ทฤษฎีของมาสโลว์กับพุทธศาสนา


ทฤษฎีของ Maslow จัดเป็นทฤษฎีอยู่ในกลุ่มมนุษยนิยม กล่าวถึง มุมมองของมนุษย์ในทางบวก โดยมนุษย์มีแรงปรารถนา มีจุดมุ่งหมายของชีวิตให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งกายภาพและมโนภาพ ในส่วนลึกของแรงปรารถนานั้นเป็นความต้องการที่จะพยายามเข้าใจตนเอง เพื่อใช้ความรู้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มกำลัง สมมติฐานที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ มนุษย์มีความต้องการไม่สิ้นสุด โดยเริ่มจากพื้นฐานความจำเป็นของการดำรงชีพ ต่อยอดไปเรื่อยๆ เน้นที่ตนเองเป็นหลักก่อนขยายวงกว้างสู่สภาพแวดล้อมและสังคมในที่สุด

ดังนั้น หากเป็นไปตามแนวคิดที่กล่าวมาแล้ว แรงปรารถนาของมนุษย์ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ทฤษฎีของ Maslow กล่าวว่า ความต้องการ นั้น มี 5 ขั้น กล่าวคือ ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (security or safety needs) ในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน ความต้องการทางสังคม (affiliation or acceptance needs) ความรัก ความได้รับการยอมรับชื่นชมจากผู้อื่น ความต้องการการยกย่อง (esteem needs) สร้างสถานะในสังคม และ ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (self-actualization) ความสำเร็จเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นต้น จากที่กล่าวมา มนุษย์ก็ยังวนเวียนอยู่กับความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด

หากมนุษย์ไม่ค้นพบตัวตน ไม่เข้าใจความใต้องการของชีวิตอย่างแท้จริง แรงปรารถนานั้นจะสร้างอำนาจครอบคลุมจิตใจ ในทางพระพุทธศาสนา คือ ภวตัณหา ความอยากเป็น ซึ่งเป็นเรื่องเศร้าหมอง จึงมีข้อเตือนสติ ข้อเตือนตน ในการควบคุมแรงปรารถนาให้เดินไปถูกทาง ด้วยพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ ทาน ศีล ภาวนา กล่าวคือ การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่นโดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตนประกอบด้วยข้อกำหนดให้พึงระวังด้วยกาย วาจา และ ใจ อย่างมีสมาธิ มีจิตที่กำกับไว้ ดังนั้นปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตมีความสงบฉันทะ คือความยินดี ความพอใจ มีวิริยะ ความอุตสาหะ ความพากเพียร ที่จะปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เข่น ความเป็นตัวตน ใจเป็นตัวเป็นตน ร่างกายเป็นตัวเป็นตน เป็นผลที่เกิดจากความหลง เมื่อมีตัวมีตนขึ้นมา ก็เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทั้งนี้หากเข้าใจ พระไตรลักษณ์คือ เป็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง ทุกขังได้แก่" สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ "และอนัตตาได้แก่" ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ "( สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

จากที่กล่าวมาจะพบว่า มนุษย์ล้วนมีแรงปรารถนา มีความต้องการเพื่อความเจริญของตน ตามธรรมชาติ หากแต่ มนุษย์มีปัญญาในการพิจารณา มีสติในการวิเคราะห์ความเหมาะสม การเดินทางไปสู่เป้าหมายให้ถึงที่สุดคือความสำเร็จของชีวิตนั้น ต้องอุดมไปด้วยความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากโรคภัย ทุกภัยทั้งปวง ดังนั้น มนุษย์จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยกำกับการเดินทาง นั่นคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เข้าใจความไม่แน่นอน และ ความแน่นอน ที่แท้จริง รวมถึงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องดัง พระบรมราโชวาทของในหลวง คำสอนของพ่อ เรื่อง คุณธรรมของคน

คุณธรรมของคน

ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์

ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง

ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น

ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม

ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต

ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต

และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

คุณธรรมสี่ประการนี้

ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม

จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น

และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป

พระบรมราโชวาท ในพิธีบรวงสรวง

สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5 เมษายน 2535

หมายเลขบันทึก: 549921เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ พระบรมราโชวาท ขอน้อมไว้เหนือเกล้า และนำใส่ใจไว้ดำเนินชีวิตครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท