งานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรม


งานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรม

 

ผมได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้หนังสือ “ ดอกผลแห่งปัญญา” ที่รวบรวมเนื้อหาและเรื่องราวโครงการวิจัยเด่นของ สกว. สำนักงานภาค (โครงการตั้งแต่ปี 2545-2547) ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน จึงขอนำเสนอด้วยความยินดีครับ

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นและชุมชน เป็นงานวิจัยชาวบ้านที่ผู้วิจัยเป็นคนในพื้นที่ชุมชน ที่ ต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง โดยผ่านกระบวนการวิจัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมและศาสนาของแต่ละท้องถิ่น งานวิจัยที่น่าสนใจและขอนำเสนอ 2 เรื่อง ได้แก่

1) ชุมชนลำน้ำว้า กับการอนุรักษ์วังปลา พลิกฟื้นวิถีชนบทด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น

2) การเลี้ยงโค - กระบือที่เหมาะสม เป้าหมายที่ชาวดอนแรดร่วมกันค้นหาผ่านงานวิจัย

 

1.ชุมชนลำน้ำว้า กับการอนุรักษ์วังปลา พลิกฟื้นวิถีชนบทด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น (โครงการรูปแบบการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นชุมชนลำน้ำว้า ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน)

“ จากการร่วมกันทำงานในครั้งนี้บทเรียนที่ได้รับจากกระบวนการทำงาน ทำให้ตอนนี้การจะทำเรื่องอื่นๆก็ง่ายขึ้น เพราะได้เรียนรู้วิธีการทำงานและวิธีการที่จะทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ และมีความสามัคคีกันมากขึ้น การสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านง่ายกว่าเดิม ชุมชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม (ผู้ใหญ่ สวาท ธรรมรักษา ทีมวิจัย)

งานวิจัยนี้เกิดจากชุมชนที่อาศัยและพึ่งพิงลำน้ำว้า ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นสายน้ำหลักที่สำคัญไหลผ่านหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำเกษตรกรรม การคมนาคมทางน้ำ เป็นแหล่งอาหาร และการพักผ่อนหย่อนใจ ที่สำคัญมีพันธุ์ปลา หายากได้แก่ ปลาหมูอารีย์ ซึ่งพบได้ที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทย ดังนั้นจึงเกิดการลักลอบจับปลาหมูอารีย์ จนชาวบ้านเกรงว่าอาจทำให้สูญพันธุ์ได้ อีกทั้งมีการลักลอบจับปลาในเขตหวงห้ามและ จับปลาด้วยเครื่องทุ่นแรงชนิดต่างๆ รวมทั้งการจับปลาในฤดูวางไข่ ทำให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำในลำน้ำว้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นชุมชนบ้านน้ำว่า ตำบลน้ำพาง จึงมีความพยายามที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปลาในลำน้ำว้าที่ไหลผ่านหมู่บ้านและระบบนิเวศ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับพันธุ์ปลานอกเขตอนุรักษ์ชุมชนยังไม่สามารถอนุรักษ์ไว้ได้ จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนดังกล่าว จึงมีบุคคลในชุมชนกลุ่มหนึ่งที่รับรู้และรับทราบปัญหามาโดยตลอด จึงได้ดำเนินการวิจัยการพัฒนารูปแบบการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นของบ้านน้ำว้าให้มีความสอดคล้อง กับสภาพปัญหาและพัฒนาเครือข่ายการอนุรักษ์ออกไปยังชุมชนอื่นๆ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ 1) เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศชุมชนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแหล่งน้ำและพันธุ์ปลาท้องถิ่นของชุมชนบ้านน้ำว้า ตำบลน้ำพาง 2) เพื่อค้นหากระบวนและรูปแบบการจัดการของชุมชนบ้านนำว้าในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นในลำน้ำว้า และ3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นในลำน้ำว้าของชุมชนตำบลน้ำพาง

โดยมีพื้นที่ในการวิจัยเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวตามลำน้ำว้า ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ครอบคลุมตั้งแต่บ้านน้ำว้า บ้านน้ำพระทัย บ้านน้ำปุ๊ และบ้านห้วยทรายมูล ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นการทำงานอย่างเป็นกระบวนการผ่านการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเป็นอย่างดี โดยมีกระบวนการวิจัยดังนี้

1. ก่อนย่างก้าวแรก...การผนึกกำลังความคิดทีมวิจัยและคนในชุมชน โครงการนี้ริเริ่มจาก คุณวิชัย นิลคง นักวิชาการสาธารณสุข ผู้เป็นหัวหน้าโครงการที่มีอุดมการณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผนึกกำลังร่วมกับทีมวิจัยหลักที่เป็นแกนนำชุมชนในเขตพื้นที่ 4 หมู่บ้านที่ ลำน้ำว้าไหลผ่าน คือ หมู่บ้านน้ำว้า บ้านน้ำพระทัย บ้านน้ำปุ๊และบ้านห้วยทรายมูล โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวแทนผู้นำชุมชนจากทั้ง 4 หมู่บ้าน พรานปลา ปราชญ์ชาวบ้าน แม่บ้าน เยาวชน สมาชิก อบต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันค้นหาวิธีการจัดการที่เป็นแนวทางของท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูนิเวศแหล่งน้ำว้าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิมและให้ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์จากผลการอนุรักษ์ในการดำรงชีวิตอย่างเสมอภาค โดยการพัฒนาเครือข่ายการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นในลำน้ำว้าของชุมชนร่วมกัน โดยในส่วนของทีมวิจัยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานโอกาสลงสู่ชุมชนและสนับสนุนให้กระบวนการต่างๆเกิดขึ้นเท่านั้น

2. เริ่มด้วยการ...ถอยกลับมามองก่อนออกก้าวเดิน ทีมวิจัยเริ่มจากการสร้างกระบวนการให้ชุมชน ร่วมรับรู้สภาพปัญหาในปัจจุบันและการวิเคราะห์กระบวนการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำของชุมชนที่ผ่านมา โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โยนประเด็นต่างๆเข้าสู่เวทีสนทนา การพูดคุยปรึกษาหารือ การประชุม เพื่อสร้างจิตสำนึก การมีส่วนร่วมในชุมชน การะดมสมอง รวมไปถึงการสร้างกระบวนการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูลจริงในลำน้ำ ตลอดจนการสัมภาษณ์ เจาะลึก การทำแบบสัมภาษณ์เพื่อสำรวจปริมาณการบริโภคปลาในแต่ละครัวเรือน จากกระบวนการวิจัย ทำให้ชุมชนได้ข้อมูลที่เป็นจริงและเข้าใจสภาพแวดล้อมและสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศชุมชนและพร้อมที่จะหาทางจัดการกับปัญหา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศร่วมกัน

3. ออกก้าวเดินทาง...ด้วยการบูรณาการอย่างลงตัว ทีมวิจัยได้ต่อยอดทุนเดิมที่มีอยู่ ในเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ ในจังหวัดน่าน โดยการศึกษากระบวนการในพื้นที่อื่นๆ แล้วนำบทเรียนมาสู่การประยุกต์และผสานกับสภาพของชุมชนของตนเองเพื่อใช้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนของตนเอง ดังนี้ 1 ) การสร้างกฎระเบียบของชุมชน การประยุกต์ใช้วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ มาใช้ในการอนุรักษ์ฯ ให้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความยำเกรงในการทำผิด 2) การจัดการแหล่งน้ำ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เป็นการกำหนดการใช้ทรัพยากร เช่น การแบ่งเขตน่านน้ำ การจัดการสภาพแวดล้อม และการฟื้นฟูทรัพยากร3) การจัดการเชิงโครงสร้าง เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆในชุมชนได้

โดยปัจจุบันชุมชนต่างๆ เกิดชมรมอนุรักษ์แหล่งน้ำซึ่งดำเนินการบริหารจัดการโดยชุมชนเอง 4) การจัดการผลประโยชน์ เป็นการกำหนดการใช้ทรัพยากรเพื่อการรักษาระบบการผลิตของทรัพยากร เช่น การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ การจับปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ การจำหน่ายอาหารปลา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สมาชิกในชุมชนตลอดไป 5) การสร้างจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่ เป็นการถ่ายทอดแนวคิดที่ดีแก่ชาวบ้านและเยาวชนผ่านกิจกรรมการเข้าค่ายอนุรักษ์ เวทีประชาคม ทำให้ตระหนักให้คุณค่าและการดูแลรักษาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน 6) การประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานของชุมชนให้สังคมทั้งในและนอกพื้นที่รับรู้ โดยผ่านทุกช่องทาง

4. ก้าวสู่...ความสำเร็จ จากการดำเนินงานที่ผ่านกระบวนการวิจัยที่ทีมวิจัยได้ทำหน้าที่ประสานโอกาสและสนับสนุนให้กระบวนการต่างๆลงสู่ชุมชนลำน้ำว้า ตำบลน้ำพาง โดยได้นำเอา ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การนำเอาวัฒนธรรมประเพณี พิธีกรรมความเชื่อ ศาสนาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์พันธุ์ปลา และอาศัยลักษณะชุมชนตำบลน้ำพางที่เป็นสังคมชนบทที่มีความสัมพันธ์แบบลักษณะเครือญาติมาช่วยเสริมการดำเนินงาน และการขยายเครือข่ายการดำเนินงานจึงทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญที่ช่วยเอื้อให้กับชุมชนในการเรียนรู้ให้ทันต่อสภาพปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตข้างหน้า

จากการทำงานอย่างหนักของทีมวิจัยโดยผ่านกระบวนการวิจัย ทำให้เกิดผลสำเร็จในการวิจัยดังนี้

1. คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เมื่อการอนุรักษ์ประสบความสำเร็จ ย่อมส่งผลต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ มีทั้ง ผลเชิงรูปธรรม ที่เห็นได้ชัดเจนและ ผลเชิงนามธรรม ดังนี้ 1) คุณภาพของน้ำในลำน้ำว้า จากผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำพบว่า มีค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (Dissoloved Oxygen) เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 และ 7.3 มิลลิกรัม/ ลิตร ณ จุดวังปลาบ้านน้ำว้า และวังปลาบ้านน้ำปุ๊ ตามลำดับ แสดงให้เห็นคุณภาพของน้ำที่ดีอยู่แล้วมีแนวโน้มที่จะดียิ่งๆขึ้นไปอีก 2) ด้านอาหาร จากปริมาณปลาในแหล่งน้ำที่เพิ่มขึ้น ชุมชนสามารถจับปลามาเป็นอาหารประจำวันเพิ่มมากขึ้นที่เหลือจากการบริโภคก็จะจำหน่ายเป็นรายได้ให้ครอบครัว ชุมชนมีอาหารสมบูรณ์ทำให้เงินจ่ายออกไปน้อยเงินเก็บก็มากขึ้น 3) ภาวะสุขภาพของคนในชุมชน การได้บริโภคปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง ทำให้เป็นการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาของเด็กอ่อนวัยเรียนหรือวัยเรียนได้ 4) ชุมชนเกิดความภูมิใจและมีสถานที่แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ความสำเร็จจากการดำเนินงานการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหรือที่เรียกว่า “ วังปลา” ของชุมชน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจให้กับชุมชนที่มีฝูงปลาและสัตว์น้ำจำนวนมากในวังปลาใกล้เคียงกับสภาพในอดีต และวังปลาดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือการพักผ่อนหย่อนใจได้ 5) ผลต่อสังคม ความสัมพันธ์ของชุมชน พบว่าความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านและความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านมีลักษณะที่ดี คนในชุมชนได้ร่วมมือกันในการจัดการปัญหา นอกจากจะสามารถร่วมกันจัดการทรัพยากรสัตว์ในลำน้ำว้ายังขยายผลการดำเนินงานไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลน้ำพางได้ครบทุกหมู่บ้าน เกิดเครือข่ายความร่วมมือในภาพรวมของตำบลน้ำพาง และเรียกกลุ่มดังกล่าวว่า “ ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นตำบลน้ำพาง”

2. การค่อยๆก้าวไปสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนที่มีวิถีชีวิตแบบพอเพียงแห่งนี้ ยังคงความยืดหยุ่นและความนุ่มนวลในการดำเนินชีวิตหรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหา การที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้มีโอกาสเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่คนในชุมชน ทำให้ทีมวิจัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำชุมชน รวมไปถึงชาวบ้านและทุกๆ ส่วนที่ได้เข้ามาส่วนร่วมกับงานครั้งนี้ เกิดทักษะการเรียนรู้ในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อันจะนำไปเป็นแนวทางในการนำไปแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ของท้องถิ่นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อไป

ความคิดเห็น

จากการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง ชุมชนลำน้ำว้า กับการอนุรักษ์วังปลา พลิกฟื้นวิถีชนบทด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น (โครงการรูปแบบการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นชุมชนลำน้ำว้า ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน) สามารถสรุปได้ว่า การวิจัยดังกล่าวได้เริ่มต้นจากชุมชนประสบกับปัญหาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในลำน้ำที่เป็นสมบัติของชุมชนในส่วนรวม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของระบบทุนนิยมที่การแย่งชิงทรัพยากรเพื่อการบริโภคที่ขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นเรื่องที่ปกติ เมื่อธรรมชาติถูกทำลายอย่างไม่หยุดยั้งจนขาดความสมดุลสิ่งที่ตามมาก็คือ วิถีชีวิตที่เคยพึ่งพิงธรรมชาติและระบบนิเวศถูกเปลี่ยนแปลงไปทำให้ชุมชนเกิดปัญหา งานวิจัยชิ้นนี้จึงเกิดขึ้นจากบุคคลในชุมชนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบกับชุมชนทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านที่ลำน้ำว้าไหลผ่าน ด้วยตระหนักดีว่าการแก้ปัญหาระบบนิเวศ มิอาจแก้ไขที่จุดใดจุดหนึ่งได้ แต่ต้องร่วมมือร่วมใจในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องการแก้ไขปัญหาจึงจะประสบผลสำเร็จ จึงเกิดการรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ งานวิจัยชิ้นนี้โดดเด่นที่ทีมวิจัยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานโอกาสลงสู่ชุมชนและสนับสนุนให้กระบวนการต่างๆเกิดขึ้นเท่านั้น โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวแทนผู้นำชุมชนจากทั้ง 4 หมู่บ้าน พรานปลา ปราชญ์ชาวบ้าน แม่บ้าน เยาวชน สมาชิก อบต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันค้นหาวิธีการจัดการที่เป็นแนวทางของท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูนิเวศแหล่งน้ำว้าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิมและให้ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์จากผลการอนุรักษ์ในการดำรงชีวิตอย่างเสมอภาค

งานวิจัยดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ ส่วนสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจและเปิดใจในการเรียนรู้ร่วมกันที่ตระหนักถึงปัญหาอันเกิดกับชุมชน รวมทั้งกระบวนการวิจัยมีความครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในบริบทของชุมชนอย่างแท้จริง มีการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันในการแก้ไขปัญหา การร่วมรับรู้และวิเคราะห์สภาพปัญหาเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินงาน รวมทั้งการนำผลการดำเนินงานของท้องถิ่นและชุมชนอื่นๆที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันมาเป็นตัวอย่างและเป็นบทเรียนในการดำเนินงาน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนอย่างเป็นขั้นตอน โดยได้นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การนำเอาวัฒนธรรมประเพณี พิธีกรรมความเชื่อ ศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์พันธุ์ปลา อีกทั้งมีการบริหารจัดการแหล่งน้ำ การแบ่งเขตน่านน้ำ การจัดการสภาพแวดล้อม และการฟื้นฟูทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับในลักษณะชมรมการอนุรักษ์ทั้งในชุมชนและเครือข่ายนอกชุมชน รวมทั้งการจัดการผลประโยชน์ให้เกิดความเป็นธรรมแก่สมาชิกในชุมชน การสร้างจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ค่ายอนุรักษ์ เวทีประชาคมหมู่บ้าน และที่สำคัญการการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานของชุมชนให้สังคมทั้งในและนอกพื้นที่รับรู้ โดยผ่านทุกช่องทาง

กระบวนการในการแก้ไขปัญหาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในการ แก้ปัญหาของชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาในปริบทดังกล่าวอาศัยลักษณะชุมชนตำบลน้ำพางที่เป็นสังคมชนบทที่มีความสัมพันธ์แบบลักษณะเครือญาติมาช่วยเสริมการดำเนินงานทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และเป็นบทเรียนในการจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในโอกาสต่อไป

---------------------------------------------------------------------

 

2. การเลี้ยงโค- กระบือที่เหมาะสม เป้าหมายที่ชาวดอนแรดร่วมกันค้นหาผ่านงานวิจัย (โครงการการศึกษารูปแบบการเลี้ยงโค - กระบือ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าทาม ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์)

“ พวกเราชาวบ้านไม่เคยทำวิจัยมาก่อน ทำวิจัยครั้งนี้ทำให้เราได้รู้ข้อมูลเรื่องราวของชุมชนที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเลี้ยงวัว- ควาย และการเปลี่ยนแปลงในเรื่องพื้นที่จากอดีต 70-80 ปีที่ผ่านมา เข้าใจสภาพปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างชัดเจน ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้เรื่องอย่างละเอียดแบบนี้ ทำให้รู้จักสังเกต รู้จักตั้งประเด็นคำถาม ทำให้เกิดความคิดเป็นขั้นตอน เป็นระบบอย่างเป็นกระบวนการเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ตนเองต้องการ ต้องฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ทำให้เป็นคนต้องค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ รู้วิธีการที่จะประสานหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือที่จะทำงาน รู้สึกภูมิใจที่ทำได้สำเร็จ” (บุญมี โสภัง หัวหน้าโครงการวิจัย)

งานวิจัยโครงการการศึกษารูปแบบการเลี้ยงโค - กระบือ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าทาม ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นโครงการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงโค- กระบือของชาวบ้านในเขตตำบลดอนแรด ที่การขาดพื้นที่ทำเลในการเลี้ยงโค- กระบือ อันเนื่องมาจากการบุกเบิกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตรมากขึ้นและพื้นที่ถูกน้ำท่วม และการสร้างเขื่อนราษีไศล ซึ่งเป็นสาเหตุให้พื้นที่และแหล่งอาหารในการเลี้ยงโค- กระบือถูกทำลายสูญหายไปสิ้น ทำให้เจ้าของต้องไปหาเกี่ยวหญ้าจากพื้นที่ตำบลอื่น รวมทั้งประสบปัญหาในเรื่องการดูแลสุขาภิบาลรักษาโรคแบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านหันมาพึ่งยาแผนปัจจุบันมากขึ้น ถ้าหากมีการฟื้นฟูองค์ความรู้ในการรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับโค- กระบือ ด้วยพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในอดีตและนำมาใช้รักษาโค- กระบือ ก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงโค- กระบือ อีกปัญหาหนึ่งก็คือการจัดการในเรื่องโรงเรือนจะต้องมีการจัดการที่ดีและถูกต้อง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต้องค้นคว้าวิจัยเพื่อหารูปแบบวิธีการเลี้ยงโค- กระบือที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตำบลดอนแรด ด้านอาหาร การสุขาภิบาลแบบพื้นบ้านและการจัดการโรงเรือน เพื่อนำมาปรับรูปแบบและพัฒนาการเลี้ยงโค- กระบือให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในปัจจุบัน โดยการวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบวิธีการเลี้ยงโค- กระบือของชาวบ้าน ตำบลดอนแรดจากอดีตถึงปัจจุบัน 2) ค้นหารูปแบบวิธีการเลี้ยงโค- กระบือที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตำบลดอนแรดด้านอาหาร การสุขาภิบาลรักษาแบบพื้นบ้านและการจัดการโรงเรือน 3) ศึกษาการนำรูปแบบวิธีการเลี้ยงโค- กระบือที่เหมาะสมไปปฏิบัติของชาวบ้านตำบลดอนแรด โดยมีพื้นที่ศึกษาวิจัยคือ พื้นที่โนน บ้านดอนแรด หมู่ที่ 3, 14, 15 บ้านหนองตอ หมู่ 8 และบ้านบัวเสียว หมู่ 7 และพื้นที่ทุ่งใกล้ทาม บ้านหาญฮี หมู่ที่ 3, 12, 16 และบ้านบึงหมู่ที่ 1 และ 9

ผลที่ได้จากการวิจัย

จากการสัมภาษณ์และเวทีพูดคุยเกี่ยวกับการเลี้ยงวัว - ควาย ตั้งแต่อดีต- ปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงปะโยชน์ของวัว- ควายที่มีต่อครอบครัว จึงพยายามคิดหาวิธีการเลี้ยงร่วมกัน จนกระทั่งได้รูปแบบการเลี้ยงวัว- ควายที่เหมาะสม นั่นคือการเลี้ยงในโรงเรือนและใช้พื้นที่ว่างตามหัวไร่นาจัดทำเป็นแปลงหญ้า โดยทีมวิจัยทำการทดลอง จนชาวบ้านเกิดความมั่นใจและหันมาเลี้ยงวัว- ควายเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่มีประมาณ 50% เป็น 80% ของจำนวนครัวเรือนในตำบลดอนแรดทั้งหมด บางครอบครัวที่เคยเลิกเลี้ยงโค- กระบือ ไปแล้ว ก็หันกลับมาเลี้ยงกันใหม่อีก ส่วนครอบครัวที่มีลูกหลานทำงานอยู่ในต่างจังหวัดก็งดการส่งเงินกลับบ้าน แต่จะเก็บเงินไว้ซื้อวัว- ควายให้พ่อแม่เลี้ยง และลูกหลานในวัยเรียนหลังจากเลิกเรียนกลับบ้านก็จะช่วยพ่อแม่เกี่ยวหญ้าไว้ให้วัว- ควาย บางคนแต่เดิมกินหล้าไม่สนใจในการทำมาหากิน ปัจจุบันเริ่มสนใจหาซื้อวัว- ควายมาเลี้ยงแล้ว ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในชุมชนทั้งวิธีที่เป็นทางการ เช่น การจัดเวทีของนักวิจัยและการพูดคุยตามประสาชาวบ้านที่ชอบจับกลุ่มตั้งวงพูดคุยเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ เกิดการขยายผลขึ้นเองโดยธรรมชาติ

จากแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ชาวบ้านจึงเริ่มในเรื่องแปลงหญ้าสำหรับเป็นอาหารเลี้ยงวัว - ควาย ในฤดูทำนาและในช่วงน้ำท่วมพื้นที่ทาม โดยใช้พื้นที่หัวไร่ปลายนาหรือในเขตพื้นที่บ้านของตนเอง โดยได้มีการเรียนรู้จากกลุ่มเป้าหมายที่ทางทีมวิจัยได้คัดเลือกทำการทดลองปลูกหญ้าว่ามีขั้นตอนกระบวนการและปัญหาอุปสรรค ข้อควรระวังอย่างไร ซึ่งถือได้ว่าเป็นความรู้ชุดใหม่ของชุมชนในเรื่องการปลูกหญ้า แต่ถ้าชาวบ้านมีการปลูกหญ้าจะทำให้ลดภาระในการเลี้ยงวัว- ควาย นอกจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม คือ เรื่องการจัดการโรงเรือน ซึ่งแต่ก่อนชาวบ้านไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้จัดการให้โรงเรือนถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันวัว- ควายไม้ให้เกิดโรค โรงเรือนจะต้องมีแสงแดดส่องถึง พื้นจะไม่แฉะ ด้วยการเตรียมแกลบไว้ใส่คอกตามวิธีการโดยจะใส่แกลบรองเป็นชั้นๆ และยังมีผลพลอยได้ในเรื่องมูลสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีแกลบเป็นส่วนผสมทำให้ได้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักที่ดี

ภายหลังจากเวทีเสนอผลการวิจัย ทางผู้เลี้ยงวัว - ควายได้มีการรวมกลุ่มและจัดตั้ง “ กลุ่มผู้เลี้ยงโค- กระบือตำบลดอนแรด” โดยมีนายสมิง ควรคง เป็นประธานกลุ่มฯ โดยได้กำหนดระเบียบ แผนงานและโครงการที่กลุ่มจะดำเนินต่อไปในเรื่องของพันธุ์ อาหาร การสุขาภิบาล รักษาโรค นอกจากนั้นกลุ่มได้เข้าไปบริหารดูแลสวนสมุนไพรและแปลงหญ้าให้กับผู้เลี้ยงวัว- ควาย กิโลกรัมละ 1 บาท โดยนำรายได้จากการขายหญ้ามาบำรุงรักษาแปลงหญ้าและเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกลุ่ม ต่อไปกลุ่มจะขยายต่อเรื่องแปลงหญ้ารวมโดยจะประสาน อบต. หรือกำนันเพื่อขอใช้พื้นที่สาธารณะ บ้านหาญฮี หมู่ 3 หมู่ 16 และบ้านดอนแรด หมู่ 2 เพื่อจัดทำแปลงหญ้ารวม

ในส่วนของ อบต. เห็นชุมชนมีความตื่นตัวและสนใจในเรื่องการเลี้ยงโค - กระบือ ที่เกิดผลจากโครงการวิจัย จึงได้จัดงบประมาณจำนวน 90,000 บาท เพื่อเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงวัว- ควายของชุมชนในตำบลดอนแรด โดยนำไปจัดซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้าและนำมาแจกให้กับชาวบ้าน

 ความคิดเห็น

จากการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง การเลี้ยงโค - กระบือที่เหมาะสม เป้าหมายที่ชาวดอนแรดร่วมกันค้นหาผ่านงานวิจัย(โครงการการศึกษารูปแบบการเลี้ยงโค- กระบือ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าทาม ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์) สรุปได้ว่าการวิจัยดังกล่าวได้เริ่มต้นจากชุมชนประสบกับปัญหาในการขาดพื้นที่ในการเลี้ยงโค - กระบือ ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อการทำการเกษตรของเกษตรกรในชนบท ควบคู่กับวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องจักรกลเข้ามาแทนที่ก็ตามแต่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลแล้ว โค- กระบือยังมีความจำเป็นและมีบทบาทสำคัญต่อเกษตรกรเสมอมา การวิจัยดังกล่าวจึงเป็นการหาสาเหตุและแก้ปัญหาของชุมชนในการเลี้ยงโค- กระบือ ที่กำลังจะหายไปจากชุมชนอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง เช่น การบุกเบิกแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร พื้นที่ถูกน้ำท่วมไม่มีหญ้าไว้เลี้ยง การได้รับผลกระทบจากภาครัฐในการสร้างเขื่อนราษีไศล ทำให้พื้นที่ในการเลี้ยงโค- กระบือหายไป รวมทั้งการการดูแลสุขาภิบาลรักษาโรคที่พึ่งพายาแผนปัจจุบันและขาดองค์ความรู้ในการดูแลรักษาโค- กระบือที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในอดีต สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุมชนไม่สนใจที่จะเลี้ยงโค- กระบืออีกต่อไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต้องค้นคว้าวิจัยเพื่อหารูปแบบวิธีการเลี้ยงโค- กระบือที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตำบลดอนแรดดังกล่าว

ในส่วนของกระบวนการในการวิจัย คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการโดยวิธีการสัมภาษณ์ พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบเป็นทางการโดยการจัดเวทีการพูดคุย และแบบไม่เป็นทางการโดยการพูดคุยตามวงสนทนาต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลของพื้นที่ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการวิจัยชิ้นนี้มีรูปแบบการชักจูงใจที่แยบยล กล่าวคือ เมื่อได้องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาแล้ว ได้ทำการทดลองกับกลุ่มเป้าหมายให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงแล้วนำมาสร้างชุดความรู้ เช่น การทดลองปลูกหญ้า การจัดการโรงเรือน ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้และเห็นสภาพจริงผ่านการทดลอง ทำให้ง่ายต่อการชักจูงให้ชาวบ้านหันมาให้ความสนใจและร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นการนำเสนองานวิจัยและองค์ความรู้ที่ได้ต่อเวทีชุมชนเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของคณะผู้วิจัย ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจและหันมาเลี้ยงวัว - ควายเพิ่มมากขึ้นจากเดิม จากความสำเร็จดังกล่าวนำไปสู่การรวมกลุ่มและจัดตั้ง “ กลุ่มผู้เลี้ยงโค- กระบือตำบลดอนแรด” โดยได้กำหนดระเบียบ แผนงานและโครงการที่กลุ่มจะดำเนินต่อไปในเรื่องของพันธุ์ อาหาร การสุขาภิบาล รักษาโรค รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงวัว- ควายของชุมชนต่อไป

การวิจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าองค์ความรู้ที่มีมาตั้งแต่อดีตที่ถูกละเลยและหลงลืม ล้วนแต่มีคุณประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่พึ่งพิงกับธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาใดๆ ที่ทำลายและละเลยธรรมชาติ ล้วนจะนำมาซึ่งปัญหาและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ การวิจัยจึงเป็นการค้นหาสาเหตุที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนผ่านกระบวนการร่วมมือร่วมใจจึงเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานแก้ปัญหาต่างๆของชุมชนในโอกาสต่อไป

---------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 54742เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท