นิทานควานหาเข็ม


เพื่อค้นหาความจริงว่าสิ่งใดกันแน่ระหว่างมุขตลกผิดที่ผิดทางเหล่านี้ กับการค้นหาความจริงโดยคำถามเป็นจริงเป็นจัง จะสามารถฉุดเราขึ้นจากความโง่ได้อย่างทันควัน

นิทานควานหาเข็ม 

11 ตุลาคม 2549 

สิ่งหนึ่งซึ่งรับรู้มาตลอดและมักใช้เป็นยาแก้อาการเจ็บใจตัวเองเสมอ ในท่ามกลางความมึนงงซุ่มซ่ามของชีวิต หลังจากเดินเตะขอบโต๊ะเตะขาเก้าอี้ คือการได้ฉุกคิด เสมือนได้นั่งปุจฉาวิสัชนากับตัวเอง เมื่อคิดอะไรไม่ออกสักอย่าง จนต้องถามในคำถามและคำตอบที่ไม่เกี่ยวพันกันบ้าง ความหมายเรื่องการตั้งสติก่อนจะสอนสั่งตัวเองก็เป็นอีกหนึ่ง ถึงวิธีคลำหาเหตุแห่งปัญหาให้ได้ก่อนที่เราจะเริ่มต้นแก้ โดยมีหัวใจสำคัญคือต้องเข้าใจให้ได้ และควานหาให้เจอว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริง 

ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ฉุกคิดหลังฟังนิทานเรื่องน่ารัก ขณะเดินทางไปทำงานกลางวงเสวนาชาวบ้าน โดยได้ฟังเรื่องของ ดร. กิตติพงษ์  กิตยารักษ์  ซึ่งบอกเล่าให้ชาวบ้านหมู่บ้านควนไม้ดำ อำเภอปะเหลียน ของจังหวัดตรังได้ฟัง ถึงหนทางแก้ปัญหาความคับข้องใจในกระบวนการยุติธรรม ว่าทำไมต้องทำให้เกิดยุติธรรมขึ้นในชุมชนให้ได้ แทนที่จะพาความขัดแย้งไปขึ้นโรงขึ้นศาล รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า ได้ยินเรื่องราวนี้จากท่านปลัดกระทรวงยุติธรรมอีกทอดหนึ่ง

โดยบอกว่า ท่านเล่าให้ผมฟัง ท่านปลัด จารุพงษ์  เรืองสุวรรณ ท่านเคยเล่าให้ฟัง ซึ่งท่านเคยเป็นนายอำเภอปลัดดีเด่น เคยทำงานกทม. เคยทำงานกระทรวงการพัฒนาสังคม กระทรวงแรงงาน ก่อนจะมาทำงานกระทรวงยุติธรรม  ประสบการณ์ท่านหลากหลายมาก ท่านเล่าเรื่องหนึ่งว่า มีคุณป้าแก่ท่านหนึ่ง มีคนเดินผ่านไปตอนกลางคืนก็เห็นคุณป้าแก่ๆ กำลังควานหาอะไรไม่รู้อยู่ที่เสาไฟฟ้า ก็เดินเข้าไปถามคุณป้าว่า คุณป้าหาอะไรเหรอ ป้าก็บอกว่ากำลังหาเข็ม ก็ถามว่าแล้วป้าทำตกที่ไหนละจะได้ช่วยหา ป้าก็บอกว่าทำตกอยู่ที่บ้าน  คนนั้นก็ถามว่าแล้วทำไมมาหาที่เสาไฟฟ้าละ คุณป้าก็บอกว่ามันสว่างดี เลยมาหาเข็มที่นี้ 

มุขเดิมๆนี้อาจดูไม่แปลกใหม่หรือแปลกหูแปลกตานัก หากได้ยินได้ฟังจากคณะตลก แต่นอกจากความตลกขำขันแล้ว เราก็แทบไม่ได้หยิบจับอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันได้มากนัก แม้หยิบจับความสนุกจากความมั่วของคนอื่น แต่หากนำสู่การตีความอันแตกต่างของมุมมองชีวิต  เพื่อค้นหาความจริงว่าสิ่งใดกันแน่ระหว่างมุขตลกผิดที่ผิดทางเหล่านี้ กับการค้นหาความจริงโดยคำถามเป็นจริงเป็นจัง จะสามารถฉุดเราขึ้นจากความโง่ได้อย่างทันควัน โดยไม่ต้องให้อาจารย์เซนคอยเอาไม้ตีไหล่ยามสมาธิกระเจิง  

ถ้าต้องถามว่าจริงไหมสำหรับชีวิตคนเรา ที่บางครั้งหลงมั่วกันอยู่นานทั้งในหนทางและในชีวิต หรือเราต้องควานหาสิ่งที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังปัญหาให้พบให้ได้ โดยตรงเข้าสู่เป้าหมายแห่งปัญหา ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะตอบคำถามอันเจ็บปวดนี้ได้ แต่เพราะบางครั้งตัวเหตุแห่งความมั่วและวิธีค้นหาแบบมั่วมั่ว ก็อาจทำให้ได้คำตอบบางอย่างได้บ้าง โดยการหยิบยกเรื่องราวอันผิดที่ผิดทางเหล่านี้มากล่าวอ้าง จนกลายเป็นหนึ่งในสีสันของการท้าทายทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์ชีวิต เหมือนตื่นขึ้นมาในค่ำคืนหนึ่ง หลังจากหลับฝันว่าเมื่อคืนได้นั่งดูคอนเสิร์ตของดงบังชิงกิเล่นอยู่แถวเดิมบางนางบวช

โดยนอกเหนือจากความหมายในการฉุกคิด ว่าชีวิตอันเป็นระบบระเบียบของเรานั้น อาจต้องการคำถามแบบมั่วมั่วที่ตรงประเด็นบ้าง  สิ่งที่เคยทำให้เข้าใจความหมายของการควานหาต้นตอแห่งปัญหาให้พบ นอกเหนือจากความเข้าใจที่แท้จริง โดยก้าวผ่านสถานที่และก้าวผ่านความจริงของมายา เพื่อไปให้พบต้นตออันแท้จริงนั้น ไม่เพียงแต่เป็นกระบวนการทางปัญญาเท่านั้น

บ่อยครั้งที่พบว่าเราฉาบความมั่ว ไว้เพื่อค้นหาความจริงของชีวิต เพียงแต่ต้องกลั้นใจตั้งสติกับชีวิตว่าต้องหาให้พบ มากกว่าหลงคลุกอยู่กับความมั่ว ผมเคยเล่าเรื่องการค้นหาเหตุของชีวิต เรื่องราวที่ผู้คนควรค้นให้พบถึงต้นตอของปัญหา

ในค่ำคืนที่นั่งดื่มยาล้างกระเพาะกับเพื่อน จนได้พบกับวิธีแสวงหาความมั่วเพื่อไปสู่ความสว่าง เมื่อระหว่างพูดคุยและได้ยินได้ฟังคำตอบ จนหลงคิดและเข้าใจว่าตัวเองบังเกิดพุทธิปัญญา เสมือนดวงไฟกลมสว่างวาบความคิดบนกระหม่อม ด้วยหนทางแห่งปัญญาอันไม่อาจหาได้หากยังมีสติครบถ้วน ซึ่งผ่านปากคำอันยิ่งใหญ่ของเพื่อน  เพื่อนคนหนึ่งตอบผมท่ามกลางความมึนงง หลังเล่าให้ฟังถึงการถามชีวิต และค้นให้พบถึงต้นตอแห่งความทุกข์ในชีวิต

ไม่รู้เป็นเพราะฤทธิ์ยาล้างกระเพาะหรือเพราะน้ำเสียงของเพื่อน หลังเขาพูดออกตัวว่า คงต้องรีบไปขึ้นรถที่หมอชิตก่อน เพื่อแก้ปัญหาชีวิตที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะเขาค้นหาสาเหตุแห่งความทุกข์ในชีวิตได้แล้ว สงสัยกูจะต้องไปหาหัวใจที่เชียงใหม่วะ เพราะกูทำหัวใจตกหายไว้ ตอนนั้นผมไม่ได้ตอบเพราะยังไม่ได้สติ แต่คิดในใจว่า เออดี งั้นไปหาในที่สว่างๆหน่อยแล้วกัน

หมายเลขบันทึก: 54650เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2006 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท