จาก นสพ.เสียงชาวน่านถึงกาฬสินธุ์ (๒): การแสวงหาความรู้สู่การเป็นนักข่าวชาวบ้าน


การก้าวไปตามบันใดแห่งความตั้งใจ
เมื่อได้แนะนำบล็อก นสพ.เสียงชาวน่าน ของคุณ  tanu polbhun ไปแล้ว แรกเริ่มเดิมที อยากจะเข้าไปทิ้งข้อความแจ้ง คุณ  tanu polbhun ช่วยให้คำแนะนำกับรุ่นน้องคนนี้ด้วย หากเขาต้องการสอบถามเรื่องราวต่างๆเพื่อการเป็นนักข่าวตามความใฝ่ฝันของเขา
แต่ อีกด้านหนึ่ง นายบอนยังไม่แน่ใจนักว่า เขาอยากเป็นนักข่าวท้องถิ่นจริงๆ หรือเป็นเพียงความต้องการเพียงชั่วครู่ชั่วยามตามอารมณ์เท่านั้น แล้วสักพักก็เบื่อ อยากไปทำอย่างอื่นต่อไป

หากมีความตั้งใจจริง ต้องขวนขวายหาความรู้จากบล็อกแห่งนี้ด้วยตัวเอง

“แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรล่ะ กับการหาความรู้เพื่อเป็นนักข่าวท้องถิ่น??”

นั่นสิครับ นายบอนก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน เพราะตัวเองก็ไม่เคยเป็นนักข่าว แต่เคยเขียนข่าวเท่านั้น…

จึงตอบออกไปตามที่คิดได้ว่า
“เริ่ม ต้นติดตามอ่านบันทึกต่างๆที่คุณ  tanu polbhun บันทึกในแต่ละตอนดูสิ เขาเขียนบอกอะไร หยิบประเด็นไหนมารายงาน เขาพยายามจะสื่ออะไรออกมา ลองติดตามอ่านไปเรื่อยๆก่อนละกัน”

ตอบไปเท่าที่นึกออก แต่น้องเค้าก็เชื่อครับ…..
ถ้าน้องมาเปิดอ่านบันทึกตอนนี้ คงจะขำกลิ้ง เมื่อรู้ว่าความลับถูกเปิดเผย….

งั้นเปิดเผยกันต่อละกัน…

หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ น้องก็มาสอบถามข้อสงสัยกับนายบอนอีกหลายคำถาม อาทิ
– จะรู้ได้อย่างไรว่า เรื่องนี้จะเป็นข่าวที่น่าสนใจ
– ควรจะจับประเด็นข่าวยังไง
– ทำยังไงถึงจะมีข่าวมานำเสนอได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นข่าวใหม่ๆไม่ซ้ำข่าวเดิม
– ควรจะเขียนข่าวยังไงให้น่าอ่าน น่าสนใจ
– ทำยังไงถึงจะแจ้งข่าวให้คนฟัง คนอ่านสนใจข่าวนั้น

นายบอนทำท่าครุ่นคิดอย่างผู้คงแก่เรียนอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนตอบออกไปด้วยความมั่นใจว่า

“ไม่รู้”
“ ทำยังไงถึงจะรู้ล่ะครับ”

แหม เข้าใจตั้งคำถามจริงๆ พยายามจะให้คนที่ไม่รู้ กลายเป็นคนที่รู้เรื่องให้ได้ ก็เลยหยิบสิ่งที่นายบอนได้จากการติดตามอ่านบันทึกต่างๆในบล็อกของ  tanu polbhun

“ถ้าจะเขียนข่าวให้น่าสนใจ น่าอ่าน ก่อนอื่นต้องเขียนให้คนรู้เรื่องเสียก่อน ถ้าไม่รู้เรื่องแล้ว ใครจะมาสนใจ ถ้าดูบันทึกที่คุณ tanu polbhun ท่านบันทึกข่าวสารเกี่ยวกับน่าน ทีแรกเลย ที่นายบอนเห็นหัวข้อที่คุณ tanu เขียน ไม่สนใจด้วยซ้ำ แต่พอเห็นบันทึกที่เกี่ยวกับน่าน ที่เขียนรายงานเรื่องราวของภัยธรรมชาติ แค่คลิกเข้าไปอ่านบันทึกเดียวเท่านั้น ติดใจเลย จนต้องบันทึกเข้ากลุ่มบล็อก (planet) ไว้ติดตามอ่านทันที”

“ทั้งๆ ที่นายบอนเป็นคนกาฬสินธุ์ ไม่เคยรู้จักจังหวัดน่านมาก่อน แต่จากบันทึกแรกที่ได้อ่าน ชอบแง่มุมที่บอกเล่าออกมา แถมคุณ  tanu polbhun ยังได้บันทึกเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์ ความเป็นไปของเหตุการณ์ได้เรื่อยๆ คล้ายกับการดูละคร หรือการอ่านนิยาย ที่อยากรู้ว่า เรื่องราวตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างลงตัวหรือไม่ ความรู้สึก ความเป็นอยู่ของคนที่นั่น จะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ น่าสนใจกว่าละครอีก เพราะนี่คือชีวิตจริง”

“นอกจากข่าวสารที่รายงาน แล้ว ยังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา และสอดแทรกเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆด้วย บางบันทึก คุณ tanu * * * * * เขียนออกมา เหมือนกับได้เข้าไปสัมผัสถึงความคิดของท่านเลยทีเดียว เขียนได้น่าติดตาม นำเสนอเรื่องที่คนสนใจ จนนายบอนยังต้องติดตามอ่านอยู่เสมอ…”

ที่ถามมานั้น ก็ลองเอาไปถอดคำตอบดูเองละกัน หรือเขียนไปถามคุณ  tanu polbhun โดยตรงจะดีกว่า…..

แต่ การเรียนรู้ด้วยตัวเองของรุ่นน้องคนนี้ นอกจากการติดตามอ่านบันทึกของคุณ  tanu polbhun แล้ว เขาได้ติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ กับข่าวภูมิภาค ข่าวสั้น และคอลัมภ์ต่างๆ พยายามหัดเขียน หัดจับประเด็นข่าวที่เกิดขึ้น

ดู เหมือนว่า จะเป็นการขวนขวายเรียนรู้อย่างมากมายเหลือเกิน กับความตั้งใจที่จะหาข่าวสารใหม่ๆที่น่าสนใจ มาประกาศในหอกระจายข่าวของหมู่บ้านเท่านั้น

เมื่อได้รับรู้ข้อมูล เพิ่มขึ้น เขาอยากที่จะเป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ของสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งวิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือทีมข่าวของเคเบิ้ลทีวี ท้องถิ่น

ถ้า ต้องการเรียนรู้การรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ เขาสามารถเดินเข้าไปเรียนรู้กับนักข่าวรุ่นพี่ได้อย่างเต็มที่ เพราะถึงตอนนี้ เขารู้จักกับทีมข่าวหลายคนแล้ว

แต่ถ้าจะกลับมาที่ จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ คงต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคุณ  tanu polbhun ใน gotoknow เองแล้วล่ะครับ ในฐานะบุคคลอ้างอิงให้เป็นต้นแบบสู่การเป็นนักข่าวท้องถิ่นของคนๆหนึ่งที่ กาฬสินธุ์

แค่เพียงการเขียนบันทึกเรื่องราวข่าวคราวจากจังหวัดน่าน ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนักข่าวท้องถิ่นเพิ่มอีก 1 คนที่กาฬสินธุ์แล้วนะครับ…..



หมายเลขบันทึก: 55117เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท