คณะทำงานเพื่อจัดทำรายงานเรื่องการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย
โครงการจัดทำรายงานการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย คณะอนุกรรมการเด็กฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

น้องแพร : แพะตัวน้อยกับบาปที่เธอไม่ได้ก่อ


เหตุการณ์ร้ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนของเทศบาลเมืองแม่สอดปฏิเสธการออกสูติบัตรของน้องแพร โดยอ้างว่า จากการสืบค้นข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครอง ข้อมูลทางทะเบียนราษฎรของระยองผู้เป็นมารดาค่อนข้างสับสน จึงไม่อาจออกเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรระบุเพียงว่า ในการแจ้งเกิดหากเด็กมีบิดามารดาที่มีชื่ออยู่ในฐานทะเบียนราษฎร และมีใบรับรองการเกิดจากสถานพยาบาล เด็กคนดังกล่าวย่อมมีสิทธิในการรับสูติบัตรเพื่อเป็นเอกสารแสดงความมีตัวตนฉบับแรกในชีวิต

              ทารกหญิงวัยสิบกว่าวันนอนหลับตาพริ้มอยู่ในอ้อมกอดอันอบอุ่นของผู้เป็นมารดา ขณะที่สายตาของหญิงสาวซึ่งทอดมองแก้วตาดวงใจ เต็มเปี่ยมด้วยความรัก แต่ก็หม่นหมองยิ่งนัก เธอเริ่มเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

              หนูไม่คิดเลยว่า เรื่องราวที่มีต้นกำเนิดเมื่อสิบปีที่แล้ว จะส่งผลกระทบต่อเนื่องและยาวนาน มาได้จนถึงทุกวันนี้

               ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2540 บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสถานะบุคคลในยุคนั้น น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก นางสาวระยอง แซ่ลี บุตรสาวคนที่สามของนายอาฝะและนางพิกุล แซ่ลี ชาวลีซู บิดาและมารดาของเธอ ได้รับการเพิ่มชื่อจากการยื่นขอลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาให้ทะเบียนบ้านแก่ชาวเขา ทั้งครอบครัวรวมถึงเด็ก ๆ ที่เกิดตามมาจึงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทร.14 และมีบัตรประจำตัวประชาชนรวม 13 คน ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 จนกระทั่งวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 รายชื่อของบุคคลทั้ง 13 ถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนราษฎร ด้วยเหตุผลที่ว่า ตามทะเบียนประวัติของนายอาฝะและนางพิกุลของสำนักทะเบียนกลาง ระบุว่าเป็นชนชาติจีนฮ่อ และให้ทั้งหมดมีชื่ออยู่ที่ ทะเบียนบ้าน ทร.13 (สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว)

              ในตอนนั้น สาวน้อยระยอง วิ่งเต้นร้องเรียน ขอความช่วยเหลือไปทุกทิศทุกทางเท่าที่เธอคิดว่าจะสามารถช่วยให้ครอบครัวของเธอพ้นสภาวะแห่งความทุกข์นี้ได้ แต่ทว่า เสียงเล็ก ๆ ของเธอเหมือนการโยนก้อนหินลงในทะเลสาบอันกว้างใหญ่ ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเธอทอท้อไปในที่สุด

               การถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร   ไม่ได้ถอดถอนความเป็นคนออกจากครอบครัวแซ่ลี พวกเขายังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ มีความทะเยอทะยาน ความหวัง ความใฝ่ฝันเหมือนกับคนอื่น ๆ พี่ชาย พี่สาว และน้องสาวอีกสองคนของระยอง แยกย้ายกันประกอบอาชีพตามความสามารถของแต่ละคน

                บรรดาลูก ๆ ที่เป็นเด็กน้อยตอนเกิดเหตุ ก็เติบโตขึ้นตามกาลเวลา น้องชายฝาแฝดของระยองซึ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนหนึ่งไปทำงานรับจ้างในเมืองหลวง ส่วนอีกคนหนึ่งทำงานอยู่ที่เมืองชายแดน น้องชายคนถัดมาอยู่ดูแลพ่อแม่กับน้องที่เหลือ โดยพ่อประกอบอาชีพขับรถรับส่งนักเรียน ตัวเขากับแม่ทำไร่เป็นเกษตรกร น้องชายคนเล็กกับน้องสาวอีกสองคนสุดท้องกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่

                 ในส่วนตัวของระยองนั้น หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการดิ้นรนเพื่อทวงถามความเป็นธรรมให้กับครอบครัว เธอมอบหมายเรื่องราวส่งต่อไปยังน้องชายฝาแฝดกับน้อง ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาให้สานต่อ โดยตัวเธอเองหลังสมรสกับสามี ก็พากันมาตั้งรกราก ใช้ชีวิตรับใช้พระเจ้า ประกอบคุณงามความดีตามความเชื่อของเธอที่โบสถ์แห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

              ระยองใช้ชีวิตเรียบง่าย และให้กำเนิด น้องไหม บุตรสาวคนแรกเมื่อปลายปี 2547 โดยน้องไหมเป็นบุคคลสัญชาติไทยตามบิดา เรื่องราวของเธอน่าจะเป็นไปตามครรลองปกติเพราะระยองมักพูดเสมอว่า หากเราตั้งใจจะเป็นคนดี ทำแต่ความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สักวันเมฆหมอกร้ายที่ปกคลุมครอบครัวของเธออยู่ก็คงจะสลายหายไป แล้วตอนนี้ทุกคนก็ดำรงตนพออยู่ได้ตามอัตภาพ ระยองปฏิเสธที่ร้องขอสัญชาติไทยตามสามี เนื่องจากเธอมีความเชื่อมั่นว่า เธอมีสิทธิในความเป็นพลเมืองไทยด้วยตัวเอง

              กระทั่งหลังจากที่ระยองคลอดบุตรสาวคนที่สอง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 ด้วยความที่รู้กฎหมายว่า ต้องทำการแจ้งเกิดเด็กภายใน 15 วัน ประกอบกับการแจ้งเกิดน้องไหมที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไร  เธอจึงให้สามีไปยื่นเรื่องใช้หลักฐานหนังสือรับรองการเกิด  ทร.1/1  ที่ออกให้โดยโรงพยาบาลแม่สอดเพื่อขอสูติบัตรจากเทศบาลเมืองแม่สอด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2549

              เหตุการณ์ร้ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกครั้ง    เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนของเทศบาลเมืองแม่สอดปฏิเสธการออกสูติบัตรของน้องแพร โดยอ้างว่า จากการสืบค้นข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครอง ข้อมูลทางทะเบียนราษฎรของระยองผู้เป็นมารดาค่อนข้างสับสน จึงไม่อาจออกเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรระบุเพียงว่า ในการแจ้งเกิดหากเด็กมีบิดามารดาที่มีชื่ออยู่ในฐานทะเบียนราษฎร และมีใบรับรองการเกิดจากสถานพยาบาล เด็กคนดังกล่าวย่อมมีสิทธิในการรับสูติบัตรเพื่อเป็นเอกสารแสดงความมีตัวตนฉบับแรกในชีวิต

            น้ำตาของผู้เป็นแม่คลอเบ้า ความเจ็บปวดร้าวลึกอันจะเสมอเหมือนการที่ลูกน้อยไร้เดียงสาของตน ถูกกระทำและกลายเป็นแพะรับบาปที่จนบัดนี้ยังมิอาจหาคำตอบได้ว่า ใครผิด

             หนูจะต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่งค่ะ คราวนี้ไม่เพียงแต่พ่อแม่พี่น้องของหนูเท่านั้น แต่หนูจะต้องสู้เพื่อลูก รวมถึงหลาน ๆ ที่กำลังจะเกิดมาอีก พวกเขาต้องไม่พบกับปัญหาแบบนี้อีกต่อไป

----------------------------------------------------------------

น้องแพร : แพะตัวน้อยกับบาปที่เธอไม่ได้ก่อโดย นางสาวจันทราภา  นนทวาสีโครงการเด็กไร้รัฐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติวันพุธที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙

--------------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 54683เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2006 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งานเขียนตั้งแต่สมัยเป็นนางสาว ตอนนี้อยากเห็นน้องแพรจังเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท