"อาจารย์เตือนมองผ่านอาจารย์แหววถึง C-C-L : จุดเริ่มต้นสู่อนาคต" (ภาค 2)


ในต้นปี พ.ศ.2550 นี้ C-C-L กลุ่มแรกจะเริ่มต้นทำงาน มันไม่ใช่เพียงการเริ่มต้นของการสร้าง Human Right Defender รุ่นใหม่ 3 คนเท่านั้น แต่อาจารย์แหววหวังว่าโมเดลนี้จะได้รับการผลิตซ้ำ เพื่อสร้างให้เกิด C-C-L ในที่อื่นๆ อีกต่อไป

(ต่อจากภาคแรก)

http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/54727

การทำงานของอาจารย์แหวว ไม่ได้จำกัดเพียงแค่งานผลักดันเชิงนโยบายเท่านั้น แต่ท่านยังเน้นที่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคสนามแต่ละแห่งอีกด้วย  และด้วยความที่เป็นอาจารย์ นอกจากจะให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ แต่ท่านยังสร้างคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อเพิ่มกำลัง Human Right Defender ให้กับสังคมไทย และการสร้างคนรุ่นใหม่ของอาจารย์แหวว นั้น ยังเป็นการสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โมเดลใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยอีกด้วย

ผลงานชิ้นล่าสุดของอาจารย์แหวว ที่ข้าพเจ้ามองว่าเป็น การวางรากฐานในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างเป็นระบบ ให้กับสังคมไทย อย่างที่ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า ปัญหาจะยังไม่หมดหากไม่แก้ไขที่สาเหตุ อาจารย์แหววจึงพยายามสร้าง ต้นแบบการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่ครบวงจร คือ การสร้างความรู้ให้เจ้าของปัญหา การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพ การเยียวยาสิทธิและการผลักดันให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย

โดยเริ่มจากการสร้าง ห้องเรียนกฎหมายสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นลักษณะของห้องเรียนเคลื่อนที่ที่ท่านจะไปทุกๆ ที่ที่มีคนคนไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่ ท่านสอนให้พวกเขาเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวพวกเขาเอง, รู้ถึงสาเหตุของปัญหา, รู้วิธีแก้ไขปัญหา, รู้วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก และสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ ท่านสร้างความกล้าและความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบ้านในการใช้ความรู้และใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหลายๆ ครั้งที่ชาวบ้านสามารถแก้ไขปัญหาให้กับตนเองและครอบครัวได้ภายในขั้นตอนของห้องเรียนนี้เอง และคนแรกที่อาจารย์แหววสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็น ครูใหญ่ ของห้องเรียนที่ว่านี้ คือ ตัวข้าพเจ้าเอง น.ส.บงกช นภาอัมพร

ต่อมาจะเป็นขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายซึ่งจะเป็นลักษณะของ คลีนิกกฎหมายสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ อาจารย์แหววเปรียบเทียบว่า นักกฎหมายก็ไม่ต่างไปจากหมอ แต่เป็นหมอความที่ทำหน้าที่รักษาคนไข้ที่มีปัญหาโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งกฎหมายจะกลายเป็นเพียงแค่กระดาษไร้ค่า หากไม่มีใครรู้จักหยิบมันใช้ เพราะฉะนั้นคลีนิคนี้ก็จะทำหน้าที่รักษาโรคทางกฎหมายที่เกิดขึ้น โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพ ความสำคัญอยู่ที่ทนายความผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่จำเป็นต้องรู้จักวิธีการใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อนักเรียนในห้องเรียนถูกส่งต่อมาถึงคลีนิก ย่อมแสดงว่าปัญหาของพวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพังตัวพวกเขาเอง แต่พวกเขาต้องการหมอที่จะคอยให้คำปรึกษาหรือเดินไปเป็นเพื่อนเพื่อช่วยพวกเขาแก้ไขปัญหา ซึ่ง หมอความ คนแรกที่มีพรสวรรค์เฉพาะตัวในการรักษาโรคทางกฎหมาย และอาสามาทำหน้าที่นี้ คือ น.ส. ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง

ขั้นตอนสุดท้ายของระบบเป็นขั้นตอนของการเยียวยาสิทธิและการผลักดันให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย เรียกว่า สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวคือ เมื่อชาวบ้านถูกส่งต่อมาที่สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมหมายความว่า ความรู้กฎหมายจากห้องเรียน หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายจากคลีนิก ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ สาเหตุอาจจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกฎหมายที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะฉะนั้นสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายก็มีหน้าที่ในการเยียวยาสิทธิให้แก่ชาวบ้านผู้ถูกละเมิด และหากกฎหมายที่มีอยู่มีข้อบกพร่อง ก็จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายต่อไปในอนาคต ที่สำคัญทนายความของสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายแห่งนี้ จำเป็นต้องมีความชำนาญเฉพาะประเด็นทางด้านสถานะบุคคลอย่างมาก และน้อยคนนักที่จะมีความรู้ในประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง แต่อาจารย์แหววก็ได้สร้าง ทนายความต้นแบบ ที่อาสามาทำหน้าที่เป็นพี่ใหญ่ควบคุมดูแลตัวระบบนี้ คือ น.ส. ดรุณี ไพศาลพาณิย์กุล

โมเดล หรือ พิมพ์เขียว ที่อาจารย์แหววสร้างขึ้นนี้มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า โครงการห้องเรียน คลีนิก และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Consultation Office for Child, Youth and Family with Statelessness and Nationalitylessness in Thai Society : C-C-L)”  ซึ่งในต้นปี พ.ศ.2550 นี้  C-C-L กลุ่มแรกจะเริ่มต้นทำงาน มันไม่ใช่เพียงการเริ่มต้นของการสร้าง Human Right Defender รุ่นใหม่ 3 คนเท่านั้น แต่อาจารย์แหววหวังว่าโมเดลนี้จะได้รับการผลิตซ้ำ เพื่อสร้างให้เกิด C-C-L ในที่อื่นๆ อีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 54728เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 00:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท