มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

เตรียมรับมือกับวินโดวส์ วิสต้า


ความเอาจริงเอาจังของยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ เจ้าแห่งระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของโลกที่จะสกัดกั้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ชักจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากริเริ่ม Windows Genuine Advantage หรือ WGA มาได้สักสองสามปี

ล่าสุดไมโครซอฟท์ประกาศนโยบาย Software Protection Platform (SPP) สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ วิสต้า ซึ่งจะเริ่มออกสู่ท้องตลาดราวๆ เดือนมกราคมปีหน้า เป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีกระดับ

เดิมทีนั้น WGA สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์จะถูกตรวจสอบทันทีเมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ กรณีไม่ใช่ของแท้ก็จะมีไอคอนและข้อความเตือนขึ้นมาตลอดตราบเท่าที่เครื่องยังเปิดใช้งานอยู่ และปฏิเสธให้บริการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์อัพเดตแก่ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย หรือไม่ผ่านการตรวจสอบลิขสิทธิ์

ส่วน SPP มาตรการใหม่ล่าสุดนั้น เมื่อผู้ใช้เปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมา หากระบบตรวจสอบพบว่าเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ตัวระบบปฏิบัติการจะถูกลดทอนความสามารถในการใช้งานลงมา หากไม่ลงทะเบียนแสดงตนเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของแท้ด้วยการกรอกรหัสลงทะเบียนซอฟต์แวร์

ในห้วง 30 วันดังกล่าว วินโดวส์ วิสต้า จะเตือนผู้ใช้ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง และในที่สุดหากไม่มีการลงทะเบียน เมื่อเปิดเครื่อง บราวเซอร์ก็จะเปิดขึ้นมาแทน นำเสนอทางเลือกสำหรับซื้อและลงทะเบียนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์

โดยที่จะไม่มีสตาร์ตเมนู, เดสก์ทอป ไอคอน แม้กระทั่งภาพพื้นของเดสก์ทอปก็จะถูกเปลี่ยนเป็นสีดำ

แม้ว่าบราวเซอร์ยังสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ แต่ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากเปิดเครื่องขึ้นมา ผู้ใช้งานจะถูกตัดออกจากระบบทันทีโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า

เท่ากับว่าหลังจากพ้นระยะ 30 วันไปแล้วคอมพิวเตอร์จะทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากเชื่อมอินเทอร์เน็ตคราวละ 1 ชั่วโมง

ส่วนก่อนระยะ 30 วัน ซึ่งยังไม่เข้าสู่โหมดตัดการทำงานแบบสมบูรณ์ สมรรถนะในการทำงานก็ยังคงถูกลดลงมาด้วยเช่นกัน เช่น ความสามารถทางด้านกราฟิก เป็นต้น

ดูแล้วปฏิบัติการสกัดซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายของไมโครซอฟท์นี้ค่อนข้างหนักหนาสาหัสสากรรจ์อย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้งานทั่วๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ใช้อย่างผิดกฎหมายกันมากๆ ในบ้านเรา จะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ากันค่อนข้างมาก รวมไปถึงผู้ขายคอมพิวเตอร์ที่ลงวินโดวส์ วิสต้า ให้กับลูกค้าก็จะร่วมรับความยุ่งเหยิงในการบริการหลังการขายที่ตามมาด้วย

การซื้อปริมาณมากๆ แบบองค์กรหรือหน่วยงานก็จะพบกับระบบการตรวจสอบแบบใหม่ที่ละเม ิดได้ยากขึ้น คีย์ รีจิสเตอร์จากแผ่นโออีเอ็มที่หลุดๆ ออกมาน่าจะถูกจำกัดในทางใดทางหนึ่ง ให้ไม่สามารถใช้ได้อย่างเสรีเหมือนเดิม

เว้นแต่จะมีคน "แฮก" จนสามารถข้ามระบบการตรวจสอบไปได้

ความเป็นไปได้อีกด้านหนึ่ง ระบบปฏิบัติการทางเลือกอื่นๆ อาจจะได้รับความนิยมมากขึ้น เตรียมรับมือกันให้ดีเถอะครับ

จาก คอลัมน์ ไอทีทะลุโลก
โดย ศิริพงษ์

คำสำคัญ (Tags): #computer#ข่าวสาร
หมายเลขบันทึก: 54554เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2006 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เฮ้อ  ก็อยากจะซื้อลิขสิทธิ์ แต่จ้น จน ....
  • ทำไงดีน้อ  รัฐบาลไม่คิดจะซื้อแจกวงการศึกษาบ้านเรารึเปล่าหนอ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท