ธรรมะในสถานศึกษา : อีกหนึ่งมิติของการบริการวิชาการแก่สังคมผ่านเวทีกิจกรรมนอกชั้นเรียน


ผมมองว่านี่คือการบริการวิชาการแก่สังคมในอีกมิติหนึ่งเหมือนกัน เป็นการบริการความเป็น “วิชาการ” ในมิติของ “วิชาคน” อย่างไม่บิดเบือน กระบวนการเช่นนี้ ถือเป็นกระบวนการอันสำคัญในการสานสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนไปในตัว ลดทอนช่องว่างที่มีต่อกัน รวมถึงเป็นการเติมพลังชีวิตให้กันและกันได้อย่างดีเยี่ยม เสมือนการผูกโยงโลกสองใบเข้าด้วยกันอย่างละมุนละม่อม


กิจกรรมวันที่ 4 กันยายน 2556 ถือเป็นอีกวันหนึ่งของกิจกรรมเชิงรุกสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่จัดขึ้นในชื่อ “ธรรมะในสถานศึกษา”

ครับ-ฟังดูเหมือนจะเฉิ่มเชยอยู่ไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นแน่นอน เพราะได้ภายใต้กิจกรรมดังกล่าว มีประเด็นการเรียนรู้อยู่อย่างมากมาย





โครงการดังกล่าว ผู้รับผิดชอบหลักคือกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งโดยปกติแล้วจะจัดขึ้นอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง ด้วยการกราบนิมนต์พระนักเทศน์ที่มีโวหารมาแสดงพระธรรมเทศนาให้นิสิตและบุคลากร “ได้ฟัง ได้ซึมซับ” เพื่อหนุนเสริมให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ทั้งในมิติคุณค่าต่อตัวเองและคนรอบข้าง (สังคม)

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ทีมงานผู้รับผิดชอบโครงการได้กราบนิมนต์ “พระครูวิมลธรรมรัตน์” (หลวงปู่บุญเสริม ธมมปาโล) มาเป็นพระวิทยากร ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่ากัลทลิวัน (วัดป่าสวนกล้วย) ต.สวนกล้วย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ






แน่นอนครับ-การสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่อง “คุณธรรมจริยธรรม” หรือ "จิตสำนึกอันดีงาม" ผ่านการฟังธรรมเทศนานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายผู้ฟังให้แจ่มชัดว่าอยู่ในวัยใด เพื่อผูกโยงกับสไตล์การเทศน์ (การแสดงธรรม) ให้ดูน่าสนใจ ไม่เบื่อ ...ชวนคิด ชวนจำ ชวนเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการใช้ชีวิต เรียกได้ว่า “บันเทิง...เริงปัญญา” นั่นเอง

และที่สำคัญก็คือการนำเอาปรากฏการณ์สังคมในยุคปัจจุบันมาเป็นประเด็นในการสื่อสาร มิใช่การสื่อสารในภาพมิติความเป็นพุทธกาลสถานเดียว เพราะนั่นคือกระบวนการอันสำคัญที่จะช่วยกระตุกความคิดให้ผู้ฟังได้อยู่กับความเป็นจริงของสังคมโลก รู้เท่าทันต่อสภาวะความเปลี่ยนผันของสังคม บนฐานคิดของหลักธรรม

ด้วยเหตุนี้การกราบนิมนต์พระนักเทศน์ที่มีโวหารชั้นครู ลุ่มลึกปรัชญา แตกฉานในพระธรรม เกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองและกระแสโลก และมีลูกโหดฮากระตุกต่อมให้ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา จึงน่าจะเป็นโจทย์หลักของการทำงานในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเวทีดังกล่าว ก็ถือว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม ครบรสทั้ง “บันเทิง เริงปัญญา” เรียกได้ว่าใครไม่เข้าฟัง...ก็พลาดโอกาสแห่งการบ่มเพาะทางปัญญาไปอย่างน่าเสียดาย –





ครับ, ธรรมะในสถานศึกษา กลุ่มเป้าหมายหลักคือนิสิต ทั้งที่เป็นกลุ่มผู้นำ (เด็กกิจกรรม) และนิสิตทั่วไป (เด็กเรียน) ซึ่งเวทีดังกล่าวถูกออกแบบผ่านกระบวนการของการฟังพระธรรมเทศนาเป็นหัวใจหลัก โดยถัดจากนั้นก็มีโครงการอื่นๆ รองรับ ต่อยอดเป็นระยะๆ...

หากแต่ระยะสองปีให้หลังนั้น ต้องยอมรับว่า วิถีการจัดกิจกรรมที่เคยเน้นหนักความเป็นนิสิตนั้นได้เปลี่ยนผ่านสู่การบูรณาการถึง “ชาวบ้าน” หรือ “ชุมชน” ไปในตัวอย่างง่ายงาม กล่าวคือทีมงานจะประสานงานชาวบ้านรอบมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมฟังเทศน์กับนิสิต ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีชาวบ้านมาร่วมไม่ต่ำกว่า 200-300 คน ขึ้นอยู่กับว่าจะให้โควตาไปกี่คน




ผมมองว่านี่คือการบริการวิชาการแก่สังคมในอีกมิติหนึ่งเหมือนกัน เป็นการบริการความเป็น “วิชาการ” ในมิติของ “วิชาคน” อย่างไม่บิดเบือน กระบวนการเช่นนี้ ถือเป็นกระบวนการอันสำคัญในการสานสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนไปในตัว ลดทอนช่องว่างที่มีต่อกัน รวมถึงเป็นการเติมพลังชีวิตให้กันและกันได้อย่างดีเยี่ยม เสมือนการผูกโยงโลกสองใบเข้าด้วยกันอย่างละมุนละม่อม

และยิ่งครั้งนี้ได้ประสานงานผ่านกลุ่มนักวิจัยไทบ้าน (กลุ่มฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง) ยิ่งช่วยให้การงานในภาคชุมชนราบรื่นและมีพลังกว่าทุกครั้ง เป็นการชวนชาวบ้านกลับมาเยี่ยมเยียนพื้นที่เก่าแก่ของชาวบ้านในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะกลายสภาพไปเป็นตึกเรียนสูงใหญ่แล้วก็เถอะ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นอื่นไปจากชาวบ้าน...




ดยส่วนตัวผมคิดว่าหากสามารถผูกโยงกิจกรรมเช่นนี้เป็นแผนพัฒนาของ “อบต.” ได้ยิ่งดี ออกแบบกิจกรรมให้มีเวทีทั้งในมหาวิทยาลัยและเวทีในชุมชนสลับกันไป เพื่อเชื่อมโยงสู่การไปมาหาสู่กันและกันประหนึ่ง “คนบ้านเดียวกัน” ไปเวทีใด-ชุมชนใด ก็เรียนรู้เรื่องราวของสถานที่ตรงนั้นไปพร้อมๆ กัน –สิ่งเหล่านี้แหละคือกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่ไม่ควรประเมินข้าม หรือละข้ามไป

หรือแม้แต่การนำเอาปรากฏการณ์อันเป็นเรื่องราวในท้องถิ่นนั้นๆ มาเป็นโจทย์ หรือตัวอย่างของการแสดงธรรม ยิ่งน่าจะทำให้เวทีแห่งการแสดงธรรมเป็นเวทีที่ไม่ธรรมดา

และนอกจากนี้หากสามารถบันทึกภาพ ตัดต่อเป็นวีดีโอ แจกจ่ายเป็นสื่อการเรียนรู้ไปยังชั้นเรียน โรงเรียน หมู่บ้าน ยิ่งน่าจะเป็นสิ่งอันดีงาม มิใช่ทำงาน “ตูมเดียว” และ “หายจ้อย” เช่นเดียวกับการออกแบบกิจกรรมอื่นๆ รองรับอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่ฟังเอาสนุก พอลุกออกจากห้อง ก็กลายสภาพกลับสู่วิถีเดิมๆ

แต่สำหรับเวทีธรรมะในสถานศึกษาที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ต้องยอมรับว่าทีมงานทำการบ้านมาดี นับตั้งแต่การเลือกพระวิทยากรที่เป็นนักเทศน์ร่วมสมัย ครบทั้ง “บันเทิง เริงปัญญา” มีโวหารและลีลาการเทศน์ชั้นครู หรือชั้นเทพ และที่สำคัญคือเป็นพระนักเทศน์ท้องถิ่น จึงยิ่งทำให้บรรยากาศของการรับรู้ รับฟังเป็นไปอย่างง่ายงาม ใกล้ชิด...และมีพลัง

เช่นเดียวกับการสร้างระบบและกลไกการทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ก็ถือว่าเดินทางมาถูกทาง เพราะการประสานงานกับทีมวิจัยไทบ้าน (ฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง) คือทางออก หรืออีกหนึ่งกระบวนการของการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน

ครับ,...นี่คือกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่เฉิ่มเชย ง่ายงาม มีชีวิตและมีพลัง หรือแม้แต่เป็นอีกมิติหนึ่งของการบริการวิชาการแก่สังคมอย่างไม่ต้องสงสัย

...


หมายเหตุ : ภาพจากกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


หมายเลขบันทึก: 547994เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2013 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2015 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ชอบภาพชุดนี้ครับ

มหาวิทยาลัย

ใกล้ชิดชุมชน

-สวัสดีครับ..

-ตามมาชมภาพกิจกรรมครับ

-บริการวิชาการ..บริการสังคม..

-ขอบคุณครับ...

ดีจังเลยนะคะ

หากฟังธรรมะ ในสไตล์ที่ไม่น่าเบื่อ ธรรมะก็เป็นเรื่องสนุกค่ะ

เคยนะคะ ไปเที่ยวที่สวนโมกข์ มีหลวงพี่องค์หนึ่ง ท่านเทศน์ได้ตลก มีสาระ มืออาชีพมากๆ ฟังแล้วมีความสุข อิึง ทึ่ง และใจก็บอกว่าใช่เลยค่ะ 

 

ขอบคุณบันทึกดีๆ ที่น้องตั้งใจถ่ายทอดเสมอมาค่ะ

ขอบคุณมากครับ ;)...

ป.ล. รอหนังสืออย่างใจจดใจจ่อ (และมีบางคนมาขอแจม 555)

ครับ อ.ณัฏฐวัฒน์

ในใจยังไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจว่าจะจัดกิจกรรมทำนองนี้สัญจรไปยังชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเหมือนกัน  แต่ตอนนี้คงเป็นหน้าที่ของทีมงานรุ่นน้องในการคิดและขับเคลื่อน  หากแต่สิ้นเดือนนี้ ก็ยังมีกิจกรรมรองรับให้ชาวบ้านรอบมหาวิทยาลัย นำสินค้าภูมิปัญญามาจัดแสดง เพื่อสะท้อนคุณค่าอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และสื่อให้ อบต,มหาวิทยาลัย ได้มารับรู้ เผื่อจะช่วยเหลือต่อยอด...

ขอบคุณครับ

ขอสนับสนุนโครงการดีๆ แบบนี้อย่างเต็มที่เลยครับ

อยากให้สังคมสวยงาม อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขแบบกิจกรรมนี้ตลอดไปนะ

เยี่ยมมากๆเลยครับ

รออ่านหนังสือด้วยคนครับ

สวัสดีครับ คุณเพชรน้ำหนึ่ง

การจัดกิจกรรมแล้วเชิญชุมชนเข้ามาร่วมในมหาวิทยาลัย สลับกับการที่มหาวิทยาลัยไปลงพื้นที่ในชุมชน  ผมถือว่าเป็นกระบวนการอันสำคัญ เสมือนไปมาหาสู่ -เยี่ยมยามถามข่าวกันและกันได้เป็นอย่างดี  นี่คือแนวทางหนึ่งของการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ครับ

 

สวัสดีครับ พี่ Bright Lily

ผมว่าทีมงานออกแบบกิจกรรมได้น่าสนใจครับ  เน้นการเทศนาแสดงธรรมแบบสนุกและได้ความรู้  ขณะเดียวกันก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ หนุนเสริมในทำนองนี้เป็นระยะๆ  เน้นความต่อเนื่องและหลากหลาย เพื่อให้เกิดกระแส เกิดความตระหนัก พัฒนาและเยียวยาจิตใจของผู้คนผ่านกิจกรรม...

ขอบคุณครับ

อ.วัส Wasawat Deemarn

ตั้งหน้าตั้งตารอ ก็บ่อเกิดแห่งทุกข์นะครับ  ถ้ารอไม่ไหว ก็ไปซื้อมาอ่านก่อนได้เลย จะได้เพิ่มยอดจำหน่ายให้กับผม 555

ครับ อักขณิช

 

นอกจากการบรรยายเช่นนี้แล้ว  ยังคงต้องมีค่ายธรรมะเข้ามาต่อยอดครับ  ทั้งที่จัดโดยมหาวิทยาลัยและจัดขึ้นโดยองค์กรนิสิต ซึ่งอย่างน้อยจะมีเทอมละ 1 ค่ายเป็นอย่างน้อย...

ครับ คุณมะเดื่อ

สังคมทุกสังคม ล้วนต้องแสวงหาจุดร่วมของการใช้ชีวิตร่วมกัน  เวทีครั้งนี้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของการอยู่ร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ครับ

 

ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ได้รับข้อมูลทางเมลแล้ว...เดี๋ยวผมส่งหนังสือให้วันนี้เลยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท