บทเรียนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ที่ได้รับจากการร่วมเสวนากับสมาชิกโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี


 

บทเรียนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM)
ที่ได้รับจากการร่วมเสวนากับสมาชิกโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี

 

 บทนำ

“ โรงเรียนชาวนามิใช่อาคารเรียนที่มีครูมายืนสอนหน้าห้อง แล้วบอกให้นักเรียนเรียนตามที่ครูบอก แต่โรงเรียนชาวนาคือกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มีความรู้ทั้งมากและน้อยมาถ่ายทอดให้กันและกันด้วยจิตไมตรี ผลที่ได้นอกเหนือจากความรู้ก็คือ สุขภาพของคนและชุมชน” (มูลนิธิข้าวขวัญ)

บทความนี้ได้สะท้อนความคิดจากการเสวนาแบ่งปันความรู้จากโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ณ โรงแรมกีฬาและสุขภาพ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเวทีที่นำบทเรียนจากการดำเนินงานของโรงเรียนชาวนา มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดบทเรียนในการทำงานในกลุ่มของตนเองและจากการเรียนรู้ข้ามกลุ่มเพื่อขยายเครือข่ายและสร้างแรงบันดาลใจ นำไปสู่ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโรงเรียนชาวนาที่ยกระดับขึ้น โรงเรียนชาวนาเป็นโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี โดยความร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  ( สคส.) ที่นำกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) มาใช้ในการจัดการความรู้ในการทำนาข้าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวนา ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างอิสระ สร้างความรู้และเทคโนโลยีของตนเองในเรื่องสำคัญ 3 เรื่องผ่าน 3 หลักสูตรของโรงเรียนชาวนา คือ (1) การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี หลักสูตรนี้จะเรียนรู้เรื่องพืชสมุนไพรที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชและระบบนิเวศน์ในแปลงนา (2) การปรับปรุงบำรุงดิน หลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้โครงสร้างของดินและวิธีการปรับปรุงดินโดยวิธีธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมี และ (3) การพัฒนาพันธุ์ข้าว หลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยผสมผสานความรู้เดิมกับความรู้ใหม่จนเกิดเป็นชุมชนชาวนาที่สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เอง อันนำไปสู่เป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆกัน โดยมีแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นทางออก เริ่มแรกโรงเรียนชาวนามีสมาชิกเป็นกลุ่มชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรี 4 พื้นที่คือ อ.อู่ทอง อ.ดอนเจดีย์ อ.บางปลาม้า และ อ.เมือง และปัจจุบันได้มีสมาชิกเข้าร่วมจาก 7 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา

จากข้อมูลพื้นฐานจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดประมาณร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สภาพพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ประมาณร้อยละ 65 เป็นพื้นที่การเกษตรในรูปแบบต่างๆ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ทำนาข้าว พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชผัก เป็นต้น (สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี . 2549) ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม สอดคล้องกับสภาพพื้นฐานสังคมไทยที่เป็นสังคมเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยและพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาจึงมีบทบาทสำคัญในภาคเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงประเทศมาอย่างช้านาน

ตราบจนมีการปรับทิศทางของประเทศเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางกระแสโลกาภิ วัตน์ที่แผ่ขยายอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้ร่มเงาแห่งทุนนิยมที่เน้นการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวัตถุ เน้นผลตอบแทนสูงสุดที่ละเลยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผลผลิตที่เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองเพื่อตอบสนองการบริโภคที่มีอย่างมหาศาล โดยในส่วนของภาคเกษตรกรรมได้นำเอาเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ เข้ามาใช้ เช่น พันธุ์พืช ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา ยาปราบวัชพืช ฯลฯ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ตอบสนองความต้องการทางด้านการส่งออกและการตลาด ในระยะแรกเทคโนโลยีเหล่านั้นมีส่วนช่วยให้ผลผลิตขยายตัวสูงขึ้นมาก จนมีการขนานนามว่าเป็นการ "ปฏิบัติเขียว" เป็นความหวังที่จะแก้ไขปัญหาการทดแทนอาหารโลกแต่เพียงไม่ถึงสองทศวรรษให้หลัง การปฏิวัติเขียวกลับส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและตัวเกษตรกรอย่างรุนแรง เนื่องจากการใช้สารเคมีมากเกินไป จนทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติถูกทำลาย ขณะเดียวกันตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่เกิดจากร่างกายได้รับสารเคมีเกินขนาดก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แม้จะทราบกันดีว่าสารเคมีที่ฉีดพ่นในแปลงนาเป็นอันตราย ทั้งต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าการใช้สารเคมีในการทำเกษตรจะลดลง ตรงกันข้ามกลับพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ที่เคยเพิ่มสูงขึ้นในระยะหลังกลับลดต่ำลง เนื่องจากคุณภาพดินเสื่อมลงขาดธาตุอาหารที่เหมาะสม   ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิข้าวขวัญโดยการนำของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินงานการพัฒนาพันธุ์ข้าวมากว่า 10 ปี ได้เฝ้าดูปัญหาของเกษตรกรด้วยความห่วงใย แม้ว่าจะได้แนะนำการทำเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ใช้สารเคมีให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ และประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่เมื่อแนะนำชาวนาสุพรรณกลับไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งสภาพปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ทำโรงเรียนชาวนาขึ้นมา นำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ชาวนาสุพรรณบุรี ( กรเกษ ศิริบุญรอด. 2549) โรงเรียนชาวนาจึงเป็นปรากฏการณ์ของชุมชนที่ต่อสู้ในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ในการนำทุนความรู้ในชุมชนที่เป็นสิ่งที่ชุมชนได้สร้างขึ้นเพื่อการดำรงชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อปัจเจก ครอบครัว และเพื่อการดำรงอยู่ของชุมชน ที่ได้รับการสร้างสรรค์ สืบสาน และสะสมกันต่อๆ มา ที่กลายเป็นสิ่งแสดงออกถึงอัตลักษณ์หรือความเป็นชุมชน (นิสิตปริญญาเอก พัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2546 ) มาผสมผสานความรู้ใหม่จากภายนอกและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน

 

การจัดการความรู้กับชุมชน

การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) คือ กระบวนการที่เป็นเครื่องมือหรือวิธีการเพิ่มมูลค่าหรือคุณค่าของกิจการขององค์กร กลุ่มบุคคลหรือหรือข่ายของกลุ่มบุคคลหรือองค์กร การจัดการความรู้เริ่มที่ปณิธานความมุ่งมั่น (Purpose) อันยิ่งใหญ่ร่วมกันของสมาชิกขององค์กร กลุ่มบุคคลหรือเครือข่าย ที่จะร่วมกันใช้ความเพียรดำเนินการจัดการความรู้ ด้วยวิธีการและยุทธศาสตร์อันหลากหลาย เพื่อใช้ความรู้เป็นพลังหลักในการบรรลุเป้าหมายตามความมุ่งมั่น เพื่อประโยชน์ขององค์กร กลุ่มบุคคล เครือข่าย และยังประโยชน์อันไพศาลให้แก่สังคมในวงกว้างด้วย (วิจารณ์ พานิช. 2549 ) ดังนั้นการจัดการความรู้ของโรงเรียนชาวนา จึงเป็นการจัดการให้มีการค้นพบฐานความรู้ สร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ยกระดับความรู้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความจริงและสถานการณ์ เพราะความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้ เป้าหมายของการจัดการความรู้จึงอยู่ที่ พัฒนางาน พัฒนาคน พัฒนาองค์กร และพัฒนาความเป็นชุมชน ซึ่งมีกระบวนการดังนี้ (สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์. 2549 )

1. กำหนดฐานคิดหลักที่สำคัญ เช่น วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ด้วยสัมมนาทัศนะ และการริเริ่มที่ดี

2. แสวงหา ค้นหาความรู้ขั้นพื้นฐานที่สนองตอบความต้องการเริ่มต้น

3. จัดทำฐานข้อมูล ความรู้ ชุดความรู้ ให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การนำมาใช้ประโยชน์

4. สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม มาพัฒนากิจการของชุมชน

5. นำความรู้จากการปฏิบัติงาน ประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สรุปบทเรียน ถอดองค์ความรู้ นำไปใช้ใหม่

6. มีการบันทึกการดำเนินงานทุกขั้นตอน ทุกระดับ

จากกระบวนการของการจัดการความรู้ในชุมชนดังกล่าว นำไปสู่การเชื่อมโยงกับชุมชนในบริบทต่างๆ ซึ่งในการจัดการความรู้สู่ชุมชนบทบาทสำคัญของบุคลากรหลักในการดำเนินงานมีดังนี้

1. คุณเอื้อ บทบาทหลักอยู่ที่

- มีส่วนร่วมกับคุณอำนวยในการกำหนดการจัดการความรู้

- บริหารจัดการแนวราบให้เกิดแผนชุมชน

- จัดสรรทรัพยากรต่างๆให้

- นำข้อมูล ความรู้ เข้าสู่เวทีการดำเนินงาน

- จัดให้มีการรายงานผล ประเมินผลงาน

2. คุณอำนวย บทบาทหลักอยู่ที่

- อำนวยความสะดวกในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

- ทำแผนที่ความรู้ให้เป็นที่รับทราบในชุมชน

- เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับผู้ต้องการความรู้

- เชื่อมความสัมพันธ์องค์กร เครือข่าย หน่วยงาน

- ติดตามประเมินผลอย่างเป็นทางการ / ไม่เป็นทางการ

3. คุณกิจ บทบาทหลักอยู่ที่

- คุณก่อ ผู้จุดประกายทางความคิด, นำเชิงกระบวนการได้

- คุณลิขิต ผู้บันทึกเรื่องราว ความรู้ จับประเด็นได้

- คุณประสาน ผู้ทุกฝ่ายมาร่วมกิจกรรม นำเชิงกติกาได้

- คุณวิศาสตร์ ผู้นำระบบ IT มาใช้ในการดำเนินงาน KM

- คุณกิจ ผู้เป็นสมาชิกทั้งหมดที่มารวมตัวปฏิบัติการ KM เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวเองทุกขั้นตอน

จากบทบาทดังกล่าวจะเห็นว่า การจัดการความรู้ในชุมชุนเป็นการร่วมมือ ร่วมใจ ของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชน การจัดการความรู้ในชุมชนจึงเป็นการเชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่ในชุมชนกับความรู้ใหม่จากภายนอก อย่างเป็นระบบและมีแบบแผนที่ชัดเจน นำมาปรับใช้และเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย

 

บทเรียนจากการร่วมเสวนากับนักเรียนโรงเรียนชาวนา

จากการเข้าร่วมเสวนากับสมาชิกโรงเรียนชาวนาในกลุ่มจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้เขียนได้รับความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและแนวคิดของนักเรียนโรงเรียนชาวนาที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในรูปแบบของการจัดการความรู้ที่สามารถนำมาใช้ในการทำนาข้าวให้ประสบผลสำเร็จตามแนวทางชีวภาพที่ไม่ทำร้ายตัวเองและสิ่งแวดล้อม โดยขอนำเสนอประเด็นที่ได้รับจากการร่วมเสวนาในกลุ่มจังหวัดสุพรรณบุรี สรุปได้ดังนี้

1. การเริ่มต้นกับโรงเรียนชาวนาและเป้าหมายของโครงการ

จากการร่วมเสวนา พบว่าการเริ่มต้นของนักเรียนโรงเรียนชาวนากับมูลนิธิข้าวขวัญนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากสารเคมีที่ใช้ในการทำนาข้าวและการทำเกษตรกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ซึมเศร้า รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ดินแข็ง ดินเป็นกรด ทำให้ต้องใช้ต้นทุนจำนวนมากขึ้นในการบำรุงรักษาดินและมีอาการเจ็บป่วยอันเกิดจากสารพิษ ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานนี้เอง ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่คิดหาวิธีที่จะลดสารเคมีและบำรุงรักษาดินให้ฟื้นคืนสภาพเดิม โดยคิดว่าเกษตรอินทรีย์น่าจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ในช่วงแรกมีเกษตรตำบลมาให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ทำไม่ต่อเนื่องและจริงจัง จึงยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการทำนาโดยใช้สารเคมี เนื่องจากเห็นผลเร็วและใช้ระยะเวลาสั้น จวบจนมูลนิธิข้าวขวัญ เริ่มเข้ามาให้ความรู้อย่างจริงจังผ่านกระบวนการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีกลุ่มชาวนาจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการทำนาและการเกษตรชีวภาพและมีความศรัทธากับมูลนิธิฯ เข้ามาเป็นนักเรียนชาวนาตามโครงการ โดยได้ศึกษาและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งผลที่ได้ทำให้ลดต้นทุนการผลิต สภาพดินไม่เป็นกรดและสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ และเริ่มมีผู้สนใจอยากเข้าร่วมกับโครงการมากขึ้น เพราะเห็นผลจากนักเรียนชาวนาและบางคนนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนไปบอกต่อกับชาวบ้านและได้ผล จึงมีผู้สนใจอยากเข้ามาเป็นนักเรียนชาวนามากขึ้น

2. การบริหารจัดการโครงการ

การบริหารจัดการกลุ่มของโรงเรียนชาวนานั้น จะมีโครงสร้างการและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เช่น ประธาน กรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก เป็นต้น รวมทั้งการเรียนในแต่ละหลักสูตรที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ ซึ่งการดำเนินงานก็จะเป็นลักษณะช่วยกันทำตามศักยภาพของแต่ละคน โดยมูลนิธิฯ เปิดโอกาสให้นักเรียนชาวนาเสนอความคิดเห็นอย่างเสรี สำหรับกิจกรรมของกลุ่มนั้นได้ผลัดเปลี่ยนดูตัวอย่างของสมาชิกในกลุ่มเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งได้มีโอกาสศึกษาดูงานและเยี่ยมต่างกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประเพณีพื้นบ้าน วัฒนธรรมต่างกลุ่ม เป็นต้น สำหรับปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานกลุ่มนั้น คือการขาดความรู้ในเรื่องการทำบัญชีและการควบคุมการจ่ายเงินในการซื้อของต่างๆ เป็นต้น

3. บุคลากรและการพัฒนางาน

นักเรียนชาวนาส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการทำเกษตรชีวภาพ ซึ่งทำให้มีความง่ายต่อการทำความเข้าใจในวิธีการดำเนินงาน โดยให้นักเรียนเสนอทางเลือกในการเรียนรู้ที่อยากเรียน และมีความต้องการให้คุณอำนวยเป็นผู้นำความรู้ใหม่ๆ มานำเสนอและถ่ายทอดแก่นักเรียน โดยต้องสอนให้ทุกคนเข้าใจในทุกขั้นตอนอย่างละเอียดไม่ให้ข้ามขั้นตอน และที่สำคัญมีนักเรียนชาวนาบางส่วนที่หายไปในระหว่างทาง อันเนื่องมาจาก การเรียนที่ยากทำให้ตามไม่ทัน อยากเห็นผลที่รวดเร็ว ทันใจ และบางคนอดทนไม่พอ บางคนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีทำนายังไปใช้สารเคมีอยู่ เป็นต้น ซึ่งพอมาสัมผัสกับวิธีการของโรงเรียนชาวนาแล้ว ก็พบว่าผิดจากที่คาดไว้จึงทำให้เขาเหล่านั้นหายไป

4. หลักสูตรการเรียนการสอน

หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนชาวนา นักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสมดี คือ ( 1) การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี (2) การปรับปรุงบำรุงดิน และ (3) การพัฒนาพันธุ์ข้าว สำหรับการเรียนนั้นชาวนาบางคนเห็นว่าอาจจะมีอุปสรรคที่ไม่มีเวลา และเรียนมากๆ จะปวดหัว ซึ่งอาจะเป็นด้วยวัยและความพร้อมในการเรียนของแต่ละคน ซึ่งทุกคนเห็นว่าเวลาเรียนอาทิตย์ละ 1 วัน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เหมาะสมดีแล้ว โดยอยากให้มีการทบทวนหลักสูตรและเนื้อหาเป็นระยะๆ เพื่อความทันสมัยและสามารถปรับใช้ให้เข้าได้กับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งในอนาคตอยากให้มีการจัดหลักสูตรการเรียนรู้ให้หลากหลายศาสตร์ เช่น การบริหารจัดการ การตลาด เทคโนโลยี เป็นต้น

5. งบประมาณ

ในการดำเนินงานของนักเรียนชาวนาในรุ่นแรกมูลนิธิจะให้งบประมาณเพื่อจัดทำกองปุ๋ยประมาณสามหมื่นบาท โดยในส่วนของการศึกษาดูงานและการประชุมของนักเรียนชาวนาทางมูลนิธิฯ จะเป็นผู้จัดให้ ซึ่งถ้ามีงบประมาณมาทุกคนก็จะร่วมกันกำหนดแนวทางในการใช้งบประมาณนั้นๆ โดยนักเรียนชาวนาส่วนใหญ่ต่างมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานมากกว่าสนใจเรื่องงบประมาณ ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะดำเนินงานต่อไปแม้จะไม่มีงบประมาณก็ตาม

6. อะไรคือความสำเร็จของโรงเรียนชาวนา

นักเรียนชาวนาเห็นว่าความสำเร็จของพวกเขาคือการเรียนครบตามหลักสูตรสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชาวบ้านคนอื่นๆ การขยายความรู้และชักชวนให้ชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนชาวนาให้มากขึ้น ซึ่งต้องแสดงให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นความสำคัญของการใช้เกษตรอินทรีย์และเข้าร่วมเป็นนักเรียนชาวนา ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนคือ ต้นทุนในการทำนาลดลง แต่ได้ผลผลิตที่เท่าเดิมหรือมากขึ้น และที่สำคัญครอบครัวต้องเห็นด้วยและสนับสนุนจึงจะสำเร็จ โดยมีชาวนาท่านหนึ่งแสดงเส้นทางในการเรียนรู้ของเขาได้อย่างน่าสนใจ คือ

ต้องมีแรงจูงใจ > เรียนรู้จากการทำ > รู้หลากหลายศาสตร์ > สร้างองค์ความรู้ > ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการไปสู่ความสำเร็จของนักเรียนชาวนา คือการที่ต้องอาศัยคุณอำนวยตลอดเวลา บางคนเชื่อว่าถ้าขาดคุณอำนวยเมื่อไหร่ โครงการอาจจะไม่สำเร็จได้ อีกทั้งนักเรียนบางคนยังไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความรู้แต่ขาดทักษะการถ่ายทอดที่ดี และแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน บางคนเรียนรู้ได้เร็วแต่บางคนช้า ซึ่งต้องอาศัยความอดทนในการเรียนเป็นอย่างยิ่ง แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นักเรียนชาวนาเห็นว่าพวกเขามีความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาอยู่แล้ว และมูลนิธิฯ มาเติมเต็มความรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และที่สำคัญประเพณีวัฒนธรรม เดิมๆ ได้หวนกลับคืนมา เช่น การทำขวัญข้าว แม่ธรณี เป็นต้น สุดท้ายมีข้อสรุปที่น่าสนใจของกลุ่มชาวนาคือ “ ใช้เกษตรอินทรีย์ เพื่อไม่ใช้” นั่นคือ เมื่อดินดีและสภาพแวดล้อมดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้หรือใช้แต่น้อย

 

สรุป

การจัดการความรู้ของชุมชน เป็นการสะท้อนถึงวิธีการในการผสมผสานระหว่างภูมิ ปัญญาและวิธีคิดกับความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของครอบครัวและชุมชน การดำเนินกิจกรรมของนักเรียนชาวนาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ พลังแห่งการรวมกลุ่ม และพลังแห่งการเอื้ออาทรของนักเรียนชาวนาที่ต้องการผลิกฟื้นธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง ภายใต้การบริหารจัดการความรู้ที่นำทุนทางสังคมและศักยภาพของชาวนาแต่ละคนที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายและสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสามารถเชื่อมโยงความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมกับความรู้ใหม่อันจะนำไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไป

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

บรรณานุกรม

 

กรเกษ ศิริบุญรอด . 2549. โรงเรียนชาวนา” พัฒนาเกษตรกรรม สู่สุขภาพที่ยั่งยืน” มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์http://www.ssf.or.th/th/sanpatiroob.php?act=detail&sanindex=81&column_id=10&book_id=39

วิจารณ์ พานิช . 2549. การจัดการความรู้คืออะไร (นิยามเพื่อปฏิบัติการ) http://www.kmi.or.th/

นิสิตปริญญาเอกพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ . 2546. ข้อเสนอเชิงนโยบายการสะสมทุนชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน. เอกสารงานสัมมนาทางวิชาการวันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “ ญาณวิทยาใหม่ในการสร้างความรู้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  ( สคส.) . 2549. http://www.kmi.or.th/

สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี   ศาลากลางจังหวัด. 2549. http://www.suphanburi.go.th/

สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ . 2549. ฐานคิดการมองบริบทชุมชน เพื่อการสร้างองค์ความรู้จากรากหญ้า. เอกสารประกอบการบรรยาย วิชาสัมมนากระบวนการสร้างองค์ความรู้ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ( 429742) Epistemology Seminar in Educational Technology นิสิตปริญญาเอก เทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา

 

 

หมายเลขบันทึก: 54453เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2006 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • - นิสิต ป.เอก ม บูรพา สุดยอดเลย ชมเชยด้วยใจจริง
  • และหากจะขอรบกวนอีกหนึ่งอย่าง ไม่ทราบว่าจะกรุณาหรือไม่ อยากอ่านงานชิ้นนี้จังเลยค่ะ 

สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ . 2549. ฐานคิดการมองบริบทชุมชน เพื่อการสร้างองค์ความรู้จากรากหญ้า. เอกสารประกอบการบรรยาย วิชาสัมมนากระบวนการสร้างองค์ความรู้ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ( 429742) Epistemology Seminar in Educational Technology นิสิตปริญญาเอก เทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา

 

เรียน อ.กัลยา

ขอบคุณมากครับที่กรุณาเข้ามาแลกเปลี่ยน เอกสารที่ อ. กล่าวถึงนั้น เป็นแผ่นใสที่ท่าน อ.สุรินทร์ นำมาบรรยายให้พวกเราได้ฟังกัน เผอิญผมขอถ่ายเอกสารไว้ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท