นอนเฉยๆ


เคยสังเกตมั้ยครับว่ามีแต่เด็กเล็กๆ เท่านั้นที่ตื่นมาแล้วยิ้มทันที พอโตมาหน่อยเริ่มตื่นแล้วไม่ยิ้มแล้ว เด็กเล็กตื่นมาแล้วยิ้มทันทีเพราะโลกยังมีอะไรให้น่าค้นหาน่ายิ้มใส่อีกมาก
ผมพบเด็กนอนเฉยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ หมายถึงเรียนหนังสือจบแล้วไม่ทำอะไรต่อ เอาแต่นอนเฉยๆ อยู่บ้านอย่างนั้น ไม่ไปสมัครงาน ไม่ไปเรียนต่อ

มีบ้างบางคนไปทำงานแล้วสักพักก็ลาออกมานอนเฉยๆ มีบ้างบางคนไปเรียนต่อปริญญาโทแต่ก็ไม่จบแล้วก็เริ่มนอนเฉยๆ

บางคนในจำนวนนี้ป่วยทางจิตอย่างหนัก แต่ส่วนใหญ่ไม่ป่วยเพียงแต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ไม่มีแรงจูงใจจะไปทำอะไร หรือไม่มีความกระตือรือร้นจะทำอะไร

ปัญหาที่พวกเราพ่อแม่พบทุกวันนี้คือเราควรกดดันเด็กมากน้อยแค่ไหน กดดันให้พวกเขาไปกวดวิชามากๆ เพื่อความสำเร็จในภายหน้า หรือปล่อยให้เอ้อระเหยตามสบายกับการสอนในห้องเรียนซึ่งได้ยินมาว่าาไม่ค่อยมีอะไรจะสอน

กดดันมาก็อาจจะดี แต่หลายคนก็เสียสติ พวกที่เรียนเก่งชนะเพื่อนอาจจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ แต่เราก็เริ่มพบว่าเข้าไปแล้วไม่มีสติปัญญาอะไรมากนัก ทำอะไรไม่ค่อยได้ จบมาก็ยิ่งทำงานไม่ค่อยได้ เพราะชีวิตจริงมิใช่ ก ข ค ง อย่างว่า เมื่อทำอะไรไม่ได้เสียแล้วก็เริ่มนอนเฉยๆ กัน

การปล่อยให้เอ้อระเหยไม่เรียนไม่กวดอะไรสักอย่างก็เสี่ยงไปอีกแบบ เพราะเด็กๆ ก็ดูเหมือนว่าจะค้นหาตัวเองไม่เจออยู่นั่นเองว่าจะเอาอะไรกับชีวิต

นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2006 ขึ้นหน้าปกเรื่องคล้ายๆ เรื่องนี้พอดี คือ “The Secrets of AMBITION” แปลว่า ความลับของความทะเยอทะยานอะไรทำนองนั้น

อันที่จริงเนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงคนดังและความสำเร็จของคนดัง เช่น บิล คลินตัน ไทเกอร์ วู้ด โอปราห์ วินเฟรย์เจนนิเฟอร์ โลเปซ ทอม ครุยส์ และคอนโดเลซซา ไรซ์ไม่ได้พูดถึงคนที่ชอบนอนเฉยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้สนใจเด็กไทยที่นอนเฉยๆ แต่มีเนื้อหาบางส่วนที่ผมคิดว่าน่าสนใจสามารถเอามาปรับใช้ได้

ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนชื่อแจ็คเกอลีน เอ็คเคลส ได้ศึกษาเด็กเกรด 1 - 7 ในโรงเรียนต่างๆ รวม 3 เขตนาน 25 ปี แล้วสรุปว่าที่ (พวกเรา) สามารถทำได้คือเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบ และเด็กเป็นสิ่งที่ (พวกเรา) ไม่สามารถบังคับได้ อะไรนองนี้แหละครับ

ฟังดูสบายดี ถ้าให้เลี้ยงลูกแบบนี้ง่ายขึ้นเยอะเลย เขาอยากจะทำอะไรก็ให้เขาลอง ลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะพบสิ่งที่ชอบ คำถามคือบ้านเราจะมีพ่อแม่กี่คนใจกล้าขนาดนี้เผลอแผล็บเดียวเอ็นท์ไม่ติดไปเสียแล้ว มิหนำซ้ำยังค้นไม่พบว่าชอบอะไรอีกต่างหาก เซ็งสุดๆ

มิใช่นักจิตวิทยาทุกคนจะเชื่อตามนี้ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชื่อ คารอล ดเว็ค กล่าวว่าสมองและความฉลาดของเด็กเป็นสิ่งที่สร้างได้ กระตุ้นได้และพัฒนาได้ อะไรทำนองนี้แหละครับ เพราะฉะนั้นที่พวกเราควรทำคือ อย่าอยู่เฉยๆ แต่ควรช่วยเด็กๆ ให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาคำว่า “ควรช่วยให้” ในที่นี้แฝงในกดดันกันบ้างก็ดี

ฟังดุชัดเจนกว่าแบบแรกนะครับ ตื่นเช้าก็ไปเรียนให้ได้ เรียนไม่ได้ก็กลับไปเรียนให้ได้ เรียนอย่างไรก็ได้ขอให้เรียนให้ได้เพราะสมองเป็นของพัฒนาได้ การอยู่เฉยๆ แบบว่าเสียของ

แนวคิดแบบนี้เองที่อยู่เบื้องหลังการซื้อซีดีเพลงของโมซาร์ตให้ลูกในท้องฟัง นัยว่าฟังโมซาร์ตสมองดีกว่าอยู่เปล่าๆ เพราะของมันกระตุ้นได้ เร่งได้ไงครับ

ผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรเชื่อใคร แต่ผมเห็นความแตกต่างของแนวคิดสองอย่างข้างต้น แนวคิดแรกค่อนข้างจะเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง แนวคิดหลังค่อนข้างจะเอาพ่อแม่เป็นศูนย์กลาง แนวคิดแรกเห็นว่าความสำเร็จของเด็กเป็นเรื่องของเด็ก พวกเรามีหน้าที่เพียงช่วยเขาหาความถนัดและหาโอกาส แนวคิดหลังเห็นว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของเรา ซึ่งนำไปสู่อีกคำถามว่าเป็นความสำเร็จของใครกันแน่

นักจิตวิทยาบางคนเห็นว่า Ambition หรือความทะเยอทะยานต้องประกอบด้วย 2 อย่างคือ พลัง และเป้าหมายจะเอาแต่มีพลังอย่างเดียวนั้นไม่ได้เพราะจะลงเอยด้วยการไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่ดี ต้องมีลังและกำหนดเป้าหมายด้วยจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต

ผมจำได้ว่าตอนอ่านพระมหาชนกไม่ได้รู้สึกแบบนี้นะครับตอนอ่านพระมหาชนกผมได้มาอย่างเดียวจริงๆ คือ ความเพียร เพียรพยายามไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจฝั่งเอาเสียเลยด้วยซ้ำ

ผมคิดว่าเด็กๆ ควรถูกสอนเรื่องความเพียรพยายามเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้รู้แล้วว่าตนเองชอบอะไรแต่ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียรก็จะลงเอยด้วยการนอนเฉยๆ ได้ ในอีกทางหนึ่งแม้ว่าคนจะเป็นพ่อแม่จะส่งเสริมหรือกดดันลูกในเรื่องการเรียนอย่างไร ปัจจัยแห่งความสำเร็จก็ยังคงอยู่ที่ความเพียรพยายามของตัวเด็กเองอยู่ดี เรียกว่าถึงจะ ก ข ค ง แต่ถ้ามีความเพียรพยายามหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมก็ยังคงไปวัดปวากับเขาได้อยู่ทำนองนั้น

ความขยันหมั่นเพียรเป็นลักษณะนิสัยที่คนเป็นพ่อแม่ต้องปลูกฝังลูกตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เริ่มด้วยงานบ้านก่อนที่จะถึงวัยต้องทำการบ้านอ่านหนังสือ หากงานบ้านมีลูกจ้างทำให้หมด ก็น่าเสียดายว่าเด็กขาดโอกาสที่จะได้บำเพ็ญเพียรเรื่องความเพียร

กลับมาที่ลูกๆ ซึ่งชอบนอนเฉยๆ

หากเด็กเล็กชอบนอนเฉยๆ ไม่ชอบเรียน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรค้นหาคือเด็กมีปัญหาการเรียนแบบที่เรียกว่า LD หรือ Learning Disability หรือเปล่า ครอบครัวสงบสุขดีหรือเปล่า หรือมีความขัดแย้งเคร่งเครียดเป็นอย่างมากจนส่งผลต่อการเรียนของเด็ก หรือว่าเด็กกำลังเจ็บป่วยด้วยอะไรบางอย่าง

หากเป็นวัยรุ่นชอบนอนเฉยๆ ไม่ชอบเรียน เรื่องที่ควรทำเร่งด่วนคือ ชวนลูกทำโน่นทำนี่สารพัด เริ่มตั้งแต่งานในบ้าน งานนอกบ้าน ไปไหนหิ้วลูกไปด้วย หากลูกไม่ไปเราก็ต้องอยู่บ้านกับลูก ค้นหากิจกรรมมาทำร่วมกันให้ได้ ค้นไม่พบก็ต้องค้นให้พบ เปิดโอกาสและกระตุ้นเขาให้ได้ว่าเขาอยากทำอะไรและทำได้ดีด้วย ชมเชยเมื่อเขาทำดี ให้กำลังใจเมื่อเขาทำอะไรบางอย่างสำเร็จ ชื่นชมเขาให้มากเมื่อเขาทำบางอย่างสำเร็จ

เคยสังเกตมั้ยครับว่ามีแต่เด็กเล็กๆ เท่านั้นที่ตื่นมาแล้วยิ้มทันที พอโตมาหน่อยเริ่มตื่นแล้วไม่ยิ้มแล้ว เด็กเล็กตื่นมาแล้วยิ้มทันทีเพราะโลกยังมีอะไรให้น่าค้นหาน่ายิ้มใส่อีกมาก

เราต้องสร้างโลกแบบนั้นขึ้นมาให้ได้ครับ
หมายเลขบันทึก: 54499เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2006 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 02:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท