หากไม่มีหาดทราย...คลื่นก็จะไม่มีที่พิงให้หยุดพัก


หากไม่มีหาดทราย...คลื่นก็จะไม่มีที่พิงให้หยุดพัก

ไวชยันต์ ขวัญจุล

 

หาดทราย เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้อยู่คู่กับทะเลมายาวนานนับหมื่นนับแสนปี เปรียบได้ว่าเป็นพี่เป็นน้องกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

" หากไม่มีคลื่น ก็จะไม่มีหาดทราย

หากไม่มีหาดทราย คลื่นก็จะไม่มีที่พิงให้หยุดพัก "

แต่เมื่อมีบางสิ่งมาแทรกแซงทำให้หาดทรายและทะเลแยกกัน ธรรมชาติแห่งทะเลก็ย่อมมีการลงโทษ โดยการกัดเซาะชายหาดของน้ำทะเล ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อหาดทรายและอาคารบ้านเรือนริมชายฝั่ง ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงการอยู่ร่วมกันของคลื่นและหาดทรายว่าไม่มีอะไรจะมาทดแทนกันได้ ดังดูได้จากคลิปเปรียบเทียบระหว่างคลื่นปะทะกำแพงที่ชายฝั่งบ้านหน้าศาล อ.หัวไทร และคลื่นบนหาดทรายบ้านแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในขณะสภาพอากาศและทะเลเดียวกัน เมื่อ 18 มีนาคม 2554

 

 

ที่มา : Beach Watch Network (BWN), คลื่นปะทะกำแพง (wave hit wall)

 

จะเห็นได้ชัดว่าคลื่นที่เข้าชนกับกำแพงชายฝั่งจะขยายขนาดขึ้นและมีความรุนแรงมากกว่าคลื่นที่กำลังซัดเข้าหาฝั่งที่มีหาดทราย อีกทั้งหาดทรายไม่ก่อให้เกิดไอละอองน้ำเค็มที่มีสภาพเป็นกรด ซึ่งจะทำลายวัสดุและอาคารบ้านเรือน รวมทั้งต้นไม้ใบหญ้าอีกด้วย

 

 

           กลไกการดูดซับพลังงานคลื่นของหาดทรายนั้นซับซ้อนมาก ซึ่งอาจอธิบายได้จากปรากฏการณ์ที่เห็น ดังนี้

1.      หาดทรายมีความลาดชัน

เราจะสังเกตเห็นได้ว่าหาดทรายทุกที่จะมีลักษณะเป็นทางลาด ซึ่งจะช่วยทำให้ความเร็วของคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งนั้นลดลง เปรียบเสมือนเรากำลังวิ่งขึ้นที่สูง ความเร็วก็จะลดลงไปเรื่อยๆจนหมดแรงไปเอง

รูปที่ 1 แสดงคลื่นไถลขึ้นทางลาดชัน (wave runup)

ที่มา: http://lms.psu.ac.th/mod/resource/view.php?id=75520

 

2. เม็ดทรายมีรูพรุนมาก

ทรายเป็นวัสดุที่มีช่องว่างมากและยอมให้น้ำไหลซึมผ่านได้ดี ดังนั้นเมื่อมีคลื่นซัดขึ้นบนหาด ทรายจะเป็นตัวที่คอยซึมซับน้ำเอาไว้ และทำให้มวลน้ำของคลื่นที่ไถลขึ้นหาดทรายลดลงพลังงานคลื่นบนหาดก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน ส่งผลให้คลื่นไม่สามารถกัดเซาะหาดทราย

3. แรงเสียดทานของเม็ดทราย

เมื่อสังเกตคลื่นที่กำลังไถลขึ้นบนหาดทรายจะมีลักษณะคล้ายแผ่นฟิล์มความหนาน้อยๆ จึงต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานมหาศาลที่เกิดจากทรายนับล้านๆเม็ด เกิดเป็นการไหลที่ปั่นป่วนรุนแรงจนกลายสภาพเป็นฟองขาวคล้ายฟองเบียร์ ซึ่งแสดงว่าพลังงานในคลื่นถูกใช้ไปเพื่อเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นฟองอากาศ

 รูปที่ 2 ฟองอากาศของคลื่นไถลบนหาดทราย

ที่มา: http://www.bwn.psu.ac.th/gallery.html

 

4. คลื่นปะทะกันที่หาดทราย

            เมื่อคลื่นลูกแรกที่ไถลขึ้นบนหาดหมดแรงลง ก็เกิดการไหลย้อนกลับของคลื่นนั้นซึ่งจะสวนทางกันกับคลื่นลูกต่อไปที่กำลังจะซัดขึ้นหาด จะส่งผลให้เกิดการปะทะกัน พลังงานหรือความเร็วของคลื่นลูกที่สองจะสูญเสียไปอย่างมหาศาล ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “คลื่นแตกที่ฐาน (surging wave)”

รูปที่ 3 คลื่นแตกที่ฐาน (surging wave)

ที่มา : http://beachsafe.org.au/tsunami/sls/pages/02_coastsafety.html

 

         เมื่อหาดทรายมีความอัศจรรย์ดังที่กล่าวมาแล้วเช่นนี้ เราจึงไม่มีวัตถุใดๆที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมได้กับเม็ดทรายเล็กๆที่ธรรมชาติบรรจงสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินให้มั่นคงตลอดไป

        ท้ายสุดนี้ ขอวิงวอนทุกท่านช่วยกันดูแลรักษาชายหาด เพื่อให้หาดทรายได้อยู่คู่กับทะเลตลอดไป และมีชายทะเลเป็นสถานที่ที่ให้ความสุขเมื่อเราๆท่านๆได้ไปถึง

 

 “ผิวหนังปกป้องร่างกายคนเราอย่างไร  หาดทรายย่อมปกป้องแผ่นดินฉันนั้น

---------------------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 550653เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2013 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณผู้เขียน หวังว่าจะได้อ่านบทความดีเช่นนี้อีก 

ศรัณย์พัชร อินทร์ทอง

ขอบคุณสำหรับบทความดีนะครับ ทำให้ตาสว่างเลย

เป็นบทความเชิงวิชาการที่เข้าใจได้ง่าย

ทำให้เข้าใจกลไกการทำงานทางธรรมชาติของเม็ดทราย

ที่มนุษย์ใช้บริการมาช้านาน..  และมนุษย์ก็กำลังทำลายไปด้วยความรู้เท่าไม่กาล

ขอบคุณสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลนี้ต่อสาธารณะ

เข้าใจง่ายดีจังค่ะคุณไวชยันต์  ขอบคุณนะคะ....บทความนี้มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่รู้เรื่องหาดทรามาเลย...ที่สำคัญเมื่อมองย้อนกลับมาในชุมชนที่อาศัยอยู่...พบว่า  หาดทรายหรือชายหาดเริ่มหายไปแล้วล่ะค่ะ

ชักจะคิดถึงอดีตที่มีหาดทรายหรือชายหาดยาวๆ ไกลๆ ให้เห็นสุดลูกหูลูกตา  เมื่อนั่งรถผ่านทะเลในชุมชน

ขอบคุณนะคะ

อ่านครั้งที่ 3 ยิ่งเห็นภาพชัดเจนชึ้น และรู้แล้วว่าทำไมการเอาทรายกลบบนกระสอบที่หาดชลาทัศน์ จึงไม่ได้ผล 

ศรัณย์ รองเรืองกุล

ความเห็นส่วนตัวไม่อิงวิชาการ เพียงแต่อาศัยอยู่ติดชายหาดอันดามัน เขาหลัก มาเกิน 10ปี และจากที่ดู/ฟัง ข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้างกับหาด/เขื่อน

>คลื่นมีความแตกต่างกันมาก ระหว่างหน้าแล้ง กับ หน้าฝน(มรสุม) กล่าวได้ว่า คลื่นด้านบนที่บรรยาย ตรงกับคลื่นโดยปกติในหน้าแล้ง แต่คลื่นหน้าฝนมีพละกำลังที่มากกว่า ลักษณะการม้วนของคลื่นก็ต่างออกไป ไปในลักษณะกวาดม้วนลากลง ดังนั้นคลื่นหน้าฝน จะมีลักษณะกัดหาดต่อให้เป็นชายหาดทรายก็กัดเป็นปกติ ถ้ามีแรงลมจากมรสุม(มิถุนาเป็นต้นไป)ก็จะกัดเซาะมากขึ้น และถ้าบวกกับช่วงน้ำใหญ่ 15ค่ำ1-3ค่ำ คลื่นจะได้รับแรงบวกสองทาง ความรุนแรงก็จะมากขึ้น หาดก็จะโดนกัดเซาะมากขึ้น (เช่นที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13-17มิย.ที่ผ่านมา) เป็นไปโดยธรรมชาติที่คลื่นจะพาทราย/ตลิ่ง ลงไปล้างทำความสะอาด และก็โดยธรรมชาติที่คลื่นช่วงเปลี่ยนฤดู โดยปกติก็หลังกลางเดือนตุลาคม ก็จะเปลี่ยนรูปแบบ เป็นยกตัวเข้าฝั่ง จะเป็นในลักษณะพาทรายกลับขึ้นมาก่อตัวบนชายฝั่ง เราจะเรียกมันว่าคลื่นก่อหาด มนช่วงน้ำใหญ่สุดท้าย หาดทรายก็จะได้รีบการเติมกลับเหมือนเดิม ธรรมชาติก็จะวนเวียนไปแบบนี้

>สังเกตุ ได้ชัดเจนในดินแดน ชายหาดที่ยีงบริสุทธิ์ ไม่มีกิจกรรม งานก่อสร้าง สิ่งบุกรุกแปลกปลอมล้ำเกินอาณาเขต การหยืดหยุ่นตัวของชายหาด (กฏหมายควบคุมการก่อสร้างจึงประกาศระยะถอยร่น แนวห้ามปลูกสร้างอาคารใดๆ มากน้อยตามแต่ละท้องถิ่น 15เมตรบ้าง30เมตรบ้าง เป็นต้น) เราแวะเวียนไปกี่ครั้งมันจึงยังคงสภาพเดิม เพราะเรามักแวะเยือน(เที่ยว)ช่วงหน้าแล้งมากกว่าหน้าฝน

> ที่แน่นอน คือ ทรายอยู่กับทราย ทรายจะก่อตัวบนทรายได้เท่านั้น

> เมื่อมีงานก่อสร้างเกิดขึ้น ฝีมือมนุษย์ไม่ว่างานก่อสร้างนั้นจะเป็น เขื่อน กำแพง หินทิ้ง บ่อท่อซีเมนต์กรอกปูน ตาข่ายเหล็กลูกบากศ์บรรจุหินย่อย อาคาร สะพาน ท่าเรือ บล็อคท่อ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากมนุษย์คนนั้นคิดว่าทำเพื่อรักษาที่ดินตัวเอง

> คลื่นเมื่อมีสิ่งขวางกั้นที่ไม่สามารถดูดซับพลังงาน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น การสะท้อนกลับ เหมือนเราเอาลูกบอลอัดใส่ผนังที่มันสะท้อนกลับ เพียงแต่คลื่นมรสุมตามที่อธิบาย แม้ว่าโดยปกติคลื่นเข้าฝั่งมันจะวิ่งเข้าในลักษณะตั้งฉากกับฝั่ง(อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของคลื่น ยกตัวอย่างง่ายๆ นึกภาพเกาะสิครับ เราจะเห็นว่าคลื่นเข้าฝั่งตั้งฉากรอบเกาะไม่ว่าจะอยู่ทิศไหนของเกาะ ทำไมต้องอธิบายเรื่องนี้เดี๋ยวจะโยงภาพให้เห็น)

> เพียงแต่คลื่นมรสุมเจอแรงบวกจากลมมรสุม ประเทศไทยมรสุมจะเข้าหาไทยในทิศเฉียงขึ้นเหนือทั้งสองฝั่ง ทั้งด้านอันดามันมาจากตะวันตกเฉียงขึ้นเหนือ อ่าวไทยมาจากตะวันออกเฉียงขึ้นเหนือเช่นกัน ใช่ครับมันเฉียงขึ้นไปด้านทิศเหนือ

> เมื่อมีเขื่อนเกิดขึ้น เขื่อนพันเปอร์เซนต์ ไม่ว่าทำโดยเอกชน หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือภาครัฐ ก็จะทำเฉพาะที่ดินตนเอง หรือที่ใดที่หนึ่ง ระยะหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นปีถัดไปที่ดินเหนือเขื่อนจะได้รับผลกระทบทันที เป็นผลกระทบที่เกิดจากแรงสะท้อนของคลื่นบวกแรงลมที่พัดขึ้นเหนือ ผลทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกัดเซาะไม่เป็นตามธรรมชาติ กล่าวได้ว่ามันได้รับแรงบวกเพิ่มจากแรงสะท้อนที่คลื่นกระแทกเข้าเขื่อน/ของแข็ง และที่จะหนักเป็นพิเศษคือมุมฉากของเขื่อนดังกล่าว เพราะตามที่กล่าวข้างต้นคลื่นมีลักษณะพิเศษ วิ่งกระทบเป็นมุมฉาก

> การกัดเซาะจะมากขึ้นทุกปี เพราะ ทรายไม่สามารถก่อตัวถาวรหน้าเขื่อน ที่ข้างเคียงก็ได้รับอิทธิพล ทรายก็ไม่สามารถก่อตัวให้เหมือนเดิมได้

> ทีนี้ก็เกิด นววัตกรรมใหม่ที่โยธาภูมิใจ ได้สัก4ปีที่แล้ว ที่เกิดมาพร้อมน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคกลาง/กรุงเทพ BigBag มีการทำมาใช้ที่ ชัดๆและโด่งดังชนิดปีต่อปี ปีแรกที่โด่งดังเพราะคิดว่ามาถูกทาง คิดว่าสามารถนำมาทดแทนเขื่อนแข็งได้ แต่ผลกระทบด้านทิศเหนือยังคงมีต่อเนื่อง อาจไม่รุนแรงเท่าเขื่อนแข็ง คิดว่าวัสดุไฟเบอร์ที่นำมาใช้ยอมให้น้ำผ่าน ทรายจะก่อตัวได้ ก็ไม่เหมือนทราย แต่ก็ดีกว่าของแข็ง ทรายก่อตัวได้ระดับหนึ่งก็ไม่เหมือนชายหาด แต่ที่เป็นประเด็นที่พูดกันคือ ระบบนิเวศน์ที่เริ่มล้มหายไปเช่น ปูลม ปูเสฉวน ที่ไม่สามารถขุดรู หลบอยู่อาศัยได้ ผักบุ้งทะเล พืชพันธ์ชายฝั่ง ก็อยู่ได้ไม่เหมือนเดิม การขึ้นลงของชาวบ้านก็ไม่เหมือนเดิม วิถีชุมชนมีเปลี่ยนแปลง ระดับชายฝั่งกับพื้นน้ำก็ต่างระดับมากขึ้น(ทรายไม่ก่อตัว)

> BigBag ที่ว่าใหญ่หนักแล้ว เจอมรสุมแรงๆคลื่นใหญ่ก็ม้วนลงไปกองกลิ้ง กระจายตามชายหาด บางถุงเจอของมีคม ฉีกขาดทรายไหลออก ก็ทรุดลง ความสวยงาม(คิดว่าสวย)ก็เริ่มอัปลักษณ์

> ด้วยความเห็นของผมวิธีที่ดีที่สุด คือการเติมทรายด้วยเครื่องจักร ช่วงคลื่นก่อหาด เพราะบางครั้งทรายอาจกลับไม่เท่าเดิม หรือเนื่องจากพื้นที่อยู่เหนือเขื่อนซึ่งได้รับผลกระทบที่ไม่เป็ยธรรมชาติ และระหว่างมรสุม อาจป้องกันแนวชายฝั่งเพื่อลดผลกระทบ วิธีชาวบ้าน ตอกเข็มไม้เป็นแนว ช่วงน้ำลดสุด หาดถูกกัดเซาะแล้ว จากนั้นใช้ถุงทรายปกติก่อหลังแนวไม้ เป็นระดับ 2-3 ระดับ เป็นขั้นบันได (แต่ต้องทำไม่เกินที่ตัวเองนะครับ) มันจะช่วยชะลอการกัดเซาะ ช่วย(ซับแรงกระแทก และเมื่อช่วงก่อหาด ทรายก็กลีบขึ้นมาทับบนก่อตัวอยู่ได้ เป็นวิธีที่ผมก็นำมาใช้ป้องกันต้นจิกต้นสน 2ปีหลัง หลังจากผลกระทบมันรุนแรงขึ้นทุกปี ก่อนกน้าใช้วิธีเอาแม็คโครลงหาดช่วยปรับเติมทราย แค่ 2-3 คืน คืนละ4ชั่วโมงช่วงน้ำลง_น้ำขึ้น

ทราย..เป็นทรัพยากร..ธรรมชาติ..ที่จะขาดแครน..เหมือนน้ำจืด...ในเวลาข้างหน้านี้..และไม้่ช้า..ที่จะเห็น...ชายฝั่งทะเลบอลติค...ก็มีการรณรงค์ให้..ชาดหาดกลับมามีสภาพเดิมๆๆเหมือนกัน...

สมดุลของหาดทราย เรียกว่า สมดุลท่ามกลางความเคลื่อนไหว หรือ สมดุลพลวัต (Dynamic Equilibrium) หมายถึงเม็ดทรายชายหาดไม่เคยหยุดนิ่ง เคลื่อนไหวไปตามแรงคลื่นทั้งคลื่นลมพายุในฤดูมรสุม และคลื่นเดิ่ง (swell) ในฤดูลมสงบ รวมแล้วตลอดปี หาดทรายสมดุลไม่เปลี่ยนแปลง ตราบเท่าที่ไม่มีใครไปแทรกแซง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท