Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มองผ่าน "บางกอกคลินิก" ไปสู่ศาสตร์ที่ใช้ในการจัดการความยุติธรรมให้แก่มนุษย์ที่บากบั่นมาร้องทุกข์


สำหรับท่านที่กำลังร่วมงานกับ "บางกอกคลินิก" ท่านคงอยากทราบว่า องค์กรนี้คืออะไร ??

บทคัดย่อบทความเรื่องงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย  

: มองผ่านประสบการณ์บางกอกคลินิก

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.facebook.com/note.php?note_id=10151822549473834

---------------------------------------------

บทความนี้มุ่งที่จะมองผ่านงานของคลินิกกฎหมายที่มีชื่อว่า “บางกอกคลินิก” ซึ่งเป็นเสมือนห้องทดลองทางสังคม (Social Lab) หนึ่งในโรงเรียนกฎหมายที่มีชื่อว่า “คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ไปสู่ศาสตร์ที่ใช้ในการจัดการความยุติธรรมให้แก่มนุษย์ที่บากบั่นมาร้องทุกข์ ซึ่งผู้ร้องในคลินิกกฎหมายนี้มีทั้งที่เป็นคนยากจนและคนร่ำรวย แต่ผู้ร้องจำนวนข้างมากเป็นคนยากจนและมักประสบความไร้รัฐไร้สัญชาติ

บทความนี้จะมีอยู่ด้วยกัน ๗ ประเด็นย่อย ซึ่งเริ่มต้นด้วย (๑) บทนำโดยจากการทำความเข้าใจในตัวตนของบางกอกคลินิก แล้วจึงมาทำความรู้จัก (๒) ลักษณะงานของบางกอกคลินิก แล้วจึงไปศึกษา (๓) แนวคิดและวิธีการทำงานของบางกอกคลินิก และ (๔) ที่มาของบุคลากรของบางกอกคลินิก แล้วจึงมา (๔) ทำการจำแนกประเภทของประชาชนที่ร้องขอความช่วยเหลือจากคลินิกบางกอก (๕) การจำแนกประเภทของปัญหาที่ร้องขอความช่วยเหลือจากคลินิกบางกอก และจบลงที่การทำ (๖) บทสรุปด้วยการถอดบทเรียนของบางกอกคลินิก

บทความนี้มุ่งที่จะถอดบทเรียนของนักนิติศาสตร์ที่พบว่า ในที่สุด ศาสตร์ที่ต้องใช้ในการจัดการความยุติธรรมนั้น มิได้มีแต่นิติศาสตร์เท่านั้น และศาสตร์ที่ต้องเริ่มต้นงานสำรวจข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการทำคดีกลับเป็น “มนุษย์วิทยาและสังคมวิทยา” และศาสตร์ที่ต้องมีอยู่ในขณะที่ทำการสำรวจข้อเท็จจริง ก็คือ “ศาสตร์แห่งการบริหารจัดการ” และ “จิตวิทยา”  เราพบว่า มีการศึกษาแบบสหวิทยาเพื่อเข้าใจสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และสังคมภายใต้กฎหมายนี้ว่า “นิติศาสตร์โดยข้อเท็จจริง (Legal Science of Fact)”

นิติศาสตร์จะถูกใช้ในงานคดีในขั้นตอนที่สองซึ่งเรียกกันว่า “การกำหนดสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องทุกข์” หากผู้ร้องมีสิทธิ ก็เป็นหน้าที่ของบุคคลอื่น ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง หรืออาจเป็นองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ แต่หากผู้ร้องไม่มีสิทธิ ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่มีหน้าที่ ความยุติธรรมจึงเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ว่า จะต้องทำอย่างไรต่อคำร้องทุกข์  งานในขั้นตอนนี้เรียกในภาษานิติศาสตร์ว่า “วินิจฉัยคดี” กล่าวคือ เอาข้อกฎหมายมาพิจารณากับข้อเท็จจริงที่สำรวจได้ และหากฝ่ายที่มีหน้าที่ตามกฎหมายไม่ยอมทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด งานคดีในลำดับต่อมา ก็คือ “งานต่อสู้คดี” อันหมายถึงการกำหนดกระบวนการยุติธรรมที่จะใช้ในการบังคับตามสิทธิ ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรของรัฐนอกศาล หรือในศาล ก็ได้ และในบริบทของโลกปัจจุบันที่ผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่ กระบวนการยุติธรรมอาจจะมีลักษณะระหว่างประเทศได้ด้วย งานนิติศาสตร์ในขั้นตอนนี้มักถูกเรียกว่า “นิติศาสตร์โดยแท้ (Legal Science Proper)” หรือ “นิติศาสตร์ทางกฎเกณฑ์ (Normative Legal Science)” ด้วยว่า การทำงานของนักนิติศาสตร์ในขั้นตอนนี้จะใช้นิติศาสตร์เป็นหลักหรือเท่านั้น อาจมีการใช้ศาสตร์อื่นบ้างในการวินิจฉัยคดีหรือต่อสู้คดี อาทิ รัฐศาสตร์ หากกฎหมายกำหนดให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นดุลยพินิจของรัฐาธิปัตย์ หรือแพทย์ศาสตร์หากกฎหมายกำหนดให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นดุลยพินิจของแพทย์ด้วยใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานทางแพทย์ การศึกษาสหวิทยาเพื่อกำหนดสิทธิหน้าที่ของมนุษย์เริ่มศึกษามากขึ้นเช่นกันในคณะนิติศาสตร์ของโลกปัจจุบัน

งานคดีในลำดับที่สามและอาจเป็นลำดับสุดท้าย ก็คือ งานจัดการคุณธรรมทางกฎหมาย เราพบว่า ในหลายกรณี กฎหมายที่เป็นอยู่ก็อาจจะไม่นำมาซึ่งความเป็นธรรมต่อมนุษย์ผู้ร้องทุกข์ ความยุติธรรมตามกฎหมายกลับมิใช่ความยุติธรรมทางสังคม อันหมายความว่า กฎหมายได้กลายเป็นผู้ซ้ำเติมทุกข์ให้แก่ผู้ร้องทุกข์ กลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิอีกด้วย ศาสตร์ที่นักกฎหมายต้องใช้ในที่นี้ย่อมมิใช่นิติศาสตร์โดยแท้ แต่เป็น “นิติศาสตรโดยคุณค่า (Legal Science of Value)” จึงมิได้เอากฎหมายบ้านเมืองมาเป็นศูนย์กลางของความคิด เพราะหากนักกฎหมายลุ่มหลงในกฎหมายที่เป็นอยู่ นักกฎหมายก็จะมองไม่เห็นความยุติธรรมทางสังคมที่เกิดจากกฎหมายบ้านเมือง ศาสตร์นำที่นักกฎหมายจะต้องมีในที่นี้ ก็คือ “นิติปรัชญา (Legal Philosophy)” นั่นเอง นักนิติศาสตร์ได้พัฒนาทักษะในการจัดการความยุติธรรมทางสังคมให้แก่มนุษย์ในสาขาวิขานิติศาสตร์ที่มีชื่อว่า “ หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” อันเป็นการนำ “จริยศาสตร์” มาผสมผสานกับ “นิติศาสตร์” เพื่อสร้างความกลมกลืนระหว่างความยุติธรรมทางกฎหมายและความเป็นธรรมทางสังคม

งานของบางกอกคลินิกจึงเป็นการฝึกให้นักนิติศาสตร์น้อยให้รู้จักใช้นิติศาสตร์เพื่อสร้างความยุติธรรมตามกฎหมายให้เป็นกลไกรักษาความเป็นธรรมแก่มนุษย์ในสังคมนั่นเอง



ภาพรวมของศาสตร์ที่ใช้คูขนานกับนิติศาสตร์ ในงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย




แผนผังแสดงการจำแนกวิชานิติศาสตร์ในการทำงานในทางปฏิบัติ

หมายเลขบันทึก: 545065เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท