workshop การให้เพื่อสังคม (ตอน 2)


พลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

       ในช่วง เรื่องเล่าเร้าพลัง กิจกรรมส่งเสริมการให้ในโรงเรียนที่ประทับใจมิรู้ลืมมาดูผลการให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยใช้เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling)  คือการให้คุณครูแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 4 กลุ่ม ในกลุ่มให้ครูแต่ละคนเล่าเรื่องกิจกรรมการให้เพื่อสังคมในโรงเรียนที่ตัวเองภาคภูมิใจ ประทับใจมากที่สุด และให้กลุ่มเลือกเรื่องที่ประทับใจมากที่สุดมาให้ตัวแทนมานำเสนอในที่ประชุมใหญ่  

       จ๊ะจ๋าพบว่ากลุ่มครูนักปฏิบัติรู้สึกสนุกสนานในช่วงนี้มาก มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจหลายเรื่องจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายบริบท  ซึ่งจากเรื่องเล่าทั้งหมด ใน 4 กลุ่มได้เลือกเรื่องที่ตนประทับใจ มาได้ทั้งหมด 4 เรื่อง จาก 24 คน ดังนี้

1) การบรรพชาสามเณร 60 ปี 60 ล้านความดีถวายในหลวง - โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ กรุงเทพฯ

จากเดิมเด็กนักเรียนหลายคนเป็นเด็กเกเร โดยเฉพาะชั้น ม.3  จึงมีแนวคิดกิจกรรมการบรรพชาสามเณรขึ้น และได้ประชุมร่วมกันทุกฝ่ายในโรงเรียน เรียกเด็กที่มีปัญหามาชักชวนให้บวชถวายในหลวงในโอกาสที่ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี  และมีแนวคิดว่า พระก็น่าจะช่วยกล่อมเกลาเด็กได้ โดยขอความร่วมมือ และการสนับสนุนจากผู้ปกครองและสาธารณชน ซึ่งได้การตอบรับอย่างล้มหลามมากกว่า 100,000 บาท จึงเกิดการประสานระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน    ซึ่งตอนแรกตั้งเป้าไว้ 60 คนและมีเด็กเข้าร่วมสมัครถึง 90 คน     มีการบรรพชาสามเณรในวันที่  11 สิงหาคม เป็นเวลา 3 คืน  ในพิธีบวชมีการแห่เณรไปรอบตลาดมีนบุรี ทำให้ชาวบ้านประทับใจที่โรงเรียนเอาเด็กดื้อเด็กร้ายมาบวชได้  หลังสึกเด็กบางคนมีพฤติกรรมดีขึ้น บางคนก็เหมือนเดิม หลังจากนั้นต่อมาก็มีการเชิญพระมาอบรมเด็กที่โรงเรียนด้วย

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ  ศาสนาช่วยมากในการกล่อมเกลาเด็ก แต่ต้องอย่าให้เด็กคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องโบราณ 

2) โครงการพัฒนาเยาวชนช่วงปิดภาคเรียน โรงเรียนบางลี่วิทยา

จากเดิม ราวร้อยละ 60 ของเด็กนักเรียนที่โรงเรียนมีปัญหาเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร มีเด็กหญิงเป็นแม่เล้า และปัญหาใช้ยาเสพติด  ส่วนหนึ่งมีพ่อแม่ติดคุกหรือแยกทางกันจึงได้มีแนวความคิดที่จะชวนเด็กทำค่ายพัฒนาตนเองเพื่อแก้ปัญหา โดยให้เด็กไปคิดรายละเอียดเอง เช่น เลี้ยงอาหารไหม พักค้างคืนหรือไม่ และโรงเรียนไม่มีเงินสนับสนุนแต่ให้แง่คิดเด็กว่า ถ้าไม่พึ่งตนเองจะให้ผู้อื่นช่วยได้อย่างไร  เด็กจึงเก็บเงินกันเอง 6 เดือนหยอดกระปุกอย่างน้อยวันละ 5 บาท และเด็กมีข้อสรุปจากประสบการณ์ว่าเก็บเงินไว้ที่บ้านไม่ได้ ผู้ปกครองเอาไปใช้หมด  เมื่อมีทุนเบื้องต้นแล้วจึงเขียนโครงการขึ้นมาให้สอดคล้องเอาไปเสนอโรงพยาบาล ตำรวจ ฯลฯ ให้สนับสนุนส่งคนมาเป็นวิทยากร   ส่วนครูให้แง่คิดเสริมแนะนำให้ไปที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร หรือวัดพระบาทน้ำพุ ไปให้กำลังใจผู้ติดเชื้อเอดส์ เนื่องจากครูเคยไปเองมาก่อน  การไปให้กำลังใจนี้ถือส้มลูกเดียวติดมือเข้าไปคุย   กิจกรรมนี้ดำเนินมาได้ 4 ปีแล้ว และปี 2549 เป็นปีที่ห้า  ซึ่งการระดมทุนนี้ เด็กเป็นคนคิดเองด้วยการขอบริจาคจากบุคคลทั่วไป  โดยเดินจากบ้านมาโรงเรียน มีนักเรียนเข้าค่ายราว 200 คน  และจากประสบการณ์ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากทางโรงเรียนและหน่วยงานราชการอื่นๆ  จึงมีความคิดที่จะแก้ไข ด้วยการแนะนำให้เด็กขอเรี่ยไรเงินมาตลอด 5 ปีแล้ว    ทางโรงเรียนเริ่มให้ความสนใจในโครงการนี้มากขึ้น และเด็กในโรงเรียนก็จัดทำของขวัญเอาไปเยี่ยมเด็กกำพร้าเอดส์ที่วัดบางม่วงเองด้วย

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ

  1. ทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะเด็กที่เกเรมาก
  2. ได้ฝึกให้เด็กทำความดีโดยไม่ต้องคิดพึ่งคนอื่นก่อน ทำให้เห็นว่าเมื่อทำดีแล้วคนอื่นจะมาช่วยเอง 

3)  โครงการเพชร ส.น.  โรงเรียนสองพี่น้องวิทยา จ.สุพรรณบุรี

จากเดิมเกิดจากอาจารย์วันชัย สวัสดิ์ทิพย์ เป็นการฝึกภาวะผู้นำให้เด็ก ในกลุ่มมีเด็กราว 30 คน(ตอนแรกมีมากกว่านี้ แต่ออกไปบ้าง) ฝึกจนเด็กสามารถทำได้เองโดยอาจารย์ไม่ต้องอยู่ด้วย  คุณสมบัติของเด็กที่มาเป็นสมาชิกคือ ต้องศรัทธาผู้ก่อตั้ง ศรัทธาแนวคิด และเสียสละแรงกายและทุนทรัพย์  เด็กเหล่านี้ทำงานบริการชุมชน งานอนุรักษ์ท้องถิ่น ขุดลอกผักตบชวาจากคลอง  และจัดงานปีใหม่ที่ชัยภูมิเอาของขวัญไปให้เด็กชนบท จัดทุกปีจนเกิดความผูกพันกัน โดยเด็กออกค่าเดินทางและขอของที่จะเอาไปบริจาคให้เด็กด้วยตนเอง

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ

  1.  เด็กรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม
  2.  เด็กมีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  และได้รับเงินบริจาคมาดูแลแม่น้ำหลังโรงเรียน
  3. ร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน  อีกทั้ง อบต.ยังให้การสนับสนุนมาก
  4.  ผู้บริหาร อาจารย์ ผู้นำชุมชน สามารถปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมด้านการเสียสละ รู้จักการให้ การแบ่งปันเด็กเกิดจิตอาสา

 4) โรงเรียนดีวิถีพุทธ  โรงเรียนวัดพรหมสาคร

จากเดิมโรงเรียนมีเด็กนักเรียน 1000 กว่าคน ไม่มีระเบียบวินัย เข้าแถวช้า  ครูหลายคนไม่มาคุมแถวกิจกรรม จึงมีแนวคิดกิจกรรมหน้าเสาธง ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2549 ตามคำแนะนำของผู้อำนวยการ(หลังจากครูย้ายมาจาก จ.อยุธยา) โดยนำหลักพุทธศาสนาซึ่งประกอบด้วยไตรสิกขา และมรรค 8  มาบูรณาการในการเรียนการสอนให้รักกิจกรรมต่างๆ ปลูกฝังจนเป็นพฤติกรรมที่ถาวร  มีทำความสะอาดห้องก่อน มาเข้าประจำที่หน้าเสาธง การประกวดมารยาท ฯลฯ แล้วากล่าวชมเชยหน้าเสาธง  ผู้บริหารรู้จักให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องด้วยกัลยาณมิตร เอาใจใส่ครูนักเรียน นำศาสนามาให้นักเรียน ให้รู้ว่าทำดีได้ดี มีการจัดทำรางวัลให้นักเรียนที่ทำความดีเด่น จัดวารสารให้นักเรียนที่ทำความดีได้ดีเด่น ทำคู่มือโครงการแจกทุกชั้น และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ

  1.    คุณครูเปลี่ยนพฤติกรรม ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเป็นมิตรไมตรี ร่วมมือกันมากขึ้น
  2.   นักเรียนมีพฤติกรรมหลายด้านดีขึ้น มีความสงบ มีสติมากขึ้น
  3.  ครูมีความสุขเมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมดีขึ้น
  4.    ความสัมพันธ์ระหว่างครูด้วยกันเองดีขึ้น
  5.    โรงเรียนได้รางวัลดีเด่นหลังจากทำกิจกรรมต่อเนื่องมาสามปี 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงนี้คือ

  •   การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเพื่อนๆ พร้อมทั้งเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
  • ได้กัลยาณมิตรใหม่ๆ มากมายและมีกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกันได้
  • ได้รู้จักบทบาทและหน้าที่ของครู ว่าเป็นผู้อำนวยและรังสรรค์ให้เด็ฏและเยาวชนรู้จักและทำความดี อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
  • การให้  ต้องปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก
  •  ความสำคัญของการร่วมมือและสนับสนุนของคนหลายฝ่าย (บ้าน วัด โรงเรียน) ที่เกิดจากความสมัครใจจริงๆ
  •  รู้สึกได้ว่าทุกคนที่เล่ามีความสุขในการเล่า คนฟังก็มีความสุขที่ได้ฟัง
  • ฟังแล้วได้คิดว่า การให้ทำได้ กับเด็กเล็กถ้าทำให้มีใจอยากจะให้ก็ใช้ได้แล้ว สำหรับเด็กโตก็กระทำการให้จริงๆ
  • ได้แนวคิดจากหลายๆ โรงเรียนเอาไปปรับใช้ในโรงเรียนของตนได้

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะคะของพลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมด้วยบรรยากาศสบายๆ ภายใต้ความพร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดใจให้แก่กันและกัน  เรื่องเล่าถ่ายทอดผ่านด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจ ความชื่นชมที่ลูกศิษย์รังสรรค์กิจกรรมด้วยความสมัครใจ ถ่ายทอดมาเป็นคำพูดผ่านโสตประสาทของผู้ฟัง  ผนวกกับการซักถามด้วยความสนใจ อยากรู้อยากเห็น  ยิ่งเร่งเร้าให้ผู้เล่าอยากจะเล่ามากขึ้น นี่คือ Tacit knowledge หรือ ความรู้ฝังลึกที่ถูกปลดปล่อยออกมา บ่งบอกถึงจิตวิญญาณของผู้เล่าที่พร้อมจะเล่าและเปิดใจในการถ่ายทอดความรู้ฝังลึกออกมา ผู้ฟังก็ต้องพยายามจะจับกลเม็ด เด็ดพลายนี่ ดั่งนั้น ในวันนั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยการตั้งใจฟังอย่างมาก ซักถามกันมาก จนหมดเวลาแล้ว ทุกคนร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลาหมดเร็วจัง จนไม่รู้ตัว 

มาดูรูปกันดีกว่า...

 

 ตั้งหน้าตั้งตาฟังเรื่องเล่ากันอย่างตาไม่กะพริบ

มุมสบายของกลุ่มนี้ เสร็จแล้วนั่งพักผ่อนดีกว่า 

ส่งตัวแทนของกลุ่มมานำเสนอเรื่องเล่าที่ประทับใจที่สุดภายในกลุ่ม
 
หมายเลขบันทึก: 54800เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าประทับใจทุกเรื่องเลยค่ะ

และอยากให้มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมาก ๆ นะคะ ซึ่งคงจะช่วยลดปัญหาสังคมได้มากทีเดียวหล่ะ

เราก็หวังเช่นเดียวกันเหมือนปรากฏการณ์ผีเสื้อนะคะ   ก็คงด้วยความร่วมมือร่วมใจ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมไม้ ร่วมมือกันของกลุ่มคนเล็กๆ แต่สามารถสั่นสะเทือนและทำให้สังคมหันกลับไปมอง และ เพื่อให้สังคมเราเป็นสังคมที่น่าอยู่ มีวัฒนธรรมการให้เพื่อสังคมกันมากๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท