เรียนนอกฤดูภาคพิเศษ : ผลพวงของเรื่องเล่าจาก Gotoknow สู่การเรียนรู้ของนิสิต...


การนำเสนอ “เรื่องเล่า” ในหนังสือเล่มนี้ ได้แสดงให้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้มีการบูรณาการทั้งด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัยโดยเน้นให้นิสิตได้เรียนรู้อย่างบูรณาการ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้แก้ปัญหา พัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคมได้ โดยมีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์และความต้องการ เงื่อนไขและบริบทของชุมชน

(ขอขอบคุณ Gotoknow ผ่านบันทึกนี้)


นานและนานร่วมเกือบ 4 ปีได้กระมังที่ผมได้เรียนรู้การเขียนเรื่องเล่าจาก Gotoknow และในที่สุดก็พยายามนำเอาการเขียนเรื่องเล่า หรือเรื่องเล่าเร้าพลังเข้าสู่การงานของตนเอง ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเอง พัฒนาเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่องค์กรต้นสังกัด ซึ่งระยะหลังก็ผูกโยงไปยังภาคีองค์กรต่างๆ


ผมไม่เคยกังขาว่าการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) จะไม่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ทั้งในระดับ “ปัจเจกและสังคม” อย่างน้อยที่สุดก็ย่อมมีคุณค่าในเชิงมิติของประวัติศาสตร์ชีวิตที่หมายถึง “จดหมายเหตุชีวิตและองค์กร” นั่นเอง


ผมใช้เรื่องเล่าเร้าพลังในการพัฒนานิสิต ทั้งในกลุ่มกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ประกอบด้วยกลุ่ม “ผู้นำ” ที่รักและหลงใหลการทำกิจกรรม จนเกิดเป็นหนังสือหลายเล่ม เช่น มีความหมายใดในกิจกรรม,เรื่องเล่าชาวหอ,เรื่องเล่าชาวค่าย หรือแม้แต่ “เรียนนอกฤดู” อันเป็นงานเขียนของผมเอง


นอกจากนั้นยังใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสอนวิชา “พัฒนานิสิต” ด้วยการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดได้เขียนถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตผ่านการเขียนเพื่อการจัดการความรู้ หรือการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง –


กระทั่งล่าสุดปี 2555 ผมผันตัวเองไปเป็นผู้ประสานงานโครงการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งขับเคลื่อนเชิงรุกในชื่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” โดยให้แต่ละหลักสูตรนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อชุมชน บนฐานคิดอันเป็นโจทย์ หรือความต้องการของชุมชน และขับเคลื่อนด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน อันหมายถึงการบูรณาการความรู้และภูมิปัญญาแบบมีส่วนร่วม (เรียนรู้คู่บริการ) และใช้กระบวนการของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือนำทาง –


การเข้าไปเป็นผู้ประสานงานดังกล่าว ผมได้ผลักดันให้อาจารย์และนิสิต ได้เห็นความสำคัญของการใช้ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” เป็นส่วนหนึ่งในการ “ประเมินผลการเรียนรู้ของนิสิต” ซึ่งล่าสุดได้นำงานเขียนของนิสิต ทั้งจากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนและหนึ่งชมรมหนึ่งชุมชนมาจัดพิมพ์รวมเล่มในชื่อ “เรียนนอกฤดู” ภาคพิเศษ...

 

 

 


และถัดจากนี้ไปคือส่วนหนึ่งอันเป็นบทวิเคราะห์ของ ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา อาจารย์ในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคาม ได้ให้ความอนุเคราะห์เขียนถึงเรื่องราวที่นิสิตได้จารึกไว้ผ่านเวทีการเรียนรู้ที่ใช้ “ชุมชนเป็นห้องเรียน” อีกห้องของพวกเขาเอง –

  


งานวิชาการรับใช้ชุมชน :
นวัตกรรมของกระบวนการสร้างเรียนรู้ในอุดมศึกษาไทย

 

คำกล่าวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่ว่า “นักวิชาการอยู่บนหอคอยงาช้าง” นั้นมาจากการวิพากษ์วิจารณ์การค้นความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยของอาจารย์และการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่ยังไม่สอดคล้องและไม่สามารถนำไปช่วยแก้ปัญหาของสังคมและพื้นที่ได้


ดังนั้นกระแสในการพัฒนาแวดวงวิชาการอุดมศึกษาปัจจุบัน จึงได้ให้ความสนใจในการสร้างนักวิชาการเพื่อการรับใช้ชุมชน ซึ่งแนวทางนี้มหาวิทยาลัยในตะวันตกก็มีการหาแนวทางที่ทำให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมมากขึ้น ดังเช่น ในปี พ.ศ. 2405 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายMorrill Acts (1862) เพื่อจัดตั้ง Land Grant College และ Land Grant University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้ชุมชนแห่งแรกที่มีการสอน การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ที่สามารถบริการชุมชนในเขตบริการของมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นรูปธรรม

สถาบันการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การการพัฒนาคนและสังคม และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาท้องถิ่น สังคมได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษา 2542 ก็เน้นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยมีเปลี่ยนแปลง 4 ด้านได้แก่ 1) การปฏิรูปหลักสูตร 2) การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน 3) การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 4) การปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา และได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงาน 5 ประการ 1) กระจายอำนาจให้สถานศึกษาและหน่วยปฏิบัติมีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารงานที่รับผิดชอบ 2) ใช้แผนยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ 3) เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 4) ให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ 5) เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ


มหาวิทยาลัยมหาสารคามนับได้ว่าได้มีบทบาทนำในสังคมในการสร้างองค์ความรู้ และสร้างนักวิชาการเพื่อรับใช้ชุมชน ด้วยการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และได้มีการพัฒนาหลักสูตร และการเรียนการสอนเพื่อสร้างวิชาการรับใช้ชุมชนในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2552 และในปี พ.ศ. 2555 ได้ขยายวงกว้างในด้านวิชาการับใช้ชุมชนขึ้นในทุกสาขาภายใต้โครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 ได้สนับสนุน 65 โครงการ (65 หลักสูตร) และในปี พ.ศ. 2556 ได้สนับสนุนจำนวน 74 โครงการ (84 หลักสูตร) โดยในแต่ละหลักสูตรคัดเลือกชุมชนเป้าหมายและเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการบริการวิชาการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตามความถนัดและความเชี่ยวชาญของแต่ละหลักสูตร โดยมีการบูรณาการการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัยให้สอดคล้องกับโจทย์ที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ นับเป็นก้าวสำคัญในการปฏิรูปการเรียนการสอน การสร้างสะพานให้นักวิชาการและนักศึกษาลงมาจากหอคอยและสร้างการเรียนรู้ผ่านปฏิบัติการร่วมกับชุมชน อันนำไปสู่การใช้วิชาการรับใช้ชุมชนได้อย่างแท้จริง


การนำเสนอ “เรื่องเล่า” ในหนังสือเล่มนี้ ได้แสดงให้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้มีการบูรณาการทั้งด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัยโดยเน้นให้นิสิตได้เรียนรู้อย่างบูรณาการ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้แก้ปัญหา พัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคมได้ โดยมีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์และความต้องการ เงื่อนไขและบริบทของชุมชน ภายใต้โครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน และ 1 ชมรม 1 ชุมชน เป็นการใช้งานวิชาการหรือความรู้ที่มีอยู่วิชาการที่มีอยู่ นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์และตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนนั้น ๆ โดยไม่ได้มองจากนักวิชาการเป็นศูนย์กลางแต่เป็นการทำงานร่วมกับผู้ใช้ประโยชน์เป็นศูนย์กลาง


การเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ด้วยเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการ จากการเล่าความทรงจำ ประสบการณ์ การลงภาคสนาม ความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ เพื่อที่จะสื่อสารความรู้ในแบบไม่เป็นทางการ ทำให้เห็นตัวละคร เห็นคนภายใต้บริบทของชุมชน ท้องถิ่น ซึ่ง จะทำให้เกิด 1) กระบวนการย่อยหรือเทคนิคที่แปลงความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge) ซึ่งเกิดจากความเชื่อ ค่านิยม ทักษะการปฏิบัติจริงของบุคคล ซึ่งเป็นความรู้ที่จับต้องยาก ให้เป็นความรู้ที่ชัดเจนขึ้น (Explicit Knowledge) 2) ช่วยยกระดับ เพิ่มคุณค่าความรู้และประสบการณ์ของบุคคล 3) เป็นการเพิ่มช่องทางการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ 4) เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ (นงลักษณ์ ภิญโญมงคล, 2550)

 


เรื่องเล่าทั้ง 28 เรื่องได้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตที่เข้าร่วมในโครงการบริการวิชาการ สะท้อนให้เห็นพลังว่าเป็นการเรียนรู้และเกิดการบ่มเพาะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (transformation) กับผู้ที่เกี่ยวข้องในหลากหลายประเด็น ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

 

ด้านของนิสิต


      1. เกิดการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ด้านการทำมาหากิน การทำการเกษตร ประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อ ความเอื้ออารี ความมีน้ำใจของชาวบ้าน เรียนรู้คน ผู้นำทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการได้แก่ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้อาวุโส
      2. เรียนรู้ตนเองและผู้อื่น ด้วยศาสตร์การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนและกับคนในชุมชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อนและกับคนในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่เจ้าของปัญหา
      3. เกิดทักษะการศึกษาและทำงานกับชุมชน ซึ่งเกิดการเรียนรู้จากการกระทำ (Learning by doing) การเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์ การสังเกต การระดมความคิดเห็น ภาพถ่าย ทักษะการสื่อสาร การใช้ภาษาที่ง่ายเพื่อให้ชุมชนเข้าใจ การทำกิจกรรม รวมถึงการเรียบเรียงข้อมูลนำมาใช้ในการสื่อสารสนเทศ
     4. เกิดความรับผิดชอบ รู้จักการทำงานเป็นทีม การแบ่งงานกันทำ การประสานงาน
ประสานคนระหว่างเพื่อนที่เรียนต่างวิชาเอก การกระชับความสัมพันธ์ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
     5. การปรับทัศนคติและการปรับตัวของนิสิต ในการทำงานร่วมกับชุมชน เคารพในภูมิปัญญาและความรู้ท้องถิ่น การทำงานที่เน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม คำตอบหลายอย่างอยู่ที่หมู่บ้าน รวมถึงการปรับตัวในด้านการอยู่ การกิน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น
     6. นิสิตเกิดพลังและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ จากการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง เกิดความกระตือรือร้น และการคิดอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้การคิดโจทย์อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ภายใต้บริบท เงื่อนไขนิเวศของชุมชน
     7. นิสิตฝึกฝนตนเอง มีจิตอาสาและจิตสำนึกสาธารณะเพิ่มมากขึ้น จากการทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม

 

นักวิชาการ และหลักสูตร


     1. เกิดการประยุกต์ความรู้จากวิชาการ ทฤษฎีสู่การบูรณาการศาสตร์และการนำไปปฏิบัติและการใช้ประโยชน์กับชุมชน อาทิ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน ด้วยการใช้สื่อสารสนเทศซึ่งเป็นความรู้สมัยใหม่ เพื่อที่จะทำให้คนในชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ สนับสนุนทรัพยากรสารสนเทศ การจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ การประชาสัมพันธ์ กระบวนการสร้างการเรียนรู้ ห้องสมุดเคลื่อนที่ การใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอเน็ต ผ่านการเรียนรู้และการปฏิบัติการจริงร่วมกับชุมชน
     2. เกิดนวัตกรรมการสอนแบบใหม่ เป็นการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้กับนิสิต ผ่านการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Learning) เช่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ที่นำเทคโนโลยี เครื่องมือเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน เป็นการสร้างนวัตกรรมวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ที่สอดคล้องกับผู้เรียน ผู้สอน ภายใต้บริบท เงื่อนไขของชุมชน

 

ในด้านชุมชน


เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านกายภาพ กิจกรรมการพัฒนา เกิดศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วิถีการดำรงชีวิตของชุมชน โดยมีระบบการจัดเก็บและสืบค้นสารสนเทศในศูนย์การเรียนรู้ เกิดแหล่งสาธารณะประโยชน์ สนามเด็กเล่น สนามวอลเลย์บอล เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วม เรื่อง การกำจัดและแยกขยะ การทำการเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยชีวภาพ

 

ในด้านมหาวิทยาลัย


     1. มหาวิทยาลัยได้พัฒนากลไกและระบบในการบริหารจัดการงาน ที่มีการบูรณาการวิจัย การบริการวิชาการ การเรียนการสอน เพื่อให้เกิดงานวิชาการับใช้ชุมชน และมีกระบวนการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
     2. มีกระบวนการพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบใหม่ในหลักสูตร เน้นคุณภาพของการเรียนรู้ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ การเรียนการสอนคือการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่กิจกรรมการสอนอย่างเดียว

 

จึงกล่าวได้ว่า นวัตกรรมของการสร้างเรียนรู้ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ใหม่ การจัดสรรทรัพยากร งบประมาณ บุคลากร อาจารย์ นิสิต เพื่อเชื่อมโยงพันธกิจการจัดการเรียนการสอน การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการชุมชน ด้วยการพัฒนาให้อาจารย์และนิสิตเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้อยู่ดีมีสุข เป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” การกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการจัดการและบริหารงานวิจัยการบริการวิชาการที่ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาในท้องถิ่นให้มีบทบาทมารับใช้สังคม ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น และนับว่าเป็นพลังและตัวอย่างของการพัฒนาบทบาทมหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนาวิชาการเพื่อรับใช้สังคม

 

....

หมายเหตุ
เรื่องเล่าในเล่มดังกล่าว ประกอบด้วยเรื่องเล่าจากสาขาสารสนเทศศาสตร์หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน)   และเรื่องเล่าจากนิสิตในชมรมต่างๆ (หนึ่งชมรมหนึ่งชุมชน)

 

หมายเลขบันทึก: 546519เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2013 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2013 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีครับ  คุณชาดา ~natadee

ไม่ได้ทักทายกันนานและแสนนาน
ระหว่างการเดินทางมา กทม..พลันได้มีสมาธิ จึงมีโอกาสรวมพลังเขียนบันทึกอีกรอบ ครับ

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ

มาขอเรียนรู้ด้วยค่ะอาจารย์ ประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนร่วมในทุกมิติ

บันทึกนี้ นำอาจารย์จากหอคอยงาช้าง มาสู่ พื้นราบที่เต็มไปด้วยท้องทุ่งแห่งมวลดอกไม้ครับ

คิดถึงจริง ๆ คุณแผ่นดิน

หวังว่าจะได้พบกันครับ ;)...

ไม่ทราบว่าจะเขียนอะไรให้ตรงกับความรู้สึก คุณแผ่นดินมีทักษะการนำเสนอที่ยอดเยี่ยมมาก รู้สึกถึงพลังบางอย่าง .. ผู้ประสานงานโครงการบริการวิชาการ (เชิงรุก) .. ขอบคุณค่ะ

น่าอ่าน  น่าติดตาม .... มีวางขายไหมคะ

สุดยอดเลยค่ะอาจารย์แผ่นดิน อยากรู้อยากอ่าน "เรียนนอกฤดู" มั่งจัง

สวัสดีครับ ป้าหมู คนไกลบ้าน

 

ทราบว่าย้ายมาอยู่อีสานบ้านเฮาแล้วหรือเปล่าครับ
แต่ถึงยังไง คงมีเวลาได้พบพ้อ และเรียนรู้ร่วมกันในเร็ววันนี้ นะครับ

สวัสดีครับ คุณ nobita

หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ลดทอนช่องว่างระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้เป็นอย่างดี  มิหนำซ้ำยังเป็นกระบวนการที่ทำให้นิสิต/ผู้เรียน ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์และชาวบ้าน หรือแม้แต่ขับเคลื่อนด้วยตนเองอย่างแจ่มชัด เกิดเป็นทักษะชีวิตที่ดี เข้าใจในทฤษฎี และเข้าใจหลักการทำงานและการอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียวครับ

ขอบคุณครับ

 

พี่โอ๋ขอเก็บไปฝากม.สงขลานครินทร์ในวง Share ของเราด้วยนะคะ ถ้าทุกมหาวิทยาลัยทำให้เกิดงานอย่างนี้ได้ ประเทศไทยคงจะมั่นคง ทุกชุมชนจะได้รับการดูแลด้วยคนรุ่นใหม่ๆต่อไป ไม่หนีหายไปห่างบ้านกันเสียหมดเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนะคะ

สวัสดีครับ อาจารย์ ภัทรภร เจริญบุตร

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมมีความสุขมากกับการที่อาจารย์ผู้สอน เลือกเอาเรื่องเล่าเร้าพลังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน  สังคมออนไลน์ทำให้เราเขียนและถ่ายทอดอะไรๆ สั้นๆ เหมือนเร่งรีบ-เร่งด่วนไปซะทุกเรื่อง  หากแต่การเขียนเพื่อการถ่ายทอดประสบการณ์เช่นนี้  ช่วยให้นิสิตได้ฝึกสมาธิ ฝึกทบทวนชีวิต ฝึกการกลั่นกรองความคิดในเชิงนามธรรมสู่ความเป็นรูปธรรมได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวครับ


สวัสดีครับ อ.วัสWasawat Deemarn

...คิดถึงทุกวัน
ถ้ามีตังค์ จะนั่งเครื่อไปสบตาที่เชียงใหม่เลยนะครับ 555
สบตาเสร็จ ก็จะชวนให้พานั่งมอไซค์ลัดเลาะรอบเมืองอีกรอบ 55
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท