Laos sepia's world


ในระหว่างทางที่เดินทางคลุกฝุ่นอีกครั้งเพื่อเก็บสัมภาระกลับบ้านนั้น มองเห็นเชียงของที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงก็ทำให้คิดว่า ที่แท้อีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำที่ไม่ได้ห่างไกลกันเลยกลับมีความแตกต่างกันถึงเพียงนี้
                       จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่าอีกฟากฝั่งแม่น้ำโขงนั้นเป็นอย่างไร ?....    ฉันเองก็เช่นเดียวกันที่ภาพจินตนาการไม่แจ่มชัดนักเมื่อนึกถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   บ้านพี่เมืองน้องที่มีคำกล่าวขานว่าเหมือนเชียงใหม่เมื่อสมัยสามสิบปีก่อน                เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการเกี่ยวกับหนังสือเดินทางแล้วเราก็เตรียมตัวที่จะลงเรือข้ามโขง เชียงของยามบ่ายแดดแรงจนต้องเอามือป้องตาเมื่อชะเง้อดูอีกฟากของลำน้ำที่เราจะนั่งเรือข้ามไปอีกไม่กี่นาที่ข้างหน้า   เมื่อเสียค่าเรือคนละยี่สิบบาทและเข้าไปนั่งในเรือกันเป็นที่เรียบร้อยก็ถึงเวลาที่มุ่งสู่  บ้านห้วยซาย  ปะเทดลาว  เราใช้เวลาเดินทางไม่ถึงสิบนาทีก็ขึ้นฝั่งและกรอกเอกสารเพื่อที่จะเข้าประเทศพร้อมกับเสียค่าธรรมเนียมคนละสามสิบบาท   เมื่อออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองรุ่นพี่ได้จัดรถมารับเพื่อจะไปยังที่พัก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดขึ้นเรือเพียงแค่ชั่วระยะขับรถถอยหลังของคนขับรถชาวลาวที่สร้างความประทับใจให้เราเป็นอย่างมาก     เราทยอยกันเข้าห้องพักเพื่อนำสัมภาระไปเก็บและเตรียมตัวที่จะไปฟังบรรยายเกี่ยวกับโครงการสำรวจการค้าชายแดน  ซึ่งเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ภูมิภาคศึกษา   และมีเจ้าหน้าที่ของลาวมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแขวงบ่อแก้ว  ซึ่งพอสรุปได้ว่า   แขวงบ่อแก้วประกอบไปด้วยเมืองห้าเมือง คือ  ห้วยซาย  ,ต้นผึ้ง ,ม้า , ผาอุดมและพะทา  มีเขตพัฒนาชนเผ่า เรียกว่าเขตพัฒนาน้ำยู   มีพลเมืองประมาณหนึ่งแสนคน  และประกอบไปด้วยชนกลุ่มน้อยประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์   องค์ประกอบทางเศรษฐกิจคือ มีการทำเกษตรกรรม  การค้า  และการบริการตามแนวชายแดน    ป่าไม้ เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของแขวง  รองลงมาก็คือพลอยซึ่งเป็นพลอยประเภทไพลิน   สินค้าส่งออกของแขวงส่วนมากจะเป็นเครื่องมือกสิกรรม , งา,ครั่งและชัน  ส่วนสินค้าที่นำเข้าก็ได้แก่เครื่องอุปโภค  บริโภค และอุปกรณ์ก่อสร้าง  มีกิจการที่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนได้แก่  เหมืองพลอยและไม้แปรรูปชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดคือจีน  ไทย  ออสเตรเลียและเกาหลีใต้ตามลำดับ  ส่วนปัญหาของแขวงนั้นก็คือเรื่องการคมนาคม  และการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์  การศึกษาของประชาชนในแขวงบ่อแก้วนั้น มีถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่หกและถ้าอยากเรียนต่อต้องไปหลวงพระบางหรือเวียงจันทน์                เมื่อรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับข้อมูลทางกายภาพของแขวงบ่อแก้วแล้วเราก็ออกเดินทางไปยังตลาดจีนซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาวิทยานิพนธ์  เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากการฟังบรรยายเราได้ความรู้ว่าแต่เดิมนั้นไม่มีชาวจีนอาศัยอยู่ในเขตนี้เลยแต่หลังจากปี๑๙๙๘ เป็นต้นมาก็เริ่มมีคนจีนมาขายของหาบเร่แต่ไม่ได้อยู่เป็นการถาวรแต่หลังจากนั้นก็เริ่มเข้ามาเป็นคาราวาน  ส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว  ซึ่งคนจีนเหล่านี้เข้ามายังลาวผ่านทางด่านห้วยน้ำทาที่มีพรมแดนติดกับจีน  ทางรัฐบาลลาวได้เคยส่งคนจีนเหล่านี้กลับประเทศแต่ไม่นานก็กลับเข้ามาใหม่  รัฐบาลลาวจึงออกมาตรการควบคุมให้อยู่เป็นหลักแหล่งและจำกัดจำนวนคนไม่ให้มีมากเกินไป  คนจีนที่มาอยู่ในลาวนั้นจะต้องทำบัตรเพื่อที่จะได้อาศัยและทำการค้า  ส่วนตลาดจีนที่ห้วยซายนี้ถือว่าเป็นศูนย์กลางการกระจายของไปสู่แขวงอื่นๆ  และได้ทราบข้อมูลว่าจะมีรถโดยสารจากห้วยน้ำทาเข้ามาส่งของให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่นี่เป็นประจำ  สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นของใช้ในบ้าน  เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า  กระเป๋า เป็นต้น   ในพื้นที่จริงๆที่ตลาดจีนที่เราเห็นนั้นมีลักษณะเป็นเพิงชั่วคราวทำให้การจัดสินค้าต่างๆค่อนข้างกระจัดกระจายและเพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่มีการเริ่มสร้างทาง  ทำให้มีฝุ่นค่อนข้างเยอะเมื่อรถแล่นผ่านก็หอบเอามวลฝุ่นฟุ้งตลบอยู่เป็นระยะ   ทำให้เมื่อเดินดูสินค้าข้างทางต้องหาผ้ามาปิดจมูกเพื่อกันฝุ่น   ครอบครัวคนจีนที่มาอาศัยที่นี่นั้นมีจำนวนมากกว่าที่คิดไว้และส่วนใหญ่มีคนรุ่นหนุ่มสาว  บางครอบครัวก็คลอดลูกที่นี่เลยก็มี   พ่อค้าแม่ขายในตลาดจีนนั้นพูดภาษาลาวพอได้บ้างในการสื่อสารเกี่ยวกับราคาสินค้า   แต่ส่วนใหญ่ก็จะยังพูดภาษาจีนเป็นหลัก   ประโยชน์ของการมีตลาดจีนก็คือทำให้คนลาวได้ซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง แต่ก็ไม่มีการรับประกันเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพสินค้า  สินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างเช่นวิทยุ โทรทัศน์ หรือเครื่องเล่นดีวีดี  นั้นมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ขายในเมืองไทยเกือบสองเท่าเลยทีเดียว                   จากการตั้งข้อสังเกตว่าคนจีนนั้นไม่กลัวการอพยพ โยกย้ายถิ่นฐาน  เพราะถ้าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นพวกเขาก็ยินดีที่จะออกไปผจญภัย   การมีจิตวิญญาณของนักสู้อย่างนี้นี่เองที่ไม่แปลกใจเลยว่ามีคนจีนอยู่ทั่วทุกมุมโลก  และการขยันทำมาหากินของพวกเขาก็ทำให้พวกเขาสร้างฐานะขึ้นมาได้อย่างภาคภูมิ   เรื่องเล่าขานกันในเมืองไทยที่ว่าคนจีนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยสมบัติแค่สื่อผืนหมอนใบ จนกลายเป็นเจ้าสัวนั้น  เห็นทีจะไม่ใช่เรื่องแปลกถ้านึกถึงความมานะพยายามของพวกเขา     เราจากตลาดจีนมาก็เป็นเวลาเย็นแล้วก็เลยต้องแวะที่ตลาดห้วยซายเพื่อหาซื้ออาหารเย็น    เมื่อเดินลงไปสำรวจตลาดนั้นก็พบว่าเหมือนตลาดสดทางภาคเหนือเรานี่เอง  พืชผักและอาหารก็มีลักษณะเหมือนกัน ไม่แปลกใจเลยที่จะเห็นอาหารหน้าตาเหมือนลาบ และอาหารเหนือสองสามอย่างวางขายอยู่  เราลองแวะชิมข้าวซอยหรือก๋วยเตี๋ยวน้ำเงี้ยวแสนอร่อยคนละหนึ่งชามจนอิ่มแปล้  แล้วจึงขึ้นรถกลับที่พัก                    ห้วยซายยามเย็นนั้นจะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเดินชมเมืองอยู่ประปราย   บ้างก็เลือกชมสินค้าประเภทผ้าทอ  บ้างก็นั่งรับประทานอาหารเย็นแกล้มเบียร์ลาวที่ขึ้นชื่อ  เหตุเพราะเป็นเมืองค่อนข้างสงบและไม่มีแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนเราจึงไม่เห็นวัยรุ่นลาวออกมาข้างนอกในตอนกลางคืนมากนักนอกจากจะซิ่งมอเตอร์ไซด์กันบ้างเป็นบางกลุ่ม  ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในเมืองไทยที่แสงสีไม่เคยหลับใหล     เราใช้เวลาพักผ่อนยามค่ำกันตามอัธยาศัย เพื่อจะเตรียมตัวสำหรับพรุ่งนี้อีกหนึ่งวัน                เราตื่นกันแต่เช้าและรับประทานอาหารเช้าที่เกตส์เฮาส์ที่เราพักนั่นเอง  บางคนติดใจบาแกต  ขนมปังฝรั่งเศสมาตั้งแต่เราไปเยือนเวียดนาม พอมาถึงลาวเห็นมีบาแกตขายเลยสั่งเป็นอาหารเช้าเสียเลย  โชคดีที่เราตื่นแต่เช้าพอที่ทันใส่บาตรพระ  ก็เลยได้รับบุญไปตามๆกัน  ก่อนที่เราจะเดินทางไปหมู่บ้านขมุซึ่งอยู่ห่างจากห้วยซายประมาณครึ่งชั่วโมง    เป็นเพราะเราได้รับคำเตือนจากรุ่นพี่ว่าระยะทางที่เราจะเดินทางไปนั้นเต็มไปด้วยฝุ่น  ก็เลยต้องหาที่คลุมผมคลุมหน้ากันยกใหญ่  ยามที่เราออกเดินทางด้วยรถสองแถวคันเดิมนั้นยังเป็นเวลาเช้าอยู่  ไอหมอกยังปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณจนชักจะไม่แน่ใจแล้วว่าอันไหนหมอกอันไหนฝุ่นก็เลยนั่งปิดหน้าปิดตากันไปตลอดทาง  ทั้งสภาพถนนเองก็อยู่ในระหว่างปรับปรุงจึงทำให้พื้นผิวเป็นหลุมเป็นบ่อพอสมควร  ด้วยการเดินทางที่ขโยกเขยกและบวกกับสภาพรถของเราค่อนข้างเก่าและดูบอบบางถ้าจะต้องขับขี่มาลงหลุมลงบ่อก็เลยเกิดความรู้สึกเป็นห่วงว่าเราจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางกันหรือเปล่า   และเพียงแค่นาทีถัดมาคนขับรถก็หยุดจอดได้ความว่าเราต้องลงสักครู่เพราะจะต้องเปลี่ยนยางใหม่     เมื่อเราทยอยกันออกจากรถและลงมาถ่ายรูปและเดินเล่นกันข้างทาง     ก็ทำให้เกิดความแปลกใจและทึ่งเป็นอย่างมากกับสภาพแวดล้อมรอบตัวในขณะนั้น  เพราะดูเหมือนโลกกลายเป็นสีน้ำตาลไปชั่วขณะ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า  ก้อนหิน กิ่งไม้  ล้วนแล้วแต่ถูกเคลือบด้วยผงสีน้ำตาลจนหนา  ถึงแม้ว่าตามใบไม้จะมีละอองหยาดน้ำค้างเกาะอยู่แต่ก็ไม่สามารถชะล้างฝุ่นผงที่เกาะอยู่ชั่วนาตาปีได้   จะว่าไปก็เป็นความงามอย่างน่าประหลาดที่เมื่อความหม่นมัวจากสายหมอกสีขาวเริ่มจางเมื่อเวลาสายขึ้นอีกนิดเราก็จะพบกับภูมิประเทศที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นสีน้ำตาลเหมือนกับเรามองโลกผ่านเลนส์ของกล้องถ่ายรูปและ ได้ภาพถ่ายที่เรียกว่าสีซีเปียโดยไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม   เมื่อคนขับรถเปลี่ยนยางเสร็จเรียบร้อยแล้วเราถึงได้เคลื่อนขบวนกันต่อไป  ในที่สุดหมู่บ้านไซจะเลิน  หรือหมู่บ้านขมุก็ปรากฏสู่สายตา  เรามาที่นี่เพื่อที่จะรับฟังการบรรยายความคืบหน้าเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์เรื่องพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขมุ     เราเข้าไปนั่งประชุมกันที่ศาลากลางหมู่บ้านที่ซึ่งมีเสาประหลาดที่ทำจากไม้ไผ่และลอกเปลือกเป็นริ้วเล็กๆและย้อมด้วยสีต่างๆตั้งอยู่ข้างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของคณะเราเป็นอย่างมาก  จากการสอบถามหัวหน้าหมู่บ้านได้ความว่าเป็นเสาที่ทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลของหมู่บ้านและทำให้อยู่เย็นเป็นสุขและนำความอุดมสมบูรณ์มาให้    ชาวขมุในหมู่บ้านนี้นั้นแต่เดิมไม่ได้ตั้งถิ่นฐานที่นี่มาแต่เดิมแต่เมื่อรัฐบาลลาวมีนโยบายย้ายถิ่นฐานชนกลุ่มน้อยให้มาอยู่บนพื้นราบก็เลยอพยพกันมาทั้งหมู่บ้าน   ชาวขมุนั้นเป็นชนเผ่าที่มีภาษา ประเพณีและ วัฒนธรรมความเชื่อเป็นของตัวเอง   สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในวัฒนธรรมของชาวขมุอย่างหนึ่งก็คือชีวิตความเป็นอยู่ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ   เชื้อสายตระกูลแต่ละตระกูลของชาวขมุจะมีความเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ  เช่นมีสายตระกูลที่มีบรรพบุรุษเป็นนกกาเหว่า และสายตระกูลนั้นจะต้องมีหน้าที่ดูแล อนุรักษ์ทั้งยังห้ามรับประทานและทำร้ายนกกาเหว่าอีกด้วย   หรือถ้าสายตระกูลเป็นสิ่งไหนก็ต้องมีหน้าที่ดูแลปกป้องและห้ามรับประทานสิ่งนั้น  เป็นการรักษาความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ที่ต้องรู้จักการเคารพซึ่งกันและกัน  ไม่เบียดเบียนกัน  และอยู่ร่วมกันโดยสันติ  นับเป็นความคิดในแนวอนุรักษ์นิยมที่ลึกซึ้งมาก   ระหว่างทางที่เราเดินไปดูสวนพฤกษศาสตร์ก็มีการแจกขนมให้กับเด็กๆชาวขมุตามรายทาง  แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าคำพูดที่กล่าวว่าความเจริญมาพร้อมกับถนนสายแรกที่ตัดผ่านนั้นจะพัดพาเอาสิ่งใดสู่เด็กเหล่านี้บ้าง  แม้แต่ในยามที่เราเอาวัฒนธรรม  ขนมพลาสติกเข้ามาให้พวกเขาเช่นนี้วันหน้าพวกเขาจะลืมขนมพื้นบ้านของเขาหรือไม่    สวนพฤกษศาสตร์ที่อยู่ท้ายหมู่บ้านนั้นประกอบไปด้วย  พืชพันธุ์หลายชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นหวายหนามที่ได้ความรู้ใหม่ว่าสามารถประกอบอาหารอาหารและนำไปขายได้   ส่วนพืชราคาแพงอย่างเช่น กฤษณานั้นก็ต้องดูแลในระยะที่เป็นต้นกล้าเพราะเป็นอาหารโปรดของปลวกทั้งหลาย  มีพืชพื้นบ้านหลายอย่างที่ใช้เป็นอาหารและสมุนไพรเช่น   เพกา,  สะเดา  เป็นต้น  พืชที่ปลูกก็ได้ใช้ประโยชน์ทั้งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ แก่เจ้าของ     ในสมัยก่อนชาวขมุมีภูมิปัญญาในการใช้พืชธรรมชาติเป็นยาสมุนไพรในการรักษาโรคต่างๆแก่คนในหมู่บ้านจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในปัจจุบันการเข้ามาของความทันสมัยทำให้ยาสมัยปัจจุบันนั้นผลิตและหาซื้อได้ง่ายกว่าการใช้ยาสมุนไพรจึงทำให้ชาวขมุปัจจุบันเริ่มหันมาใช้ยามสมัยใหม่มากขึ้น  ถ้าไม่มีใครเห็นคุณค่าที่จะอนุรักษ์และสืบทอดไว้แล้วภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้คงจะสูญหายไปในที่สุด                จากนั้นเราเดินทางฝ่ากลุ่มฝุ่นไปยังหมู่บ้านแลนแทนซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าลาวเทินซึ่งก็ถูกทางการลาวอพยพมาอยู่บนพื้นราบเช่นกัน   สิ่งที่สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็นก็คือการแต่งกายของชนเผ่านี้ซึ่งมีความสวยงามและแปลกตามาก เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่นั้นจะมาจากการทอผ้าและย้อมสีเอง  การตัดเย็บนั้นถ้าจะใช้คำว่าhandmade ก็จะบรรยายได้ถูกลักษณะที่สุด  เมื่อเห็นแล้วก็อยากจะเก็บภาพเป็นที่ระลึกแต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่เต็มใจเท่าไหร่เลยแอบวาดรูปมาแทน  แบบของเสื้อผ้าโดยเฉพาะผู้หญิงนั้นมีการประดับด้วยเงินและพู่สีชมพู  ส่วนกางเกงนั้นจะเป็นกางเกงเป้าต่ำแบบชาวเขาแต่จะมีการใช้ผ้าพันขาด้วย  ส่วนผมนั้นก็จะรวบมวยไว้ด้านหลังและประดับด้วยปิ่นเงิน  และตุ้มหูเงินซึ่งสอบถามได้ความว่าพวกเขาทำเอง   เสียดายที่เมื่อตอนเราไปถึงนั้นพิพิธภัณฑ์ทอผ้าไม่เปิดให้เข้าชม  เราจึงเดินชมรอบๆหมู่บ้านโดยที่มีกองทัพเด็กถือกระดาษที่ทำมาจากเยื่อไผ่มาขายให้ ในราคาแผ่นละสิบบาท    ซึ่งเราจะเห็นว่ามีเฟรมที่ตากกระดาษอยู่ท้ายหมู่บ้านแต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก                    ในระหว่างทางที่เดินทางคลุกฝุ่นอีกครั้งเพื่อเก็บสัมภาระกลับบ้านนั้น   มองเห็นเชียงของที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงก็ทำให้คิดว่า  ที่แท้อีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำที่ไม่ได้ห่างไกลกันเลยกลับมีความแตกต่างกันถึงเพียงนี้   ถ้าการพัฒนาและความเจริญทำให้ฝั่งไทยเป็นอย่างทุกวันนี้   แล้ววันข้างหน้าความเจริญจะทำให้ฝั่งลาวเป็นอย่างไร   แต่ณ.ขณะนี้ที่สายตายังมัวเพราะละอองฝุ่นก็ยังไม่สามารถจินตนาการภาพนั้นได้                                                                                                                                                                                                                                                                                                                               

 

คำสำคัญ (Tags): #ลาว#สารคดี
หมายเลขบันทึก: 54659เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2006 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
####ติดต่อกลับชั้นด้วย ชั้น ob ไง######

แกกำลังตามความฝันอะไรอยู่ ชั้นอยากเจอแกที่สุด สำหรับเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด

ความฝันของเราคลุกฝุ่นเปรอะไปหมดแล้ว

ชั้นไปมาหลายที่ และแกก็เหมือนกัน

มาเล่าความฝันให้กันฟังอีกสักที

ชั้นจะเข้ามาดูทุกวันนับจากนี้ จนกว่าจะได้เจอแกนะ

ห้าปีผ่านไปแล้ว งานของแกยังวน ๆ อยู่กับเรื่องความเหงาเหมือนเดิม

วันเวลาผ่านแล้ว ก็ผ่านอีก อย่างน้อย แกก็ยังทำให้ "ที่นี่" กลายเป็น "ที่อื่น" ได้แล้วนะ

ดีใจกับแกจริง ๆ

บ้านเราฝนตกแล้ว อีกไม่นานชั้นก็ต้องไปเหมือนกัน

จำได้ไหม ว่า ฝน น่ะ นำความเหงามาให้เราเสมอ ๆ 

วันนี้ชั้นจะนั่งดูท้องฟ้าฝืนเดียวกับแก และคิดถึงแกผ่านทางช้างเผือก 

พรุ่งนี้ชั้นจะไป ลาว ล่ะ เดินตามทางสายที่แกเขียน

มีความสุขนะ และก็ทุกข์น้อย ๆ หน่อยครับ

ob

6 UNCHALEE JOMKUNGUEN

ศ. 2 ต.ค. 52

แม่เคยไปลาวมาแล้วข้ามฝั่งทางเชียงของ และได้รับรู้ถึงดินแดนที่ลูกเขียน ลูกเขียนได้จนทำให้เห็นภาพได้โดยไม่ต้องดูภาพถ่าย และบางครั้งการได้อ่านผลงานเขียนของลูกทำให้เห็นภาพได้ลึกซึ้งกว่าดูจากภาพถ่ายอีกด้วย

แม่

      ถ้าใจเราเป็นสุข

       จะอยู่ที่ไหน  

       ลาว   ไทย    ออสเตรเลีย

       ก็มีความสุขเหมือนๆกัน   

       อยู่ที่ใจ   จริงไหม?         

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท