PLC_CADL_014 : KM อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป ครั้งที่ 2/2556 (แนวทางจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป)


วันที่ 7-8 กันยายน 2556  สำนักศึกษาทั่วไป จัดประชุมสัมมนาเพื่อ ระดมความคิดหาแนวทางการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาศึกษาทั่วไป (ต่อเนื่องจากการแลกเปลี่ยนครั้งแรก (อ่านได้ที่นี่)) บันทึกนี้ต่อจากบันทึกแรกที่นี่ บันทึกที่สองที่นี่ และบันทึกที่สามที่นี่

ตอนเช้าวันที่ 8 เรานำเสนอผลสรุปการแลกเปลี่ยนกลุ่มย่อยรายวิชา  ผมนำเสนอผลการระดมสมองของกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ แสดงดังภาพนี้ครับ 
 


คำอธิบายประกอบภาพ

เป้าหมายของรายวิชาศึกษาทั่วไปคือการพัฒนานิสิตให้เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข คนจะดีนั้นต้องเป็นผู้มีคุณธรรม (มีวินัย ซื่อสัตย์ เสียสละ) คนจะเก่งนั้นสำคัญว่าต้องเก่งการดำเนินชีวิต มีทักษะชีวิต (มีหลักวิชา กินเป็น อยู่เป็น) คนจะมีความสุขนั้นจะต้องมีอุปนิสัยพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำความรู้และหลักวิชาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม คุ้มค่า และเห็นคุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ

เราสามารถแบ่งขั้นลำดับของการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปออกเป็น 3 ระดับได้แก่

  • ขั้นเนื้อหา เราเรียนความรู้ เรียนความจริง หรือ Fact เรียนรู้กระบวนทัศน์ (ลำดับการคิด) เดิม ที่ได้จากการ ฟัง อ่าน ดู หรือรับความรู้จากภายนอกตัว ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปด้านสุขภาพนั้น จำเป็นต้อง เรียนรู้ให้รอบรู้เกี่ยวกับ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ซึ่งมีหลากหลายรายวิชาที่เกียวข้องกับคุณภาพชีวิต กีฬา สุขภาวะอนามัยของการกินอยู่ ดูหนังฟังดนตรีให้มีศิลปะและสุนทรียภาพ ฯลฯ
  • ขั้นกิจกรรม หรือขั้นฝึกทำ ฝึกทำงานแบบ PDCA พัฒนาทักษะ (Skills) ฝึกการแก้ปัญหา เมื่อได้เรียนรู้จากขั้นแรกแล้ว ก็นำมาพัฒนา นำความรู้  ฝึกคิด ตั้งแต่วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า และคิดพิจารณาอย่างมีวิจารณญาณอย่างเป็นเหตุเป็นผล สรุปคือการฝึก "กระบวนการเรียนรู้" ให้มีทักษะการเรียนรู้ในตนนั่นเอง โดยเน้นว่าจะต้องออกแบบให้ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) หรือเรียนรู้แบบรูจริง (Mastery Learning) ซึ่งต้อง "สัมผัส" และตอบสนองจาก "ของจริง" หรือท่านอาจารย์อุดมศักดิ์ท่านเรียกว่า "Influence" ....
  • ขั้นนำไปใช้ในชีวิตจริง สำคัญว่าขั้นนี้จะได้ฝึกเรียนรู้ด้วยตนเอง คณาจารย์ต้องดูแลแนะนำให้พวกเขาไป "ถูกทาง" ถูกคัดลอง คลองธรรม เพื่อให้สามารถยกระดับจิตวิญญาณ (Spiritual) ขึ้นได้ ลดความเห็นแก่ตน เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้นๆ สู่คนที่เป็น "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"  เป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่

 



 หากพิจารณาสรุปโดยเน้น "กระบวนการเรียนรู้"  ตามคำแนะนำของอาจารย์ชุน (ผศ.ชุน เทียนทินกฤต) เรียกว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ " 4ส." ได้แก่ สืบค้น สังเคราะห์ สร้างสรรค์ และสื่อสาร  หรือ สำรวจ สืบสวน สร้างสื่อ และเสนอ  (ไม่ตายตัว)

  • สืบค้น/สำรวจ
  • สังเคราะห์/สืบสวน
  • สร้างสรรค์/สร้างสื่อ
  • สื่อสาร/เสนอ

ทุกขั้นของการะบวนการเรียนรู้ (Fact, Skills, Spiritual) ใช้วงจร 4ส. เหมือนกันทั้งหมด แตกต่างกันเพียงบทบาทของอาจารย์และนิสิต ที่อยากนำเสนอ ดังนี้

  • ขั้นเรียนความรู้ หรือ Fact  อาจารย์เป็นผู้กำหนดเนื้อหา กำหนดหัวเรื่อง อาจเขียนเป็นตำรา หนังสือเพื่อการสื่อสารสะดวกชัดเจน โดยทิ้งปัญหาหรือกำหนดหัวเรื่องให้นิสิตได้ฝึกทักษะการสืบค้น รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์จำแนก จัดหมวดหมู่ วิเคราะห์หลักการความสัมพันธ์ของแต่ละองค์กรประกอบ และตีความ ถอดความอย่างรอบคอบถ้วนถี่ ก่อนจะนำมาสังเคราะห์ประเมินค่า แล้วสร้างสรรค์สร้างสื่อ เขียนและเผยแพร่แบ่งปันสู่ผู้อื่น โดยมีอาจารย์คอยกำกับดูแลความถูกต้องเหมาะสม
  • ขั้นฝึกทักษะกระบวนการเรียนรู้และทักษะการทำงาน แทนที่อาจารย์จะเป็นผู้กำหนดหัวเรื่อง แต่ถอยออกมาเป็นเพียง "ครูฝึก" (Coach) อาจร่วมระดมความคิด แต่ที่สิ่งที่เป็นภารกิจหลักคือ การออกแบบกิจกรรมให้นิสิตได้ฝึกการทำงานกันเป็นทีม ตั้งแต่สืบค้น สังเคราะห์ สร้างสรรค์ และนำมาถอดบทเรียน ก่อนนำเสนอ  feedback ของอาจารย์ และเสียงสะท้อนจากเพื่อนๆ จะทำให้นิสิตได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะในตนเอย่างเต็มที่ 
  • ขั้นนำไปใช้ในชีวิต อาจารย์ถอยมาเป็นเพียง "พี่เลี้ยง" เพื่อให้นิสิตได้ ตั้งคำถามเอง สืบค้นเอง สังเคราะห์ สร้างสื่อสร้างสรรค์เอง และนำเสนอเอง โดยอาจารย์เป็นผู้ชี้ทิศทางและสะท้อนประเด็นสำคัญเพื่อพัฒนาอย่างกัลยาณมิตรเท่านั้น 


ความจริงท่านผู้อ่าน ไม่ควรอ่านคำอธิบายละเอียด ควรดูที่รูปและทดลองคิดเชื่อมโยงตาม  แล้วคอยสังเกต "คำถาม" ที่ผุดขึ้นในใจ .... แล้วก็แปลงคำถามเป็นคำตอบที่ไม่มีในรูป ส่งเป็นข้อสะท้อนสอนกลับมายังผู้เสนอ .... จักขอบพระคุณยิ่งครับ
  
(บันทึกหน้าค่อยว่าถึงผลสรุปของสองกลุ่มที่เหลือครับ)

หมายเลขบันทึก: 549018เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2013 03:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2013 22:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท