพระองค์ทรงเมตตานั่งบนวอพระที่นั่งด้วย ครั้นเทื่อกลับมายังหมู่บ้านของคางคก คางคกก็ยังเชิดหัวชูคอทำท่าเหมือนยังนั่งอยู่บนวอของพระราชา (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๙)  ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสำนวนไทยเช่น กิ่งก่าได้ทอง และ วัวลืมตีน เป็นต้น ดั่งปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้

                                “ขี้ค่าโชคเข้าช่วย                 ถูกหวย

                ยากจกโชคอำนวย                               ลาภให้

                อวดหยิ่งนึกว่ารวย                                ลืมโคตรตนเอง

              คางคกขึ้นวอได้                                    เชิดหน้าชูคอ” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๖๖)

 กิ้งก่าได้ทอง

            ความหมาย : เย้อหยิ่งเพราะได้ดีหรือมีทรัพย์เล็กน้อย (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๒๒ : ๕๔) เป็นการกล่าวถึงบุคคนที่เย้อหยิ่งจองหองลำพองตนโดยใช้ในการติเตียนคนที่คิดว่าตนดีกว่าคนอื่น หรือบุคคลที่ได้ดีแล้วลืมนึกถึงบุญคุณของผู้อุปการะ เป็นสำนวนที่มาจากนิทานชาดกเรื่อง มโหสถชาดกกล่าวถึงกิ้งก่าตัวหนึ่งที่อาศัยประตูพระราชอุทยานของพระราชาพระองค์หนึ่ง เมื่อพระราชาเสด็จมาเจ้ากิ้งก่าก็จะลงมาถวายคำนับมิได้ขาด พระราชาจึงพระราชทานสร้อยทองให้กิ้งก่า ภายหลังพระราชาเสด็จมาอีกครั้ง เจ้ากิ้งก่าก็ไม่ยอมลงมาถวายคำนับ พระราชาจึงตรัสว่า ที่กิ้งก่ากำเริบเย่อหยิ่งก็เพราะถือตัวว่ามีทองผูกคอเพียงเล็กน้อยเลยเอาทองออกเสียและไม่พระราชทานอะไรอีกต่อไป (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๒๙ – ๓๐) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชนิพนธ์เรื่องไชยเชษฐ์ที่แสดงถึงสำนวนนี้ไว้ดังนี้

                              “เมื่อนั้น                            พระไชยเชษฐ์เคืองแค้นแสนศัลย์

                   งุ่นง่านดาลเดือดดุดัน                          ขบฟันเกรี้ยวกราดตวาดไป

                  เหม่อีขี้ข้าหน้าเป็น                              มาเยอะเย้ยกูเล่นหรือไฉน

                   กูขับเมียกูเสียก็เพราะใคร                      พวกมึงหรือมิใช่มายุยง

                   มึงอย่าพักชมชื่นรื่นรวย                        ชีวิตมึงจะม้วยเป็นผุยผง

                   แม้ตามไปได้ดั่งใจจง                          จะปลดปลงทั้งโคตรอีกเจ็ดคน

                   วันนั้นเสียความไม่ถามไถ่                      กูหลงเชื่ออีใจอกุศล

                  ม่ทันคิดพิเคราะห์ดูเล่ห์กล                      บันดาลดลจิตใจให้ขับน้อง

                   มึงทั้งเจ็ดคนอีชาติข้า                           เห็นกูไปมาก็จองหอง

                  ทำแก่เนื้อแก่ตัวหนังหัวพอง                     เหมือนกิ่งก่าได้ทองผูกคอไว้” (ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา.๒๕๔๔ : ๑๘)

 วัวลืมตีน

                ความหมาย : เหลิง เหิม ไม่เจียมตัว ฯลฯ มักมีคำพูดเพิ่มขึ้นว่า “ข้าลืมตัว วัวลืมตีน” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๓๔) หมายถึงคนที่ลืมตัว ลืมกำพืดตนเอง หยิ่งผยองในฐานะปัจจุบันโดยลืมอดีตความเป็นมาของตน สำนวนนี้นิยมใช้กับคนที่เคยยากจนข้นแค้น ปากกัดตีนถีบ เพื่อให้มีกิน แต่เมื่อมีฐานะดีขึ้น กลับลืมตัวตนในอดีตของตน หยิ่งยโส ยกตนข่มท่านอยู่เสมอ  ดั่งปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้

                          “วัวลืมตีนย้ำน้ำ                    โคลนตม

              คนแค่นลืมปฐมกาล                           โคตรเหง้า

               ดุจว่าวร่อนหลงลม                            สุดป่าน

              ได้ดิบได้ดีแล้วเจ้า                             ห่อนรู้ตนเอง” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๘๑)  

 จมไม่ลง, จนแล้วไม่เจียม

                การจมไม่ลงเป็นการเปรียบเทียบเรือที่รั่ว ผุพังแต่ไม่ยอมจม ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๒. ๒๘๘) คือ เคยทำตัวใหญ่มาแล้วทำให้เล็กลงไม่ได้ มักใช้แก่คนที่เคยมั่งมีหรือรุ่งเรืองมาก่อน เมื่อยากจนหรือตกอับลงก็ยังทำตัวเหมือนเดิม กาญจนาคพันธุ์ (๒๕๓๘ : ๑๓๙) ได้ให้ความหมายว่า อยู่ในฐานะที่ไม่อาจลดตัวลงได้ เช่นคนเป็นเศรษฐีมีหน้าตาใหญ่โต จะมีจะทำอะไรก็ล้วนแต่ใหญ่โตมาแล้ว ครั้นจนลง จะทำอะไรเล็กน้อยก็เสียหน้า เลยต้องทำอะไรใหญ่โตตามเดิม ทั้ง ๆ ที่อัตคัดขาดแคลนเต็มที สำนวนที่มีความหมายเหมือนกันคือ “จนแล้วไม่เจียม” โคลงสำนวนสุภาษิตไทยกล่าวถึงสำนวนนี้เอาไว้ว่า

                                    “ยามรวยมีทรัพย์ใช้             คล่องมือ

                  เงินหมดยังยึดถือ                                  ก่อนกี้

                 ทำตัวว่าข้าคือ                                      ผู้ร่ำ   รวยนา

                 จมไม่ลงอย่างนี้                                    แค้นยิ้ม อกตรม” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๘๑)                                           

เรือใหญ่คับคลอง

                ความหมาย คนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตหรือเคยเป็นใหญ่เป็นโตเมื่อตกต่ำก็ไม่สามารถวางตัวอย่างคนสามัญได้ ยังมีนิสัยแสดงความเป็นใหญ่อยู่เสมอ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒ : ๙๗๔) โดยเปรียบเทียบเรือขนาดใหญ่ที่แล่นอยู่ในคลองเล็ก เป็นการแล่นแบบช้า ๆ โดยไม่สนใจว่าจะมีเรือลำได้แล่นตามมา หรือไม่เปิดโอกาสให้เรือแล่นแซงไป เรือขนาดเล็กกว่าจึงไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ และเมื่อเมื่อเวลาน้ำลง เรือใหญ่จะไม่สามารถแล่นต่อไปได้ติดเนินจนขวางทางสัญจรของเรือลำอื่น เปรียบเสมือนคนที่เคยมียศเสื่อมยศ เคยมีลาภก็เสื่อมลาภ เคยมีบรรดาศักดิ์ก็เสื่อมบรรดาศักดิ์ เคยจ้างคนรับใช้มาคอยดูแล เมื่อไม่มีคนรับใช้ก็ทำอะไรเองไม่เป็น เมื่อตกต่ำลงก็ไม่สามารถใช่ชีวิตได้อย่างสามัญชนคนทั่วไป สำนวนที่มีความหมายเหมือนกันคือ “จมไม่ลง” ปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้       

                                  “เรือใหญ่แจวถ่อค้ำ             คับคลอง

                      ไม่คล่องแคล่วดั่งปอง                       มุ่งไว้

                      เคยสุขกลับหม่นหมอง                       ตกยาก ลงนา

                      หากไม่ปลงใจได้                            คับแค้นเคืองใจ (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๖๒)                                

เอาบาตรใหญ่เข้าข่ม

                ความหมาย เอาอำนาจที่ตนมีมาข่มขู่ผู้อื่นที่อยู่ในฐานะต่ำกว่า  ดนัย เมธิตานนท์ (๒๕๔๘ : ๑๑๐) ได้ให้ที่มาของสำนวนนี้ว่าอาจมาจากบาตรพระสงฆ์ที่มี ๓ ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ซึ่งมีความจุแตกต่างกัน เมื่อพระสงฆ์จะตวงวัดอะไรก็เอาบาตรของตนออกมาเป็นเกณฑ์วัด ใครมีบาตรใหญ่ก็จะนำออกมาใช้ แล้วถือว่าของตนถูกกว่าพระสงฆ์ที่มีบาตรเล็กกว่าปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้

                                    “พูดดีพูดถูกต้อง                  เจรจา กันเอย

                    ผิดถูกเหตุผลหา                                   เอ่ยอ้าง

                     อย่าเอาบาตรใหญ่มา                             เข้าข่ม

                    ใช้วิธีเสริมสร้าง                                   สฤษฏ์ในธรรม”   (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๓๔๒)

 ลูกสมภารหลานเจ้าวัด, ลูกท่านหลานเธอ

                ความหมาย : ลูกเจ้านาย หรือ ลูกผู้มีอำนาจที่จะแสดงอำนาจแก่คนที่มีอำนาจน้อยกว่า ในสมัยก่อนที่การศึกษาต้องขึ้นอยู่กับวัด ชาวบ้านจะนิยมส่งลูกหลายไปร่ำเรียนที่วัด เด็กบางคนเป็นหลานของเจ้าอาวาท เด็กบางคนเป็นลูกของเจ้านาย ก็จะได้รับความเกรงใจจากเด็กคนอื่นที่เรียนร่วมกันแต่มีฐานะต่ำกว่า เด็กเหล่านี้ก็จะต้องระมัดระวังตัวไม่ไปทำอะไรขัดใจเด็กเหล่านั้น (ดนัย เมธิตานนท์ ๒๕๔๘ : ๑๓๔) มีความเหมือนกับสำนวน “ลูกท่านหลานเธอ” เปรียบดั่งโคลงสำนวนดังนี้

                                  “ญาติมิตรคนใกล้ชิด             ได้งาน เร็วเฮย

                     ดั่งลูกหลานสมภาร                             ฝากไว้

                     อีกญาติมิตรสนิทนาน                          แนบแน่น

                      หากมาลำเอียงไซร้                            แน่แท้คนชัง” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๗๒)            

บอกหนังสือสังฆราช, สอนจระเข้ว่ายน้ำ, สอนลูกแกะให้เล็มหญ้า

                ความหมาย เป็นการสั่งสอนผู้มีความรู้มากกว่าตน หรือผู้ที่มีความรู้ดีในเรื่องนั้น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งมีความหายเดียวกับสำนาน “สอนจระเข้ว่ายน้ำ” และ ส”อนลูกแกะให้เล็มหญ้า” สำนวนนี้มาจากเรื่องศรีธนชัยคือ ศรีธนชัยเดินไปที่ข้างกุฏิสังฆราชเห็นคัมภีร์ตกอยู่ที่พื้นก็บอกให้สังฆราชทราบ เลยใช้เหตุการณ์ไม่ไปเข้าเฝ้าพระราชาหลายวัน พระราชาจึงรับสั่งให้ตามตัวเพื่อถามถึงสาเหตุ ศรีธนชัยทูลว่าต้องไปบอกหนังสือสังฆราช พระราชาถามว่าศรีธนชัยมีความรู้มากแค่ไหนจึงไปบอกหนังสือ ศรีธนชัยไม่ตอบ พระองค์จึงตรัสถามสังฆราช สังฆราชทูลว่า บอกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสอนอย่างที่เข้าพระทัย แต่บอกคือ บอกว่าหนังสือหล่นที่พื้น (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๖๑) ส่วนสำนวนคำว่า สอนจระเข้ว่ายน้ำมีความหมายว่า สอนคนที่มีสันดานไม่ดีอยู่แล้วให้มีปัญญามากขึ้น สำนวนนี้บางทีก็ใช้เป็นกลางคือ สอนหรือบอกแนะนำให้เขาทำอะไรที่เขาเป็นอยู่แล้ว แต่สอนมากหมายถึงสอนคนที่สันดาลพาลให้มีปัญญา ซึ่งแล้วก็ก่อเรื่องร้ายในภายหลัง (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๖๐) ดังปรากฏในโคลงสุภาษิตเก่าดังนี้

                                  “สั่งสอนสัตว์จระเข้            คงคา

                   ให้แหวกวนเวียนวา                            รีหว้าย

                   เปรียบปราชญ์สั่งสอนสา                      นุศิษย์ พาลแฮ

                    มันเก่งโกงยิ่งย้าย                            อย่าเยื้องยักสอน” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๖๐)

 ฝรั่งขี้นก, ฝรั่งบางเสาธง, ฝรั่งกังไส

                ความหมาย เรียกคนที่ชอบทำตัวเป็นฝรั่ง ซึ่งหมายถึงการลืมตนประเภทหนึ่ง คือเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่สิ่งหนึ่งเช่น เมื่อเรียนจนจากต่างประเทศกลับมา ก็ยังปฏิบัติตนเหมือนกับอยู่ที่ต่างประเทศ กินของพื้นบ้านที่เคยกินไม่ได้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็แต่งอย่างฝรั่ง พูดไทยคำภาษาอังกฤษคำการลืมรากเหง้าของตนเอง ลืมตนเองนั่นเอง คำว่า “ฝรั่งขี้นก” ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา (๒๕๓๙ : ๑๙๐ - ๑๙๑) ได้อธิบายไว้ดังนี้ หมายถึงฝรั่งที่เป็นผลไม้พันธุ์หนึ่งมีลูกเล็ก ไส้แดงมีรสอร่อยพอสมควร แต่ก็สู้ฝรั่งลูกใหญ่ไม่ได้ คนจึงไม่นิยมกิน เช่นเดียวกับ “ฝรั่งบางเสาธง” ก็เป็นชื่อพันธุ์ของฝรั่งที่อยู่ฝั่งธนบุรี นับเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่ ส่วนคำว่า และ “ฝรั่งกังไส” โดยเฉพาะ “กังไส” เป็นชื่อแคว้นหนึ่งของจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องถ้วยปั้น สำนวน “ฝรั่งกังไส” นั้นได้มาจากพวกฝรั่งที่ทำถ้วยชามเลียนแบบชามกังไสของจีน แต่เอาสำนวนนี้มาเรียกคนจีนที่ทำตัวเป็นฝรั่งหรือคนทั่ว ๆ ไปที่ทำตัวเป็นฝรั่ง พระราชนิพนธ์ไกลบ้านมีกลอนตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสำนวนฝรั่งบางเสาธงว่า

                    “มามัวดูอยู่เช่นนี้ไหนรอด                 เห็นจะจอดเจ็บใจจนไผ่ผอม

                   ฝรั่งขาวพี่เกลียดขี้เกียจตอม                ไม่งามพร้อมเหมือนฝรั่งบางเสาธง” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๓๗๗)

วัดรอยเท้า, วัดรอยตีน

                ความหมายตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๒. ๑๐๕๘) คือ เทียบดูว่าสู้พอได้หรือไม่ เช่นลูกศิษย์วัดรอยเท้าครู, คอยเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าเพื่อชิงดีชิงเด่น เช่นลูกน้องวัดรอยตีนหัวหน้า กาญจนาคพันธุ์ (๒๕๓๘ : ๕๓๐) ได้ให้ความหมายว่า เป็นสำนวนที่มุ่งจะตอบแทน มุ่งแก้แค้น มุ่งอาฆาต ฯลฯ เป็นสำนวนใช้กับลูกที่คิดจะสู้กับพ่อ ผู้น้อยคิดจะหักล้างผู้ใหญ่ที่เคยบังคับบัญชาตนมาก็ได้ ความหมายในที่นี้อาจหมายถึงการไม่เจียมตัว หรือการลืมตัวได้ในทางหนึ่ง สำนวนนี้มาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทรพีสู้กับทรพาพ่อของตนดังนี้

                                “มาจะกล่าวบทไป               ถึงทรพีใจหาร

                เทวารักษ์มาช้านาน                              ในถ้าสุรกานต์พรายพรรณ

                 เหมือนได้กินนมมารดร                          มีกำลังฤทธิรอนแข็งขัน

                 เจริญวัยใหญ่ขึ้นทุกวัน                           ก็เที่ยวสัญจรออกมา

                 ลองเชิงเริงร้องคะนองไพร                       ไล่เลี้ยวเสี่ยวขวิดหินผา

                  ตามสะกดบทจรทรพา                          วัดรอยบาทาบิดาดู

                  เห็นเท่าเติบใหญ่คล้ายคลึง                     ก้ำกึ่งพอจะตอบต่อสู้

                  หมายเขม้นจะเป็นศตรู                           วันนี้ตัวกูกับบิดา

                   จะได้ลองฤทธิ์ขวิดกัน                          ประจัญดูกำลังให้หนักหนา

                  คิดแล้วแอบพุ่มซุ่มกายกายา                    จับกลิ่นหญ้าอยู่ริมธาร” (ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา.๒๕๔๔ :๑๑๖ – ๑๑๗)

    ในเรื่องพระอภัยมณีก็ได้กล่าวไว้เช่นกัน                             

                              “แม้ลูกชั่วหัวดื้อทำซื้อรู้                      จนพี่ป้าย่าปู่ไม่รู้จัก

                    ผลาญพงศ์เผ่าเหล่ากอทรลักษณ์                       ชื่อว่าอักตัญญูชาติงูพิษ

                    เหมือนพวกมึงซึ่งไม่รู้จักกูนี้                             ดังทรพีวัดรอยจะคอยขวิด” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๓๑)

      ในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยที่แต่งในปัจจุบันก็ได้กล่าวถึงการวัดรอยเท้าไว้เช่นกัน8nv

                                  “วัดที่แบ่งโฉนดไว้              วัดวา

                วัดที่แบ่งเนื้อหา                                   เขตให้

                 สอบวัดคิดราคา                                  สูงต่ำ

                 หากวัดรอยตีนไซร้                              แน่แท้เนรคุณ” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๗๙)

 เห็นกงจักเป็นดอกบัว

                ความหมายคือการเห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นดี มาจากชาดกเรื่อง มิตตวินทชาดก ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดาไปเที่ยวเมืองนรก ไปเห็นมิตตวินทุทำร้ายมารดาตายไปตกนรก กำลังได้รับความทุกขเวทนาจากการที่มีกลจักครอบอยู่ที่หัว กงจักรหมุนรอบหัวจนเลือดไหลโทรม พระโพธิสัตว์แลเห็นกงจักรนั้นกลายเป็นดอกบัวจึงเอามาครอบศีรษะตนเอง (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๐๘) สำนวนนี้ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง เพลงยาวกรมหมื่นสถิต

                                  “แต่แรกรักหักจิตไม่คิดกลัว               เห็นจักรหลอกเป็นกอดบัวก็เร่อมา

                 ครั้นเห็นชัดสิเมื่อพลัดเข้าติดตึ้ง                            จะถอนทิ้งก็ไม่ขาดเหมือนปรารถนา”  (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๖๔๕)

            เพลงยาวคุณพุ่ม

                                “ในชาตินี้มิได้อยู่ชูฉลอง                   เพราะคะนองหนีบุญมุ่นโมหา

                ดูกงจักรหักเห็นเป็นผกา                                    ต้องออกมาใช้ชาติญาติเวร” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๖๔๕)

 วาทิน ศานติ์ สัสนติ

(อ่านต่อใน จริงหรือไม่ คนไทยโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๒))

 

หมายเลขบันทึก: 551511เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท