การสร้างทฤษฎีเชิงประจักษ์ : ๒


        ขั้นที่ ๑  การสังเกตข้อเท็จจริง

              (๑) ถ้าเราโยนก้อนเนื้อ ๑ ก้อน ให้สุนัข  ๒ ตัว  มันจะแย่งชิงก้อนเนื้อกัน    (๒) ถ้าชายหนุ่ม  ๓  คน รักสาวคนเดียวกัน  พวกเขาจะแย่งชิงกัน  และเป็นศัตรูกัน    (๓) ถ้าตำแหน่งรัฐมนตรีว่างลง ๑  ตำแหน่ง  แต่มีคนต้องการ  ๔ คน  คนทั้ง ๔ คนนั้นจะเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูกันทันที    (๔) ถ้าลูกต้องการดูหนังการ์ตูน   แม่ต้องการดูนิยายหวานๆ   พ่อต้องการดูมวย  ในเวลาเดียวกัน  แต่ทีวีมีเครื่องเดียว  คนทั้งสามจะรู้สึกไม่พอใจกันและกัน  ฯลฯ   เหตุการณ์มากมายในชีวิตประจำวัน  จะเป็นเช่นนี้

              ข้อสังเกตหนึ่ง :  ในข้อ (๑) ก้อนเนื้อคือสิ่งที่สุนัข ๒ ตัวต้องการ  ถ้าตัวหนึ่งบรรลุเป้าหมาย จะขัดขวางไม่ให้อีกตัวหนึ่งบรรลุเป้าหมาย  ทำให้สุนัขสองตัวนี้นเป็นศัตรูกัน  ก้อนเนื้อนั้นคือ "ผลประโยชน์" ของพวกมัน   ข้อ (๒) หญิงสาวคือ "ผลประโยชน์" ของชายหนุ่มทั้งสามคนนั้น   ข้อ(๓)ผลประโยชน์คือตำแหน่งรัฐมนตรี    ข้อ(๔)ผลประโยชน์  คือเรื่องที่แต่ละคนอยากดู

              ข้อสังเกตสอง : "ผลประโยชน์" คือ ตัวการที่ก่อให้เกิด "ความขัดแย้ง" (Conflict)  เป็น "ความขัดแย้งระหว่างบุคคล อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ขัดกัน" (Interpersonal Conflict)  คือ  ความขัดแย้ง ระหว่างสุนัข ๒ ตัว    ระหว่างชายหนุ่ม ๓ คน    ระหว่างคนที่ต้องการตำแหน่ง ๔ คน    และ  ระหว่าง  พ่อ - แม่ - ลูก

              ข้อสังเกตสาม : ความขัดแย้งระหว่างบุคคลนำไปสู่ "ความเป็นศัตรูกัน"  และ ทะเลาะกัน  หรือทำร้ายกันและกัน

              ข้อสังเกตสี่ : "ผลประโยชน์"  มีอำนาจ  "ควบคุม"  พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์

       ขั้นที่ ๒   สร้างทฤษฎี

              " สิ่งที่บุคคลต้องการจะเป็นผลประโยชน์ของบุคคลนั้น   ถ้าหากการบรรลุเป้าหมายของตนได้รับการขัดขวางจากอีกฝ่ายหนึ่ง  ก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคล  และนำไปสู่ความเป็นศัตรูกัน  ต่อสู้กันเพื่อเอาชนะในรูปแบบการบังคับขู่เข็ญ   โดยการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ    หรือการปรองดอง   หรือ การถอยหนี "

        และผมจะตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า "ทฤษฎีความขัดแย้งระหว่างบุคคล" หรือ  Interpersonal  Conflict  Theory

หมายเลขบันทึก: 55077เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ผมขออนุญาตมองย้อนศรกับอาจารย์นะครับ
  • ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าอาจารย์กำลังจะเอาทฤษฎีทางคณิตศาสตร์มาอธิบายสิ่งที่เป็นพลวัต ซับซ้อน มีหลายมุมมอง ซึ่งอาจทำให้อธิบายได้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น และอาจไม่ครอบคลุมความถูกต้องทั้งหมด
  • เช่น ถ้าเราโยนชิ้นเนื้อให้สุนัขสองตัวกิน ก็ไม่ได้หมายความว่าสุนัขทั้งสองจะต้องทะเลาะกันเสมอไป หากสุนัขสองตัวนั้น เป็น แม่ลูกกัน สุนัขอีกตัวอาจหลีกทางให้อีกตัวก็ได้โดยไม่ได้มีความรู้สึกว่าไม่พอใจกัน
  • หรือชายสามคน พึงพอใจหญิงคนเดียวกันก็อาจไม่ได้หมายความว่าทั้งสามคนจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สาวนางนั้นมาครอบครอง ชายทั้งสามอาจแข่งขันกันอย่างเต็มที่ แต่ก็อาจไม่ได้มีความรู้สึกไม่พอใจอีกฝ่ายก็ได้ โดยเฉพาะหากชายทั้งสามคนเป็นเพื่อนกัน เรื่องอาจไม่ได้จบลงด้วยการเป็นศัตรูกันเสมอไป
  • หรือแม้กระทั่งเก้าอี้รัฐมนตรีก็ตาม หากมีใครสักคนคิดถึงประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เขาก็จะรู้ว่าใครเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะได้ครอบครองเก้าอี้นั้น โดยไม่จำเป็นต้องลงท้ายด้วยความไม่พอใจกัน
  • ผมเห็นด้วยว่าทฤษฎีของอาจารย์อาจอธิบายปรากฏการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่การอธิบายสิ่งที่เป็นธรรมชาติของคนคงค่อนข้างลำบากครับ เพราะคน ก็คือ คน หลายๆครั้งเราเอาเหตุผลเข้ามาวัดไม่ได้ ว่าทำไมคนนั้นต้องทำอย่างนี้ หรือคนนี้ต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราอยากรู้ว่าทำไม เราต้องไปเป็นคนนั้นเสียก่อน หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้จักคนคนนั้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์ครับ ที่ทำให้ผมได้คิดบ้าง แม้จะด้วยมุมมองที่แตกต่าง

ขอบคุณคุณ Mitochondria ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ  หลายท่านคงจะคิดทำนองนี้ แต่ไม่ได้เขียนมาให้ผมหรือท่านผู้อื่นอ่าน  เรื่องที่ติงมา  ทุกข้อ  เกี่ยวกับ "ความไม่แน่นอน" ของพฤติกรรมของคนและสัตว์ หาก "มีความไม่แน่นอน" เราก็ "พยากรณ์" พฤติกรรมไม่ได้  และนั่นก็คือ "เป็นวิทยาศาสตร์" (Behavioral Science)ไม่ได้  ข้อติงเหล่านี้จึงสำคัญ  ผมจะขอตอบดังนี้นะครับ

(๑)  "ถ้าสุนัขเป็นแม่ลูกกัน" ก็อาจจะทะเลาะ / ไม่ทะเลาะกันก็ได้   ชายหนุ่มแย่งคนรักกัน  "อาจะไม่ทะเลาะหรือทะเลาะกัน"ก็ได้  ฯลฯ  "ไม่แน่นอน"  เมื่อไม่แน่นอน  เราก็ Predict ไม่ได้  เมื่อพยากรณ์ไม่ได้ เราก็ควบคุมไม่ได้  เมื่อควบคุมไม่ได้  ก็ "เป็นพฤติกรรมเสรี"(Freedom)!   เป็น Science ไม่ได้ !!

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาประเภท "วิทยาศาสตร์" ที่จะต้อง "ทดสอบ"(Test) ความ "จริง - เท็จ" ด้วยวิธี "การวิจัยเชิงทดลอง" ซึ่งจะต้อง

ควบคุมตัวแปรรบกวนทั้งหลาย !

เช่น  "ใช้สุนัขที่อายุไล่เลี่ยกัน"   สุนัขที่ "ไม่ใช่แม่ลูก"กัน  สุนัขที่ไม่ได้กินอาหาร "อิ่มแปล้" มาก่อนด้วยกัน  ฯลฯ   หรือ  ต้องแน่ใจว่าชายหนุ่มเหล่านั้นรักสาวมาก-น้อย "พอๆกัน"  ความรู้สึกไม่พอใจก็ต้องมีระดับ  เช่น  พอใจมาก - น้อย  ไปจนกระทั่งโกรธแค้น"ไล่เลี่ยกัน" ฯลฯ  ตัวแปรรบกวน(Extraneous Variables) เหล่านี้เราจะ "ไม่กล่าว"ไว้ในสิ่งที่เรียกว่า "ทฤษฎี"  เพราะมันเป็นประเภท Facts / Particular Facts)  แต่ต้องคิดถึง"อย่างยิ่ง"ในการวิจัยเชิงทดลอง   จากนั้น  เรา "ต้อง"กำหนดระดับการตัดสินใจไว้ล่วงหน้า เช่น ที่ระดับ   .05,   .01  :ซึ่งเป็นหลักของ Probability Theory  ที่คุณหมอกล่าวถึงนั่นแหละ    เรานิยมใช้เกณฑ์อันนี้เป็นเครื่องมือตัดสินใจว่า  อันไหนเป็น Random Error  หรือว่าเป็น Systematic Error

ถ้าหากว่าสิ่งที่คุณหมอติงมาเป็นประเภท Random Error  เราก็สบายใจ  หายกังวล  แต่ถ้าเป็น Systematic Error  แล้วละก้อ  "เราต้องดีใจ"  เพราะว่า นั่นหมายถึงเราได้ "ค้นพบ" อะไรเข้าอย่างหนึ่งโดยบังเอิญเข้าแล้วครับ    ซึ่งเราควรนำไปทดลองต่อ   มิฉะนั้นคนอื่นก็จะนำไปประกาศการค้นพบแทนเราไปเลย !!

เรา "ไม่อาจจะทำให้ Random Error เป็นศูนย์" ได้  แต่เราทำให้มัน "เข้าใกล้ศูนย์" ได้  โดยอาศัยกระบวนการ Research  Design   

ตามเหตุผลย่อๆที่กล่าวมา  ทำให้  The Sdudy of Behavior  กลายมาเป็น Behavioral  SIENCE ตลอดมา  และตลอดไป !

(๒) ถ้าเราทดลองเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง  โดยการโยนก้อนหินจากที่สูงแล้ววัดความเร่งของการตก  "เราไม่ต้องกังวลเลยเกี่ยวตัวแปรบกวนต่างๆ"  เช่น "สีของก้อนหิน"  "ความขรุขระของก้อนหิน"  "คนมายินมุงดูการตกของก้อนหิน "  "ผู้ทดลองเป็นเพศชายหรือหญิง ฯลฯ

แต่การวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ "ต้อง" กังวลกับตัวแปรรบกวนเหล่านั้น   ด้วยเหตุดังนี้  การวิจัยค้นควาจึงล่าช้ากว่าทางสาย  วิทยาศาสตร์ธรรมชาติอื่นๆ  เราจึงอิจฉาคุณหมอไงละครับ.

  ที่เสนอแนวคิดมานั้นก็อาจถูกต้องเพียงบางส่วน แต่จากประสบการณ์ที่ได้เลี้ยงสนุข 2 ตัว เช่นกัน หากเราได้ให้อาหารเพียงพอต่อความต้องการ และคอยดูแลสั่งสอนในสิ่งที่ถูกต้อง   สุนัขทั้งสองก็รู้จักจัดลำดับว่าตัวใดจะกินก่อนหรือหลังโดยไม่แย่งอาหารกันกิน  ตัวที่กินก่อนก็จะเลือกกินแค่พออิ่ม เหลือทิ้งไว้ให้ตัวข้างหลังได้กินอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องรีบแย่งกัน เพราะต่างก็ win-winด้วยกันจึงอยู่ด้วยความเพียงพอถ้อยทีถ้อยอาศัย ใครเห็นก็แปลกใจ หากว่า รู้จักคำว่า พอ  ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็เรียนรู้ได้เช่นกันค่ะ

ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งครับที่ได้อ่านข้อคิดเห็นของคุณชวนพิษ สุขแย้ม  แต่ขออภัยที่มาอ่านช้าไปหลายวัน  ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็นดังนี้ครับ

ผมขอท้าวความสักนิดครับ   ความขัดแย้งระหว่างบุคคลอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ขัดกัน นั้น เป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ  และเกิดขึ้นอย่างคงเส้นคงวา  เหมือนกับไก่ที่ออกไข่ก่อนเป็นตัว  และเป็นไก่เสมอ  ไม่เคยออกลูกก่อนออกไข่ และออกลูกเป็นแมวบ้าง  เป็น หมูบ้าง  มันมีความคงเส้นคงวา  เมล็ดถั่วก็งอกออกมาเป็นต้นถั่ว  แลออกผลเป็นถั่วเสมอ  มันไม่เคยงอกออกมาเป็นต้นมะพร้าว  และไม่เคยออกผลเป็นมะละกอ ฯลฯ  ความสม่ำเสมอของเหตุการณ์ต่างๆบนโลกเรานี้มีเป็นเช่นนี้กับสิ่งต่างๆ     เราสังเกตเห็นสิ่งเหล่านี้    และกล้าพูดเชิงกฎได้ว่า  "ถ้าเมล็ดทุเรียนแล้ว จะงอกออกมาเป็นต้นทุเรียน"  "ถ้าเป็นหินแล้วจะต้องแข็ง " ฯลฯ  เหตุการณ์ทางพฤติกรรมก็เช่นเดียวกัน 

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างบุคคลอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ขัดกัน  ก็เป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ  และมีลักษณะคงเส้นคงวาเช่นเดียวกันกับตัวอย่างทางวัตถุที่กล่าวมาแล้ว

ความขัดแย้งดังกล่าวยังมีตัวแปรอื่นๆเข้าเกี่ยวข้องด้วย  เช่น  ถ้าไปพบทองคำก้อนเทาปลายนิ้วก้อย(ผลประโยชน์)ก็อาจจะไม่ทะเล่าะกัน  แต่ถ้าก้อนเท่าลูกฟุตบอล  ก็อาจจะทะเลาะจนฆ่าแกงกันได้  การจีบสาวก็เช่นกัน  ถ้าสาวนั้นทั้งสวยบาดใจ  ทั้งรวยเหลือล้น  แถมมีดีกรีปริญญาเอก  ความต้องการของชายหนุ่มก็อาจจะรุนแรงมากขึ้น ฯลฯ  ความขัดแย้งดังกล่าวมันคงเส้นคงวา  จะรุนแรงหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับตัวแปรดังกล่าวด้วย

เมื่อเกิดความขัดแย้งดังกล่าวขึ้นแล้วก็ต้องจัดการกับมัน  เช่น  ต่อสู้เอาชนะฝ่ายเดียว,  หรือปรองดอง, หรือยอมแพ้แล้วหนีไป,

ตามตัวอย่างที่คุณชวนพิศยกมาเรื่องสุนัขนั้น  ไม่ได้บอกว่าสุนัขไม่เกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ขัดกัน  แต่เป็นตัวอย่างที่บอกว่า  ความขัดแย้งฯของสุนัขได้รับการจัดการหรือแก้ไขแล้ว  ด้วยการฝึกสอน  และการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯประการที่สองคือการให้อาหารทั้งสองตัวอย่างเพียงพอ  การให้อาหารแก่มันอย่างเพียงพอ  ความขัดแย้งฯจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?  การให้อาหารอย่างเพียงพอก็ถือเป็นการบริหารความขัดแย้งฯแล้ว

ประการสำคัญก็คือ  การลงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์เชิงประจักษ์นั้น  เราใช้วิธี Induction  และอยู่บนพื้นฐานของ  Probability  ซึ่งหมายถึงว่า  เราไม่ใช้  Extreme case  มาเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่าอันไหนถูกอันไหนผิด 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท