มนุษย์ความหมาย ค่ายกักกัน


ท่ามกลางชีวิตที่เรามองดูเหมือนไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม จริง ๆ แล้ว เราสามารถที่จะเลือกตัดสินใจได้ว่า เราจะรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ได้

เมื่อวันก่อนอ่านหนังสือเรื่อง Man’s search for meaning มนุษย์ความหมาย และค่ายกักกัน ของวิคเตอร์ อี แฟรงเกิล ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา และจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์เวียนนา และเป็นศาสตราจารย์ด้านโลโกเธราฟี ( การบำบัดจิตด้วยวิธีหาความหมายชีวิต ) เขาเป็นผู้ก่อตั้งสำนักคิดที่ได้รับการขานนามว่าเป็นสำนักบำบัดทางจิต ของชาวเวียนนาแห่งที่ 3 ต่อจากสำนักจิตวิเคราะห์ของ ฟรอยด์ และจิตวิทยาปัจเจกบุคคลของแอดเลอร์

                ตัวเองอ่านหนังสือเรื่องนี้ไม่ใช่แบบรวดเดียวจบหรอกนะ ก็อ่าน ๆ หยุด ๆ ใช้เวลาเกือบสัปดาห์แนะ พออ่านจบแล้ว ก็ทึ่งไปพักใหญ่เหมือนกัน ในตอนแรกคุณหมอพูดถึงประสบการณ์ตอนที่อยู่ในค่ายกักกันเชลยที่เอาช์วิทช์ คุณคงจำได้นะ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฮิตเลอร์ จับผู้คนมาเป็นเชลย ทำให้คุณหมอผู้เขียนคนนี้ได้ไปอยู่ในค่ายกักกันด้วย คุณหมอบรรยายให้เราเห็นภาพของความทุกข์ยากลำบากมากมายที่ตนเองและเพื่อน ๆ ได้รับ ไม่มีอะไรดีเลย ใครอ่อนแอก็ถูกฆ่า บางทีก็ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปถึงก็มี ชีวิตความเป็นอยู่แต่ละวันก็ผ่านไปด้วยความเศร้า ความหวังที่จะได้รับการปล่อยตัวก็ช่างเลื่อนลอย เหลือเกิน คนที่อยู่แต่ละวันก็ต้องทำงาน อาหารที่ได้รับก็น้อยนิด ต้องผจญกับความหนาว และโรคภัยไข้เจ็บ หนำซ้ำยังถูกเพื่อนผู้คุมใช้อำนาจสารพัด แต่ละคนต้องอยู่อย่างเอาตัวรอด และต้องหาความหมายของชีวิตให้เจอ มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่ยอมให้ชะตาชีวิตปล่อยให้ตัวเองไม่ทำอะไร ไม่ลุกขึ้น และตายอย่างหมดซึ่งศักดิ์ศรีในที่สุด เพราะไม่เห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ คุณหมอเป็นคนหนึ่งที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ท่ามกลางชีวิตที่เรามองดูเหมือนไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม จริง ๆ แล้ว เราสามารถที่จะเลือกตัดสินใจได้ว่า เราจะรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ได้ เพราะคุณหมอบอกว่า อิสรภาพสุดท้ายภายในจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ไม่สามารถพรากไปจากเราได้ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ชีวิตเปี่ยมไปด้วยเป้าหมาย และความหมาย คุณหมอให้เหตุผลว่า ตอนแรกที่เราเข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน คนเราจะเกิดอาการช็อก แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีความทุกข์ยากมากมาย ความหวังก็ห่างไกล เราก็จะเริ่มเฉยชาต่อทุกสิ่ง ถ้าเราปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยไม่เห็นความหมายของการมีชีวิต เราก็จะตายอย่างไร้ความหมายไปเลย.. มีอยู่ตอนหนึ่งในหนังสือที่เรารู้สึกประทับใจมาก เป็นตอนที่คุณหมอจะต้องเป็นผู้ให้กำลังใจเพื่อน ๆ ในค่าย ทั้งที่ตอนนั้นตนเองก็ไม่อยู่ในอารมณ์ที่อยากทำ แต่สถานการณ์มันบังคับ คุณหมอพูดว่า       พวกเราแต่ละคนจำเป็นต้องถามตัวเองว่านับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบัดนี้ มีความสูญเสียอะไรบ้างที่ไม่สามารถหามาทดแทนกันได้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ครอบครัว ความสุข ความสามารถเชิงวิชาชีพ สมบัติพัสถาน ตำแหน่งและสถานะทางสังคม ทั้งหมดนี้เราสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และไขว่คว้าทำให้สำเร็จได้อีก ถึงอย่างไรพวกเราก็ยังมีชีวิตอยู่ และอะไรก็แล้วแต่ที่เราประสบพบเจอมานี้อาจกลายเป็นประโยชน์สำหรับเราในอนาคต คุณหมอยังยกตัวอย่างคำพูดของ ปราชญ์นิช์เช ที่ว่า สิ่งที่ไม่ฆ่าฉัน ... จะทำให้ฉันเข้มแข็งขึ้น คุณหมอบอกกับเพื่อน ๆ อีกว่า อนาคตแม้ดูไร้สิ้นหวัง โอกาสอยู่รอดแม้น้อยนิด เขาก็ไม่เคยคิดจะสิ้นหวัง หรือเลิกหวัง เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะนำสิ่งใดมาให้เราบ้าง อย่าว่าแต่อนาคตเลย แค่อีก 1 ชั่วโมงข้างหน้านี้เราก็ไม่รู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง  แล้ว คุณหมอก็ต่อด้วยการยกบทกวีท่านหนึ่ง ที่ว่า สิ่งที่คุณได้มีประสบการณ์ผ่านมานั้น ไม่มีพลังอำนาจใดบนพื้นพิภพนี้จะสามารถพรากไปจากคุณได้ และบอกกับเพื่อน ๆ ตบท้ายถึงโอกาสนานัปการของการทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้นมา และขอให้เขายืนหยัดกล้าเผชิญหน้ากับความเลวร้ายของสภาพที่เราเผชิญอยู่ ... และสุดท้ายการพยายามมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายของคุณหมอก็มีความหมายจริง ๆ เมื่อเขาได้รับอิสรภาพในวันหนึ่ง ...

                พอจบตอนที่หนึ่งเรื่องประสบการณ์ในค่ายกักกันของหมอจบแล้ว มันก็เป็นกำลังใจให้กับเราเหมือนกันนะ เพราะจริง ๆ แล้วปัญหาที่เราประสบเจอในแต่ละวัน ถ้าจะเทียบความทุกข์กับคุณหมอแล้วมันน้อยมาก เรามีบ้านอยู่ มีอาหารกิน มีเสื้อผ้าใส่ มีอิสระ อยากทำอะไรได้ทำ แต่เรายังไม่สามารถหาความสุข ความหมายของสิ่งเหล่านี้ หรือทนไม่ได้ เรื่องที่เกิดขึ้นในหนังสือมันทำให้เรารู้ว่า จริง ๆ แล้วเรามีสิทธิ์เลือกจริง ๆ ว่าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ให้มีความหมาย หรือแปลผลกลับมาให้เป็นความสุขได้หรือไม่เท่านั้นเอง เราเลือกได้นะ

                ไว้คราวหน้าเราค่อยมาต่อกันที่ภาคต่อไปของหนังสือเล่มนี้กันนะ
หมายเลขบันทึก: 54435เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2006 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตด้วยตนเองได้ และพร้อมที่จะรับผิดชอบกับผลที่ตนเองได้ตัดสินใจเลือกนั้น

  • สวัสดีเจ้า..

ต้อมเคยเมลคุยกับพี่สาวถึงคุณหมอนักจิตวิทยาคนนี้ และหนังสือเล่มที่ว่ามานี้  หลังจากที่ได้เขียนบันทึกนี้ http://gotoknow.org/blog/naepalee/143215 

ท้ายที่สุดแล้ว คุณหมอคงอยากจะบอกกับเราๆ ว่า "รักษาชีวิตไว้เถอะ  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น" 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท