วิธีตั้งคำถามให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด"


ก่อนเขียนตัวอย่างคำถามต่างๆ ที่เพื่อนครูอาจนำไปใช้ให้เด็กได้ "ฝึกคิด" ผมต้องสรุปทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญ ที่ทุกท่านจำเป็นต้องฟังไว้ 2 ทฤษฎี ได้แก่ การคิดจากทฤษฎีลำดับขั้นการเรียนรู้ของบลูม (Bloom's Taxonomy) การคิดแบบโยนิโสมนสิการในพุทธธรรม ดังนี้ครับ

  • บลูมบอกว่า เรามีลำดับขั้นการคิดจาก วิเคราะห์ สังเคราะห์ประเมินค่า ก่อนจะคิดสร้างสรรค์ 
  • หลักโยนิโสฯ บอกว่า เราคิดได้หลากหลายถึง 10 วิธี ได้แก่
    • คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย อาจเป็นแบบ ปัจจัยสัมพันธ์ หรือแบบสอบสวน (ตั้งคำถาม)
    • คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ หรือกระจายเนื้อหา
    • คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
    • คิดแบบรู้อริยสัจสี่ (วิธีนี้ก็คือการคิดแบบตั้งปัญหา คือ การคิดแบบกระบวนการวิทยาศาสตร์)
    • คิดแบบอรรถสัมพันธ์ คือ คิดตามหลักการและความมุ่งหมาย
    • คิดแบบคุณและโทษ
    • คิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
    • คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม
    • คิดแบบเป็นปัจจุบัน
    • คิดแบบวิภัชวาทวิธี คือการคิดด้วยวิธีทั้งหมด 9 วิธีรวมกัน เรียกได้ว่าเป็นวิธีคิดแบบพุทธวิธี

พิจารณา 2 ทฤษฎีข้างต้น เราสามารถสรุปขั้นตอนการคิด (เพื่อนำไปเป็นหลักในหลักสูตร 3PBL) ได้ดังนี้

  1. คิดวิเคราะห์
    • คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ กระจายเนื้อหา สิ่งนั้นหรือเปรื่องนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
    • คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยสัมพันธ์ แต่ละองค์ประกอบนั้นๆ มีหน้าที่ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร โดยอาจใช้วิธีการตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบ
  2. คิดสังเคราะห์
    • คิดแบบเท่าทันธรรมดา  คือ การคิดวิเคราะห์พิจารณาหา "หลักการ" หรือ "กฎธรรมชาติ" เป็นต้น
    • คิดแบบอรรถสัมพันธ์
    • คิดแบบอริยสัจสี่
  3. คิดประเมินค่า
    • คิดแบบคุณและโทษ
    • คิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
  4. คิดสร้างสรรค์
    • คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม หรือคิดเชิงบวก
    • คิดแบบเป็นปัจจุบัน
    • คิดเชิงอนาคต 

เมื่อพิจารณาร่วมกับ ความจริง 7 ประการของการเรียนรู้ ที่ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช บันทึกไว้ที่นี่  เราน่าจะได้เครื่องมือที่เรียกว่า คำถามพัฒนาการเรียนรู้ 7 ประการ เพื่อพัฒนาฐานใจให้ "คิดเป็น"ดังนี้ครับ

  1. ถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนตรวจสอบความรู้เดิมของตนเอง
    • เคย....... หรือไม่  เช่น เคยเห็นหรือไม่ เคยได้ยินหรือไม่ เคยทำ เคยสัมผัส เคยชิม หรือไม่ .เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับ...............หรือไม่  (แล้วให้เล่าเรื่อง)
    • อะไรที่เรารู้แล้วบ้าง
    • ประทับใจอะไรเกี่ยวกับ...........บ้าง (เล่าเรื่องประทับใจ)
    • ฯลฯ
  2. ถามเพื่อพาฝึกคิดวิเคราะห์
    • ประกอบด้วยอะไรบ้าง ใครบ้าง
    • แต่ละอย่าง แต่ละองค์ประกอบมีไว้ทำไม แต่ละคนมีหน้าที่บทบาทอย่างไร 
    • หากขาด..........ไป จะเป็นอย่างไร
    • ทำไม เพื่ออะไร ทำไมต้องมี 
    • ฯลฯ
  3. ถามเพื่อพาฝึกสังเคราะห์ความรู้เดิม 
    • จัดเป็นกลุ่มได้ไหม จัดหมวดหมู่ได้อย่างไร
    • มีหลักการในการจัดหมวดหมู่อย่างไร หรืออะไรคือหลักสำคัญ
    • อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล 
    • ฯลฯ
  4. ถามเพื่อกระตุ้นแรงจูงใจให้อยากเรียนรู้ อยากรู้ หรืออยากทดลอง หรืออยากค้นหาคำตอบ 
    • ทำแล้วจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
    • ไม่ทำแล้วจะมีโทษอย่างไร
    • จะรู้ได้อย่างไรว่าใช่หรือไม่ใช่
    • ภาพของความสำเร็จจะเป็นอย่างไรถ้าทำได้
    • ฯลฯ
  5. ถามเพื่อให้ได้สะท้อนการเรียนรู้ของตนเอง  ประเมินค่า ประเมินผลด้วยตนเอง
    • ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
    • รู้สึกอย่างไร
    • คิดอย่างไร
    • จะทำอะไรต่อไปไหม อย่างไร
    • อะไรคือปัจจัยของความสำเร็จ
    • ฯลฯ
  6. ถามเพื่อให้ได้ประเมินค่าด้วยตนเอง
    • ถูกหรือผิด
    • ดีหรือไม่ดี
    • ควรหรือไม่ควร
    • ฯลฯ
  7. ถามเพื่อกระตุ้นให้สร้างสรรค์ เผยแพร่ ขยายความรู้เดิม
    • อะไรที่ดีสุดตอนนี้ มีอะไรดี
    • อะไรคือปัจจัยของความ
    • จะทำอย่างไรให้ดีขึ้นอีก
    • หากเป็นเขา เราจะคิดอย่างไร
    • ทำอย่างไรจะไม่ซ้ำแบบเดิม
    • ทำอย่างไรจะดีกว่าเดิม
    • ทำอย่างไรจะคุ้มค่ากว่าเดิม
    • ทำอย่างไรจะง่ายกว่าเดิม
    • ฯลฯ

ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ เพราะเน้นจากฐานใจ+ฐานคิด เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ผ่านฐานกายมากนัก





หมายเลขบันทึก: 544961เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การตั้งคำถามสำคัญมากๆๆ ชอบมากเลยครับ

 

คุณมะเดื่อตั้งคำถามให้เด็ก ๆ คิดว่า  " ถ้าเราไม่มีเงินติดตัวเลยจะอยู่ได้อย่างไร "  ได้คำ

ตอบที่หลากหลายมากทีเดียวจ้ะ

 

ขอบคุณ คุณมะเดื่อครับ

ลักษณะของคำถาม "กระตุ้นการคิด" ที่ดี น่าจะมีว่า

  • ไม่มีคำตอบตายตัว ไม่มีผิดไม่มีถูก เช่น "ถ้าเราไม่มีเงินตัดตัวเลยจะอยู่ได้อย่างไร"
  • เป็นเรื่องใกล้ตัว ติดตัว เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เช่น "ถ้าเราไม่มีเงินตัดตัวเลยจะอยู่ได้อย่างไร"
  • เป็นปัญหาที่ ผู้ตอบต้องคิดถึงคนใกล้ตัวคนอื่นๆ เช่น "ถ้าเราไม่มีเงินตัดตัวเลยจะอยู่ได้อย่างไร"
  • เป็นปัญหาที่ต้องคิดตั้งแต่ อดีตไปจนถึงอนาคต เช่น "ถ้าเราไม่มีเงินตัดตัวเลยจะอยู่ได้อย่างไร"
  • เป็นปัญหาที่ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป คิดได้ตั้งแต่ 1 ชั้น (ตอบตรงๆ) จนถึงหลายชั้น เช่น "ถ้าเราไม่มีเงินตัดตัวเลยจะอยู่ได้อย่างไร"
  • ถ้าใจะให้ดีเป็นปัญหา ที่เสริมประเทืองปัญญา ถึงขั้นคุณค่าของชีวิต... เช่น "ถ้าเราไม่มีเงินตัดตัวเลยจะอยู่ได้อย่างไร"
  • ฯลฯ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

น่าสนใจมากค่ะ...การตั้งคำถามมีผลจริงๆ ค่ะ ส่วนครูต้องอดทนให้เวลาและเติมเต็มกับคำตอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท