จุดกำเนิดและการทำงานของคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน


คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดย จันทราภา จินดาทอง นักจัดการงานทั่วไป โรงพยาบาลอุ้มผาง

 

จุดกำเนิดและพัฒนาการของคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน จันทราภา (๒๕๕๕) ได้กล่าวถึงดังนี้

เมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ เมล็ดหนึ่งเกิดจากการบ่มเพาะของกลุ่มบุคคลโดยการนำของศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และรองศาสตราจารย์ดอกเตอร์พันธุ์ทิพย์  กาญจนจิตรา สายสุนทร ครั้งที่เดินทางมาลงพื้นที่ อุ้มผางศึกษา” เมื่อ ๓-๕ กันยายน ๒๕๕๓ และพบข้อเท็จจริงว่า การทำงานของสถานพยาบาลแถบชายแดนที่ประสบภาวะหนี้สิน สาเหตุสำคัญคือ ความไร้หลักประกันสุขภาพของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา

ส่วนหนึ่งของคนไร้หลักประกันสุขภาพในอำเภออุ้มผาง คือ คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร อาจเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือคนที่ตกหล่นจากข้อเท็จจริงอันควรจะมีสิทธิในสถานะที่ถูกต้องของตนเอง

สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับโรงพยาบาลอุ้มผาง รับหน้าที่ดูแลต้นอ่อนของเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว โดยจัดทำการสำรวจสถานการณ์ข้อเท็จจริงด้านสถานะบุคคลและสิทธิ เริ่มต้นจากผู้ป่วยไร้หลักประกันสุขภาพที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอุ้มผาง ใช้ชื่อโครงการก่อตั้งคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ

ต้นอ่อนของโครงการก่อตั้งคลินิกกฎหมายอุ้มผางฯ เริ่มทำงานจากการจำแนกผู้ป่วยไร้หลักประกันสุขภาพ ปรากฏบุคคลที่มีปัญหาสถานอยู่ ๖ กลุ่ม คือ

๑) คนไม่มีเอกสารแสดงตนใด ๆ เลย ส่วนหนึ่งเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ด้วยความที่อาศัยในหมู่บ้านห่างไกลจากอำเภอ ประกอบกับไม่มีความรู้จึงไม่ได้แจ้งเกิดและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

๒) คนซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วมีสัญชาติไทย แต่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในฐานะคนต่างด้าว เช่น เด็กที่เกิดจากบิดาอยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติไทย บุตรจึงถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าว รวมถึงบุคคลที่ได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พรบ.สัญชาติฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๑

๓) คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย(ตั้งแต่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕) และได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในฐานะคนต่างด้าว บิดามารดาอาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะชั่วคราว

๔) คนต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทย บางส่วนเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วและได้สิทธิอาศัยอยู่ถาวร ๕) คนต่างด้าวที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในฐานะแรงงานต่างด้าวจากพม่าและ ๖) คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวและได้รับการบันทึกในทะเบียนบุคคลในฐานะผู้หนีภัยการสู้รบ ในอำเภออุ้มผางมีพื้นที่พักพิงชั่วคราวอยู่ที่บ้านนุโพ ตำบลแม่จัน

ขณะเก็บรวบรวมข้อมูลและจำแนกคนตามกลุ่ม บางกรณีศึกษามีการให้ความช่วยเหลือ อาทิ นายไหร่โผ่ อายุ ๓๙ ปี คนไข้โรคไตวายระยะสุดท้าย มีบิดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย เลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๓ แต่เนื่องจากครอบครัวอาศัยอยู่ที่บ้านเลตองคุ ซึ่งไกลจากตัวอำเภออุ้มผางเกือบ ๑๐๐ กิโลเมตร นายไหร่โผ่และพี่น้องจึงไม่ได้รับการแจ้งเกิดและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน บิดาของนายไหร่โผ่ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อบุตรไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ โครงการก่อตั้งคลินิกกฎหมายอุ้มผางฯ จึงติดตามและขอร้องให้ทางอำเภอเร่งรัดการดำเนินงานเพราะผู้ป่วยเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก สิงหาคม ๒๕๕๓ นายไหร่โผ่จึงได้รับการเพิ่มชื่อในฐานะบุคคลสัญชาติไทย และสามารถลงทะเบียนรับสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

กิจกรรมของโครงการฯ ที่ร่วมกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงเก็บข้อเท็จจริง ๒๓ กรณีศึกษาในตำบลหนองหลวง ส่งผลให้ตัวเจ้าของปัญหากระตือรือร้นและร่วมแก้ไขปัญหาของตนเอง เช่น นางสาวจันทร์เพ็ญ เด็กที่เกิดในประเทศไทยหลังปี ๒๕๓๕ จากบิดามารดาเข้าเมืองในลักษณะชั่วคราว จันทร์เพ็ญจึงยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด ทร.๒๐/๑ จากอำเภออุ้มผางด้วยตนเอง แม้ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายหรือระเบียบให้เธอยื่นคำร้องเพื่อพัฒนาสถานะแต่อย่างใด หรือ นายพะบี บุคคลที่ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งยื่นขอถ่ายบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทยเพื่อความสะดวกในการพกพา และยื่นขอจดทะเบียนสมรสกับภรรยาซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย

๒๓-๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ เป็นเจ้าภาพจัดสรุปงานและถอดบทเรียนการทำงานของโครงการก่อตั้งคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยมีรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นผู้นำถอดบทเรียน ซึ่งพบทั้งความสำเร็จและข้อจำกัดหลายประการ หลังการถอดบทเรียนแล้ว ผู้ร่วมเวทีเห็นพ้องที่จะให้มีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยใช้ชื่อคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน” มีสำนักงานอยู่ในโรงพยาบาลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

รูปภาพ ๑๔ : หน้าเพจของคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน มีอาสาสมัครนักกฎหมายคนแรกจากความร่วมมือของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)และสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ  คือ นายกฤษดา ชีช่วง โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือกรณีศึกษาเดิมและเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิด้านต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภออุ้มผาง

ต้นกล้าจากเมล็ดพันธุ์ดีงามต้นนี้ แม้เพิ่งแยกจากถุงเพาะชำมาปลูกลงดิน หากเมื่อพิจารณาจากการบ่มเพาะด้วยระยะเวลาและความตั้งใจของผู้เกี่ยวข้อง ทำให้มั่นใจได้ว่า ต้นกล้าต้นนี้จะสามารถเติบโตเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและดอกผลที่ดีงามต่อไปในอนาคต

 

กรณีศึกษาจากคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน

คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นการเปิดมิติใหม่ของมุมมองการทำงานด้านสาธารณสุขจากที่เป็นเพียงฝ่ายตั้งรับรอการมาของคนไข้ ที่แม้จะดำเนินการมาไม่นาน แต่เนื้องานที่เกิดขึ้นส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยให้มีโอกาสเข้าถึงหลักประกันสุขภาพตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ รวมถึงทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากสถานะบุคคลที่พัฒนาแล้ว กฤษดา ชีช่วง(๒๕๕๖) ได้เขียนบันทึกในฐานะอาสาสมัครนักกฎหมายคนแรกของคลินิกไว้ดังนี้

ผมอยากฝึกงานในภาคประชาสังคม”: ความจริงในใจ 

ผมมีความคิดอยู่ในใจว่า หลังจากเรียนจบชั้นป.ตรีแล้ว อยากลองไป ฝึกงาน” กับองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆในสังคมซักระยะหนึ่ง โดยที่ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องค่าตอบแทนมากนักขอเพียงให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องรบกวนทางบ้านก็พอแล้ว ส่วนการทำงานจะเป็นประเด็นใดก็ได้ สิ่งที่ผมสนใจที่สุดคือการได้ ลงพื้นที่ในต่างจังหวัดเท่านั้น

ช่วงปลายภาคเรียนชั้นสุดท้ายของการเรียนผมได้รู้ข่าวว่ามูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) มีโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ ๗” เพื่อรับสมัครนิติศาสตร์บัณฑิตจากทั่วประเทศแล้วส่งไปทำงานตามองค์กรภาคีภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมหลากหลายองค์กรเป็นระยะเวลา ๑ ปี ผมจึงยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการก่อนปิดรับสมัครไม่นาน

ในวันที่มอส.จัดให้ผู้แทนองค์กรภาคีที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆในสังคมและต้องการรับอาสาสมัครของมอส.มาแนะนำการทำงานของแต่ละองค์กรเพื่อให้อาสาสมัครเลือกองค์กรตามความสนใจเข้าไปทำงาน องค์กรเหล่านั้นทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆเช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน สถานะและสิทธิของบุคคล การค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว เป็นต้น ผมเห็นเพื่อนหลายคนฟังการนำเสนอของแต่ละองค์กรอย่างตั้งใจ เมื่อทุกองค์กรนำเสนอครบแล้ว เพื่อนๆคนอื่นๆต่างเลือกองค์กรตามที่แต่ละคนสนใจ ส่วนตัวผมเองตัดสินใจเลือกองค์กร “สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ”(SWIT) ซึ่งผมประทับใจในการนำเสนอของอาจารย์ด๋าว ดรุณี ไพศาลพานิชย์กุล ผู้ซึ่งทำงานในประเด็นเรื่องสถานะและสิทธิของบุคคลมาอย่างยาวนาน ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐต้องการอาสาสมัครนักกฎหมายเพื่อไปทำงานประจำพื้นที่อ.อุ้มผางในโครงการที่ชื่อว่า “คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน”

 

คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน”: จุดเริ่มต้นของการเป็นอาสาสมัครนักกฎหมาย

คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งเมื่อมิถุนายน ๒๕๕๕ เดิมอยู่ในชื่อ โครงการก่อตั้งกฎหมายอุ้มผางเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิเป็นคณะทำงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลอุ้มผาง สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในพื้นที่อำเภออุ้มผางที่ได้เข้ามารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งมีทั้งชาวบ้านที่เป็นคนไทยและชาวบ้านทางฝั่งพม่าที่เข้ามารักษาพยาบาลที่นี่ ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านเหล่านี้มีฐานะยากจน ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ แม้ว่าชาวบ้านบางคนมีข้อเท็จจริงว่าเป็นคนไทยแต่ยังคงไม่ได้รับรองสิทธิในสัญชาติไทยอย่างถูกต้องทำให้เบิกค่ารักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพไม่ได้ และยังมีบุคคลต่างด้าวบางกลุ่มที่สามารถพัฒนาสถานะและสิทธิบุคคลแต่ยังคงไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายโครงการก่อตั้งกฎหมายอุ้มผางเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ” จึงเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะจำแนกฐานข้อมูลคนไข้ที่ไม่มีหลักประกันสิทธิสุขภาพหรือที่เรียกว่าผู้ป่วยบัตรขาวและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลต่อไป โดยรับสมัครเจ้าหน้าที่ประจำมาดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและช่วยเหลือดำเนินการอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาจึงขอรับอาสาสมัครนักกฎหมายจากมอส.เพื่อลงทำงานในพื้นที่โดยอาสาสมัครฯมีวาระการทำงานตั้งแต่เดือนกรฏาคม ๒๕๕๕-มิถุนายน ๒๕๕๖

คลินิกกฎหมายอุ้มผางฯจึงเกิดขึ้นเพื่อให้อาสาสมัครนักกฎหมายเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงของชาวบ้านที่ประสบปัญหาสถานะและสิทธิ เช่น การสอบถามข้อมูลทั่วไป รวบรวมเอกสารทางทะเบียนราษฎรจำพวกทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติต่างๆจากนั้นอาสสมัครจะนำข้อมูลทั้งหมดมา วิเคราะห์และให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อพัฒนาสถานะและสิทธิของเจ้าของปัญหาตามกฎหมาย ตลอดจนเผยแพร่บทความการเรียนรู้ของอาสาสมัครผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับบุคคลที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิหรือบุคคลที่เป็นเจ้าของปัญหาในพื้นที่อื่นๆต่อไป

การทำงานในส่วนของการวิเคราะห์สถานะและสิทธิ รวมถึงการให้ความเห็นทางกฎมายซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อกฎหมาย การทำงานส่วนนี้อาสาสมัครฯจะได้รับการดูแลและตรวจทานโดย อาจารย์ด๋าว” ดรุณี ไพศาลพานิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรและนักกฎหมายประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาและเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ส่วนการทำงานเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงในพื้นที่รวมถึงการฝึกเขียนบทความเผยแพร่จะมีพี่แมว” จันทราภา จินดาทองจะเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลอีกคนหนึ่ง

 

โลกแห่งความจริง คนที่มีตัวตนอยู่จริงๆ: กรณีศึกษาของบุคคลที่ประสบปัญหาสถานะและสิทธิในอำเภออุ้มผาง

จากการลงพื้นที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิในอำเภออุ้มผางในฐานะอาสาสมัครนักกฎหมายตลอดระยะเวลา ๘ เดือนที่ผ่านมา คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดประตูชีวิตของผมจากนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยที่ร่ำเรียนแต่ทฤษฎี อ่านข้อเท็จจริงที่พบแต่ในกระดาษข้อสอบหรือในหน้าหนังสือพิมพ์ สู่ชีวิตของโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเป็นคนที่มีตัวตนอยู่จริงๆบนผืนแผ่นดินไทย สิ่งที่ผมไม่เคยพบหรือเคยคิดมาก่อนในประเด็นสถานะและสิทธิของบุคคลผมได้มาพบเจอที่อำเภออุ้มผางแห่งนี้ เช่น ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่ายังมีเด็กไทยอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่ยังตกเป็นบุคคลไร้รัฐ เนื่องจากผู้ปกครองของน้องๆไม่ได้แจ้งเกิดให้กับบุตรของตนเองตามกฎหมายอันเนื่องมาจากความไม่รู้กฎหมายหรือการไม่เห็นถึงความสำคัญของการแจ้งเกิด ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นคนไทยที่ไม่มีตัวตนตามกฎหมาย ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงต่อไปนี้

น้องดาวพระศุกร์และน้องฝ้ายเป็นบุตรสาวของนายอนันต์ วังพลับคนไทยที่พื้นเพเป็นคนจ.อุทัยธานี แต่ได้มาตั้งรกรากทำมาหากินที่อ.อุ้มผางจนกระทั่งได้พบรักกับนางมะเด๋อหญิงชาวกระเหรี่ยง ทั้งคู่อยู่กินฉันท์สามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จนกระทั่งปี ๒๕๔๓ นางมะเด๋อได้ให้กำเนิดบุตรสาวคนโตชื่อ น้องดาวพระศุกร์ ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ด้วยความไม่รู้ว่าต้องแจ้งเกิดให้แก่บุตรของตัวเอง นายอนันต์จึงได้ละเลยหน้าที่ไม่ไปแจ้งเกิดทำให้น้องดาวพระศุกร์ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)

หลังจากที่น้องดาวพระศุกร์เกิดแล้ว ด้วยภาระหน้าที่ครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น นายอนันต์ตัดสินใจจึงพานางมะเด๋อกับน้องดาวพระศุกร์กลับไปอาศัยอยู่กับญาติๆของนางมะเด๋อที่หมู่บ้านก้อเชอ” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตดูแลของทหารกระเหรี่ยงฝั่งรัฐพม่า ส่วนนายอนันต์เองนั้นมุ่งหน้าลงไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯเพื่อส่งเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ในระหว่างนี้นายอนันต์ยังคงแวะเวียนกลับมาเยี่ยมภรรยาและลูกตามเสมอๆ

ปี พ.ศ.๒๕๔๖ ในระหว่างที่นางมะเด๋อยังอาศัยและเลี้ยงดูน้องดาวพระศุกร์อยู่ที่หมู่บ้านก้อเชอนั้นเอง นางมะเด๋อก็ได้ให้กำเนิดบุตรสาวอีกคนหนึ่งบนผืนแผ่นดินของรัฐพม่าโดยหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด ทั้งคู่ตั้งชื่อบุตรสาวคนนี้ว่า น้องฝ้าย” เช่นเดียวกับน้องดาวพระศุกร์ นายอนันต์ไม่ได้แจ้งเกิดให้น้องฝ้ายอีกครั้ง

ภายหลังที่นางมะเด๋อคลอดบุตรสาวคนที่สอง นายอนันต์ตัดสินใจพาสมาชิกครอบครัวทั้งหมดย้ายกลับมาอาศัยอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในอำเภออุ้มผางอีกครั้ง จนกระทั่งปี ๒๕๕๒ ครอบครัววังพลับก็ได้ต้อนรับสมาชิกคนสุดท้องเมื่อนางมะเด๋อให้กำเนิดบุตรชายคือ น้องกฤษฎา” ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ในครั้งนี้นายอนันต์ไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอีกครั้งจึงแจ้งเกิดน้องกฤษฎาและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ในฐานะคนสัญชาติไทยอย่างเรียบร้อย

ต่อมาน้องดาวพระศุกร์และน้องฝ้ายก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสามัคคีวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน จนกระทั่งน้องดาวพระศุกร์ได้รับการสำรวจเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แม้น้องดาวพระศุกร์จะยังไม่ได้รับรองสิทธิในความเป็นคนไทยอย่างถูกต้องแต่อย่างน้อยก็ยังได้รับผลดีจากการสำรวจฯ กล่าวคือได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลรัฐได้ตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผิดกับน้องฝ้ายซึ่งยังไม่ได้รับการสำรวจเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเหมือนพี่สาวจึงทำให้น้องฝ้ายยังไม่มีตัวตนตามสายตาของกฎหมายเลย ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องรักษาพยาบาลนายอนันต์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายแทนน้องฝ้ายเอง ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงน้องฝ้ายนั้นก็อยู่ในฐานะเป็นคนไทยโดยการเกิด

จากการตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีตที่ย้อนมาส่งผลร้ายต่อบุตรสาวทั้งสองของตนเองในภายหลัง นายอนันต์จึงนำเรื่องราวของตนเองมาปรึกษากับคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของบุตรสาวทั้งสองคน

เจ้าหน้าที่คลินิกกฎหมายอุ้มผางฯจึงติดต่อกับสำนักทะเบียนอำเภออุ้มผาง จนได้ข้อสรุปให้นายอนันต์กับบุตรสาวทั้งสองคนไปตรวจพิสูจน์ DNA เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ว่าเป็นบิดาและบุตรกันจริงจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายต่อไป ในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๕ นายอนันต์จึงพาบุตรสาวทั้งสองคนขึ้นไปตรวจพิสูจน์DNA ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ราวกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ผมลงมาประจำพื้นที่อำเภออุ้มผางพร้อมกับที่ผลการตรวจ DNAของครอบครัววังพลับออกมาพอดีซึ่งผลการตรวจฯก็ยืนยันว่านายอนันต์เป็นบิดาของน้องทั้งสองคนจริง หลังจากที่รวบรวมข้อเท็จจริงและวิเคราะห์สถานะบุคคล พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลทางกฎหมายโดยมีอาจารย์ด๋าวเป็นผู้ตรวจทานแล้ว เดือนสิงหาคมพ.ศ.๒๕๕๕ นายอนันต์จึงพาน้องฝ้ายซึ่งไปเกิดทางฝั่งรัฐพม่ามาพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรฯ เมื่อได้รับการรับรองจากนายอำเภอว่านายอนันต์เป็นบิดาของน้องฝ้ายแล้ว ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๕ นายอนันต์ในฐานะเจ้าบ้านก็ไปดำเนินการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อบุตรสาวทั้งสองคนเข้าทะเบียนบ้านเพื่อให้สำนักทะเบียนอุ้มผางรับรองสิทธิความเป็นคนไทยของน้องๆทั้งสองให้ถูกต้อง เวลาผ่านไปเกือบ ๖ เดือนหลังจากยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อ ในที่สุดสำนักทะเบียนอุ้มผางจึงอนุมัติให้เพิ่มชื่อบุตรสาวทั้งสองของนายอนันต์เข้าสู่ทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔) ปัจจุบันนี้น้องดาวพระศุกร์และน้องฝ้ายได้ถูกรับรองสิทธิเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยถูกต้องตามสิทธิที่น้องทั้งสองคนควรจะได้รับตั้งแต่เกิด

ปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลของน้องดาวพระศุกร์และน้องฝ้ายเป็นเพียงตัวอย่างเดียวของคนไทยในอำเภออุ้มผางที่ยังไม่ได้รับรองสิทธิในความเป็นคนไทยอย่างถูกต้องอยู่อีกหลายคน

 

งานที่ง่ายๆไม่มีทางตกมาถึงมือเราหรอก เพราะถ้าง่ายมันก็มีคนทำหมดแล้ว” : อุปสรรคและปัญหา

การทำงานด้านสถานะและสิทธิของบุคคลก็พบเจอปัญหาที่คล้ายกับการทำงานด้านสิทธิมนุษชนในประเด็นอื่นๆ  เพราะเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ในสิทธิของตนเองของผู้ประสบปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลรวมถึงเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองด้วย โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ “ปลายสาเหตุ”เพราะปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่พบเห็นนั้นมักเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เช่นกรณีที่คนไทยไม่ได้แจ้งเกิดให้บุตรของตนเอง เป็นต้น ดังนั้นโดยมาก ปัญหาของสถานะและสิทธิของบุคคลจะได้รับการแก้ไขปัญหาจนจบลงอยู่ที่ชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครอง คือนายทะเบียนท้องถิ่น ไม่เหมือนกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆที่อาจจะต้องใช้สิทธิทางศาลในการต่อสู้เพื่อให้ศาลเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ลักษณะของการทำงานและแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในพื้นที่อำเภออุ้มผางจึงเป็นการพูดคุยและให้คำแนะนำ ให้ความเห็นในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลแก่เจ้าของสิทธิและพนักงานเจ้าหน้าที่มากกว่า เช่น การอธิบายถึงสิทธิของบุคคลให้เจ้าของปัญหาได้เข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตนเองและการทำความเห็นทางกฎหมายเป็นหนังสือประกอบการประสานงานกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของอำเภอ

อุปสรรคและปัญหาของการทำงานด้านสถานะและสิทธิของบุคคล เราอาจมองจากปัญหาและอุปสรรคของคนที่เป็นเจ้าของปัญหาสถานะและสิทธิเอง ของคนที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และของคนที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิ(องค์กร)

หมายเลขบันทึก: 545072เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2021 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อนุโมทนาบุญที่ทุกท่านได้ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งหลายเหล่านั้นนะคะ คนไทยน้ำใจดีมีมากจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท