สรุปบทความทางวิชาการ


สรุปบทความทางวิชาการ เรื่อง อิทธิพลของปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงของมารดาที่คาดหวังต่อบุตรซึ่งมีอายุไม่ถึงเกณฑ์ในการเสพเครื่องดื่มมึนเมา จาก The Self-Fulfilling Influence of Mother Expectations on Children’s Underage Drinking ใน Journal of Personality and Social Psychology.

อิทธิพลของปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงของมารดาที่คาดหวังต่อบุตรซึ่งมีอายุไม่ถึงเกณฑ์ในการเสพเครื่องดื่มมึนเมา

สเตฟานี มาดอน, แม็กซ์ กายลล์, ริชาร์ด แอล. สปอร์ธ, ซูซาน อี. ครอส, ซาร่า เจ. ฮิลเบิร์ต

มหาวิทยาลัยรัฐไอโอวา

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ทดสอบว่าความคาดหวังของมารดาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรนั้นมีอิทธิพลต่ออนาคตที่บุตรจะเสพ ซึ่งอธิบายโดยทฤษฎีปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง อีกทั้งมีการสำรวจด้วยว่าความนับถือตนเองของบุตร ระดับทางสังคมของครอบครัว และ อำนาจความคาดหวังของมารดาที่ได้ลดกระบวนการนี้ การวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ศึกษาระยะยาวจากคู่มารดาและบุตรจำนวน 505 คู่ ซึ่งได้ผลที่สอดคล้องกับทฤษฎีปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง ความไม่ถูกต้องบางส่วนของความคาดหวังของมารดานั้นสามารถทำนายการเสพเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตรได้หลังจากพิจารณาตัวแปรควบคุมที่เกี่ยวข้องแล้ว การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าตัวแปรควบคุมนั้นมีผลมากระหว่างบุตรที่มีความนับถือตนเองสูงกับความคาดหวังของมารดาเป็นทางบวก เช่น เมื่อมารดาประเมินการเสพเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรต่ำเกินไป ข้อค้นพบในการวิจัยนี้จะอภิปรายเกี่ยวกับคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับบุตร อิทธิพลของความใกล้ชิด ทฤษฎีความเป็นตัวตน และภาพในความคิดต่อบุคคลภายนอกกลุ่ม

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความคาดหวังที่ผิดซึ่งจะนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง ได้มีการศึกษามาอย่างมากมายว่า ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงสามารถนำไปสู่ปัญหาสังคมต่างๆได้ เช่น ผลการเรียนตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น และ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงสามารถที่จะนำไปสู่ผลที่หลากหลายมากกว่านี้ และผลอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ บุตรเสพดื่มเครื่องดื่มมึนเมาก่อนอายุถึงเกณฑ์ ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นผลเนื่องมาจากการที่มารดามีความคาดหวังที่ผิดเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรของตน ทำให้มีส่วนช่วยให้บุตรดื่มเครื่องดื่มมึนเมาเร็วขึ้นผ่านกระบวนการ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.ทดสอบว่าความคาดหวังของมารดาเกี่ยวกับการเสพเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตรตามทฤษฎีปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงนั้นสามารถทำนายพฤติกรรมการเสพเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตรได้หรือไม่

2.ทดสอบว่าความคาดหวังของมารดาได้จำกัดอิทธิพลของความคาดหวังสร้างความจริงอย่างแม่นยำหรือไม่

3.ทดสอบว่าบุตรบางคนจะอ่อนไหวต่อปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงมากกว่าคนอื่นเนื่องจากความนับถือตนเองและระดับทางสังคมของครอบครัว อีกทั้งทดสอบผลจากปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงของความคาดหวังของมารดาที่เกี่ยวกับการเสพเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตรนั้นเป็นคุณหรือโทษ

ขอบเขตของการวิจัย

การวิจัยนี้ศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคู่มารดากับบุตรจำนวนทั้งสิ้น 505 คู่ ใช้กรอบความคิดแบบไตร่ตรอง-ตีความของจัสซิม (Jussim,1991) อธิบายได้ว่า พฤติกรรมการเสพเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตร สามารถทำนายได้โดยปัจจัยต่อไปนี้

1. ตัวแปรเกี่ยวกับภูมิหลังของบุตร

2. ความคาดหวังของมารดาเกี่ยวกับการเสพเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตร

3. ตัวแปรซ่อนเร้น (potential moderators)

วิธีดำเนินการวิจัย

เป็นการวิจัยระยะยาวโดยการสำรวจข้อมูลและตรวจสอบ

แนวคิดและทฤษฎี

ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

ความคิดที่ผิดนั้นสามารถนำไปสู่การเติมเต็มความเชื่อของตัวเองและเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง จากการทดลองของ Rosenthal and Jacobson (1968) แสดงให้เห็นว่า ความคาดหวังของครูสามารถปรับแต่งความสำเร็จในการเรียนของเด็กได้ ซึ่งจากการทดลองนี้ทำให้เรื่อง ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงกลายเป็นหัวข้อใหญ่ในการศึกษา Educational and Psychology ทำการทดลองโดยบอกข้อมูลที่ผิดๆแก่ครูว่ามีนักเรียนบางคน (ซึ่งความจริงแล้วได้สุ่มนักเรียนคนนั้นขึ้นมา) จะได้คะแนน IQ สูงในภาคการศึกษานี้ และพบว่านักเรียนคนที่จริงๆแล้วได้ถูกเลือกโดยสุ่มนี้ มี IQ เพิ่มสูงขึ้นกว่านักเรียนคนอื่นจริง

สิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงตามธรรมชาติ

แม้ว่าปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการจัดการกระทำหรือการทดลองนั้นจะมีผลแสดงออกมาเพียงปานกลาง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ผลนั้นจะเด่นชัดขึ้นกับเฉพาะตัวบุคคลและเฉพาะเงื่อนไขหนึ่งๆ โดยที่เงื่อนไขที่ว่านั้นประกอบด้วย ความนับถือตนเอง ของตัวเด็ก, ระดับชั้นทางสังคมของครอบครัว และอำนาจความคาดหวังของบิดามารดา

ความนับถือตนเอง

คนที่มี ความนับถือตนเอง ต่ำจะมีความมั่นใจและอัตมโนทัศน์ต่ำไปด้วย ซึ่งทำให้ถูกอิทธิพลจากการชักชวนและมีโอกาสที่จะตอบสนองสิ่งชี้นำจากสิ่งแวดล้อม จากทฤษฎีที่เสนอว่าคนที่มี ความนับถือตนเองต่ำ โดยปกติแล้วจะเป็นคนที่อ่อนไหวต่ออิทธิพลทางสังคมทุกชนิด รวมไปถึง ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงด้วย ซึ่งจากการทดลองได้สนับสนุนความคิดนี้และพบว่าบุคคลที่ไม่แน่ใจใน อัตมโนทัศน์ของตน มีแนวโน้มที่จะตอบรับการรับรู้การคาดหวังที่ผิดๆ ซึ่งทำให้มีการทำนายว่า ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงของบิดามารดาจะมีผลมากเมื่อบุตรมี ความนับถือตนเอง ต่ำ

แต่เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ความจริงแล้ว ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงอาจมีผลต่อบุตรที่มีความนับถือตนเองสูงก็เป็นไปได้ กล่าวคือ การถูกปฏิเสธจากบิดามารดา หรือการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับบิดามารดาจะทำให้ความใกล้ชิดของบิดามารดากับบุตรนั้นลดลง ซึ่งเป็นการขัดขวางความผูกพันและเป็นการต้านความความสัมพันธ์ที่บิดามารดามีต่อบุตร นั่นคือบุตรที่มี ความนับถือตนเองต่ำอาจจะไม่สามารถเข้ากันได้กับความคาดหวังหรืออิทธิพลของบิดามารดา ในทางตรงกันข้ามอาจได้รับอิทธิพลมากกว่าจากผู้อื่น เช่น เพื่อน นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าเหตุใด ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงจึงอาจมีผลมากกว่ากับบุตรที่มีความนับถือตนเองสูง

ระดับทางสังคม

มีการศึกษาพบว่าความคาดหวังของครูมีผลต่อเด็กกลุ่มที่มาจากกลุ่มสังคมระดับล่าง ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าการที่เด็กมาจากสังคมระดับล่างทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากจากอิทธิพลทางสังคม หรือเป็นเพราะเหตุผลที่เพิ่งค้นพบว่าครูมีแนวโน้มที่จะมาจากกลุ่มสังคมระดับสูงกว่านักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งสำคัญที่จะตรวจสอบบทบาทของระดับสังคมของนักเรียนในบริบทอื่น เช่น ภายในครอบครัวที่ซึ่งมีการรับรู้ว่าอยู่ในระดับสังคมเดียวกัน

อำนาจของความคาดหวัง (Expectation valence)

มี 2 แนวคิดคือ แนวคิดที่ว่าคนเราจะรับรู้ด้านลบมากกว่า พวกนี้เชื่อว่าการให้ ผลป้อนกลับทางลบจะส่งผลมากกว่าผลป้อนกลับทางบวก เพราะเชื่อว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะรับข้อมูลทางลบมากกว่า เช่น เมื่อเราตัดสินใจเรามักจะคำนึงถึงว่าเราจะสูญเสียอะไรไปบ้าง มากกว่าคิดว่าเราจะได้อะไร ซึ่งเชื่อมโยงกับการศึกษานี้ว่า ความคาดหวังทางลบจะมีผลมากต่อกระบวนการ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงมากกว่า ความคาดหวังทางบวกนั่นคือ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงจะมีผลมากต่อเมื่อบิดามารดามีความคิดความคาดหวังทางลบ หรือ ประเมินบุตรของพวกเขาสูงเกินไปในการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา

อีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่า ผลป้อนกลับทางบวกมีผลมากกว่า เช่น เมื่อเวลาคนเราคุยกันก็มักจะรับฟังแต่ข้อมูลทางบวกเพื่อมาเพิ่มมุมมองต่อตนของตัวเขาเอง ซึ่งใช้อธิบายกับการศึกษานี้ว่า ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงของบิดามารดาจะมีผลต่อบุตรมากกว่า เมื่อเขาให้ ความคาดหวังทางบวกกับบุตรได้ถูกประเมินการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของลูกต่ำเกินไปนั่นเอง

แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในการทดลองที่ไม่มีการจัดกระทำ ซึ่งยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมถึงอำนาจระหว่างสิ่งที่เป็นบวกหรือลบต่อปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงต่อไป

ประชากร

ข้อมูลต่างๆสำรวจมาจากการวิจัยเรื่องความสามารถของครอบครัวและเยาวชนศึกษา (Spoth, Redmond, Trudeau, & Shin, 2002) วิเคราะห์ข้อมูลจากคู่มารดา-บุตร จำนวน 505 คู่ จากโรงเรียนในรัฐมิดเวสต์เทิร์นในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้วิจัยใช้การวางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อก (RBD: randomized block design)เพื่อแบ่งเงื่อนไขแทรกซ้อนของแต่ละโรงเรียน

การเก็บรวบรวมข้อมูล

เจ้าหน้าที่จะขออนุญาตทางครอบครัวต่างๆที่ให้สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ หลังจากนั้นจึงสัมภาษณ์และให้แยกกันทำแบบสอบถามคนละห้อง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าข้อมูลจะเก็บไว้เป็นความลับ (ไม่แจ้งข้อมูลให้คนในครอบครัวด้วย) ผู้วิจัยจะให้ค่าตอบแทนจำนวน 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมงในการทำแบบสอบถาม หลังจากนั้นผู้วิจัยจะได้ข้อมูลเริ่มต้นและศึกษาติดตามต่อไปอีกในระยะ 18 เดือนแล้วเทียบกับข้อมูลเริ่มต้นที่เคยได้รับมา

การวัดข้อมูล

ผู้วิจัยประเมินตัวแปรต่างๆโดยวิธีการให้เขียนคำตอบลงบนแบบสอบถาม ซึ่งในงานวิจัยนี้จะศึกษาในพื้นฐานของความคาดหวังของมารดาเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรนั้นมีอิทธิพลต่ออนาคตที่บุตรจะเสพ รายได้ครัวเรือน การศึกษาของคนในครอบครัว จำนวนบุตรในครอบครัว เพศของบุตร การรับรู้ของเพื่อนในการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา โอกาสในการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา การรับรู้ว่าได้รางวัลเมื่อดื่ม ความเป็นไปได้ในการประเมินตนเองว่าจะดื่มในปีถัดไป ค่านิยมของผู้ที่ดื่มที่มีพฤติกรรมช่วยเหลือสังคม ประวัติการดื่ม และความนับถือตนเอง

หลังจาก 18 เดือนที่ได้รับข้อมูลเริ่มต้นเกี่ยวกับความคาดหวังมาแล้ว ก็ติดตามผลและระหว่างนี้ก็เปลี่ยนแปลงการวัดการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรด้วย หลังจากนั้นก็อ้างถึงการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตร

ผลการวิเคราะห์ ข้อมูล

ผลการวิจัยนี้ ได้แบ่งกลุ่มบุตรภายในโรงเรียน และโรงเรียนแต่ละโรงเรียนจะถูกจับคู่กันเป็น 3 โรงเรียน วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดิมจะไม่เหมาะสมกับข้อมูลแบบโครงสร้างมีลำดับชั้น เพราะว่าสามารถยอมรับความเป็นอิสระของการสังเกตแต่ละบุคคลและมีแนวโน้มที่จะประเมินความผิดพลาดมาตรฐานต่ำเกินไป อีกทั้งยังมีการทดสอบหาอคติอย่างมีนัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดการปฏิเสธสมมติฐานหลักได้ ข้อมูลแบบโครงสร้างมีลำดับชั้นจะใช้วิธี SAS PROC MIXED ในการวิเคราะห์ ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผลการวิจัยออกมาใกล้เคียงกับผลที่วิเคราะห์ด้วยวิธีเส้นตรงมีลำดับชั้น วิธีการวิเคราะห์แบบผสมผสานรูปแบบต่างๆนั้นแก้ไขผลกระทบจากการแบ่งกลุ่มโดยปรับให้ความผิดพลาดมาตรฐานนั้นเชื่อมโยงกับการประเมินพารามิเตอร์ ในการวิเคราะห์นี้ผู้วิจัยเจาะจงใช้การประเมินความเป็นไปได้ที่มากที่สุดและระบุกลุ่มของโรงเรียนภายใต้การสุ่มที่สกัดกั้นค่าต่างๆ แต่ไม่ใช่ค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรแต่ละระดับแต่ละบุคคล เมื่อผู้วิจัยพิจารณาระดับของผลกระทบในแต่ละบุคคลแล้ว ผู้วิจัยจึงดำเนินการทำให้สอดคล้องกันโดยการวิเคราะห์การถดถอยแบบขั้นตอน (stepwise regression) อันดับแรกผู้วิจัยพิจารณาตัวทำนายที่มีความตรงของการเสพเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตของบุตร อันดับสอง ผู้วิจัยทดสอบเกี่ยวกับผลกระทบของปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง อันดับสาม ผู้วิจัยทดสอบเกี่ยวกับผลกระทบของการทำให้น้อยลง ผู้วิจัยหารายละเอียดของการวิเคราะห์แต่ละขั้นตอนให้มากขึ้น ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ผู้วิจัยใช้ค่า p=.05 เป็นเกณฑ์การมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งหมด


สรุปผลการวิจัย

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงจะส่งผลมากกว่าต่อบุตรที่มีความนับถือตนเองสูง และบุตรจะถูกอิทธิพลโดยปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงทางบวกมากกว่าแบบทางลบ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีผลสำคัญต่ออิทธิพลของกระบวนการปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงด้วย โดยทั่วไปแล้วเราจะคิดว่าบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำจะถูกกระทบโดย ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงมากกว่าเด็กที่มีความนับถือตนเองสูง แต่จากข้อมูลที่ได้พบว่าบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำก็ถูกกระทบจากปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงน้อยกว่าบุตรที่มีความนับถือตนเองสูงได้โดยบุคคลที่เป็นผู้ตั้งความหวังบางประเภท เช่น บิดามารดา และก็จะได้รับผลของ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงมากกว่าโดยบุคคลบางกลุ่มเช่นกัน เช่น เพื่อน และเด็กมีแนวโน้มที่จะตอบสนองมากกว่าต่อความคาดหวังของมารดาที่เป็นความคาดหวังสร้างความจริงทางบวก

อภิปรายผลการวิจัย

การวิจัยนี้มีเรื่องที่ให้ความสนใจอยู่ 3 ด้าน คือ

1. ความคาดหวังของมารดาต่อการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรผ่านกระบวนการปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง
2.การประเมินว่าความคาดหวังของแม่นั้นเกิดเป็นความจริงขึ้นมาหรือไม่
3.ศึกษาว่าผลของปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงที่มีต่อเด็กนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใดบ้าง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผลของ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงของมารดาที่มีความคาดหวังทางบวกต่อบุตรที่มีความนับถือตนเองสูงได้ผลมากกว่าเงื่อนไขอื่นๆ ไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดเกี่ยวกับระดับชั้นทางสังคม และไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของครอบครัวหรือระดับการศึกษาของบิดามารดาต่อความคาดหวังของมารดาและการเครื่องดื่มมึนเมาของบุตร

ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงกับการทำให้น้อยลง

อย่างแม่นยำจากความนับถือตนเองของบุตร

จากการศึกษาพบว่าความคาดหวังที่ทำนายการเครื่องดื่มมึนเมาในอนาคตมีผลต่อบุตรที่มีความนับถือตนเองสูงมากกว่าบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำ สามารถอธิบายได้ว่า เนื่องจากบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำนั้นมีแนวโน้มที่จะมี อัตมโนทัศน์ที่ไม่ชัดเจนซึ่งจะทำให้เกิดการคล้อยตามอิทธิพลของสังคมได้ง่ายขึ้น โดยผิวเผินความคิดนี้ทำให้เชื่อว่ามารดาจะมีอิทธิพลต่อบุตรที่มี ความนับถือตนเองต่ำมากกว่า แต่จากสมมติฐานนั้นกล่าวว่าบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำจะเพิ่มการคล้อยตามการคาดหวังจากทุกบุคคล อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแล้ว เด็กที่มีความนับถือตนเองต่ำอาจจะถูกอิทธิพลจากกลุ่มคนบางกลุ่มมากเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น เด็กวัยแรกรุ่นที่มี ความนับถือตนเองต่ำจะถูกอิทธิพลความคาดหวังของเพื่อนมากกว่าและถูกอิทธิพลความคาดหวังของมารดาน้อยกว่า เนื่องจาบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ทางบวกน้อยต่อบิดามารดา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขากลัวที่จะถูกปฏิเสธโดยกลุ่มเพื่อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำลดความคล้อยตามอิทธิพลของบิดามารดา และจากการทดลองยังพบอีกว่า ความนับถือตนเองของบุตรมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อความสามารถในการต่อต้านการกดดันของเพื่อนในการเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำจะให้ความสำคัญที่จะตอบสนองต่อกลุ่มเพื่อนมากกว่าบิดามารดา ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญต่อการคล้อยตามอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงคือ บุคคลที่มีความคาดหวังต่อบุตร นั่นคือบุตรที่มีความนับถือตนเองต่ำจะคล้อยตามความคาดหวังของกลุ่มเพื่อน ขณะที่บุตรที่มี ความนับถือตนเองสูงจะคล้อยตามความคาดหวังของบิดามารดามากกว่า และการที่บิดามารดามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อบุตรยังเป็นการสร้างการผูกมัดทางอารมณ์ซึ่งจะสามารถทำให้เด็กมีความไวต่ออิทธิพลความคาดหวังของบิดามารดาด้วย

ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงทางบวกและทางลบ

ความคาดหวังของมารดาสามารถทำนายการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรในอนาคตได้ดีกว่าในกลุ่มที่คาดหวังทางบวก นั่นคือเมื่อมารดาประเมินการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของบุตรต่ำเกินไป จากการศึกษานี้ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงทางบวกมีแนวโน้มที่จะมีผลมากกว่าปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงทางลบซึ่ งเป็นผลมาจากการที่บุตรมีการพิสูจน์ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตรที่มีปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงทางบวกจากบิดามารดาจะได้รับผลนี้มากกว่าเพราะว่าจะไปตรงกับ มุมมองต่อตนเองของบุตร

ระดับทางสังคม

เป็นที่พบว่าความคาดหวังของครูที่มีต่อเด็กที่มาจากสังคมระดับล่างมีโอกาสที่จะทำให้เกิด ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงได้ง่ายกว่ากลุ่มเด็กที่มีสังคมระดับสูงกว่า แต่จากการศึกษานี้ไม่สามารถยืนยันผลนี้ภายในครอบครัว เหตุผลหนึ่งก็เนื่องมาจากมีความแตกต่างระหว่างภายในห้องเรียนและภายในครอบครัวอันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครูซึ่งมักจะมาจากกลุ่มสังคมระดับกลางซึ่งจะมีระดับสังคมสูงว่าเด็กที่มาจากกลุ่มสังคมระดับต่ำ ขณะที่บิดามารดาและบุตรของพวกนั้นอยู่ในระดับสังคมเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าบุคคลจะถูกกระทบโดยอิทธิพลของ ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงจากกลุ่มคนที่มีระดับสังคมสูงกว่า การที่มารดาและบุตรอยู่ในระดับสังคมเดียวกันทำให้ผลนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น และอาจเป็นไปได้ว่าเด็กที่มาจากกลุ่มสังคมระดับล่างจะถูกกระทบโดย ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลความคาดหวังของครูมากกว่า ครูมีความคาดหวังที่ผิดต่อเด็กเนื่องจากผลของภาพในความคิดต่อบุคคลภายนอกกลุ่ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับชั้นทางสังคม ในขณะที่พ่อแม่จะไม่ใช้ภาพในความคิดที่ผิดเกี่ยวกับระดับชั้นทางสังคมในการสร้างความคาดหวังต่อบุตรตนเอง

สื่อกลางของปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

การที่จะเกิดปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงขึ้นมาได้นั้น ผู้ที่สร้างความคาดหวังต้องมีการกระทำต่อบุคคลที่ถูกคาดหวัง การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้ที่สร้างความคาดหวังมีความคาดหวังไปในทางบวกเขาจะมีการปฏิบัติต่อคนเป้าหมายนั้นอย่างเอาใจใส่ มีการให้คำแนะนำเพิ่มเติม มีการสั่งสอนอบรมพฤติกรรม และมีโอกาสที่จะเพิ่มความรู้ให้กับบุคคลนั้น ตัวอย่างเช่น บิดามารดาคาดหวังทางบวกต่อบุตรมีแนวโน้มที่จะให้ความอบอุ่นและมีอารมณ์ทางบวกกับบุตรของเขา ผลที่ตามมาคือมีการสร้างความสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดีของบิดามารดาและบุตร ซึ่งบุตรก็มีโอกาสที่จะทำตามความคาดหวังของบิดามารดามากขึ้น บิดามารดาก็รู้สึกว่าบุตรเชื่อฟังและเห็นด้วยกับตน และบิดามารดาที่มีความคาดหวังทางบวก นั้นจะรู้สึกว่าเป็นการง่ายที่จะมีการพูดคุยกับบุตรเกี่ยวกับผลเสียของการใช้สารต่างๆหรือแอลกอฮอล์รวมไปถึงการให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยง และบิดามารดาก็จะมีการส่งเสริมให้บุตรประกอบกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ เช่น เล่นกีฬา และนี่เองที่ทำให้บุตรมีเวลาน้อยลงที่จะไปทำอย่างอื่นและลดโอกาสที่จะเข้าใกล้การใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มมึนเมา

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิทยา
หมายเลขบันทึก: 54613เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2006 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท