สรุปวิทยานิพนธ์ : การทำให้ตนเองเสียเปรียบ


สรุปจาก วิทยานิพนธ์เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการทำให้ตนเองเสียเปรียบกับการดำรงแรงจูงใจภายในในการทำกิจกรรม ของ นางสาวเปรมวดี กาญจนวีระ

บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

คนทุกคนจะพยายามป้องกันตัวเองจากการประเมินผลการทำงานหรือกิจกรรมที่ไม่ค่อยดีหรือไม่สำเร็จโดยใช้กลวิธีปกป้องตัวเอง (Self-protective strategies) เพื่อทำให้คนๆนั้นคิดว่าตัวเองยังสามารถทำงานนั้นๆได้ต่อไปโดยที่ไม่ลดละความสนใจลงไป ผู้วิจัยมีความสนใจว่าถ้าคนทำพฤติกรรมการทำให้ตนเองเสียเปรียบ (Self-handicapping) แล้วจะมีผลต่อการดำรงหรือเพิ่มแรงจูงใจภายในในการทำกิจกรรมต่างๆหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่คนๆนั้นไม่มั่นใจในความสามารถในการทำงานหรือกิจกรรมของตน

แนวคิด ทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานการวิจัย

1.การทำให้ตนเองเสียเปรียบ (Self-handicapping)

เป็นกลไกในการยกสาเหตุเมื่อตนเองล้มเหลว มี 2 วิธี ได้แก่ การทำ (Behavioral Self-handicaps) และการกล่าวอ้าง (Self-reported Handicaps) เพื่อใช้อธิบายสนับสนุนเหตุผลที่ตนเองเกิดความล้มเหลว

Stephen Berglas และ Edward Jones เป็นผู้ที่เสนอภาวสันนิษฐาน (Construct) นี้ขึ้นมา โดยให้คำจำกัดความวิธีการทำให้ตนเองเสียเปรียบว่า เป็นการกระทำหรือทางเลือกใดๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนทีจะมีการแสดงออก หากการกระทำนั้นประสบกับความล้มเหลว บุคคลจะหาข้ออ้างโดยยกสาเหตุของความล้มเหลวว่ามาจากสาเหตุภายนอก แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็จะยกสาเหตุว่ามาจากสาเหตุภายใน นั่นคือ ยอมรับว่าความสำเร็จนั้นมาจากความสามารถของตนเอง (Berglas & Jones, 1978) หลังจากนั้นในปี 1982 Jones และ Rhodewalt ก็ได้พัฒนามาตรวัดการทำให้ตนเองเสียเปรียบ (Self-handicapping Scale) งานวิจัยต่างๆที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำให้ตนเองเสียเปรียบนั้น โดยสรุปแล้วแสดงให้เห็นว่าการทำให้ตนเองเสียเปรียบมีผลต่อการยกสาเหตุต่อการกระทำ การทำให้ตัวเองเสียเปรียบอาจจะทำให้มีการทำงานที่ดีขึ้น เนื่องจากการทำให้ตนเองเสียเปรียบช่วยลดความวิตกกังวลได้ สรุปแล้ว การทำให้ตนเองเสียเปรียบเป็นพฤติกรรมที่พยายามทำให้ผู้อื่นรับรู้และยกสาเหตุว่าความล้มเหลวของตนเองนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตนเอง แต่มาจากสาเหตุภายนอกที่ตนถูกเสียเปรียบอยู่


2.แรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation)

White ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจภายใน ว่าเป็นแรงจูงใจที่ประสบผล (Effectance Motivation) เพราะร่างกายได้รับการกระตุ้นอยู่แล้ว และคนๆนั้นเห็นว่าความรู้สึกประสบผลที่ตามมาเป็นรางวัลของพฤติกรรมนั้นๆ และไม่ต้องมีการเสริมแรงใดๆ

แรงจูงใจภายในมีพื้นฐานจากการที่คนๆนั้นต้องการที่จะมีความสามารถและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ทำให้คนเราค้นหาและเอาชนะความท้าทายที่น่าพอใจที่สุดอย่างไม่ลดละความพยายาม

การใช้แบบสอบถามวัดแรงจูงใจภายในเป็นการวัดที่มีประโยชน์ และถ้าใช้ร่วมกับมาตรวัดอื่นๆด้วยจะดีมาก

ในหลายการวิจัยพบว่า สิ่งตอบแทนหรือรางวัลสามารถทำลายแรงจูงใจภายในทีละน้อยได้(Deci & Ryan, 1985)

ความชอบในการทำกิจกรรม (Task Involvement) เป็นสิ่งที่แสดงถึงแรงจูงใจภายในได้ดี

การทำให้ตนเองเสียเปรียบ กับแรงจูงใจภายใน

หากคนเราล้มเหลวหรือได้รับผลการกระทำที่เป็นลบแล้ว อาจทำให้คนนั้นสนใจงานลดลงไปแต่ถ้าคนนั้นทำให้ตนเองเสียเปรียบก่อนที่จะเกิดความล้มเหลว พวกเขาจะประเมินงานนั้นไปในทางบวกและก็ยังมีแรงกระตุ้นให้สนใจงานนั้นอยู่ต่อไป (การดำรงแรงจูงใจภายใน) มากกว่าคนที่ไม่ได้ทำให้ตัวเองเสียเปรียบ

งานวิจัยต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ตนเองเสียเปรียบและแรงจูงใจภายใน

งานวิจัยของ Roberta K. Deppe และ Judith M. Harackiewicz ในปี 1996 พบว่า ผู้ที่ใช้วิธีการทำให้ตนเองเสียเปรียบสูง จะชื่นชอบงานมากขึ้น และทำให้แรงจูงใจภายในต่องานนั้นๆได้พัฒนาและดำรงคงอยู่อีกด้วย งานวิจัยนี้มีหลักฐานยืนยันว่า พฤติกรรมทำให้ตนเองเสียเปรียบสามารถช่วยป้องกันการลดลงของแรงจูงใจภายในของงานนั้น เมื่อผลงานของคนเราล้มเหลว

วัตถุประสงค์การวิจัย

เพื่อศึกษาว่าการทำให้ตนเองเสียเปรียบสามารถป้องกันการลดแรงจูงใจภายในในการทำกิจกรรมได้หรือไม่


ขอบเขตการวิจัย

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างการทำให้ตนเองเสียเปรียบและแรงจูงใจภายใน โดยวิธีการทำเพื่อให้ตนเองเสียเปรียบ (Behavioral Self-handicaps)

ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย

1. ตัวแปรอิสระ

· ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงและต่ำ

· เงื่อนไขมีการแข่งขัน และไม่มีการแข่งขัน

· ผลแพ้หรือชนะ

2. ตัวแปรตาม ได้แก่

· เวลาที่ใช้ฝึกซ้อมความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ

· การตั้งเป้า

· เวลาที่เล่นพินบอลอิสระ

· ความชอบในการเล่นพินบอล

· ความสนุกสนานในการเล่นพินบอล

สมมติฐานของการวิจัย

สมมติฐานข้อที่ 1 ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงจะมีความแตกต่างจากผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบต่ำ

สมมติฐานข้อที่ 2 เงื่อนไขมีการแข่งขันจะแสดงอย่างชัดเจนว่า ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูง แตกต่างจากผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบต่ำ

สมมติฐานข้อที่ 3 ในเงื่อนไขมีการแข่งขัน ไม่มีการแข่งขัน ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงและต่ำ ที่แพ้ ชนะ ใช้เวลาเล่นพินบอลในช่วงเวลาอิสระ

สมมติฐานข้อที่ 4 เงื่อนไขมีการแข่งขัน ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงที่แพ้ใช้เวลาเล่นพินบอลในช่วงเวลาอิสระมากกว่าผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบต่ำที่แพ้

3

สมมติฐานข้อที่ 5 ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงและต่ำ เมื่อใช้เวลาฝึกซ้อมความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือมากมีความสนุกสนานในการเล่นพินบอล แตกต่างจาก เมื่อฝึกซ้อมความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือน้อย

บทที่ 2

วิธีดำเนินการวิจัย

เป็นการวิจัยเชิงทดลอง แบบตัวประกอบ 2x2x2 โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มแบบระหว่างบุคคล

กลุ่มตัวอย่าง

1. กลุ่มตัวอย่างขั้นสร้างเครื่องมือ

เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 40 คน ให้ตอบมาตรวัดลักษณะนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบ จำนวน 25 กระทง

2. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

นิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2540 จำนวน 327 คน ชาย 95 คน และหญิง 232 คน ให้ตอบมาตรวัดลักษณะนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบ จำนวน 9 ข้อกระทง ทำการสุ่มว่ากลุ่มตัวอย่างแต่ละคนอยู่ในเงื่อนไขการทดลองแบบใด

การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและประสิทธิภาพของเครื่องมือ

1. มาตรวัดลักษณะนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบ (Self-handicapping Scale)

โดยพัฒนาจากมาตรวัดที่มีจำนวนข้อกระทง 25 ข้อ มาเป็นข้อกระทงคุณภาพ 9 ข้อ

2. แบบสอบถามการตั้งเป้า

นำคะแนนพินบอลที่ตั้งเป้าไว้ไปเปรียบเทียบกับคะแนนที่ทำได้ในขั้นทดลองเล่นพินบอลว่าตั้งเป้าสูงขึ้นจากคะแนนที่เคยทำได้หรือตั้งเป้าต่ำลง

3. แบบวัดความชอบในการทำกิจกรรม (Task Involvement)

มีจำนวน 2 ข้อ วัดภายหลังการเล่นเกมพินบอล

4. แบบวัดความสนุกสนานในการทำกิจกรรม (Enjoyment)

มีจำนวน 4 ข้อ วัดภายหลังช่วงเวลาอิสระ

5. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ฝึกซ้อมความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ

นำเวลาการฝึกซ้อมความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือของผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงมาเปรียบเทียบกับผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบต่ำ

6. โปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมพินบอล


ขั้นตอนดำเนินการทดลอง

การเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลอง และเก็บรวบรวมข้อมูลตามขั้นตอน และวิธีการที่วางไว้

การวิเคราะห์ข้อมูล

ใช้โปรแกรม SPSS/PC+ สถิติที่ใช้ทดสอบคือ 3-way ANOVA และ t - test

บทที่ 3

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้วิจัยได้แสดงตารางข้อมูลค่า Mean ของแต่ละตัวแปรเป็นรูปแบบตาราง (ความสัมพันธ์ระหว่างการทำให้ตนเองเสียเปรียบกับการดำรงแรงจูงใจภายในในการทำกิจกรรม, 2541, หน้า 46)

วิเคราะห์ 3-way ANOVA ระหว่างตัวแปรต้น 3 ตัว กับตัวแปรตาม 5 ตัว สรุปได้ว่า 1.ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูง-ต่ำ 2.เงื่อนไขแข่งขัน-ไม่แข่งขัน 3.ผลป้อนกลับว่าแพ้-ชนะ นั้นไม่ได้มีผลต่อ1.เวลาที่ใช้ฝึกซ้อมความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ 2.การตั้งเป้า 3.เวลาที่ใช้เล่นพินบอลในช่วงเวลาอิสระ 4.ความชอบในการเล่นพินบอล อีกทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้น 3 ตัว ไม่ได้ส่งผลต่อตัวแปรตามทั้ง 4 ตัว แต่ทว่า เมื่อพิจารณาตัวแปรผลป้อนกลับว่าแพ้หรือชนะและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูง-ต่ำ กับเงื่อนไขแข่งขัน-ไม่แข่งขัน กลับพบว่าส่งผลต่อความสนุกสนานในการเล่นพินบอลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ผู้วิจัยต้องการทดสอบค่า Mean ของตัวแปรตามทั้ง 5 ตัวกับกลุ่มตัวอย่างแต่ละเงื่อนไข จึงทดสอบโดยใช้ t – test ผลการวิเคราะห์สรุปออกมาเฉพาะที่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือตรงกับสมมติฐาน ได้ดังนี้

­ ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงจะตั้งเป้าต่ำกว่าผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเป็นไปตามสมมติฐาน

­ ในเงื่อนไขแข่งขัน ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงจะตั้งเป้าต่ำกว่าผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเป็นไปตามสมมติฐาน

­ ในเงื่อนไขที่มีการแข่งขันนั้น ผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงทั้งที่แพ้และชนะ ต่างก็ใช้เวลาเล่นพินบอลในช่วงเวลาอิสระไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นไปตามสมมติฐาน

6


บทที่ 4

อภิปรายผลการวิจัย

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำให้ตนเองเสียเปรียบกับการดำรงแรงจูงใจภายในในการทำกิจกรรม โดยใช้ทฤษฎีตามแนวทางของ Stephen Berglas และ Edward Jones (1978)

การวิจัยนี้ได้ผลแตกต่างจากผลการวิจัยในแนวทางเดียวกันนี้ของ Deppe และ Harackiewicz (1996) โดยสาเหตุที่ต่างกัน ผู้วิจัยมีความเห็นว่า มีปัจจัยต่างๆมาขัดขวางการเกิดพฤติกรรมทำให้ตนเองเสียเปรียบของผู้ร่วมการทดลอง (behavioral self-handicaps) เช่น

­ การได้ทำกิจกรรมที่ยากลำบากและมีนัยว่าจะล้มเหลว

­ ผู้ร่วมการทดลองรู้สึกว่าสถานการณ์ในการทดลองนั้นไม่มีความสำคัญต่อตนเอง

­ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องแข่งขันก็ไม่สนใจว่าผลของเกมนั้นจะเป็นอย่างไร

­ ผู้ร่วมการทดลองที่เป็นผู้หญิงจะคิดว่าความสามารถของตนนั้นเกิดจากโชคช่วยมากกว่าผู้ชาย

­ การสร้างสิ่งขัดขวางต่อการแสดงออกพฤติกรรมทำให้ตนเองเสียเปรียบนั้นชัดเจนเกินไป

­ ผู้ร่วมการทดลองบางคนใช้วิธีการทำให้ตนเองเสียเปรียบโดยการกล่าวอ้างมาก่อนอยู่แล้ว

ผลการวิจัยนี้ ไม่พบความแตกต่างของการใช้พฤติกรรมทำให้ตนเองเสียเปรียบ ระหว่างผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบสูงและผู้มีนิสัยทำให้ตนเองเสียเปรียบต่ำ ดังนั้นผลที่ตามมาก็คือ ไม่มีความแตกต่างของการดำรงแรงจูงใจภายในในการทำกิจกรรมด้วย


บทที่ 5

สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ

เนื่องจากหัวข้อต่างๆในการสรุปผลการวิจัยได้สรุปไปแล้วในข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอสรุปเฉพาะหัวข้อข้อเสนอแนะเท่านั้น
ข้อเสนอแนะ

1. ครั้งต่อไปควรศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิตจากคณะต่างๆมากขึ้น เนื่องจากอาจจะนิสัยไม่เหมือนกัน

2. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ควรศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเพศหญิงกับชาย

3. เพิ่มตัวแปรเข้าไปอีก เช่น self-esteem, achievement motivation เพื่อศึกษาว่ามีผลต่อพฤติกรรมทำให้ตนเองเสียเปรียบหรือไม่

4. ควรสร้างสถานการณ์และเงื่อนไขในการทดลอง ให้มีความสำคัญต่อ self – concept ของผู้ร่วมการทดลองมากขึ้น


รายการอ้างอิง


เปรมวดี กาญจนวีระ. (2541). ความสัมพันธ์ระหว่างการทำให้ตนเองเสียเปรียบกับการดำรงแรงจูงใจ

ภายในในการทำกิจกรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาสังคม
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิทยา
หมายเลขบันทึก: 54617เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2006 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท