Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

“มองผ่านบางกอกคลินิกไปเข้าใจ "งานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย" ...ผลการวิจัย ๑๐ ปี ที่ "ไม่เป็นกระดาษนิยม"


งานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย : มองผ่านประสบการณ์บางกอกคลินิก

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

------------------------------------

๑. เป้าหมายของงานเขียน

งานเขียนฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการเสวนาเรื่อง“สังคมวิทยาข้ามพรมแดน ข้ามสาขาวิชา” ซึ่งทำในเวทีเสวนาย่อยอันเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมที่มีชื่อว่า“การประชุมสังคมวิทยาระดับชาติครั้งที่ ๔ “แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละโลก: วาระการวิจัยเพื่ออนาคต” ซึ่งจะจัดในวันที่๑๘ – ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร

เนื่องจากงานประชุมนี้มีแนวคิดหลัก (Key concepts) อยู่ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑)ความแปลกแยกและความนานาวัฒนธรรมและนานาชาติพันธุ์ (๒)ความรุนแรงทางสังคมและวัฒนธรรม และ (๓) ความเป็นธรรมทางสังคม และผู้เขียนประกอบวิชาชีพด้านนิติศาสตร์จึงเลือกที่จะมองสังคมวิทยาผ่านงานด้านนิติศาสตร์งานหนึ่ง อันได้แก่งานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ผู้เขียนทำมาตลอดชีวิตออกไปยังสังคมวิทยาและวิชาการสาขาอื่นๆ

๒. บางกอกคลินิกคืออะไร ?

คำว่า“บางกอกคลินิก” เกิดขึ้นภายใต้การทำงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยชื่อ“การปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย” [1]ซึ่งสนับสนุนโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗

๓. บางกอกคลินิกใช้ต้นทุนทางความรู้ใดเพื่อทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย?

การทำงานเพื่อช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย(Rightto recognition of legal personality) ซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ.๒๕๓๒ นำไปสู่การสะสมประสบการณ์เพื่อการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติดังนั้น ใน พ.ศ.๒๕๔๗ เราจึงตระหนักว่า ความรู้จากประสบการณ์นี้ได้สร้าง “บทเรียนที่ชัดเจน”ในการแก้ไขปัญหาหลายลักษณะให้แก่คนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย หรือที่ฝรั่งเรียกว่า“Stateless Person”[2]แต่ไม่ว่าจะยอมรับว่า มนุษย์ที่มีปัญหาสถานะบุคคลจะตกอยู่ในความไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่[3]ก็ตาม ใน พ.ศ.๒๕๕๑[4]บทเรียนที่ได้รับเหล่านี้ก็ได้ถูกใช้เป็นข้อมูลในการบัญญัติกฎหมายของรัฐสภาเพื่อแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้แก่มนุษย์ในหลายลักษณะในประเทศไทยเว้นแต่กรณีปัญหาการคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตแก่คนเชื้อสายไทยที่เป็นผู้สืบสันดานของบุพการีที่เสียสัญชาติไทยเพราะการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐซึ่งเพิ่งได้รับการยอมรับในกฎหมายของรัฐสภาใน พ.ศ.๒๕๕๕[5]

บางกอกคลินิกจึงเป็นเสมือนห้องทดลองทางสังคม(SocialLab) หนึ่งในโรงเรียนกฎหมายที่มีชื่อว่า“คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งมีนักวิจัยด้านนิติศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ทุ่มเทแรงใจแรงกายเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ในการจัดการความยุติธรรมให้แก่มนุษย์ที่บากบั่นมาร้องทุกข์ซึ่งผู้ร้องในคลินิกกฎหมายนี้มีทั้งที่เป็นคนยากจนและคนร่ำรวยแต่ผู้ร้องจำนวนข้างมากเป็นคนยากจน และเป็นคนชาติพันธุ์ที่รัฐไทยเรียกว่าเป็น“ชนกลุ่มน้อย” ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนและอาจเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยหรือเป็นคนที่เกิดนอกประเทศไทย แล้วต่อมาอพยพเข้ามาในประเทศไทย

๔. แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดบางกอกคลินิก: ยุทธนา ผ่ามวัน คนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายไทย แต่ถูกรัฐไทยบันทึกเป็นคนสัญชาติเวียดนามในทะเบียนราษฎรไทย

แนวคิดเกี่ยวกับคลินิกกฎหมายอยู่ในความนึกคิดของนักกฎหมายเชิงปฏิบัติเสมอเราตระหนักในความเป็น “หมอความ” ของเราความพยายามที่จะตั้งคลินิกกฎหมายสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติน่าจะเริ่มก่อนที่ “คลินิกกฎหมายชุมชน”ที่สามารถตอบปัญหาเฉพาะของแต่ละชุมชนที่มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่เราก็ยังไม่กล้าที่จะใช้คำว่า“คลินิก” สำหรับการทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแบบชัดแจ้ง เลี่ยงไปใช้คำว่า“โครงการ” แทน อาทิ โครงการท่าสองยางในราว พ.ศ.๒๕๓๗ สำหรับชาวเขาในอำเภอท่าสองยางจังหวัดตาก ที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือโครงการห้วยน้ำอุ่นในราว พ.ศ.๒๕๓๙สำหรับชาวเขาไร้รัฐไร้สัญชาติในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หรือโครงการสวนผึ้งในราวพ.ศ.๒๕๔๐ สำหรับชาวเขาไร้รัฐไร้สัญชาติในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

เราเริ่มใช้คำว่า “คลินิกกฎหมาย”กับงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หลังจากการเข้ามาหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับนายยุทธนาผ่ามวัน ซึ่งนายชุติ งามอุรุเลิศ ทนายความประจำศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายธรรมสติคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ร้องทุกข์เข้ามาเพื่อยุทธนาในเดือนพฤษภาคมพ.ศ.๒๕๔๗ โดยหารือว่า การที่ยุทธนาถูกปฏิเสธสิทธิในการเข้าสู่สถาบันศึกษาแพทย์ศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยด้วยเหตุที่มีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐไทยว่าเป็นคนสัญชาติเวียดนาม น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนใช่หรือไม่ ?

ประเด็นปัญหาที่เราต้องพิจารณาก็คือข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิทางการศึกษาก็คือความเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้นหรือ ?ซึ่งเราพบว่าสิทธิทางการศึกษาแพทย์ศาสตร์เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนที่ผ่านการเลือกคัดเลือกย่อมมีสิทธิ การมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ย่อมมิใช่ข้อเท็จจริงที่อาจนำมาตัดสิทธิแต่การศึกษาแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐจะนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่แพทย์ในสถานะของข้าราชการของรัฐไทยซึ่งจะต้องมีสัญชาติไทย ดังนั้นสัญชาติไทยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ปฏิบัติหน้าที่เมื่อจบทำไม่ได้และอาจจะต้องมีการใช้หนี้เงินทดแทนการที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาที่มีกับสถาบันเราจึงต้องมาพิจารณาก่อนในประเด็นที่ว่ายุทธนามีสิทธิในสัญชาติไทยในขณะที่สอบหรือไม่ ?

การถือบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยอาจนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเขาไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยได้ เพราะผู้ทรงสิทธิในบัตรนี้จะต้องเป็นคนต่างด้าวมิใช่คนสัญชาติไทย แต่ด้วยประสบการณ์ในงานวิจัยของเราเราพบหลายครั้งที่ผู้ถือบัตรมีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยแต่ถูกรัฐไทยเองบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย และอาจไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐต่างประเทศที่กล่าวอ้างหรือประเทศที่ถูกกล่าวอ้างโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้[6]

แล้วยุทธนาเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนสัญชาติเวียดนามกันแน่?

เราพบข้อเท็จจริงตามปรากฏตามสูติบัตร (ทร.๓ ตอน ๑)ที่ออกโดยอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีและหนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยเจ้าหน้าที่กรมการปกครองว่านายยุทธนา ผ่ามวัน เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ณ โรงพยาบาลอุดรธานีตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จากบิดาที่เกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ [7]และมารดาที่เกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒[8] ข้อเท็จจริงทั้ง ๓ประการดังกล่าวจึงนำเราไปสู่ข้อสรุปทางกฎหมายว่า นายยุทธนา ผ่ามวันได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน ตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘ เพราะ (๑) เกิดในประเทศไทย (๒) ไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๘ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เพราะไม่มีบิดาหรือมารดาต่างด้าวที่มีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศและ (๓) ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ เนื่องจากปรากฏมีมารดาเป็นผู้เกิดในประเทศไทย มิใช่ผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ทั้งนี้ ไม่ปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕นายยุทธนา ผ่ามวัน ไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา  ๗ทวิ วรรค ๑ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เพราะ (๑) เกิดในประเทศไทย และ (๒)บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ดังนั้น นายยุทธนาผ่ามวันจึงไม่เสียสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น นายยุทธนาผ่ามวันจึงมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน กล่าวคือ ตั้งแต่เกิดและโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายไม่จำต้องมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ได้สัญชาติไทย ด้วยความชัดเจนทั้งทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เราจึงขอให้กรมการปกครองให้อำเภอสว่างแดนดินเพิ่มชื่อของนายยุทธนาในทร.๑๔ และออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่เขา

แต่เขามีสิทธิในสัญชาติเวียดนามหรือไม่?

เราตอบได้ว่า เขาอาจจะมีสิทธิในสัญชาติเวียดนามหากบิดาและมารดาซึ่งเกิดในประเทศไทยกลับไปพิสูจน์สัญชาติเวียดนามตามปู่ย่าตายายสำเร็จเป็นที่ชัดเจนว่า ยุทธนาจึงไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเวียดนามในสถานะคนสัญชาติเวียดนามในขณะที่มีการโต้แย้งสิทธินอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่ปู่ย่าตายายที่อพยพผ่านลาวเข้ามาในประเทศไทยในช่วงก่อนพ.ศ.๒๕๐๐ ก็ยังไม่ได้รับการรับรองตัวตนในทะเบียนราษฎรของรัฐเวียดนามเพราะรัฐดังกล่าวยังอยู่ในช่วงตอนของการก่อตั้งสถาบันรัฐสมัยใหม่ดังเช่นรัฐไทยในยุคเดียวกันจึงยังไม่มีการสำรวจและบันทึกประชากรของตนในทะเบียนราษฎรอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ตัวตนของบุพการีรุ่นแรกจึงยังไม่เป็นที่รับรู้ของรัฐเวียดนามอันทำให้บุพการีรุ่นที่สองและตัวของยุทธนาเองไม่ปรากฏในทะเบียนราษฎรของรัฐเวียดนามแม้พวกเขาจะตระหนักในความเป็นคนชาติพันธุ์เวียดนามก็ตาม ยุทธนาย่อมตกเป็นคนไร้สัญชาติในช่วงก่อนที่จะมีการแก้ไขรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องว่าเป็นคนสัญชาติไทย การไปเขียนเองโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยว่ายุทธนาเป็นคนสัญชาติเวียดนามก็ไม่ทำให้ยุทธนามีสถานะเป็นคนสัญชาติเวียดนามเพราะประเทศไทยไม่อาจเป็นผู้ให้สัญชาติเวียดนามแก่ยุทธนา

แต่อย่างไรก็ตามความเป็นคนเชื้อสายเวียดนามไม่เป็นเหตุที่ทำให้ไร้สิทธิในสัญชาติไทย กฎหมายไทย[9]รับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนแก่คนในสถานการณ์เดียวกันกับยุทธนาเพราะเขาเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบิดาและมารดาต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

จะเห็นว่า คนอย่างยุทธนาเป็นตัวอย่างของหลายคนที่เกิดในช่วงวันที่ ๑๔ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ซึ่งถูกเข้าใจผิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและกฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทยและความเข้าใจผิดนี้น่าจะยุติในราว พ.ศ.๒๕๒๓ – ๒๕๓๓ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาจำนวนมากมายที่ออกมารับรองสิทธิในสัญชาติไทยของคนในสถานการณ์ดังนายยุทธนาผ่ามวัน แต่อย่างไรก็ตามการเยียวยาแก้ไขคนในสถานการณ์นี้ก็ยังปรากฏเป็นงานของนักกฎหมายไทยอยู่อีกจนถึงปัจจุบัน  สำหรับการให้ความช่วยเหลือยุทธนาทำโดยการร้องทุกข์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[10]และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาตลอดจนประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนในที่สุดยุทธนาจึงได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยที่เขามีมาโดยการเกิด อันหมายถึงสิทธิที่จะเข้าศึกษาในคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไทยการต่อสู้เพื่อสิทธิของยุทธนาไปไม่ถึงกระบวนการศาลปกครอง การต่อสู้คดีนอกศาลครั้งนี้ใช้เวลาไม่ถึง๗ วันแต่สร้างบรรทัดฐานจนกรมการปกครองมีหนังสั่งการเพื่อตรวจสอบและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาสำหรับคนในสถานการณ์ดังยุทธนา

๕. หลักคิดในการทำงานของบางกอกคลินิก: มองผ่านการทำงานช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของนายยุทธนาผ่ามวัน

หากเรามองผ่านเรื่องของนายยุทธนา ผ่ามวัน เราพบบทเรียนหลายประการอันนำไปสู่การปรับความเชื่อทางวิชาการของเราในครั้งที่สำคัญ

ในประการแรก เราพบว่าความสำเร็จในการคุ้มครองสิทธิให้แก่ผู้ร้องทุกข์ในคลินิกกฎหมายนั้นมิได้มีปัจจัยมาจากความชัดเจนแม่นยำในข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมาจากความชัดเจนในปัญหาที่เกิดจากการใช้ข้อกฎหมายต่อข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับมนุษย์ที่เป็นเจ้าของปัญหาอีกด้วย มิใช่ว่าเราจะไม่เห็นความสำคัญของสัมพันธภาพของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนการมาถึงของกรณียุทธนาเราตระหนักถึงประเด็นนี้ตั้งแต่การศึกษาวิชากฎหมายวิชาแรกโดยเฉพาะวิชากฎหมายพยานหลักฐาน แต่เรื่องของยุทธนาชี้ให้เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในหลักกฎหมายบนโต๊ะในคลินิกกฎหมายย่อมไม่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในความเป็นจริงแต่หากเราชวนเจ้าของปัญหาเดินลงจากคลินิกกฎหมายไป “ทดลองใช้สิทธิจริง บนพื้นที่จริง”เราก็จะพบว่าข้อกฎหมายที่เราแม่นยำอย่างมากมายไม่มีความศักดิ์สิทธิที่จะสร้างความยุติธรรมให้แก่มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเราตระหนักว่า กฎหมายไม่มีชีวิต แต่คนที่บังคับใช้กฎหมายต่างหากที่มีชีวิตความแม่นยำในกฎหมายจะทำให้เราทราบ “ข้อเท็จจริงใด ?”ที่ทำให้มนุษย์ผู้เป็นเจ้าทุกข์มีสิทธิหรือไม่ ? และเป็นผู้ทรงสิทธิหรือไม่ ?เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างความเป็นคนชาติพันธุ์เวียดนามหรือความเป็นคนอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายของปู่ย่าตายายของยุทธนามาตัดสิทธิในสัญชาติไทยของยุทธนาเราจึงสามารถที่จะโต้แย้งข้อกล่าวอ้างนั้นได้โดยไม่ยากลำบากนั้นว่าข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างนั้นมิใช่ข้อเท็จจริงอันนำไปสู่สิทธิในสัญชาติไทยของยุทธนาหากแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า เขาและบิดามารดาเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์พ.ศ.๒๕๓๕ ต่างหากที่ก่อตั้งสิทธินั้นแก่ยุทธนา และการพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของบุคคลทั้งสามก็ทำโดยหนังสือรับรองของเจ้าหน้าที่กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยเอง จึงหมดข้อสงสัยว่ายุทธนามีข้อเท็จจริงอันนำไปสู่สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย

ในประการที่สองที่เราเรียนรู้ ก็คือการสืบค้นและรวบรวมพยานหลักฐานที่ดีที่สุดย่อมต้องทำโดยมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของปัญหาเรามีประสบการณ์มาก่อนกรณียุทธนาที่เจ้าของปัญหาเป็นชาวเขาที่อาศัยอยู่ในป่าและคนในบางหมู่บ้านไม่อาจสื่อสารภาษาไทย และไม่มีการศึกษาในระบบจึงไม่มีทั้งความสามารถที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน และที่สำคัญไม่มีความเข้าใจที่จะสืบค้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองหลายครั้งที่เจ้าของปัญหาปกปิดหรือให้ข้อเท็จจริงเท็จกับเราหลายครั้งที่พวกเขาจำนนต่อการค้นหาพบานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดในประเทศไทยของเขาแต่ในกรณียุทธนา แม้ในชั่วโมงแรกของการพูดคุย เขาจะไม่มีความเข้าใจในสถานการณ์การถูกปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาที่เกิดแก่เขาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่เมื่อเราอธิบายข้อกฎหมายให้เขาเข้าใจเขาก็เกิดความเข้าใจและความกระตือรือล้นที่จะสืบค้นและรวบรวมพยานหลักฐานให้กับเราเพื่อทำความเห็นทางกฎหมายเราตระหนักในที่สุดว่า การทำงานของเราเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติควรต้องเริ่มต้นที่ปัญญาชนกล่าวคือบุตรหลานของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่กำลังศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของประเทศไทยและให้พวกเขานั้นเองขยายผลการขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติไปยังบุพการีและญาติพี่น้องพวกเขาทำหน้าที่ “ทนายความตีนเปล่า” ในคลินิกกฎหมายของเราได้อย่างดีเป็นแน่

ในประการที่สาม เราพบว่าการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนในการต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาและสิทธิในสถานะคนสัญชาติไทยของยุทธนาทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วหากสื่อนั้นมีความเข้าใจในปัญหานั้นตามความเป็นจริงและประสงค์จะเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหา  มิใช่ว่าเราจะไม่มีการทำงานกับสื่อก่อนการมาถึงของกรณียุทธนาผ่ามวัน แต่ในยุคก่อนนั้นเรานักกฎหมายมักจะมีอุปสรรคที่จะสื่อสารอย่างเข้าใจกับสื่อการให้ข่าวอย่างหนึ่งถูกแปรเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง และสื่อเองก็ประสงต์จะเสนอข่าวที่เป็นปัญหาร้อนแรงและไม่สนใจมากนักในการเสนอแนวคิดและวิธีการแก้ปัญหา เราแปลกใจสื่อกระแสให้ความสนใจต่อกรณีความไร้สัญชาติของยุทธนาจนเกือบจะเสียสิทธิทางการศึกษานี้ทำให้เกิด“กระบวนการยุติธรรมตามธรรมชาติ” แก่ยุทธนา การสืบพยานหลักฐานว่ายุทธนาเป็นคนมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายทำบนจอโทรทัศน์หลายช่อง[11]ดังนั้นความเข้าใจของสังคมจึงเกิดขึ้นในเวลาที่รวดเร็วและกดดันให้เกิดการบังคับคดีที่สังคมพิพากษาแทนศาลปกครอง[12]เมื่อเราถอดบทเรียน เราก็พบว่า มีสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนปรากฏอยู่จริงในประเทศไทยท่ามกลางสื่อที่ทำหน้าที่เพียงขายข่าวเพื่อการบันเทิงหรือความสะใจของผู้บริโภคข่าวดังนั้น เราจะต้องเริ่มต้นทำงานกับสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนเราต้องคิดหาวิธีการร่วมงานกับสื่อที่มีธรรมชาติดังกล่าว

ในประการที่สี่ เราเรียนรู้ว่าการทำวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมควรจะมีวิธีวิจัยที่ไม่แปลกแยกจากสังคม สำหรับเรา ซึ่งเป็นครูสอนกฎหมายและนักวิจัย โดยมองผ่านเรื่องของนายยุทธนาผ่ามวัน เราตระหนักในประโยชน์ที่จะนำผลการวิจัยออกใช้จริงในสังคมด้วยตัวนักวิจัยเองเราเรียนรู้ที่จะไม่รอให้เกิด “กระดาษที่ตีพิมพ์รายงานการวิจัย”เสียก่อนจึงเผยแพร่ความรู้ เราเรียนรู้ที่จะไม่รอให้มีใครสักคนเดินเข้ามาในห้องสมุดและหยิบรายงานการวิจัยของเรามาอ่านและใช้ประโยชน์เราเรียนรู้ว่า เราควรจะเปิดตัวต่อสาธารณะชนให้มนุษย์ที่ประสบปัญหาสามารถหาเราเจอเพื่อร้องทุกข์เราจะต้องเปิด “คลินิกกฎหมาย” ในชุมชนที่เราแน่ใจว่า น่าจะมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติปรากฏตัวอยู่

ดังนั้น ยุทธนา ผ่ามวัน จึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับเราในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางในการกำหนด“กระบวนวิธีวิจัยเพื่อสังคม”[13]ของเรา เรื่องของการทำงานเพื่อช่วยยุทธนาจึงทำให้เราคิดถึงคลินิกกฎหมายในชุมชนชายแดนจึงเกิด “คลินิกแม่อาย[14]”และเรื่องนี้ยังทำให้เราคิดถึงคลินิกกฎหมายในเมือง โดยเฉพาะ กทม. จึงเกิด“บางกอกคลินิก”

๖. การจำแนกลักษณะงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายภายใต้บางกอกคลินิก

โดยทั่วไปงานของบางกอกคลินิกก็เหมือนงานของคลินิกกฎหมายโดยทั่วไป ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น ๓ลักษณะ กล่าวคือ (๑) งานกำหนดแนวคิดและออกแบบวิธีการทำงานเพื่อจัดการปัญหาให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ(๒) งานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อที่จะธรรมชาติของปัญหาที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติประสบ(๓) งานให้คำปรึกษากฎหมายหรือความรู้ทางกฎหมายเพื่อสร้างความรอบรู้ก่อนเกิดปัญหาให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาตลอดจนครอบครัวหรือชุมชนที่แวดล้อมคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (๔)งานโต้แย้งสิทธิให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติเมื่อบุคคลดังกล่าวถูกละเมิดสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย และ (๕) งานปฏิรูปกฎหมายและนโยบายเพื่อประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

ใน๕ ลักษณะงานข้างต้น งานที่เราทำมากที่สุด ก็คือ งานให้คำปรึกษากฎหมายหรือความรู้ทางกฎหมายของเราซึ่งตัวอย่างของงานที่สำคัญในยุคแรกๆ  ก็คือ (๑) ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอาภรณ์รัตน์แซ่หวู[15] เมื่อวันที่  ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗ซึ่งเป็นการให้ต่อเวทีสาธารณะ ณ วุฒิสภา ด้วยความตั้งใจของเราเองเพื่อให้สังคมได้ตระหนักในคนไร้สัญชาติที่มีสถานะเป็นราษฎรไทยและน่าจะเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างมาก[16]หรือ (๒) การให้ความเห็นทางกฎหมายเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวสายสมร แสงแก้ว[17]ซึ่งผู้ร้องขอความเห็นก็คือ ฯพณฯ นายจาตุรน ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคมในยุคนั้นจะเห็นว่า ความเห็นทางกฎหมายที่ออกในยุคแรกจะไม่ปรากฏ “brand name” ว่า “บางกอกคลินิก” ทั้งที่คำดังกล่าวปรากฏในใจของคณะทำงานและงานความเห็นทางวิชาการของเรานั้น ก็อาจจะเป็นการให้ทั้งเมื่อมีการร้องขอหรือแม้ไม่มีการร้องขอ เราพยายามคิดว่า เมื่อปัญหาเกิดและเรารู้สาเหตุแห่งปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหา เราก็จะแทรกแซงไปให้ความเห็นทางกฎหมาย เราไม่อยากทำงานบนroutine ที่มักเป็นในประเทศไทย

สำหรับงานโต้แย้งสิทธิให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติเมื่อบุคคลดังกล่าวถูกละเมิดสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายนั้นเป็นงานที่เข้ามาเสมอแต่ด้วยบางกอกคลินิกไม่มีศักยภาพที่จะทำงานคดีได้ด้วยคนทำงานมีน้อยมากและเป็นคนทำงานทางวิชาการ จึงไม่มีศักยภาพมากนักที่จะทำงานคดี  เมื่อผู้ร้องทุกข์จำเป็นต้องโต้แย้งสิทธิบางกอกคลินิกก็จะแนะนำหรือช่วยเหลือให้ผู้ร้องทุกข์เสนอประเด็นการละเมิดสิทธิไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังเช่นสภาทนายความหรือผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในหลายปีที่ผ่านมาบางกอกคลินิกได้ส่งคำร้องทุกข์ต่อไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจำนวนไม่น้อยทีเดียวแต่อย่างไรก็ตามก็มีกรณีเร่งด่วนหรือร้ายแรงที่บางกอกคลินิกจะต้องดำเนินการโต้แย้งให้ก่อนการส่งคดีไปสภาทนายความตัวอย่างของงานในลักษณะนี้ ก็คือ การทำหนังสือเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อราวเดือนเพื่อโต้แย้งการปฏิเสธที่จะอนุญาตให้แก่เด็กชายหม่องทองดี เด็กไร้สัญชาติซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทยใช้สิทธิในการเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับและกลับเข้าสู่ประเทศไทยภายหลังการแข่งขัน[18]

ส่วนงานที่อาจทำไม่บ่อยนักก็คือ งานปฏิรูปกฎหมายและนโยบายเพื่อประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติแต่เมื่อมีโอกาสที่จะผลักดันงานดังกล่าว ผลของงานมักจะสร้างผลกระทบอย่างมากตัวอย่างของงานปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่สำคัญที่บางกอกคลินิกได้มีส่วนร่วม ก็คือ(๑)งานให้ข้อมูลทางวิชาการแก่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในการทำยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสิทธิและสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘[19]และ (๒) งานให้ข้อมูลและร่วมยกร่างบทบัญญัติแห่งกฎหมายใน พ.ร.บ.สัญชาติ และพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรเพื่อปฏิรูปกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ[20]

๗. แนวคิดและวิธีการทำงานของบางกอกคลินิก

บางกอกคลินิกมีแนวคิดที่จะสร้างความรอบรู้กฎหมายให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเราเชื่อว่า เจ้าของปัญหาเป็น “ทนายความตีนเปล่า” ที่ดีที่สุดเพราะพวกเขาจะไม่เหนื่อยในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา ไม่ท้อถอยที่จะแก้ปัญหาไม่สนใจว่า การทำงานที่จะแก้ปัญหานั้นมีทุนสนับสนุนหรือไม่ทุนในการทำงานของพวกเขาก็คือความหวังที่จะหลุดพ้นจากปัญหา แต่อย่างไรก็ตามบางกอกคลินิกไม่ได้ปฏิเสธที่จะทำงานร่วมกับภาคการเมือง ภาคราชการหรือภาคองค์กรพัฒนาเอกชนหากว่าบุคคลในภาคส่วนเหล่านี้เห็นความสำคัญในการยอมรับการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหา

วิธีการทำงานของบางกอกคลินิกจึงมิใช่การเข้าทำงานแทนเจ้าของปัญหาเรามักผลักดันการศึกษาในองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เจ้าของปัญหา....................... 

ยังไม่จบค่ะ หากอยากอ่านต่อ โปรดคลิกลิงก์ดังต่อไปนี้ 

https://docs.google.com/file/d/0B7ummaGfFLZSOG1ibUNNWE5jc0k/edit?usp=sharing

คำสำคัญ (Tags): #บางกอกคลินิก
หมายเลขบันทึก: 545106เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2018 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

               

 ..... งานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

 .. ขอบคุณ บันทึกดีดีนี้ค่ะ ....

อาจารย์ทำให้รู้สึกว่านักกฎหมายเป็นที่พึ่งของประชาชนจริงๆค่ะ

คุณโอ๋ก็ให้กำลังใจ อ.แหววมากค่ะ

งานกฎหมายต้งดารความเชี่ยวมากค่ะ 

การมีพื้นที่ฝึกงาน จึงสำคัญค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท